สำมโนประชากร ก็คือการนับจำนวนผู้คนพลเมืองทั้งประเทศ โดยแจกแจงแยกเป็นผู้ชาย ผู้หญิง อายุ และสัญชาติ กล่าวกันว่ามีการทำมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ซึ่งก็คงจะเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควรที่ต้องไปเดินนับหัวกัน จนถึงในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในประเทศหลายอย่าง มีพระราชประสงค์จะทรงทราบว่าคนแถวตลาดนางเลิ้งที่เป็นชุมชนคึกคักในสมัยนั้นมีคนสักเท่าไร ก็ยังได้ผลอย่างที่ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึงกรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ มีความว่า
สวนดุสิต
วันที่ ๓๑ สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๙
ถึง กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์
ด้วยฉันสั่งพระยารองเมืองให้ลองนับคนที่ตลาดนางเลิ้งว่าจะมีสักเท่าใด ครั้นวันนี้พบหลวงธรณีได้ถามว่าตรวจแล้วหรือยัง คนสักเท่าใด หลวงธรณีพูดดังอ้อมแอ้มว่า ได้ตรวจบ้างแล้ว ฉันถามว่าได้เท่าไร บอกว่าสัก ๓๐๐ ฉันเห็นว่าผิดนัก แค่ชั่วโรงแถวริมถนน ๙๗ ห้อง คนว่างอยู่สัก ๗ ห้อง โรงแถวห้องหนึ่งที่จะอยู่คนเดียวเป็นไม่มี ย่อมอยู่ตั้ง ๓-๔ คนขึ้นไป ยังโรงแถวชั้นเดียวอีกเป็นอันมาก แต่ถ้าจะอยู่แต่ห้องละคนทั้งหมด ยกที่ว่างเสีย ๕๗ ห้อง ก็กว่า ๓๐๐ แล้ว ครั้นถามอึกอักเข้า บอกว่าจะตรวจนับกลัวจะเป็นที่ตื่นตกใจ จะค่อยๆ ตรวจไป เมื่อได้ฟังคำตอบเช่นนี้ ดูเหมือนแกจะไม่เข้าใจว่าจะตรวจทำอะไร พระยารองเมืองจะไปสั่งสั้นๆ ไม่ได้ บอกวิธีว่าควรจะนับได้ด้วยอย่างไร แกสิ้นปัญญาที่จะตรวจ การที่จะตรวจนั้นไม่เห็นจะเป็นการยากอันใด ชั่วแต่เดินๆ นับเอาก็ได้ หรือโดยจะถาม แต่ต้องเป็นอย่างถามกันเองเฉยๆ ว่า ห้องนี้อยู่กันกี่คน ก็คงจะไม่เป็นที่ตื่นตกใจอันใด เพราะนับทั้งผู้หญิงผู้ชาย เด็กผู้ใหญ่ ถ้าไม่สามารถจะทำให้เข้าใจกันได้ขอให้หยุดเสีย อย่าตรวจนับเลยดีกว่า จะไปทำอึกอักให้คนตกใจวุ่นวายไปเปล่าๆ จะให้พระคลังข้างที่ หรือขุนอุทกนับเอาอย่างไทยๆ ไม่เกี่ยวข้องด้วยราชการเลยดีกว่า
สยามินทร์
ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๕๓ ได้มีการสำรวจสัมโนประชากรขึ้นอย่างเป็นทางการโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตอนนั้นยังเรียกกันว่า “สำมะโนครัว” ปรากฏว่าจำนวนพลเมืองสยามใน ๑๗ มณฑล มีดังนี้
๑.มณฑลกรุงเทพ๙๓๑,๓๑๙ คน
๒.มณฑลอุดร๖๓๐,๖๘๑ คน
๓.มณฑลกรุงเก่า๕๕๓,๙๗๖ คน
๔.มณฑลนครศรีธรรมราช๔๗๒,๔๔๙ คน
๕.มณฑลนครราชสีมา๔๘๘,๑๓๑ คน
๖.มณฑลราชบุรี๔๑๙,๗๑๔ คน
๗.มณฑลปราจีนบุรี๓๒๕,๖๘๑ คน
๘.มณฑลนครไชยศรี๒๘๑,๐๗๙ คน
๙.มณฑลนครสวรรค์๒๘๗,๐๐๐ คน
๑๐.มณฑลปัตตานี๒๖๙,๘๑๗ คน
๑๑.มณฑลพิศณุโลก๒๔๘,๐๕๐ คน
๑๒.มณฑลภูเก็จ๒๒๐,๙๕๓ คน
๑๓. มณฑลชุมพร๑๖๔,๑๕๔ คน
๑๔. มณฑลจันทบุรี๑๓๔,๖๙๑ คน
๑๕. มณฑลเพ็ขรบูรณ์ ๗๒,๖๖๒ คน
๑๖.มณฑลพายัพ ๑,๒๑๖,๘๑๗ คน
๑๗. มณฑลอีสาน๑,๔๑๔,๐๗๓ คน
รวม ๑๗ มณฑล๘,๑๓๑,๒๔๗ คน
นอกจากจำนวนแล้ว ยังได้จำแนกเชื้อชาติต่างๆที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประทศไทยขณะนั้นด้วย มี
๑.ไทย๗,๒๕๒,๘๗๒ คน
๒.จีน ๑๘๕,๙๐๑ คน
๓.แขกมลายู ๓๖๘,๘๒๗ คน
๔.แขกจาม ๑,๐๙๓ คน
๕.แขกชวา ๓๘๑ ตน
๖.แขกเทศ ๒,๓๓๐ คน
๗.แขกซิก ๗๐ คน
๘.แขกลังกา ๖ คน
๙.แขกฮินดู ๙๒ คน
๑๐.แขกกลิง ๔๙ คน
๑๑.มอญ ๒๘,๘๖๑ คน
๑๒.เขมร ๑๓๔,๓๓๓ คน
๑๓.ญวน ๖,๕๒๑ คน
๑๔.กะเหรี่ยง ๖๐,๑๘๕ คน
๑๕.เงี้ยว ๒๖,๐๘๑ คน
๑๖.ตองซู่ ๑,๐๒๗ คน
๑๗.พม่า ๖,๐๕๑ คน
๑๘.ญี่ปุ่น ๒๕ คน
๑๙.เตอรกี ๑ คน
๒๐.ฝรั่ง ๕๑๑ คน
๒๑.ชาติอื่นๆ ๕๖,๒๕๓ คน
รวม ๘,๑๓๑,๔๗๐ คน
สำหรับจำนวนประชากรไทยล่าสุด สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศตามหลักฐานทะเบียนราษฎร ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๒ มีทั้งสิ้น ๖๖,๕๕๘,๙๓๕ คน เป็นผู้ชาย ๓๒,๑๑๐,๗๗๕ คน ผู้หญิง ๓๓,๕๐๓,๓๘๒ คน ไม่ได้สัญชาติไทย ๙๔๔,๗๗๘ คน เป็นผู้ชาย ๔๙๔,๓๒๕ คน ผู้หญิง ๔๕๐,๔๕๓ คน และยังมีแรงงานข้ามชาติอีก ๑.๓ ล้านคน
การสำรวจสำมโนประชากรในปัจจุบัน เป็นหน้าที่ของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งรับงานนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๐๓ โดยจะทำการสำรวจ ๑๐ ปีต่อครั้ง ในปี ๒๕๖๓ นี้ จึงอยู่ในรอบที่มีการสำรวจ ฉะนั้นจำนวนประชากรประเทศไทยในปีนี้จะมีเท่าใด ก็จะทราบผลในปลายปี