xs
xsm
sm
md
lg

“อารมณ์แห่งวัย” ย่อมเปลี่ยนไปตามวัย!สมัยนี้อารมณ์คนจะเป็นไปเหมือนสมัยก่อนหรือไม่ !!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค



มจ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านหญิงเป็นปราชญ์และเป็นประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ได้ทรงนิพนธ์เรื่องที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาและความรู้ต่างๆไว้มาก เรื่องหนึ่งทรงนิพน์ในชื่อเรื่อง “อารมณ์แห่งวัย” ที่กล่าวถึงอารมณ์ของคนได้เปลี่ยนไปโดยวัยตามธรรมชาติ ในวัยหนึ่งจะมีอารมณ์และความคิดอย่างหนึ่ง เมื่อได้เรียนรู้ชีวิตมากขึ้น รู้จักเหตุและผลมากขึ้น ความคิดและอารมณ์ก็ย่อมเปลี่ยนไป ตอนนี้กำลังมีปัญหาเกี่ยวกับวัยขึ้นในสังคมไทย จึงขอนำพระนิพนธ์เรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง หวังว่าจะทำให้เกิดความคิดกันขึ้นมาได้บ้าง

“ธรรมชาติของมนุษย์ย่อมมีอารมณ์ติดตัวมาแต่เยาว์วัย ตั้งต้นแต่ได้ ๕-๖ เดือน พอมือจะจับอะไรได้ก็มักจะจับของที่ฉวยได้ใส่ปากก่อนอื่น ไม่มีที่จะจับมามองดูหรือปาทิ้ง โดยมากใส่ปากแทบทั้งนั้น พอโตขึ้นเป็นเด็กวิ่งได้ขนาด ๕ ถึง ๑๐ ขวบก็ชอบอึกทึก ทำอะไรเล่นอะไรก็ขอให้ได้ออกเสียงเต็มที่ ถ้าใครไม่ออกเสียงก็แทบจะไม่มีความสนุกเลย ครั้นพออายุเข้า ๑๔-๑๕ ปี ก็ต้องการความสวยงามหมกมุ่นอยู่แต่กับแป้ง น้ำอบ และเครื่องแต่งตัว แล้วก็อยากให้คนชม อยากเด่นอยากดีกว่าคนนั้นคนนี้ เมื่อชมกันเพลินไปแล้วก็ขึ้นขั้นติด จนเลยเป็นความรักไปเลย วัยตอนนี้โดยมากจะพูดเรื่องอะไรเกือบไม่เป็น

นอกจากเรื่องตนติดและสิ่งที่ตนเรียกว่า...รัก พอถึงวัย ๒๐ ปีก็เป็นเรื่องยุ่งแต่งงาน ซึ่งเชื่อเอาว่าเป็นสิ่งเดียวที่ชีวิตจะขาดไม่ได้ ฉะนั้นเราจึงได้ยินเพลงต่างๆเพ้อพร่ำรำพันอยู่แต่เรื่องรักเรื่องเดียว ซึ่งช่วยให้หูหนวกตาบอดขึ้นจนถึงฆ่าตัวตายเสียก็มากมายอย่างน่าอนาถ ครั้นพอได้แต่งงานสมประสงค์แล้ววัยสตางค์ก็เป็นพระเจ้าเข้าสิง คิดแต่เรื่องลาภยศสรรเสริญและความเจริญของครอบครัว พูดอะไรไม่รู้เรื่องนอกจากความมักใหญ่ใฝ่สูงจนลืมตัว ตกมาถึงวัยแก่ก็มีแต่ความเบื่อหน่าย เพราะหมดกำลังสู้โลก เลยปล่อยตัวให้เป็นคนรกโลก เป็นที่เหยียดหยามของเด็กๆว่าเป็นคนไม่มีราคาค่างวดอะไร

ชีวิตมนุษย์ที่เกิดมาเป็นอยู่ดังพรรณนามาข้างบนนี้เป็นส่วนมาก ที่ข้าพเจ้าว่าส่วนมากก็เพราะที่ไม่เป็นเช่นกล่าวมานี้ก็มี แต่เป็นจำนวนน้อยหรือเรียกว่า-ยกเว้นได้ ตามธรรมดาเป็นไปเช่นกล่าวมิได้เว้นตัว และคงจะเป็นเช่นนั้นมาแต่ดึกดำบรรพ์ ซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยไม่มีใครคิดเปลี่ยนแปลงให้มันดีขึ้น เช่น

๑.เด็กเล็กๆชอบจับของใส่ปาก เราระวังให้จับแต่ของที่อมได้ไม่มีภัย เพราะไม่มีทางจะให้เด็กขนาดนั้นเข้าใจได้ว่าการจับของใส่ปากไม่เลือกนั้นเป็นอันตรายได้

๒.เด็กที่ส่งเสียงอึกทึกอยู่ตลอดเวลานั้น ข้าพเจ้าเคยเห็นแหม่มคนหนึ่งที่อยู่ในโฮเตลที่เมืองปีนัง เขาพาลูกเขาไปวิ่งเล่นในสวนหลวงในเวลาบ่าย ๑๓-๑๔ น. ข้าพเจ้าถามเขาว่า “ทำไมให้มาวิ่งแต่เวลายังร้อนอยู่ ไม่มาเย็นๆเล่า” เขาตอบว่า “ฉันอยู่โฮเตล ทุกคนเขานอนพักหลังอาหารกลางวันแล้ว ถ้าฉันไม่เอาเด็กมาวิ่งเสียจนเหนื่อยหอบกลับไปนอนหลับแล้ว คนอื่นเขาก็จะไม่ได้นอน เพราะเด็กขนาดนี้กำลังสตีมขึ้นรงและอึกทึกจัด” ข้าพเจ้ายังนึกขันว่าเขาช่างคิดแก้ แต่ถ้าคนมีบ้านเรือนของตัวเองก็คงจะแก้อย่างอื่นได้ เช่นย้ายหรือให้เล่นอะไรโดยไม่ต้องอึกทึก แต่ไม่ใช่ดี เพราะถึงจะตีก็ไม่หายได้ เพราะเด็กยังไม่เข้าใจความสงบเงียบไม่ได้

๓.เด็กขึ้นวัยรุ่นนี้ค่อนข้างยากไม่น้อย เพราะจิตใจกำลังฟุ้งซ่านด้วยความอยากรู้อยากเห็น และมองชีวิตแต่ในทางดี เห็นคนอื่นเลวกว่าตัวไปหมด ผู้ใหญ่ควรจะต้องให้ความสุขในทางอยู่ดีกินดี และให้ความสนุกในบ้านที่ไม่มีภัย แล้วค่อยๆชี้แจงชีวิตจริงๆให้เด็กเห็นตาม จะไปไหนก็เอาไปด้วย เพื่อจะได้มีโอกาสให้รู้จักกับผู้ที่ควรรู้จัก และต้องหาธุระไว้ให้ผูกพันใจไว้กับที่ เช่นหนุนกำลังใจให้มีมานะที่จะเลี้ยงชีวิตตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น มีงานทำให้เป็นอาชีพ เช่น เย็บเสื้อ ทำของกิน ปลูกต้นไม้ และการช่างต่างๆที่คิดแบบขึ้นใหม่ๆ แล้วขายให้เป็นสตางค์ ให้ภาคภูมิใจว่ามือของตัวทำประโยชน์ได้ ถ้ามีงานทำอยู่กับบ้านให้เพลิดเพลินแล้ว ใจก็ไม่ค่อยจะซุกซนไปไกลจนเดือดร้อน

๔.วัยแต่งงาน - วัยนี้กำลังทางเพศแรง จนหน้ามักจะมืด ไม่ค่อยเห็นความจริงของชีวิต ความรัก Love และความใคร่ Passion ก็แลไม่เห็นว่วผิดกันอย่างไร ไม่แลเห็นความลำบากที่จะรวม ๒ ชีวิตให้เป็นชีวิตเดียวกันว่ามันยากยิ่งอย่างไรบ้าง และที่น่าเวทนาที่สุดนั้น คือเห็นว่าความสวยเป็นสำคัญกว่าสิ่งใดๆ เพราะที่จริงนั้นความสวยเป็นเรื่องเรียกร้องความให้สนใจเท่านั้นเอง การถูกตาไม่ได้แปลว่าจะถูกใจด้วยเสมอไป ถ้าหนุ่มสาวไม่ตกอยู่ในอำนาจ Passion คือความใคร่อันเร่าร้อน และกล้าดูชีวิตที่เป็นจริงแล้ว การแต่งงานก็จะเป็นความสุขจริงๆได้

๕.วัยสตางค์ – โดยมากเมื่อได้แต่งงานสมประสงค์แล้ว ก็หันไปคิดทาฟุ่มเฟือยนานาชนิด มีข้อมาอ้างต่างๆว่าไม่พอเรื่อยไป ทั้งนี้เพราะขาดความรู้ว่าไม่มีคำว่าพออยู่ในโลกนี้เป็นธรรมดา ถ้าจะให้พอต้องใช้ให้พอกับรายได้ และรู้จักเก็บเป็น เช่นเดือนนี้ยังซื้อสิ่งที่ต้องการไม่ได้ ก็เก็บเงินไปทีละเล็กละน้อยเอาไว้ซื้อให้ได้ ในเดือนหน้าจึงจะพอ ความสุขไม่ได้อยู่ที่มีรถยนต์สวยๆ มีผู้หญิงสวยๆนั่งเคียงคู่ แต่มันอยู่ที่ใจสบายแล้ว แม้จะเดินอยู่ตามถนนก็เห็นว่าอากาศโปร่งสบายดี แต่ถ้าคับใจแล้วแม้จะนอนบนเตียงทองก็นอนไม่หลับ

๖.วัยชรา – วัยนี้เป็นวัยเบื่อหน่าย เพราะผ่านทุกข์สุขและเห็นชีวิตมามาก ทำให้เข็ดขยาดและชีวิตที่จริงแจ่มชัด บางคนก็ปล่อยตัวให้เป็นผ้าขี้ริ้ว บางคนก็เข้าวัดไป แต่บางคนก็ยังชอบยุ่งในเรื่องหนุ่มสาวอยู่ ที่จริงการรู้จักโลกมาแล้วควรจะรู้ได้ดีว่า การต่างวัยนั้นเป็นของมีอยู่เป็นธรรมดาโลก และจะมีวัยใดเข้าใจกับวัยใดได้เป็นเด็ดขาด เว้นแต่ผู้ที่ชอบเรียนในเรื่องของชีวิต แต่คนไทยโดยมากไม่ชอบเรียน ชอบแต่ตามใจวัย และเห็นว่าตัวดีตัวถูกอยู่เสมอ ทั้งต้องการให้คนอื่นมาเห็นตามตัวเองด้วยกันทุกวัย ผู้ใหญ่ก็เห็นว่าสมัยของตัวมีความเป็นอยู่สูง มีระเบียบเรีนบร้อย รักชื่อ รักตัว รักเกียรติเป็น แต่เด็กก็เห็นว่าสมัยของตัวดีกว่า ไม่ต้องอยู่ในกรอบวัฒนธรรม มีเสรีภาพเต็มสตีม

ผู้ใหญ่เองก็มีอยู่ ๒ จำพวก ๆแรกคือพ่อแม่ที่ต้องพลอยได้เสียไปกับลูกๆของตัวเอง เลี้ยงลูกเป็นหรือไม่เป็น ข้าพเจ้าไม่เคยเป็นพ่อแม่ จึงไม่มีความรู้ว่าควรจะปกครองลูกอย่างไร แต่คิดว่าน่าจะดูนิสัยเด็กเป็นประมาณ ว่าต้องการยาชนิดใดเป็นหลัก ส่วนผู้ใหญ่ที่เป็นโสดโดยทั่วๆไปนั้น เห็นว่าไม่ควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับพวกเด็กๆเลย นอกจากเพียงให้ความกรุณา ทั้งนี้เพราะจะไม่มีทางเข้าใจกันได้เลย ถ้าเข้าไปยุ่งด้วยก็สำหรับแต่จะให้เด็กดูถูก ควรทำใจแต่เพียงว่า ถ้าลูกหลานเป็นคนดีก็ยกทรัพย์สมบัติให้ แต่ถ้าไม่ดีก็ไม่ต้องให้ เพราะกองทุนการกุศลมีถมไปที่จะทำให้เป็นประโยชน์ได้ โดยเฉพาะในเรื่องการแต่งงานนั้น ผู้ใหญ่ไม่มีสิทธิ์ในเรื่องรัก แต่มีสิทธิ์ในเรื่องทรัพย์สมบัติ จึงควรทำให้ถูกต้องเพื่อความยั่งยืนของวงศ์สกุล

เท่าที่ได้พูดมานี้ ก็เพราะข้าพเจ้ามีความเห็นว่า อารมณ์ของวัยนั้นมีต่างๆกันตามอายุเป็นธรรมดา ถ้าเรารู้จักใช้ชีวิตทุกชึวิตให้เป็นประโยชน์แล้ว ทุกคนก็จะมีความสุขและทำประโยชน์ได้ด้วยกันทุกวัย ไม่ควรจะนึกถึงแต่ธรรมชาติ แล้วปล่อยให้เป็นไปตามแบบฉบับซ้ำซากมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เรายังไม่ได้ปรับปรุงชีวิตของเราให้เหมาะแก่เวลา แก่สมัยเสียเลย โดยเฉพาะพวกผู้ใหญ่ที่ควรจะเป็นหลักของเด็ก โดยมากยังคงเป็นเพียงแบงค์ของเด็กอยู่เรื่อยมา ส่วนเด็กๆนั้นเปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ถ้าผู้ใหญ่ไม่เปลี่ยนตามให้เหมาะกันบ้างก็จะยุ่งขึ้นทุกที ฉะนั้นขอท่านทั้งหลายจงช่วยกันคิดดู เพื่อให้ได้ประโยชน์สมสมัยด้วยกันเถิด”

หวังว่าพระนิพนธ์ของท่านหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล เรื่องนี้ คงจะทำให้คนต่างวัยทุกคนในยุคนี้ คงจะได้ข้อคิดอะไรกันบ้าง ในขณะที่การต่างวัยกำลังเป็นปัญหาของสังคมไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น