“หมอธีระ” แพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อเสนอต่อ ศบค.ควรจะรายงานผู้ติดเชื้อแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมแนะ 4 ข้อ ต่อสู้ในสงครามไวรัสโควิด-19
วันนี้ (21 ส.ค.) ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” เสนอแนวทางในการนำเสนอผู้ติดเชื้อจากไวรัสโควิด-19 เป็นแบบ real time เพื่อให้ประชาชนในประเทศสามารถรับข่าวสารได้อย่างทันท่วงที โดยหมอธีระมองว่าปัจจุบันการทำงานของ ศบค. กับหน่วยงานอื่นยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ โดยต้องการให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเน้นสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน ซึ่งหมอธีระได้เสนอ 4 แนวทาง ในการต่อสู้กับโควิด-19 ไว้ดังนี้
1. ควรสำแดงข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป้องกันควบคุมโรคที่มีในมือให้แก่ประชาชนได้รับทราบ ไม่ต้องกั๊กไว้กับหน่วยใดหน่วยหนึ่ง เช่น มีเคสสงสัยเท่าไร อยู่บริเวณใดบ้าง เคสคอนเฟิร์มแล้วเท่าไร
2. การสื่อสารสาธารณะ ต้องการบทที่มีสาระที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่เจือปนด้วยอคติที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร
3. ไม่จำเป็นต้องให้ผู้บริหารเป็นคนสื่อสารสู่สาธารณะ แต่ควรใช้คนที่มีทักษะสื่อสารที่ดี ชัดเจน ตรงไปตรงมา
4. แท็กทีมกับสภาวิชาชีพ ราชวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำงานด้านวิชาการมาใช้สร้างและขับเคลื่อนนโยบาย โดยไม่ควรใช้วงจรแบบ individual expert opinion
แต่หากมองสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ ผมคิดว่ารัฐยังไม่พร้อมที่จะให้แต่ละหน่วยงานไปดำเนินการเองแบบอิสระ เพราะจะเกิดปัญหาที่ย้อนกลับไปแบบในการระบาดระลอกแรก จำเป็นต้องมีกลไกกลาง ที่ทำหน้าที่ติดตาม กำกับ ตรวจสอบ สั่งการแบบบูรณาการ เพื่อให้ทราบสถานการณ์ที่ทันต่อเหตุการณ์จริง แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งมักต้องใช้ความร่วมมือของหลายหน่วยงานในการจัดการ ถ้าขาดกลไกกลาง...โอกาสเพลี่ยงพล้ำมีสูง เพราะจะมีอิทธิพลของการเมืองแต่ละกระทรวงมาทำให้เกิดวิกฤติได้ ดังที่เราเห็นมาในอดีต ทั้งเรื่องเชียร์แข่งรถ ไม่ปิดกั้นนักท่องเที่ยวต่างชาติ หน้ากากล่องหน เจลแพง หักหัวคิวโรงแรม ยาเสพติดรักษาสารพัดโรค ฟองสบู่ของข้าใครอย่าแตะ เป็นต้น”