xs
xsm
sm
md
lg

ศาลเเพ่งไม่คุ้มครองชั่วคราว กลุ่ม People GO ชุมนุมหน้ายูเอ็น 13 ก.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ศาลเเพ่งยกคำร้องไม่คุ้มครองชั่วคราว กลุ่ม People GO ชุมนุมหน้ายูเอ็น 13 ก.ค.ชี้มีความจำเป็นน้อย เสี่ยงโรคระบาดโควิด-19

เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (10 ก.ค.) ศาลแพ่งนัดฟังคำสั่งคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราว กรณีนายนิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการกับพวกรวม 5 คน ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และได้ยื่นมีการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว กรณีขออนุญาตชุมนุมเรื่อง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติในวันที่ 13 ก.ค. ที่หน้ายูเอ็น

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ทั้ง 5 คน ที่อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานว่าการที่จำเลยประกาศขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3) ตั้งแต่วันที่ 1-31 ก.ค. 2563 ทำให้โจทก์ทั้ง 5 คนไม่อาจผลักดันร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติเพราะเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้ง 5 คนจัดการชุมนุมที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติแห่งประเทศไทยในวันที่ 13 ก.ค.นี้ คาดว่าจะมีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 300 คน ไปติดตามทวงถามความคืบหน้าของร่างกฎหมายดังกล่าว หากฝ่าฝืนอาจถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ปรากฏตามรายงานสถานการณ์ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ในวันที่ 7 ก.ค. 2563 เห็นว่าแม้การที่จำเลยออกประกาศดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการชุมนุมของโจทก์ทั้ง 5 คน ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์จะบริหารจัดการควบคุมผู้ชุมนุมไม่ให้มากกว่า 300 คนอย่างไร และจะมีมาตรการป้องกันไม่ให้เสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อโรคดังกล่าวหรือไม่ได้อย่างไร ทั้งเมื่อพิจารณาสรุปสถานการณ์ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ประจำวันที่ 7 ก.ค.รายงานสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกปรากฏว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อทั่วโลกเกือบ 12 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 540,000 คน บางประเทศในวันดังกล่าวเพียงวันเดียวมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 50,000 คน ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคและมียารักษาโรคโดยตรงจนองค์การอนามัยโลกต้องประกาศให้การติดเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นการระบาดใหญ่ จึงเป็นสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและปลอดภัยของประชาชน อีกทั้งยังไม่แน่นอนว่าหากโจทก์ได้ดำเนินการจัดการชุมนุมตามที่กล่าวอ้างแล้วจะส่งผลให้จำเลยลงนามเสนอร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติต่อรัฐสภาหรือไม่

ดังนั้น ความจำเป็นในการชุมนุมซึ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเพราะเหตุใดจึงต้องเป็นวันที่ 13 ก.ค. 2563 อาจน้อยกว่าความจำเป็นในการป้องกันโรคระบาดอันกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนอันเป็นประโยชน์สาธารณะ กรณีจึงไม่มีเหตุฉุกเฉินและเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองระหว่างพิจารณาตามที่ขอมาใช้กับกรณีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2) ประกอบมาตรา 255 (2) (ข) และมาตรา 266 ให้ยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินและเมื่อศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องดังกล่าวแล้วคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวย่อมตกไปด้วย

ภายหลัง นายนิมิตร์กล่าวว่าจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการจัดการชุมนุมต่อไป โดยยืนยันว่าได้ประสานไปยังตัวแทนรัฐบาลที่จะออกมารับหนังสือในวันดังกล่าวแล้ว ส่วนที่มีการนัดชุมนุมที่หน้ายูเอ็น เนื่องจากต้องการใช้เป็นจุดชี้แจงความสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเท่านั้น ก่อนจะเดินขบวนไปมอบหนังสือทวงถามความคืบหน้าที่ทำเนียบรัฐบาล และยืนยันว่าทางกลุ่มผู้ชุมนุมมีการเตรียมแผนป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ทั้งการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้ผู้ชุมนุมทุกคนสวมใส่ และเว้นระยะห่าง ซึ่งเชื่อว่าเพียงพอต่อการดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุม ส่วนคดีหลักที่ฟ้องขอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลนัดฟังสั่งในวันที่ 5 ส.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น