ด้วยความชื่นชอบในวัฒนธรรมแดนปลาดิบ ท่ามกลางกระแสหลักในตอนนั้น นั่นจึงทำให้ “เจน-กุลจิราณัฐ อินทรศิลป์” ได้แต่เก็บความชอบนี้อยู่ข้างในมาตลอด เช่นเดียวกับการได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวงไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป อย่างบีเอ็นโฟร์ตีเอจ (BNK48) ที่แม้ว่าเธอจะไม่ใช่สมาชิกที่ได้รับความนิยมหลัก แต่ด้วยความไม่ย่อท้อต่างๆ นั่นจึงทำให้เจนก็เริ่มถูกพูดถึงขึ้นเรื่อยๆ
จนกระทั่งการเลือกตั้งเซ็มบัตสึประจำซิงเกิลที่ 9 ของวง กุลจิราณัฐก็สร้างประหลาดใจ ด้วยการคว้าชัย และทำให้เธอเป็นสมาชิกเซ็นเตอร์ของเพลง ซึ่งก็หมายถึงซิงเกิล "Heavy Rotation" ขณะเดียวกัน ความพยายามของเธอหลังจากที่ได้รับโอกาสมาเรื่อยๆ ทั้งผลงานต่างๆ ก็ได้สะท้อนด้วยเช่นกันว่า ทุกอย่างมันมีความเป็นได้เสมอ เช่นเดียวกัน
ตั้งแต่เราจำความได้ เบื้องต้นคิดว่าเป็นคนลักษณะนิสัยยังไงครับ
ถ้านับตั้งแต่ตอนนั้นเหรอคะ น่าจะเป็นคนที่แก่นๆ ซนๆ แต่ก็เรียบร้อย รวมถึงเป็นคนที่ชอบจินตนาการ เพราะว่าในวัยเด็กจะมีความลักษณะที่ว่านี้ แล้วก็เป็นคนที่กล้าแสดงออกมากๆ ให้ทำอะไรก็จะทำได้หมด แต่พอโตขึ้นมาอีกนิด ก็จะเป็นคนที่ขี้อาย น่าจะช่วง ป.4-ป.6 ได้ เพราะว่าพอเริ่มเข้าสังคมปุ๊บ เราจะเริ่มแคร์สายตาของคนอื่น ซึ่งช่วงวัยในก่อนหน้านั้น เราจะไม่ค่อยแคร์ใคร แต่พอเริ่มโตขึ้น ก็จะมีการหล่อหลอมว่า ต้องแคร์สายตาคนอื่นนะ คนอื่นอาจจะมองเราไม่ดีนะ มันเลยทำให้เรากลายเป็นคนขี้อายแทน ส่วนกับที่บ้าน ก็จะเป็นแนวน่ารัก ขี้อ้อน แบบ ‘แม่จ๋า ขอหอมแก้มหน่อย’ ‘แม่จ๋าขอกอดหน่อย’ หรือเวลาที่จะออกจากบ้าน ก็จะยกมือไหว้สวัสดีคนในบ้านก่อน
ทราบมาว่า ก่อนที่จะมาเข้าวง เราก็เป็นเด็กกิจกรรมด้วย อยากให้ช่วยเล่าตรงนี้ให้ฟังหน่อยครับ
โดยส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะการเต้นซะมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน และการเต้นคัฟเวอร์แดนซ์ ตอนที่อยู่ข้างนอก นอกจากนี้เราจะชอบทั้งเรียนบัลเลต์ และก็รำไทย มาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะคะว่าทำไมอยากเรียนสิ่งนี้ เพราะกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เรียนไปแล้ว แล้วก็เรียนเต้นฮิปฮอปด้วยนะคะ แต่ว่าฝึกเต้นแค่ท่าเดียว แล้วก็เลิกเลย เพราะว่ากลัวเจ็บ (หัวเราะ) ซึ่งโดยรวมก็คิดว่าทำหน้าที่ตรงนี้ได้นี้อยู่นะคะ เพราะได้ไปทำกิจกรรมเป็นตัวแทนในที่ต่างๆ ซึ่งกิจกรรมตรงนี้ ว่ามันมีความแตกต่างจากการแสดงความคิดเห็นอยู่นะคะ เพราะว่า เราก็ไม่ต้องคิดอะไร เราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดไป มันไม่ต้องมาคอยกังวลว่ามันจะถูกหรือผิด มันมีความแตกต่างในตรงนี้
ส่วนการเต้นคัฟเวอร์แดนซ์ ตอนแรกไม่มีความคิดว่าจะมาเต้นในลักษณะนี้เลย แต่ที่มาเต้น เพราะว่าเพื่อนชวนค่ะ เนื่องจากคนขาดอยู่พอดี เราก็มาเต้นด้วยก็ได้ เราก็เต้นลักษณะนี้มาตั้งแต่ตอน ม.2 ยาวมาจนถึง ม.4 เลยค่ะ ส่วนวงที่คัฟเวอร์ก็มาจากเพลงญี่ปุ่น
แสดงว่า เราก็ชอบเกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาพอสมควรแล้ว
ใช่ค่ะ เริ่มมาจากชอบดูการ์ตูนก่อน ไล่มาตั้งแต่ โคนัน, โดราเอม่อน, แม่มดน้อยโดเรมี เรียกได้ว่าแทบจะทุกเรื่องเลย เราจะต้องตื่นเช้าตอน 7 โมงครึ่ง มาดูแทบทุกสุดสัปดาห์ แล้วแต่ละช่องก็จะมาไม่พร้อมกัน ต้องจัดการแบ่งเวลาให้ดีๆ เราจะนั่งดูกับพี่ชายด้วยกันตลอดเลย มันอาจจะเรียกว่าเราค่อยๆ ชื่นชอบวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมาทีละนิดๆ จากตรงนี้ เรียกได้ว่าเราชอบทุกอย่างเกี่ยวกับญี่ปุ่นตั้งแต่ตอนนั้นเลยก็ว่าได้ค่ะ อีกอย่าง เราว่าด้วยความเป็นเด็ก ในเรื่องของความสนใจด้วยแหละมั้ง มันอาจจะทำให้เรามุ่งที่จะชอบตามความสนใจในสิ่งที่เราสนใจด้วยแหละค่ะ แต่อาจจะมีความยากลำบากอยู่นิดหน่อย ตรงที่เราจะคุยกับใครไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะความสนใจแตกต่างกัน แต่เราก็ยังโอเค เพราะเราไม่ค่อยพูดอยู่แล้ว เลยทำให้ต่อยอดความชอบตรงนี้อยู่เรื่อยๆ
จนกระทั่ง การที่เรามาออดิชั่นเข้าวง มันก็เหมือนกับว่า ถึงเวลาของเราแล้วมั้ย
เราชอบวง AKB48 มาจากการ์ตูน ซึ่งเราก็ชอบเพลงจากการ์ตูน จากนั้นก็ตามไปฟังเพลงของวงพี่ต่อ แต่ตอนที่มีการออดิชั่นวง เราก็ไม่ได้รู้เองนะคะ รู้มาจากเพื่อนในวงคัฟเวอร์แดนซ์ชวนเรา ในลักษณะว่า ไปเป็นเพื่อนด้วยกันหน่อย เราก็ไป แต่สุดท้ายกลายเป็นเราที่ผ่านการผ่านออดิชั่นซะเอง ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกันนะคะ ว่าผ่านเข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกวงได้ยังไง ส่วนหนึ่งเราก็ดีใจนะคะ แต่ก็ดีใจไม่สุด เพราะว่าเพื่อนที่ชวนเราไปนั้นก็ไม่ติด แต่เราก็ยังเป็นเพื่อนกับเขาอยู่เหมือนเดิมนะคะ (ยิ้ม)
แสดงว่า เหมือนกับการเติมเต็มความฝันของตัวเองด้วยมั้ย จากการที่มาเป็นสมาชิกวงซะเอง
ตอนที่เราเข้ามาในวงใหม่ๆ เราไม่ค่อยได้ฝันอะไรเท่าไหร่ ไม่ได้คิดล่วงหน้าว่าจะต้องเป็นแบบนี้ๆ นะ แต่แค่แบบว่า จะได้ใส่ชุดน่ารักๆ แล้วก็เต้น ในแต่ละวันที่มาซ้อมนั้น ซ้อมนานมาก เกือบทุกวัน
จนกระทั่งซิงเกิลแรกออกมา ปรากฏว่าไม่มีชื่อเราเป็นเซ็มบัตสึ ตอนนั้นรู้สึกยังไงบ้างครับ
ก็รู้สึกนอยด์หน่อยๆ แต่ก็ไม่ได้แย่นะคะ เพราะว่าเรายังซ้อมด้วยกันอยู่ คือหลังจากที่เขาประกาศเสร็จ เราก็ไม่ได้ร้องไห้นะ แต่มีความรู้สึกดาวน์อยู่ในใจ แล้วก็มีครูที่สอนแอ๊คติ้งน่ะค่ะ เขาก็เรียกคนที่ไม่ติดเซ็มฯ แล้วก็ถามว่า ใครรู้สึกอะไรยังไงบ้าง หลังจากนั้นก็มีการพูดคุยกัน จน เคท (กรภัทร์ นิลประภา – สมาชิกรุ่น 1) ก็พูดขึ้นมาว่า ‘การไม่ติดตอนนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ติดตลอดไปนะ มันก็มีครั้งหน้าให้ติดอีก’ เราก็เลยรู้สึกว่า การที่ไม่ติดเซ็มบัทสึซิงเกิลแรก ก็ไม่ใช่ทั้งชีวิตของเราเลย
อยากให้เล่าสถานะ ‘อันเดอร์เกิร์ล’ ในขวบปีแรก มาพอสังเขปหน่อยครับ
ช่วงนั้นเหมือนรู้สึกว่า ซ้อมหนักมาก เพราะคนที่เป็นเซ็มบัตสึในแต่ละช่วงซิงเกิล มักจะไม่ว่าง เราว่าคนที่อยู่ในสถานะนี้ ซ้อมหนักมากจริงๆ ต้องเปลี่ยนบล็อกกิ้งในตอนเต้น ในช่วงคนที่ติดเซ็มฯ ไม่อยู่ ในแต่ละวันในการซ้อม ก็ไม่เหมือนกัน เราก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่หนักมากๆ ค่ะ เพราะด้วยในตอนนั้น จำนวนสมาชิกในวงที่ยังน้อยอยู่ ครูสอนเต้นก็จะค่อนข้างที่จะไว้ใจเราในการเป็นคนที่เปลี่ยนบล็อกกิ้งในการเต้น แล้วก็รู้สึกว่าเครียด รายละเอียดในการเต้นในแต่ละครั้งที่มีพอสมควร แต่ความรู้สึกในตอนนั้น มันไม่ได้ถึงขั้นร้องไห้หรือนอยด์นะคะ มันจะเป็นแบบ เหมือนเราเก็บความคาดหวังน่ะค่ะ จะกลัวว่าทำออกมาได้ไม่ดี จำได้เลยว่า ในการซ้อมแต่ละครั้ง เราจะไม่ยิ้มเลย เต้นผิดก็ (ทำหน้าดุ) ไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นความรู้สึกว่า เต้นผิดก็หัวเราะบ้าง ครูก็ชมว่าเก่งมากเลยนะ เพราะเหมือนรู้สึกว่า ไม่เอาความทุกข์มาใส่ให้ตัวเองมากเกินไป
ขณะเดียวกัน สถานะในตอนนั้น ก็มีแบบคำเยาะเย้ยมาอยู่พอสมควรแหละ เราเปลี่ยนให้มันมาเป็นพลังให้กับตัวเองยังไงบ้างครับ
ปัจจุบันเปลี่ยนความคิดไปเรื่อยๆ ตอนแรกๆ จะเก็บทุกคำที่เขาว่ามา เอามาใส่ในสมอง จนไม่มีวันไหนที่เราไม่ร้องไห้ เราอยู่กับตรงนี้มา 2 ปีแรก จนเข้ามาที่ปีที่ 3 ที่เริ่มเปลี่ยนความคิดมาเป็น แค่นิดหน่อย ที่เหลือก็ชินชา หรือชิลด์ไป เพราะเรารู้สึกว่า เราร้องไห้จนไม่อยากจะร้องแล้ว ตอนนั้นเรายังปลงไม่เป็นเลย เราอ่านแล้วก็มีความรู้สึกหน่วงอยู่ในใจ แต่ก็ยังดีที่มีแฟนคลับอีกส่วนหนึ่ง ที่คอยสนับสนุนเรา ตอนงานจับมือก็ได้คุยกัน มันก็เหมือนเป็นกำลังใจให้เรา ว่าเรายังมีแฟนคลับอยู่นะ ไม่ใช่มีแค่คนที่คอยว่าเราอย่างเดียวซะหน่อย แต่ตอนนี้คือเปลี่ยนความคิดแล้ว ใครอ่านมา เราอ่านแล้วก็ตลกดีไป ด่าไปเลย ไม่สนใจ (ยิ้ม)
ขณะเดียวกัน เจนก็เริ่มติดเซ็มบัตสึเพลงหลัก บวกกับได้รับโอกาสในการทำงานอื่นๆ ด้วย มันเหมือนกับเราได้รับโอกาสมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยมั้ย
ความจริง ถ้าเรายังไม่ได้เข้ามาอยู่ในวง เชื่อว่าหลายๆ โอกาสคงจะไม่มีทางได้ทำแน่นอน ทั้งการเล่นมิวสิควีดีโอ หรือว่างานคอนเสิร์ต และงานแสดงซีรีย์ ซึ่งถ้าไม่ได้มาอยู่ตรงนี้ เราคงไม่มีโอกาสที่ว่าไปจริงๆ ซึ่งในแต่ละงานก็มีความยากง่ายแตกต่างกันไป อย่างคอนเสิร์ตพี่เบิร์ด (ธงไชย แมคอินไตย์) ด้วยความที่เป็นคอนเสิร์ตใหญ่ด้วย เราก็เคยมีความฝันว่าอยากจะขึ้นไปเล่นในที่ลักษณะนั้น นานมากๆ เราก็มีความรู้สึกตื่นเต้นอยู่นะ แต่พอผ่านการทำงานนั้นไปแล้ว ก็อยากขึ้นไปเล่นอีกนะคะ ซึ่งเรารู้สึกว่าเป็นคนที่โชคดีมากเลยนะ เพราะก็มีการถามอยู่เหมือนกันว่า จะให้ใครขึ้นคอนเสิร์ตบ้าง ตอนนั้นก็แอบคาดหวังนิดนึง แล้วพอช่วงที่เจอพี่เบิร์ด ก็รู้สึกดีมากเลยค่ะ แล้วพี่เขาก็เป็นตัวอย่างที่ดีจริงๆ ค่ะ มีวินัยในตัวเองมาก และขยันด้วยค่ะ พี่เขาเป็นคนที่เฟรนด์ลี่มาก ไม่ถือตัวเลย มากอดพวกเรา แล้วก็บอกว่าสู้ๆ นะ ดีใจที่ได้ร่วมงานกัน ประมาณนี้
จนมาถึงการเลือกตั้งของวงครั้งแรก พอผลออกมาที่ทำให้เราติดคามิเซเว่น (ติด 7 อันดับแรก) ครั้งแรก โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นก้าวครั้งสำคัญของตัวเองด้วยมั้ยครับ
คิดว่าด้วยค่ะ เพราะตอนที่ติดอันดับคามิเซเว่นครั้งแรก เราก็ได้ร่วมมีโอกาสในการเป็นพรีเซ็นเตอร์เยอะขึ้น
พอมาถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ ในฐานะที่ได้รับโอกาสเป็นเซ็นเตอร์ของเพลง ถือว่าเป็นเปลี่ยนชีวิตเราไปพอสมควรมั้ยครับ
เปลี่ยนค่ะ มีการโปรโมตทุกวันเลย (หัวเราะ) แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองพูดเก่งขึ้น มีหลายลู่ทางในการตอบ (หัวเราะ) เหมือนกับมีการพัฒนาขึ้นไปแต่ละขั้นตอน รู้สึกว่าตอบคำถามไปตามประสบการณ์ ซึ่งการฝึกเองที่บ้าน มันอาจจะช่วยแหละ แต่ก็ไม่เท่ากับการออกไปเจอจริงๆ ถามว่าทำไมถึงเลือกเพลงนี้ เพราะ Yuko Oshima เป็นเซ็นเตอร์ค่ะ (ยิ้ม) คือตอนแรกลังเลมาก เพราะว่าเราก็อยากได้เพลงเต้นหนักๆ เลย แต่มันจะเป็นเพลงเร็ว ฟังไม่รู้เรื่อง เลยอยากได้เป็นเพลงรักด้วย และอยากให้ทุกคนฟังเข้าใจง่าย เลยเลือกเพลงนี้
สำหรับเพลง Heavy Rotation ใช้เวลาในการฝึกนานมั้ยครับ
ใช้เวลาวันเดียว หมายถึงว่าต่อท่านะคะ เพราะให้ทางญี่ปุ่นเป็นคนสอนมา ตอนนั้นก็เป็นช่วง โควิด-19 มาใหม่ๆ เลยมีการสอนทางออนไลน์เอา หลังจากนั้นก็มาฝึกซ้อมกันเอง ซึ่งหลายๆ คนก็เคยคุ้นกับท่าของเพลงนี้อยู่บ้างนะคะ เพราะเคยนำมาเล่นตอนคอนเสิร์ต World Sembatsu
พอมาเป็นเซ็นเตอร์และผู้นำเพลงของวง มีความรู้สึกว่าท้าทายมั้ย
ขอย้อนไปช่วงเลือกตั้งเซ็มบัตสึก่อนหน้านั้นนิดนึงค่ะ ตอนที่ลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ ตอนนั้นรู้สึกเครียดมาก พอมางานจับมือ เราก็บอกแฟนคลับของเรานะ แฟนคลับบอกว่า ถ้าอยากทำ ทำเลย พร้อมสนับสนุน เราก็สู้มาตลอด จนวันที่ประกาศผล เราก็รู้สึกว่า ไม่ได้กดดันนะคะ อาจจะมีความกังวลว่า เราจะทำได้ดีมั้ย กลัวทำได้ออกมาไม่ดี แต่ก็ถือว่าทำออกได้เต็มที่ ตามความสามารถที่เรามีแล้ว เราก็ไม่เสียใจทีหลังค่ะ
ตอนนี้เราก็ขึ้นวัย 20 แล้ว มีความเปลี่ยนแปลงจากตอนเข้าวงยังไงบ้างครับ
หนูสวยขึ้นค่ะ (ยิ้ม) แล้วมันก็หลายด้าน ทั้งในเรื่องความคิดที่เปลี่ยนไปเยอะ แล้วก็พัฒนาตัวเองไปในหลายๆด้าน มีความมั่นใจ และดีขึ้นกว่าแต่ก่อนแน่ๆ อาจจะเป็นเพราะมีการโตขึ้นด้วย และหลายๆ คน ที่ยังคอยสนับสนุน และให้แง่คิดต่างๆ ให้เรารู้ว่า ถ้าเราคิดแบบนี้ จะดีต่อจิตใจของเราเองมากกว่านะ อย่างที่บอกไปว่า มันต้องลงสนามจริง มันถึงจะรู้ว่าต้องใช้อะไรเผชิญกับสิ่งนั้น มันเหมือนกับเรามีอาวุธอยู่ในมือ แล้วเราเลือกว่า จะใช้อาวุธไหนในการเผชิญต่อสู้กับสิ่งที่เข้ามา
เหมือนอารมณ์ว่า ในวัย 20 ของเจน มีทั้งความรับผิดชอบและแรงกดดันเยอะกว่า คนรุ่นราวคราวเดียวกันนะ
อาจจะมั้งคะ เพราะว่าเราทำงานด้วย แต่คิดว่าแต่ละคนเผชิญความกดดันไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะกดดันในเรื่องครอบครัว หรือบางคนก็กดดันตัวเองเอง แน่นอนว่าความหนักเบาไม่เหมือนกัน
คำว่า “ทุกอย่างมีความเป็นไปได้เสมอ” เรารู้สึกกับคำนี้ยังไงบ้างครับ
อย่างที่เคยพูดค่ะ ทุกอย่างมันมีความเป็นไปได้เสมอ ถ้าเราไม่ตัดสินมันไปก่อนว่า ทำไม่ได้หรอก เพราะถ้าเราพูดคำนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ลงมือทำ เรารู้ได้ยังไงว่าทำได้หรือไม่ได้ ถูกมั้ยคะ อย่างน้อย เราก็ได้ทำแล้ว ได้รู้แล้วว่า ตรงนี้มันผิดพลาด แต่ในอนาคตอาจจะเป็นไปได้ มีความหวังแต่ไม่คาดหวัง เพราะถ้าเราคาดหวังแต่ไม่ได้มันเจ็บนะ เขาถึงบอกว่า มีความหวัง ทำให้เต็มที่กับสิ่งที่เราหวังให้ดีที่สุด แต่อย่าไปคาดหวังว่าเราจะได้สิ่งนั้นมาแน่ๆ เพราะอะไรมันก็ไม่แน่นอน แต่อย่างน้อย เราจะไม่เสียใจภายหลังว่า รู้งี้ทำดีกว่า รู้งี้ทำให้เต็มที่กว่าเดิม ประมาณนี้ค่ะ (ยิ้ม)
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ดรงค์ ฤทธิปัญญา