xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่าย People GO ยื่นศาลแพ่งขอให้มีคำสั่งยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



เครือข่าย People GO ยื่นศาลแพ่งขอให้มีคำสั่งยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้ต่ออายุออกไปอีก 1 เดือน กระทบสิทธิชุมนุมประชาชนทวงถามกฎหมายบำนาญแห่งชาติ 13 ก.ค.นี้

เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (9 ก.ค.) ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลาดพร้าว เครือข่าย People GO Network นำโดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม ในฐานะเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, น.ส.แสงสิริ ตรีมรรคา, นายณัฐวุฒิ อุปปะ, นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ และ นายวศิน พงษ์เก่า ในฐานะสมาชิกคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นัดเดินเท้ามาถึงศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ในเวลา 10.00 น. เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ทั้งนี้ มี นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน พร้อมมวลชนจำนวนหนึ่งร่วมเดินชูป้ายเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมีตำรวจจาก สน.พหลโยธิน กับตำรวจศาลร่วมกันจัดกำลังดูแลความสงบเรียบร้อย โดยไม่มีความวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้น

นายสมยศ กล่าวว่า กลุ่มมวลชนเห็นว่า ขณะนี้สถานการณ์โรค covid-19 คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เพราะรัฐบาลไม่จำเป็นจะต้องคงไว้ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะกระทบสิทธิของประชาชน ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องต่างๆ ซึ่งรัฐบาลได้ใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินมาจัดการกับประชาชนโดยการแจ้งข้อกล่าวหา และการคงไว้ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังส่งผลต่อกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ตนเองในฐานะที่ตกเป็นผู้ได้รับผลกระทบ เพราะถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการเรียกร้องให้มีการติดตามคดี นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่หายตัวไปในประเทศกัมพูชา จึงมาร่วมเรียกร้องให้ศาลแพ่งมีคำสั่งไต่สวน และขอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นายนิมิตร์ เปิดเผยว่า วันนี้มี 4 คน ที่โดนคดีผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการเดินทางไปเรียกร้องกรณี นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกอุ้มหายที่หน้าสถานทูตกัมพูชา ส่วนตนร่วมฟ้องเพิ่ม เนื่องจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการได้แจ้งการชุมนุมวันที่ 13 ก.ค. นี้ จะไปทวงถามลายเซ็นนายกฯ เรื่อง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ เราแจ้งการชุมนุมเรียบร้อย แต่ตำรวจปฏิเสธการชุมนุม อ้างผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สถานการณ์ไวรัสโควิดน่าจะหมดแล้ว ควรจะใช้กฎหมายปกติในการควบคุมโรค ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.โรคติดต่อ เราคิดว่าเพียงพอที่จะควบคุมสถานการณ์โรคระบาด และส่วนใหญ่ทุกคนระวังตัวกันอยู่แล้ว เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า เสรีภาพของประชาชนเดินหน้าได้ เราจึงมาพึ่งศาลแพ่งเพื่อให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ภายหลังยื่นคำฟ้องต่อศาลแล้ว นายนิมิตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า เรายื่นคำฟ้องขอให้ศาลแพ่งเพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศาลอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะรับคำฟ้องไว้หรือไม่ เราฟ้องประเด็นที่นายกฯ ยืด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ นายกฯ มีสิทธิที่จะออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จริง แต่การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำเป็นที่จะต้องมีเหตุและผลที่สมควร ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่ฝ่ายบริหารจะต้องใช้อำนาจอย่างจำกัดเพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิและเสรีภาพ เราขอให้ศาลพิจารณาแล้วกำกับตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารที่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เรายังได้ฟ้องเพิ่มเติมว่า วันจันทร์ที่ 13 ก.ค. เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการจะไปชุมนุมกันที่หน้าตึกยูเอ็น เพื่อไปทวงถามลายเซ็นนายกฯ เพราะลายมือชื่อประชาชนกว่า 10,000 คน ผ่านระบบของสภา แล้วต้องให้นายกฯ เซ็นรับรอง เพราะว่าเป็น พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงิน ซึ่งถูกดองไว้เกือบ 5 เดือน เราจึงไปทวงถามว่าเมื่อไหร่นายกฯ จะเซ็นลายมือชื่อ เพื่อให้เข้าสู่การพิจารณาของสภา เราร้องว่า การยืด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไป ทำให้จำกัดเสรีภาพการชุมนุมทวงถามเรื่องบำนาญถ้วนหน้า บำนาญประชาชน ที่จะให้กับผู้อายุกว่า 60 ปี จะได้บำนาญ 3,000 บาท

นายนิมิตร์ กล่าวด้วยว่า นายกฯ แถลงข่าวว่า การยืด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่กระทบสิทธิ ถ้าอยากชุมนุมให้ยื่นแจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ฟังแถลงข่าวเสร็จก็ยื่นแจ้งการชุมนุมต่อ สน.นางเลิ้ง ได้รับอีเมลตอบกลับมาภายใน 3-4 ชั่วโมง ว่า ชุมนุมไม่ได้ อาจขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เราจึงมายื่นฟ้องวันนี้ให้ศาลพิจารณา ถ้าศาลรับฟ้อง ศาลจะไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อคุ้มครองชั่วคราว กรณีที่เราจะชุมนุมวันที่ 13 ก.ค.นี้

ด้าน นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า จากกรณีที่เราไปยื่นขอให้ติดตามการหายตัวของนายวันเฉลิมที่หน้าสถานทูตกัมพูชา วันนี้ตัวแทน กป.อพช. ทั้ง 4 คน ต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.วังทองหลาง ในช่วงบ่ายวันนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จำกัดสิทธิน่าจะหมดเวลาได้แล้ว การใช้ข้ออ้างการควบคุมโรคมาละเมิดสิทธิมันไม่ถูกต้อง ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐสภา ไม่ควรให้อำนาจกลับไปเหมือนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยึดอำนาจมา ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกต่อไป ไม่จำเป็นมานานมากแล้ว มีกฎหมายอื่นควบคุมโรคได้ อย่าใช้จังหวะและเวลาแบบนี้มาจำกัดสิทธิประชาชน ดำเนินการบริหารบ้านเมืองโดยละเลย ไม่มีการตรวจสอบได้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องไม่ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิพวกเราไว้

ต่อมาในช่วงบ่าย ศาลจึงได้ไต่สวนคำร้องที่ผู้ร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 254 ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน (มาตรา 266 ) กรณีขออนุญาตชุมนุมเรื่อง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ และนัดฟังคำสั่งในวันที่ 10 ก.ค.นี้ เวลา 13.00 น.


กำลังโหลดความคิดเห็น