xs
xsm
sm
md
lg

เผยข้อมูลเชิงลึก “นโยบายยาเสพติดไทย” แก้ปัญหา หรือเพิ่มมูลค่าให้วงการค้ายา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งในตัวอย่างของผู้ใช้ชีวิตอยู่ในวงจรยาเสพติดมายาวนาน สะท้อนให้เห็นถึงนโยบาย วิธีการปราบปราม และแนวทางการบำบัด เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในปัจจุบัน ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และกลับยิ่งจะทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น

รายงานพิเศษ

“ใครๆก็บอกตำรวจไทยเก่งที่สุด คนที่หนีคดี หลบซ่อนไปสุดหล้าฟ้าเขียว ตำรวจยังตามหาเจอเลย แล้วคุณคิดว่าตำรวจไม่มีข้อมูลผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่เหรอ ต้องมีข้อมูลอยู่แล้ว ทำไมยังมาขายกันได้อยู่ ผมบอกได้ว่า หนีไม่พ้นเรื่องคอร์รัปชั่น”

“ทุกๆ เช้าของเรือนจำ จะต้องรับวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารให้กับนักโทษในเรือนจำ มีเนื้อสัตว์ ผักต่างๆ ถูกส่งเข้ามาในเรือนจำ แต่ในเรือนจำบางแห่ง จะมีโทรศัพท์จากบุคคลลึกลับ ที่ผู้คุมเองก็ไม่รู้ว่าเป็นใครเข้ามาที่เรือนจำ พร้อมกับคำสั่งจากปลายสาย เช่น เช้าวันนี้ อย่าตรวจกะหล่ำปลีนะ ถ้าทำตามก็จะมีเงินให้นับล้านบาท แต่ถ้าฝีนจะตรวจก็ไม่รับรองความปลอดภัยของผู้คุม ... ซึ่งผู้คุมเคยบอกว่า เขาก็ต้องทำตามนั้น แม้ว่าจะไม่รู้ว่าคนที่โทรศัพท์มาบอกเป็นใคร”

นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการสนทนากับ นายเอ (นามสมมติ) ผู้ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในวงจรของยาเสพติดมาอย่างยาวนาน เขาเคยเป็นทั้งผู้เสพ ผู้ค้า เคยถูกจับติดคุก เคยผ่านกระบวนการบำบัด และเคยเป็นอาสาสมัครช่วยงานในกระบวนการบำบัด จนมาทำงานช่วยเหลือผู้ที่ติดยาเสพติดในปัจจุบัน ด้วยการทำกระบวนการการเสพยาอย่างปลอดภัย และช่วยเหลือผู้เสพให้สามารถเลิกใช้ยาได้ในที่สุด

เขาจึงต้องการสะท้อนให้เห็นว่า ทั้งนโยบาย วิธีการปราบปราม หรือแม้แต่แนวทางการบำบัด ทุกอย่างที่ใช้กันอยู่เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในปัจจุบัน ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง ไม่มีทางแก้ปัญหาได้ ซ้ำร้ายกลับยิ่งจะทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น

“ผมถูกจับเพราะคนขาย คนขายเป็นคนชี้เป้าให้ตำรวจมาจับผม”

นายเอ เล่าเหตุการณ์เมื่อหลายปีก่อน ที่เขาเคยถูกจับกุมเพราะถูก “คนขายยาหักหลัง”

“เหตุการณ์ที่ผมถูกจับครั้งนั้น ทำให้ผมรู้ว่า เขาทำกันเป็นขบวนการ หมายความว่า คนที่จับกุม เขาก็ได้ยอด ได้ผลงาน ส่วนคนขายเขาก็กลายเป็นคนที่ไม่อยู่ในสถานะ “สาย” ของตำรวจ เขาไม่ถูกจับ ยังไปค้าขายยาเสพติดได้ต่อไป และต่อมาผมก็เลยรู้ว่า ถ้าผมมาอยู่ในวงการนี้ และผมสามารถหาเป้ามาชี้ให้ตำรวจได้ ผมก็รอดเหมือนกัน แถมยังสามารถหาเป้าให้ตำรวจจับได้ไม่ยาก เช่น เราฝากคนอื่นไปซื้อยา แล้วเราก็ชี้เป้าให้ตำรวจมาจับเขา”

ข้อมูลเชิงลึกด้านมืดที่สะท้อนให้เห็นว่า “ผู้เสพยา” เป็นกลุ่มคนที่ถูกใช้เพื่อหาผลประโยชน์ในวงการยาเสพติดทั้งจากกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นยิ่งยาเสพติดเป็นของที่มีราคาสูง ก็ยิ่งเปิดช่องมากขึ้น แม้แต่นโยบายที่ดีอย่าง นโยบาย “ถือว่าผู้เสพ เป็นผู้ป่วย” ก็ยังเป็นช่องทางเปิดช่องในการหาผลประโยชน์

“ผู้เสพเป็นผู้ป่วย ... เป็นนโยบายที่ดีนะครับ แต่ในทางปฏิบัติจริงก็พบปัญหามากมาย หลายคนอาจไม่รู้ว่า ในวงการยาเสพติด ผู้ที่ถูกจับในข้อหาเสพยา กลับต้องการถูกจับในฐานะผู้ครอบครองมากกว่าในฐานะผู้เสพ เพราะเมื่อถูกจับในฐานะผู้เสพ จะต้องถูกส่งตัวไปบำบัดเท่านั้น ขอประกันตัวไม่ได้ แต่หากถูกจับในฐานะผู้ครอบครองยาเสพติด จะสามารถยื่นขอประกันตัวได้ เพราะไม่ถูกหาว่าเสพ ... นี่จึงเป็นอีกช่องทางที่ถูกนำไปใช้หาประโยชน์ได้ เพราะผู้ที่ถูกจับฐานเสพยาจำนวนมาก พร้องจะจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้เปลี่ยนเป็นข้อหาครอบครองยาเสพติด”

นายเอ ยังเล่าด้วยว่า กระบวนการบำบัดผู้ติดยาเสพติดที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่แนวทางที่ได้ผล เพราะผู้เสพยาส่วนใหญ่มัวแต่โทษตัวเองว่า ไม่เก่ง ไม่อดทน ไม่เข้มแข็ง เลิกไม่ได้ แต่ไม่มีใครเคยทบทวนดูว่า “ครู” สอนดีหรือเปล่า

“แรกเริ่มเมื่อมีกระบวนการบำบัด ทุกคนดีใจ แต่กลับพบว่าคนที่เข้าสู่กระบวนการส่วนใหญ่ไม่สามารถเลิกเสพยาได้ เช่น การเข้าค่าย 8 วัน มันสั้นเกินไป หรือการทำแผนที่จุดเสี่ยงในชุมชน การฝึกอาชีพทำของเล่นขายในงานวัด ไม่ได้เป็นกระบวนการที่ทำให้เลิกเสพยาได้จริง เพราะไม่ได้ไปค้นหาจุดอ่อนแอที่ทำให้เขาต้องมาเสพยา ผมจึงเห็นว่า กระบวนการบำบัดจำเป็นต้องเปลี่ยนหลักสูตร ต้องใช้เวลาอบรมเป็นเดือน คนที่มาสอนก็ต้องอ่านคู่มือให้เข้าใจก่อนมาสอน แม้แต่การวัดผลก็ผิดนะครับ เขาวัดผลแค่ว่า มีคนเข้าสู่กระบวนการบำบัดแล้วกี่คน ส่งยอดจำนวนคนแล้วจบไป แต่ไม่เคยติดตามว่ามีกี่คนที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วสามารถเลิกเสพยาได้จริง ที่สำคัญคือ เมื่อเขาไปบำบัดแล้ว ไม่สำเร็จ 2-3 ครั้ง เขาก็จะรู้สึกโทษตัวเอง ไม่อยากกลับไปบำบัดอีก สุดท้ายคนเหล่านี้ไม่มีงานทำ ก็กลับไปที่เรือนจำอีก”

ทั้งที่มีนโยบายการปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มข้น แต่ตัวเลขจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดสูงขึ้น สถิติการเข้าสู่กระบวนการบำบัดสูงขึ้น คดียาเสพติดเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มีคดียาเสพติดหลักพันคดี ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นคดี ข้อมูลนี้เป็นคำถามที่ นาย เอ ถามต่อแนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดของประเทศไทยว่ามาถูกทางหรือไม่ การปราบปรามเข้มข้น ทำให้ยาเสพติดลดลง หรือกลับทำให้การแสวงหาผลประโยชน์กับวงการยาเสพติดมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นกันแน่

นายเอ ระบุว่า วันยาเสพติดโลกปีนี้ องค์การสหประชาชาติ มีธีมว่า Better Knowledge : Better Care ซึ่งหมายความว่า องค์ความรู้ที่ดีกว่า นำไปสู่การดูแลที่ดีกว่า แต่ในประเทศไทย กลับยังใช้นโยบาย Safe Zone คือสร้าง “พื้นที่สีขาว” ในสังคม ซึ่งแม้จะดูว่าเป็นนโยบายที่ดี แต่ในทางกลับกัน เขทามองว่านี่เป็นนโยบายที่กีดกันผู้ที่เคยใช้ยาเสพติดออกจากสังคม

“หมู่บ้านสีขาว โรงงานสีขาว โรงเรียนสีขาว พวกผมที่เคยเปื้อนสีดำก็เลยเข้าไปไม่ได้ คนไม่ขาวอย่างพวกผมจึงไม่มีที่ยืน ถูกรังเกียจ ฝึกอาชีพมาในเรือนจำก็จริง แต่พอออกมาก็สมัครงานที่ไหนไม่ได้ โรงงานใหญ่ๆ ก็ไม่รับคนที่มีประวัติคดียาเสพติดเข้าทำงาน ถ้าเป็นเด็กนักเรียนก็ไม่สามารถกลับไปเรียนหนังสือได้ ในที่สุดก็ต้องกลับมาในวงการยาเสพติด คนเก่าก็ออกจากวงการไม่ได้ และมีคนใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

“ผมอยากถามรัฐบาลว่า ถึงเวลาหรือยัง ที่เราต้องทบทวนนโยบายยาเสพติดของประเทศกันใหม่ซักที”


กำลังโหลดความคิดเห็น