xs
xsm
sm
md
lg

ส่งต่อความดีครั้งสุดท้ายแก่ผู้วายชนม์ กับ “ปันการดี หรีดหนังสือ” ปันความดี ปันความรู้ สู่การให้อย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ปุถุชนเป็นผู้มีความป่วยไข้ ความแก่ และความตายเป็นธรรมดา” และเมื่อถึงเวลาจากลาสิ่งหนึ่งที่นิยมใช้เป็นเครื่องแสดงความเคารพและอาลัยต่อผู้ล่วงลับ ก็คือ “พวงหรีด” ที่มีมาหลายยุคหลายสมัยและปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม ซึ่งปัจจุบันก็มีหลากหลายรูปแบบ เช่น พวงหรีดดอกไม้ พวงหรีดต้นไม้ พวงหรีดจักรยาน พวงหรีดผ้าห่ม พวงหรีดพัดลม หรืออื่นๆ เป็นต้น แต่ยังมีพวงหรีดอีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาต่อยอดส่งต่อความดีครั้งสุดท้ายแก่ผู้วายชนม์ให้ได้ทำความดี ด้วยการส่งต่อปัญญาและความรู้แก่ผู้อื่น นั่นก็คือ “หรีดหนังสือ” ที่สามารถ ปันความดี ปันความรู้ สู่การให้อย่างยั่งยืน

คุณมุก-ไข่มุกข์ ปั้นแตง
ในวันอากาศดี เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณมุก-ไข่มุกข์ ปั้นแตง คุณชื่น-ชื่นกมล ศรีสมโภชน์ และ คุณเฟี้ยต-ธัชนนท์ จารุพัชนี ผู้ร่วมกันก่อตั้งธุรกิจสร้างสรรค์สังคมนามว่า “ปันการดี”

@ จุดเริ่มต้นของ “ปันการดี หรีดหนังสือ”

ปันการดี เกิดจากพวกเรา 3 คน ซึ่งเป็นเพื่อนกัน มีมุมมองในการทำงานและการใช้ชีวิตที่ใกล้เคียงกัน ชอบอ่านหนังสือ และเห็นความสำคัญของการอ่าน เชื่อว่าการอ่านเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นเครื่องมือสร้างสติปัญญา สามารถนำประโยชน์มาสู่ตนเอง และสังคมอย่างแท้จริง พวกเราโชคดีที่ได้ไปทำงานร่วมกันในโครงการ หรีดหนังสือ โดย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ที่มาจุดประกาย เรานำมาต่อยอดร่วมกับแนวคิด “หนังสือตรงใจ” คือการบริจาคหนังสือโดยเปิดโอกาสให้ผู้รับเป็นได้เลือกหนังสือตามที่ต้องการอ่านจริง ๆ แล้วพัฒนาเป็น ‘หรีดหนังสือ ปันการดี’

ซึ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากหรีดทุกชิ้นนำไปจัดซื้อหนังสือใหม่ มอบให้กับหน่วยงานขาดแคลนที่มีศักยภาพ ให้ความสำคัญและมีความสนใจในการพัฒนาคนด้วยหนังสือ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ทัณฑสถาน ศูนย์ฝึกอาชีพ ศาสนสถาน ชุมชน ฯลฯ โดยผู้แทนจากหน่วยงานจะเป็นผู้เลือกหนังสือจำนวน 100 เล่มที่เหมาะสมและคาดว่าจะได้รับความสนใจจากสมาชิกในหน่วยงานจากรายการหนังสือที่เราคัดสรรไว้เบื้องต้น พร้อมส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน

เราเริ่มทำงานวางแผนกันมาตั้งแต่ต้นปี 2562 และจดทะเบียนบริษัทเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ (2563) แต่แล้ว Covid 19 ก็มาเยือนตั้งแต่หรีดยังไม่วางตลาดเลย แต่ก็แน่วแน่ยึดตามแผนเดิม เริ่มเปิดจำหน่ายหรีดอย่างเป็นทางการวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา แต่แจ้งลูกค้าขอเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปเล็กน้อย จากที่จะบริจาคหนังสือ เรานำรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายในเดือนเมษายน สมทุบทุน โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยจากโรคระบาด รักษาชีวิตผู้คนไว้ก่อน เดือนพฤษภาคมจึงเริ่มหักรายได้จากการจำหน่ายหนังสือสะสมไว้ เพื่อจัดซื้อหนังสือใหม่ ให้กับ มูลนิธิเยาวชนชนบท (มยช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกที่เราคัดเลือกมา ตามเป้าหมายตั้งแต่ต้น ทำประชาสัมพันธ์แบบบอกต่อกัน ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ก็ให้นึกถึงว่ามีหรีดหนังสือเป็นทางเลือกให้พิจารณา

@ รูปแบบผลิตภัณฑ์ของ “ปันการดี หรีดหนังสือ” เป็นอย่างไร

พวกเราใช้เวลากว่า 1 ปี ศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้พวงหรีดรูปแบบต่างๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และทำงานร่วมกับนักออกแบบอย่างใกล้ชิด สร้างสรรค์หรีดออกมาให้มีลักษณะคล้ายหนังสือ สวยงามเรียบง่าย ด้วยวัสดุผลิตจากกระดาษรีไซเคิล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เลือกใช้ภาพของดอกไม้เป็นตัวแทนแสดงความเคารพและอาลัยต่อผู้ล่วงลับ ปรับให้มีความทันสมัย มีสีสันที่แตกต่างกันหลากหลายรูปแบบ มีทั้งแบบดอกไม้ทั่วไปและแบบที่แสดงความเป็นไทย จำลองมาจากพวงมาลาดอกไม้เป็นต้น

คุณชื่น-ชื่นกมล ศรีสมโภชน์
@ “ปันการดี หรีดหนังสือ” มีขั้นตอนการดำเนินงานอย่างไร?

เมื่อลูกค้าสั่งหรีดหนังสือเข้ามาทางช่องทางต่าง ๆ ทั้ง ไลน์ @, Facebook Fanpage และโทรศัพท์แล้ว เราก็จะดำเนินงานจัดป้ายหน้าหรีดตามที่ลูกค้าต้องการ และจะมีการระบุไว้ใต้ข้อความจากผู้ลูกค้าหรือผู้ส่งหรีด ว่า ‘ร่วมอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้วายชนม์ โดยมอบหนังสือให้ (หน่วยงานหรือชุมชนที่ได้รับการคัดเลือก)’ เพื่อแจ้งให้เจ้าภาพหรือผู้รับหรีดทราบ ซึ่งหน่วยงานหรือชุมชนที่เราคัดเลือกมา นอกจากจะได้รับข้อมูลมาแล้ว ยังต้องลงไปดูสถานที่จริงด้วยว่าเหมาะสมและมีศักยภาพที่จะรับหนังสือไปแล้ว สามารถต่อยอดให้เกิดกิจกรรมทางการอ่าน พัฒนาคนด้วยการอ่าน และเมื่อสะสมรายได้ครบตามยอดเงินก็จะนำไปจัดซื้อหนังสือ 100 เล่มตามที่หน่วยงานเลือกมา และนำไปมอบให้กับผู้รับต่อไป

ในขณะเดียวกัน ก็เตรียมรายการหนังสือให้ผู้รับ เป็นผู้เลือกหนังสือที่ต้องการและเหมาะสมกับกลุ่มผู้อ่านของเขา พวกเรามีเพื่อน ๆ อยู่ในเครือข่ายสำนักพิมพ์เยอะ พอบอกเพื่อน ๆ ว่าเราจะทำหรีดหนังสือแบบนี้ ก็ได้รับความร่วมมือจากสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ส่งรายการหนังสือมาไว้ให้ทันที เพื่อมาทำรายการหนังสือของปันการดี แบ่งเป็นหมวดต่าง ๆ เช่น หนังสือเด็ก หนังสือเกษตร ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม เป็นต้น ผู้รับจะเลือกหนังสือที่ต้องการตามรายการหนังสือจากปันการดี เป็นการสร้างรายได้ให้กับสำนักพิมพ์ต่าง ๆ และอุตสาหกรรมหนังสืออีกช่องทางหนึ่งด้วย

@ ลูกค้าทราบได้อย่างไรว่าหนังสือถึงผู้รับแล้ว

เมื่อเราได้หนังสือครบ 100 เล่มแล้ว จะนัดหมายไปมอบหนังสือกับหน่วยงานผู้รับ และแจ้งให้ผู้สั่งซื้อในช่วงเวลาตามที่ระบุ เช่น ผู้สั่งซื้อระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงกรกฎาคม เป็นต้น ได้ทราบผ่านทางไลน์ และ Facebook Fanpage เพื่อเรียนเชิญผู้สนใจไปบริจาคร่วมกัน โดยจะมีหนังสือแจ้งรายชื่อผู้วายชนม์เป็นผู้บริจาคหนังสือให้กับหน่วยงานผู้รับได้รับทราบด้วย เพื่อร่วมอุทิศส่วนกุศลให้ท่านเหล่านั้น หลังจากนั้นเราจะนำเรื่องราวการบริจาคและภาพถ่ายต่าง ๆ มาประชาสัมพันธ์ให้ทราบตามช่องทางต่าง ๆ อีกด้วย

เป็นการให้หลายต่อ ซึ่งทุกคนจะรู้สึกว่ามีส่วนร่วมและรับความรู้สึกดีๆ ถึงจะไม่ใช่งานมงคลแต่ก็ทำให้ทุกคนรู้สึกดีได้ นอกเหนือจากรายได้ในการทำธุรกิจเรามองว่า ตอบโจทย์ในเรื่องของการยังชีพได้ ยังตอบโจทย์ในเรื่องของการสร้างประโยชน์ให้สังคม การเป็นส่วนหนึ่งที่จะจุดประกายให้คนอื่นๆ ด้วย คิดอะไรใหม่ ๆ ที่ดีต่อส่วนรวมออกมาได้อีก

 คุณเฟี้ยต-ธัชนนท์ จารุพัชนี
@ อนาคตมีแนวคิดจะต่อยอดธุรกิจ “ปันการดี หรีดหนังสือ” อย่างไร?

จริงๆ แล้วเรามองว่า ถ้าเป็นไปได้เราวางแผนที่จะร่วมกับบริษัทที่อยากมีหรีดที่ออกแบบเป็นของบริษัทเฉพาะ และมอบหนังสือในนามของบริษัทตามที่ระบุ และบริษัทรู้ว่าในแต่ละปีใช้หรีดไปจำนวนเท่าใด ถ้าค่าใช้จ่ายตรงนั้นสามารถก่อให้เกิด CSR ของบริษัทได้ ถ้าปันการดีสามารถที่จะออกแบบหรีดให้ตรงกับความต้องการของบริษัท และจากที่เราทำงานกับชุมชนต่าง ๆ อยู่แล้ว เราสามารถนำหนังสือลงไปทำในกิจกรรมในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงของบริษัท เพื่อส่งเสริมการอ่านในรูปแบบต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการให้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบริษัทและชุมชนอีกด้วย

ส่วนใกล้ตัวที่สุดและเราทำแล้ว คือ ถุงใส่หรีด เพื่อให้พนักงานจัดส่งถือไปส่งที่งาน ถุงของเราทำจากถุงน้ำยาฟอกไต ซึ่งแข็งแรงคงทน ตัดเย็บโดยผู้ป่วยโรคไตและครอบครัวของผู้ป่วย รายได้จากตรงนี้ก็จะนำไปสนับสนุนค่าเดินทางของผู้ป่วยยากไร้ที่ต้องไปฟอกไตเป็นประจำ เป็นอีกหนึ่งเรื่อง ที่เราตั้งใจช่วยเขาประชาสัมพันธ์เรื่องการใช้วัสดุในรูปแบบของรีไซเคิลกลับมาใช้ได้ และนำมาทำอะไรได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นถุงใส่สูท กระเป๋าใส่ของ เราก็กำลังเตรียมที่จะทำอะไร กับถุงน้ำยาฟอกไตต่อไปอีกเร็ว ๆ นี้ เรามีกุศโลบายว่า ถุงใส่หรีดจากน้ำยาฟอกไตเป็นวัสดุรีไซเคิล หรีดหนังสือก็ทำจากกระดาษรีไซเคิล ของทุกอย่างล้วนมีคุณค่าในตัวเองอย่างไม่จบสิ้น


@ สิ่งที่คาดหวังจากการทำธุรกิจตรงนี้

มิติของธุรกิจสมัยก่อน อาจจะทำเพื่อกำไรอย่างเดียว แต่ว่าธุรกิจในโลกสมัยใหม่ ต้องคำนึงถึงมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และความรู้สึกของคนด้วย เราทำธุรกิจก็ต้องทำให้ธุรกิจเราประสบความสำเร็จมีรายได้ มีความอย่างยั่งยืน และในขณะเดียวกันก็ต้องบรรลุวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ “ให้” กับสังคมด้วย อาจจะเรียกได้ว่า ปันการดีเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social enterprise: SE) ซึ่งในต่างประเทศธุรกิจ SE เติบโตมาก หลายบริษัทประสบความสำเร็จเข้าตลาดหลักทรัพย์ เราอาจจะไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นไปต่อยอดได้ จะดีมากถ้าประเทศเรามีธุรกิจ SE มากขึ้น เพราะการบริโภคของเราจะทำให้สังคมดีขึ้นไปพร้อม ๆ กัน

ก่อนจบการสนทนา ชาวปันการดีได้ฝากไว้ว่า “เราขอเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานเล็กๆ ที่เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง พัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ร่วมส่งต่อความรู้ สร้างปัญญาอย่างยั่งยืน ผ่านหรีดหนังสือ ปันการดี อันเป็นกุศลแก่ทั้งผู้ให้ ผู้ล่วงลับ และสังคมส่วนรวมต่อไป”
















เกี่ยวกับปันการดี : ปันการดี หรีดหนังสือ แบ่งเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นมาตรฐาน ราคา 1,000 บาท บริจาคหนังสือ 1 เล่ม มี 4 แบบคือ แดงดาหลา / ชมพูพวง/ เหลืองจำปีนวล และนิลผกา และรุ่นพิเศษ ราคา 2,000 บาท บริจาคหนังสือ 3 เล่ม มี 2 แบบคือ ระย้าบุษบา และบุปผาวิจิตร เปิดให้บริการทุกวัน หากสั่งก่อนเวลา 15:00 น. จะจัดส่งได้ภายในวันนั้น และบริการส่งฟรีในพื้นที่กรุงเทพฯ ติดตามเรื่องราวของ ปันการดี หรีดหนังสือ ได้ที่ www.facebook.com/PUNKANDIBOOK สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และสั่งซื้อได้ทางโทรศัพท์ 063 223 2291 และ Line ID: @PUNKANDIBOOK
เรื่อง/ภาพ : อรวรรณ เหม่นแหลม



กำลังโหลดความคิดเห็น