ผู้ถือหุ้นจีสตีล - จี เจ สตีล รุมซักทีมบริหารต่างชาติ “Synegy” ล้มเหลวบริหารงานในกลุ่มจีสตีล 3 ปี ไม่เคยกำไร ตั้งข้อสังเกต กลุ่มทุนต่างชาติผู้ถือหุ้นใหญ่ SSG-Synegy - Link Capital ผลประโยชน์ทับซ้อน “ศิริวัฒน์ แซนด์วิช” นำทัพผู้ถือหุ้น โวยเพิ่มทุน จี เจ สตีล ผิดวัตถุประสงค์ เรียกร้องลดดอกเบี้ยมหาโหด 12% ให้เหลือ 3% ยกวิกฤตโควิด-19 เจ้าหนี้ต้องช่วยกอบกู้บริษัท พร้อมยกตัวอย่าง SSI อยู่ในแผนฟื้นฟู มีเงินจ่ายหนี้และบริหารงานมีกำไร
วันนี้ (29 ก.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมสามัญประจำปี 2563 ของบริษัท จี สตีล ( GSTEEL ) และ จี เจ สตีล ( GJS ) เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา มีผู้ถือหุ้นรายย่อยให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก ซึ่งประเด็นที่ผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัท ให้ความสนใจซักถามและตั้งข้อสังเกต คือ การบริหารงานล้มเหลวของ Synegy ตลอดระยะเวลา 3 ปี, ผลประโยชน์ทับซ้อนของ SSG ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มจีสตีล และ Link Capital เจ้าหนี้ปล่อยกู้ดอกเบี้ย 12% ต่อปีให้กับกลุ่มจีสตีล อยู่ในกลุ่มเดียวกับ SSG
นายศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ หรือ “ศิริวัฒน์ แซนด์วิช” ผู้ถือหุ้นกลุ่มจีสตีล ลุกขึ้นถามในที่ประชุมโดยตั้งข้อสังเกตว่า เดือน พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา GJS ได้เพิ่มทุนจำนวน 1,500 ล้านบาท ซึ่งบริษัทแจ้งวัตถุประสงค์การเพิ่มทุน นำเงิน 1500 ล้านบาท ไปเพิ่มกำลังผลิตจาก 60,000 ตัน เป็น 100,000 ตัน และ 600 ล้านบาท ใช้หนี้ให้กับ ลิงค์ แคปปิตอล แต่ปรากฏว่า ไตรมาส 1/2563 กำลังผลิตของ GJS ยังเท่าเดิมที่ 60,000 ตัน นำเงินเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นกว่า 1 หมื่นราย ออกไปใช้หนี้ 600 ล้านบาท และเป็นดอกเบี้ยที่มากถึง 347 ล้านบาท หรืออัตราดอกเบี้ย 12% ต่อปี ถึงกลับกล่าวว่า ไม่มีความมั่นใจใน SSG และ Synegy จะเข้ามาช่วยฟื้นฟูกอบกู้ หรือกอบโกยสูบเลือดจากกลุ่มจีสตีล รวมทั้งขอให้ Synegy ซึ่งรับจ้างบริหารเดือนละ 10 ล้านบาท ยึดถือประโยชน์ของผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ยึดประโยชน์ของ SSG
อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตดังกล่าวของผู้ถือหุ้นรายย่อย สอดคล้องกับข้อสังเกตของบริษัทสอบบัญชี เอ.เอ็ม.ที แอสโซซิเอท ที่ตั้งข้อสังเกตในงบการเงินปี 2562 ผ่านคณะกรรมการตรวจสอบ ในเรื่องความผิดปกติของการควบคุมภายใน การแทรกแซง การครอบงำกิจการจากต่างประเทศ ผลประโยชน์ทับซ้อน ที่จะเป็นจุดอ่อนทำให้เกิดความเสียหายต่อกลุ่มบริษัท จี สตีล จึงได้แต่งตั้งบุคคลที่ 3 “ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา จำกัด (“Deloitte”) ทำ Forensic Audit เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา Deloitte ใช้ระยะเวลาทำงาน 3 เดือน กรอบการตทำงานของ Deloitte เป็นไปตามที่มีการตั้งข้อสังเกตของผู้สอบบัญชี
นายศิริวัฒน์ ยังขอให้ นายราจีฟ ชวาเวิ๊ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) ของ GJS และ GSTEEL ชี้แจง การใช้เงินเพิ่มทุน, ภาระหนี้, การดำเนินผลิต และความสัมพันธ์ของ SSG ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มจีสตีล, ว่า ทั้ง SSG กับ -Synegy เป็นหุ้นส่วนกันหรือร่วมปล่อยกู้หรือเปล่า
“ในวิกฤตโควิด-19 และภาวะดอกเบี้ยตกต่ำทั่วโลก เจ้าหนี้ต่างลดภาระให้กับลูกหนี้ แต่หนี้ของกลุ่มจีสตีล มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงถึง 12% SSG เป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นทั้งเจ้าหนี้ คุมการบริหารทั้งหมด การเงิน การตลาด ทำให้มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ขอให้ทีมบริหารประสารกับเจ้าหนี้-ผู้ถือหุ้นใหญ่ ลดดอกเบี้ยลง อย่ากดดันการผิดนัดชำระหนี้ ในภาวะโควิด-19 ขออย่าคิดเอากลุ่มใด กลุ่มหนึ่งรอด แต่ต้องให้ผู้ถือหุ้นนับหมื่นราย รอดไปด้วยกัน ให้ดูตัวอย่างของ สหวิริยา (SSI) ที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ บริหารได้ดี กว่าsynergy และทางเจ้าหนี้ของ ssi ก็ลดดอกเบี้ยให้และช่วยเหลือ
นายราจีฟ ได้ชี้แจงว่า ยอมรับว่า ลิงค์ แคปปิตอล ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของกลุ่มจีสตีล มีผู้ถือหุ้นใหญ่เดียวกับกลุ่มจีสตีล แต่ SSG ไม่ได้ถือหุ้น Synegy ส่วนเงินเพิ่มทุนของ GJS คืนหนี้ให้กับ Link Capital เป็นเงินต้นจำนวน 600 ล้านบาท และดอกเบี้ย 347 ล้านบาท (อัตราดอกเบี้ย 12%) จากหนี้ทั้งหมด 2,100 ล้านบาท ส่วนอีก 900 ล้านบาท ตามวัตถุประสงค์จะไปเพิ่มกำลังผลิต จาก 65,000 ตัน/ปี เป็นสูงสุด 125,000 ตัน แต่สภาวะตลาดไม่ดี จึงยังไม่ได้เพิ่มกำลังผลิต ปัจจุบันคงเหลือกระแสเงินสดเพียง 350 ล้านบาท เท่านั้น และพยายามลดค่าใช้จ่าย, ลดพนักงาน
สำหรับ GSTEEL ซึ่งผิดนัดชำระหนี้ Link Capital อยู่ระหว่างเจรจายังไม่ได้เสียค่าปรับ ซึ่ง จีสตีล มีหนี้ 1,200 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 12%
ผู้ถือหุ้นยังได้ฝากถึง นายคนิสร์ สุคนธมาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มจีสตีล ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อ 5 พ.ค. 2563 ให้ดูแลผลประโยชน์ของบริษัท โดยเฉพาะดอกเบี้ยโหด 12% ซึ่งซีอีโอ รับปากว่า จะนำพาฟื้นฟูให้กลุ่มจีสตีล กลับมาสร้างกำไร ไม่เป็นภาระกับนักลงทุน