xs
xsm
sm
md
lg

เสริมทัพผลิตนักวิจัยระดับหัวรถจักร ขับเคลื่อนประเทศจากผู้ใช้สู่ผู้สร้างเทคโนโลยี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในยุคที่นวัตกรรมเข้ามามีบทบาทในทุกๆ ด้าน และมีส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่า ทำให้ประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน การมีกำลังคน และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเอง นอกจากเกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยในโลกยุค 4.0

"เราต้องการผลิตนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกรระดับหัวรถจักรที่จะสามารถสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นของเราเอง ไม่เช่นนั้นเราก็จะซื้อเทคโนโลยีไปตลอด" คือความมุ่งมั่นของ ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ในฐานะอธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) สถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อตั้งโดยกลุ่ม ปตท. ซึ่งได้รับพระราชทานนามสถาบันฯ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งอยู่ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง

ปัจจุบัน VISTEC ได้เปิดดำเนินการมาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปีแล้ว โดยมุ่งเน้นการสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ รวมทั้งผลงานการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าที่ก้าวล้ำ (Frontier Research) มีการจัดการเรียน การสอน มุ่งเน้นไปที่หลักสาคัญ 3 ประการ ดังนี้

1. การสร้างวิทยาศาสตร์ใหม่ (Creating New Science) เช่น การคิดค้นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ การสังเคราะห์และพัฒนาวัสดุขั้นสูง (Advanced materials) เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง

2. การบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่​ เพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าระดับโลกทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

3. การพัฒนางานวิจัยที่ VISTEC คิดค้นขึ้น​ หรือเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมในปัจจุบันให้กลายเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ

ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)
ด้วยความที่เป็น "มันสมอง" ผลิตบุคลากรชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศสู่การแข่งขันบนเวทีโลกและยังให้ความสำคัญกับการปลูกฝังจริยธรรมสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยที่เก่งและดี

ล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) สนับสนุนทุนนิสิตปริญญาเอกภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)และโครงการ Frontier Talents Program (FTP) โดยมี ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี เป็นสักขีพยานผู้ทรงเกียรติเพื่อมุ่งสร้างนักวิจัยระดับโลกที่รอบรู้ และมีความเป็นผู้นำสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรม ตลอดจนนำความรู้ไปขับเคลื่อนประเทศได้ตรงตามความต้องการและสอดรับกับทิศทางระดับโลกโดยมีเป้าหมายพัฒนางานวิจัยในสาขาที่ตอบสนองยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมได้แก่ สาขา Advanced Functional Materials, Energy, Biotechnologies และ Digital Technologies

"เป็นความร่วมมือที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำทรัพยากรของทั้งสองหน่วยงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อสร้างและพัฒนานักวิจัยคุณภาพควบคู่กับการส่งเสริมบุคลากรให้มีความมุ่งมั่นก้าวไปสู่อาชีพนักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าต่อไป"อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธีกล่าว

Vistec จับมือ วช. ผลิตบัณฑิตปริญญาเอก เสริมทัพงานวิจัยสู่นานาชาติ
ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ บอกว่า การลงนามความร่วมมือนี้ ทาง VISTEC และวช. จะร่วมกันสนับสนุนทุนนิสิตปริญญาเอกภายใต้ คปก. และ FTP โดยเริ่มจากผู้ได้รับทุน คปก. รุ่นที่ 22 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างนิสิตปริญญาเอกที่มีศักยภาพ และสามารถผลิตผลงานคุณภาพสูง อยู่ในฐานข้อมูล Nature Index, ISI หรือ SCOPUS ในอันดับสูงสุดร้อยละ 10 (Tier 1) ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการนำความรู้ขั้นสูง สร้างแรงจูงใจ สู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าตอบโจทย์อุตสาหกรรมหลักของประเทศ

สำหรับโครงการ คปก. เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2541 เป็นโครงการที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยให้แก่นิสิต นักศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก เพื่อผลิตผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ สังคม และวิชาการของประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้มีนักวิจัยคุณภาพสูง เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัย และสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันดำเนินการมาถึงรุ่นที่ 22 แล้ว และจะเริ่มดำเนินการรุ่นที่ 23 ในเดือนกรกฎาคมนี้


"เรามีนักวิจัยชั้นแนวหน้าที่เป็นหัวรถจักรสำคัญของประเทศจากโครงการนี้ โดยการลงนามระหว่าง VISTEC กับ วช. เรานำสองทุนมาเชื่อมต่อกัน โดยเลือกสาขาที่เป็นความแข็งแกร่งของสถาบันวิทยสิริเมธี ซึ่งหวังว่าจะมีนิสิตบัณฑิตศึกษาที่ดำเนินการวิจัยตรงกับหัวข้อซึ่งเป็นความต้องการของประเทศ ในขณะเดียวกันได้ศึกษาในสถาบันที่ดี และมีโอกาสไปทำงานวิจัยในต่างประเทศ เกิดเป็นผลงานวิจัยที่ดี สามารถปฏิบัติงานวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยหลักของประเทศต่อไป" เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเผย

นับเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญในการเสริมทัพเพื่อพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ พร้อมทำหน้าที่ในการพัฒนาองค์ความรู้ และนำความรู้ที่มีอยู่มาต่อยอดขยายผลให้เกิดการใช้งานได้จริงทั้งในรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการนำผลงานวิจัยมาใช้เพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาให้ประเทศอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจทัดเทียมนานาชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น