นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์จากโรงพยาบาลวิชัยยุทธ เผยข้อมูลของโรคลมหลับ ผู้ป่วยอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ แนะกรมการขนส่งทางบกควรบรรจุว่าผู้ป่วยโรคนี้ห้ามขับขี่รถยนต์หากยังไม่ได้รับการรักษา
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. เพจ “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” หรือนายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้ออกมาโพสต์ข้อความให้ความรู้เกี่ยวกับโรค “ลมหลับ (Narcolepsy)” ซึ่งโรคดังกล่าวอาจทำให้เกิดเหตุร้ายแรงขึ้นได้หากผู้ป่วยขับรถและเกิดอาการวูบหลับไป ทั้งนี้ “หมอมนูญ” ได้ระบุข้อความว่า
“โรคลมหลับ (Narcolepsy) เป็นโรคความผิดปกติของการนอนหลับชนิดหนึ่งซึ่งเป็นตลอดชีวิต มีผู้ที่เป็นโรคนี้ประมาณ 1 ใน 2,000 คน ผมพบด้วยตัวเอง 4 คน สาเหตุยังไม่ทราบ โรคลมหลับ อันตรายถ้าไม่ได้รับการรักษา
ผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 19 ปีเพิ่งประสบอุบัติเหตุจากหลับในครั้งแรกเมื่อ 5 เดือนก่อน วันนั้นกำลังขับรถกลับบ้าน จู่ๆ ง่วงมาก เผลอหลับ รถวิ่งข้ามเกาะกลาง ชนกับรถเเท็กชี่ก่อน แล้วเสียหลักชนร้านก๋วยเตี๋ยวอย่างแรง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย แต่เคราะห์ดีที่ไม่มีใครเสียชีวิต และผู้ป่วยไม่เป็นอะไร (ดูรูป)
ผู้ป่วยมีประวัติง่วงมากผิดปกติ เริ่มตั้งแต่เด็กอายุ 7-8 ขวบ ตอนเรียนชั้นประถม คุณครูเคยถามคุณพ่อคุณแม่ว่า อดนอนหรือเปล่า ทำไมนั่งงีบหลับในห้องเรียนทุกชั่วโมง ผู้ป่วยนอนหลับเพียงพอ นอนเต็มอิ่ม แต่ตื่นขึ้นมาก็ไม่สดชื่นยังง่วง ต้องเผลอหลับทุกวัน ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่กินยาประจำ ตรวจร่างกายปกติ ไม่อ้วน ทำคอมพิวเตอร์สมองปกติ เข้ารับการตรวจการนอนหลับในห้องปฏิบัติการการนอนหลับในโรงพยาบาล ไม่พบโรคนอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับ พบคลื่นสมองเปลี่ยนเป็นหลับฝัน (REM sleep) 1 นาทีหลังจากเริ่มหลับ คนปกติคลื่นสมองจะเปลี่ยนเป็นหลับฝันต้องใช้เวลาประมาณ 90 นาที
หลังจากที่ผู้ป่วยนอนหลับเต็มอิ่มแล้วเช้าวันรุ่งขึ้นทำการตรวจการนอนหลับตอนกลางวันเป็นช่วงๆในห้องปฏิบัติการ (Multiple sleep latency test) โดยให้ผู้ป่วยพยายามงีบหลับทุก 2 ชั่วโมง 5 รอบตั้งแต่เช้าถึงบ่าย ถ้าหลับจะอนุญาตให้งีบหลับได้เพียง 15 นาทีแล้วถูกปลุกให้ตื่น ขณะงีบหลับมีการตรวจคลื่นสมอง คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ และการกลอกตา ผู้ป่วยหลับง่ายได้ทั้ง 5 รอบ ใช้เวลาไม่ถึง 4 นาทีจากดับไฟจนกระทั่งเริ่มหลับ และคลื่นสมองเปลี่ยนเป็นหลับฝัน (REM sleep) 3 รอบในเวลาไม่ถึง 3 นาที ซึ่งถือว่าผิดปกติ เข้าได้กับโรคลมหลับ
โรคลมหลับไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การใช้ยาบางชนิดสามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ ยารักษาโรคลมหลับที่ใช้ทั่วไป ได้แก่ ยากระตุ้นให้ตื่น เช่น โมดาฟินิล (Modafinil) มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมหลับตื่นในเวลากลางวัน หลังกินยากระตุ้นให้ตื่นทุกวันตอนเช้า อาการง่วงนอนจะดีขึ้น ไม่หลับง่ายเหมือนแต่ก่อน เน้นห้ามขับขี่ กรมการขนส่งทางบกต้องบรรจุโรคลมหลับเป็นอีก 1 โรคที่ห้ามขับขี่ถ้ายังไม่ได้รับการรักษา เพราะอันตรายต่อทั้งคนขับและผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน
หลับในเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของคนอเมริกันจากอุบัติเหตุทางถนนถึงร้อยละ 21 สำหรับคนไทยผมเชื่อว่าหลับในเป็นสาเหตุการตายมากถึงร้อยละ 30 ของอุบัติเหตุจราจร หรือกว่า 6 พันคนต่อปี แต่ถูกมองข้าม สาเหตุหลักของหลับในเกิดจากนอนหลับไม่เพียงพอ สาเหตุรองเกิดจากกินยาที่ทำให้ง่วง เช่น ยาแก้แพ้ แก้หวัด รวมทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ แต่ถ้านอนพอเพียงแล้วยังง่วง ส่วนใหญ่เกิดจากโรคนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ ส่วนน้อยเกิดจากโรคลมหลับ
ช่วยกันเตือนคนที่เรารัก ง่วงรีบจอด ฝืนขับ อาจหลับใน”