องค์การยูเนสโกแห่งประชาชาติได้ตั้งรางวัล “Award of Merit” หรือรางวัลคุณงามความดีขึ้น และเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๒ ยูเนสโกประจำประเทศไทยได้ประกาศว่า องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติได้ประกาศผลการประกวดโครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิก ประจำปี ๒๕๕๒ มีสถานที่ ๔๘ แห่งจาก ๑๔ ประเทศส่งเข้าประกวด มีมติมอบรางวัลระดับดีให้แก่ ชุมชนสามชุกและตลาดเก่าร้อยปีของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่พลิกฟื้นประวัติศาสตร์ชุมชนโดยชาวบ้านท้องถิ่นเป็นแกนหลัก เป็นต้นแบบของการฟื้นฟูเมืองเก่าให้กลับมามีชีวิตชีวาน่าอยู่ขึ้นอีกครั้ง
ตลาดร้อยปีสามชุก อยู่ริมแม่น้ำท่าจีนในช่วงที่เรียกกันว่าแม่น้ำสุพรรณบุรี แต่เดิมบริเวณนี้ม่ชื่อเรียกขานว่า “ท่ายาง” เนื่องจากมีชาวกะเหรี่ยงหรือชาวยางจากภาคตะวันตก นำของป่ามาขายให้กับพ่อค้าชาวเรือที่ล่องลงมาจากทางเหนือ บ้างก็มาจากทางใต้ด้านปากน้ำสมุทรสาคร จึงเรียกตลาดแห่งนี้ว่า “สามแพร่ง” และเพี้ยนเป็น “สามเพ็ง” บ้าง “สำเพ็ง” บ้าง ต่อมาคนที่มารอขายสินค้าก็ตัดไม้ไผ่ย่านนั้นมาสานเป็นภาชนะสำหรับใส่ของขาย เรียกกันว่า “กระชุก” ทำให้ชื่อตลาดแห่งนี้กลายอีกครั้งเป็น “สามชุก” และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอสามชุกเมื่อปี ๒๔๕๗
ที่บริเวณสามชุกนี้ยังมีการขุดพบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก เช่น เทวรูปยืนขนาดใหญ่ เนื้อหินสีเขียว พระพิมพ์เนื้อชิน พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เศียรอสูร เศียรเทวดา และรูปสัตว์ที่ประดับศาสนสถานจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อู่ทอง จึงเชื่อว่าที่นี้เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณในยุคอาณาจักรทวารวดี
ต่อมาเมื่อแม่น้ำท่าจีน เส้นเลือดสำคัญของตลาดสามชุกตื้นเขินและแคบลง ทำให้ความคึกคักของตลาดสามชุกพลอยเงียบเหงาลงไปด้วย ในปี ๒๕๔๓ กรมธนารักษ์ซึ่งครอบครองพื้นที่ส่วนหนึ่งของตลาด มีโครงการจะรื้อเรือนไม้เก่าที่เคยเป็นร้านค้าขายออกเพื่อปลูกเป็นตึกแถวแทน แม้บางคนจะเห็นด้วยกับ “ความเจริญ” ที่เข้ามา แต่ชาวสามชุกอีกส่วนหนึ่งก็เกิดความสำนึกในการหวงแหนความเป็นมาของอดีตที่งดงาม จึงเกิดการคัดค้านโดยมี ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล คนเกิดที่สามชุก เป็นที่ปรึกษาในการจะปรับปรุงชุมชนในแนวทางอนุรักษ์วิถีชีวิตอดีตไว้ ให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมของตลาดริมน้ำ เพื่อให้เกิดมิติของการท่องเที่ยวซึ่งจะช่วยฟื้นฟูชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชนให้กลับคืนมาได้
ในปี ๒๕๔๔ จึงเกิด “คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุก” ขึ้น โดยมี ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล เป็นประธานคณะกรรมการ จัดทำโครงการพัฒนาในแนวทางอนุรักษ์อาคารไม้เก่าแก่ซึ่งมีลายไม้ฉลุที่เรียกว่าลายขนมปังขิงถึง ๑๙ ลาย ยากจะหาดูได้แล้วในปัจจุบัน นำวิถีชีวิตค้าขายแบบมีอัธยาศัยไมตรีอย่างในอดีตกลับมาสู่ตลาดสามชุกอีกครั้ง เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต
นับเป็นวิถีชีวิตยุคที่สาม ของตลาดสามชุก นับแต่ยุคทวารวดี
คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกได้เปิดเวทีประชาคม ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น สร้างกิจกรรมต่างๆ เช่น ภาพเก่าเล่าขาน อร่อยดีที่สามชุก จัดตลาดให้น่าเดินน่าซื้อ และปรับปรุงบ้าน ขุนจำนงจินารักษ์ นายอากรคนแรกของสามชุก ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน สร้างแรงจูงใจให้มีจิตสำนึกรักถิ่นเกิด ปูพื้นฐานให้ประชาชนเดินเข้ามาสู่วงล้อมของการอนุรักษ์เหมือนเดินอยู่ในยุคอดีต ทำให้ได้รับความสนใจและคำชมจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆได้เข้ามาศึกษา ที่สำคัญ ในปี ๒๕๔๒ ตลาดสามชุกได้รับพระราชทานรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทองค์กร จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นผู้คัดเลือกและเสนอ
นอกจากตลาดเก่าริมแม่น้ำที่สร้างด้วยไม้เป็นภาพอดีตที่ยังคงอยู่แล้ว พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจินารักษ์ที่แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความเป็นมาของตลาดและชีวิตผู้คนชาวสามชุก จัดแสดงภาพวาดเกี่ยวกับสามชุกของนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร้านขายยาไทย-จีน ร้านกาแฟโบราณ ร้านถ่ายรูปโบราณ ฯลฯ ยังเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกอดีตของตลาดแห่งนี้ไว้
สิ่งเด่นอีกอย่างของตลาดร้อยปีสามชุกที่เรียกความสนใจของนักท่องเที่ยวได้มาก ก็คืออาหารหลากหลายที่เรียงรายอยู่สองข้างทางเดิน ทั้งของดีจากอดีตและปัจจุบันมาเจอกันเต็มตลาด สิ่งที่นักท่องเที่ยวพูดถึงกันมากก็ตือ ร้านกาแฟโบราณที่รสชาติและบรรญากาศเก่าๆทำให้คนนั่งเต็มร้านตลอด
ลูกชิ้นยักษ์ เห็นขนาดใหญ่สุดก็จะตกใจ น้องๆลูกเทนนิส เรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวได้มาก
สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับเมืองสุพรรณก็คืออาหารจากปลา สุพรรณบุรีเป็นแหล่งผลิตปลาสลิดแหล่งใหญ่ไม่แพ้บางบ่อของสมุทรปราการ ทั้งยังมีปลาแม่น้ำจำนวนมาก แต่ที่สุดยอดก็คือ ปลาม้าแดดเดียว ที่หากินที่อื่นไม่ได้
เชียงปลากราย ก็คือกุนเชียงที่ใช้เนื้อปลากรายแทนเนื้อหมู ทำให้ไม่มีมันที่คนรักสุขภาพรังเกียจ แฟนกุนเชียงจึงหิ้วปลากรายเชียงกลับไปเป็นแถว
ถ้าจะย้อนบรรญากาศเก่าๆก็ต้อง ข้าวห่อใบบัว คนสมัยก่อนหรือเด็กนักเรียนก็นิยมใช้ใบบัวนี่แหละห่อข้าว กลิ่นใบบัวที่ติดอยู่ในข้าวนั้นทำให้สูดบรรญากาศเก่าๆได้ดีแท้ ส่วนข้าวห่อใบบัวที่ทำขายกันนั้นก็คือข้าวผัดที่ส่วนใหญ่ก็มี กุนเชียง เห็ดหอม แปะก๊วย กุ้งแห้งทอด ไข่เค็ม ซึ่งแต่ละสูตรก็ต่างกันไป เมื่อจะรับประทานก็เอาไปนึ่งอุ่นทั้งห่อ กลิ่นก็จะชวนให้น่ารับประทานยิ่งขึ้น
ส่วนขนมโบราณก็ไม่ขาดในตลาดสามชุก ยังมีขนมโบราณที่ลืมๆกันไปมาก รวมทั้งประเภทลอยแก้วซึ่งไม่ค่อยมีใครทำขายกันแล้ว และที่ขาดไม่ได้ก็คือ สาลี่ ของดีที่ขึ้นชื่อของเมืองสุพรรณ
ตลาดร้อยปีสามชุกเปิดขายทุกวัน ตั้งแต่ ๘ โมงเช้าถึงเย็น ไม่มีวันหยุด แต่วันธรรมดาความคึกคักทั้งคนขายคนซื้อก็จะน้อยหน่อย จะสนุกก็ต้องวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ