xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้อง “แฮมทาโร่” เคลื่อนไหวแฮมทาโร่ จับกระแส “ป๊อบคัลเจอร์” หาความสนใจไล่ “ประยุทธ์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงาน

ตัวการ์ตูนญี่ปุ่นรูปหนูแฮมสเตอร์ที่ชื่อว่า “แฮมทาโร่ แก๊งจิ๋วผจญภัย” ถูกนำมาใช้เป็นแคมเปญเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อ 26 พ.ค. เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุบสภา

แบบชนิดที่ว่าฝ่ายความมั่นคงพากันงงไปหมด โดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุมาจากไหน?

ย้อนกลับไปที่ตำนานของการ์ตูนที่ชื่อว่า “แฮมทาโร่ แก๊งจิ๋วผจญภัย” ถือกำเนิดขึ้นโดย ริสึโกะ คาวาอิ นักวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่น ในปี 2540 ก่อนที่จะนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อนิเมะ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ “ทีวีโตเกียว” ในปี 2543

และเวลาเปิดเพลงนี้ จะมีโอตาคุ (คนที่คลั่งไคล้อะนิเมะ) วิ่งกันเป็นวงกลมพร้อมยิงมิกซ์

ในประเทศไทย มีการนำมาออกอากาศพร้อมกับเพลงแปลงเป็นภาษาไทย โดยมีเนื้อร้องว่า “เอ้า ออกมาวิ่ง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่ ตื่นออกจากรัง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่ หอมอร่อยที่สุดก็คือ เมล็ดทานตะวัน

20 ปีผ่านไป การ์ตูนแฮมทาโร่กลายเป็นสัญลักษณ์ของคนที่ผ่านยุคเจเนอเรชันนั้น แม้กระทั่งวัยรุ่นไทยเองส่วนหนึ่งก็เคยผ่านตัวการ์ตูนที่ชื่อว่าแฮมทาโร่ ทั้งตัวการ์ตูนเอง รวมทั้งเพลงเวอร์ชันภาษาไทย

มาถึงแคมเปญแฮมทาโร่กับการเมืองไทย สืบเนื่องมาจากมีชาวเน็ตรายหนึ่งแปลงเพลงแฮมทาโร่เวอร์ชันภาษาไทย ในตอนหนึ่งระบุว่า “เอ้า ออกมาวิ่ง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่ ตื่นออกจากรัง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่ ของอร่อยที่สุดก็คือ ภาษีประชาชน”

เสียดสีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเป็นเยาวชน “คิดดีไม่ได้เลย” มองว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่พวกเขาไม่ได้เลือกเข้ามา ผลาญภาษีประชาชน

ความคิดเหล่านี้ ผู้ใหญ่คงไปดูถูกเด็กไม่ได้ เนื่องจากพฤติกรรมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำตัวให้ผู้ชุมนุม โดยเฉพาะ “เยาวชน” เป็นที่น่าสงสัย และมองว่ารัฐบาลนี้ตรวจสอบไม่ได้ แถมใช้กฎหมายปิดปากพวกเขา



ต่อมา ได้มีการชักชวนทำกิจกรรมแฟลชม็อบในรูปแบบ ร้องเพลงแฮมทาโร่ ผ่านแฮชแท็ก #วิ่งกันนะแฮมทาโร่ ในทวิตเตอร์ นัดหมายที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมี “กลุ่มแนวร่วมนรชีวิน” ร่วมจัดกิจกรรมด้วย กลุ่มเป้าหมายคือเยาวชนคนรุ่นใหม่นั่นเอง

กลุ่มแนวร่วมนรชีวิน ก็คือกลุ่มเดียวกับที่ นายสัณหณัฐ ศรัทธาพร หรือแตม นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ (อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท) อดข้าวประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นั่นแหละ

มีการวิเคราะห์กันว่า การเคลื่อนไหวนี้ ใช้สิ่งที่เรียกว่า Popular Culture หรือการนำวัฒนธรรมที่มีความสนใจร่วมกันมาเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องพูดถึงคนที่กำลังพูดถึง และยังปลอดภัยหากจะนำมาพูดถึง

เช่น การใส่ หน้ากากขาว จากภาพยนตร์เรื่อง วี ฟอร์เวนเดทต้า ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือการ ชูสามนิ้ว จากภาพยนตร์เรื่องฮังเกอร์เกมส์ ในยุคที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง

ก่อนหน้านี้ก็มีการชุมนุมของกลุ่ม LGBTQ+ โดยนำตัวละครจากภาพยนตร์เรื่องหอแต๋วแตกมาเคลื่อนไหว ใช้ชื่อว่า “ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล” นอกจากจะเรียกร้องให้ยุบสภาแล้ว ยังเพิ่มข้อเรียกร้องคือ สมรสเท่าเทียม อีกด้วย

เฟซบุ๊ก “Starless Night - Harit Mahaton” ของนายหฤษฎ์ มหาทน หรือปอนด์ นักเขียน และผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มองว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทยกำลังเข้าสู่พรมแดนใหม่ แม้แต่วิธีคิดของฝ่ายประชาธิปไตยเดิมก็เก่าเกินไป

ทัศนคติที่ว่าม็อบม็อบมีแกนนำ มีจัดตั้ง มีการจัดการ มียุทธศาสตร์เพื่อเป้าหมายการต่อรองหรืออำนาจ ใช้ไม่ได้กับม็อบเยาวชนในปัจจุบัน และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงตามไม่ทัน เพราะเป็นการนำ "มีม" ทางการเมืองจากโลกอินเทอร์เน็ตออกมา

“ทุกวันนี้แค่มีไอเดีย นัดวันเวลา ลงแฮชแท็กในทวีต คนก็มากันได้ ไม่ต้องมีการจัดตั้ง ไม่ต้องมีค่ารถ ไม่ต้องเตรียมข้าว ไม่ต้องเตรียมเต้น ถ้าเคยเป็นสตาฟงานกีฬาสีของโรงเรียนสักหน่อย ก็มีโนว์ฮาวหมดแล้วว่า พอคนมารวมกันต้องทำอะไรบ้าง มันเป็นการนำเสนอสิ่งที่อยู่ในโลกออกไลน์ออกมาบนโลก”

ตัวอย่างของมีมคือ ใครสักคนสร้างภาพล้อเลียนอะไรสักอย่างขึ้นมาในอินเตอร์เน็ต แล้วบังเอิญติดคริจนเกิดกระแส คนแชร์กันมากมาย และชอบคนมีคนนำงานนั้นไปดัดแปลงใส่ไอเดียตัวเองเข้าไปเป็นงานใหม่ แล้วส่งต่ออีก

เขากล่าวว่า ในเวลานี้ม็อบกลายเป็นแพลตฟอร์มของมีม ที่ผู้ทำม็อบจะปรับปรุง ใส่อะไรที่เป็นของเขาเข้าไปก็ได้ จากนั้นก็นำเสนอผลงานนั้นต่อไป โดยที่เด็กไทยมีอาวุธอย่างหนึ่งคือ ความกวนตีน ที่หาทางแซะ หาทางหลบ ผสมความคิดสร้างสรรค์

“จากนี้ ม็อบเยาวชนจึงจะเป็น new frontier ที่เราจะเดาไม่ได้อีกต่อไปแล้วว่ามันจะมีหน้าตายังไง ตั้งแต่อาทิตย์หน้า เป็นต้นไปเราจะต้องอุทานว่า ... แบบนี้ก็เอามาใส่ในม็อบกันได้เหรอ อยู่เรื่อยๆ ผมเองก็เดาไม่ออก แต่แนะนำว่าผู้ใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตยเก็บประสบการณ์เดิมเอาไว้ก่อน รอดู และรอช่วยเหลืออยู่ห่างๆ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น”



ในช่วงนี้เราอาจจะได้เห็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของเยาวชนคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ตราบใดที่พวกเขามอง พล.อ.ประยุทธ์ ได้หลายแง่มุม ทั้งเป็นศัตรูทางการเมืองที่ควรขับไล่ หรือเป็นตัวตลกที่อยู่ในใจเยาวชนเหล่านั้นไม่ได้

มีคนแนะนำไปถึงผู้บริหารประเทศว่า ควรเข้าใจหลักการประท้วงและหาความยืดหยุ่นรับมือเยาวชนเหล่านั้นให้ได้ อย่าเพิ่งเห็นพวกเขาเป็นศัตรู เพราะสิ่งที่พวกเขาเรียกร้อง เกิดจากปัญหาที่มีความซับซ้อนในปัจจุบัน





กำลังโหลดความคิดเห็น