เมืองแถง เป็นเมืองที่อยู่ในวงล้อมของเทือกเขาสูง มีเนื้อที่ประมาณ ๑๘ ตารางกิโลเมตร ห่างจากกรุงฮานอยของเวียตนามไปทางตะวันตกฉียงเหนือ ราว ๒๐๐ เมตร แต่อยู่ติดกับแขวงพงสาลีของลาว ประชาชนเป็นชาวไทดำและไทขาว เนื่องจากเป็นเมืองเล็กถูกประกบด้วยเมืองใหญ่ จึงต้องขึ้นกับเวียดนามหรือไทยที่ปกครองอาณาจักรล้านช้าง
พงศาวดารเมืองแถงในจดหมายเหตุโบราณกล่าวว่า แต่เดิมที่เมืองแถงยังไม่เป็นบ้านเป็นเมือง มีแต่ภูเขาและต้นไม้ มีเทพยดา ๕ องค์อยู่ในดาวดึงส์ภิภพ เป็นพี่น้องรักใคร่กัน ปรึกษากันว่าเราทั้ง ๕ เสวยทิพยสมบัติในสวรรค์ก็มาช้านาน จวนจะจุติอยู่แล้ว ควรจะคิดจุติลงไปเกิดเป็นมนุษย์ จะได้เป็นต้นชาติพันธุ์มนุษย์ ช่วยบำรุงแผ่นดินที่เป็นทุ่งเป็นป่าว่างเปล่า ให้ตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นได้ มนุษย์จะได้อาศัยเกิดสืบพันธุ์พึ่งพาศัยกันไปจนสิ้นโลก
เมื่อเห็นชอบกันแล้วจึงปรึกษาด้วยนางเทพยดาทั้ง ๕ อันเป็นบริจาริกาของตน ทุกนางต่างก็เห็นชอบกับสามี เทพยดาทั้ง ๕ กับนางเทพยดาอีก ๕ องค์ จึงอธิษฐานเข้าไปอยู่ในน้ำเต้า บันดาลให้ลอยไปบนฟ้า แล้วตกลงมาบนภูเขาที่ทุ่งนาเตา ด้านตะวันออกของเมืองแถง ระยะเดินเท้า ๑ วัน ภูเขานั้นจึงเรียกว่า ภูเขาเต้าปุง หรือ ภูเขาน้ำเต้า มาจนทุกวันนี้
น้ำเต้าที่เทพยดาจุติลงมานั้น ได้แตกออกมาเป็นมนุษย์ ๕ คู่ ๕ เผ่า คือ ๑.ข่า ๒.ผู้ไทยดำ ๓.ผู้ไทขาว ๔. ฮ่อ ๕. แกว หรือญวน รวมเป็น ๕ แซ่ แล้วพากันลงจากภูเขาไปอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ชำระกายที่หนองเชิงเขา ใครได้อาบกินร่างกายก็จะผ่องใส มีสติปัญญา แต่ข่าซึ่งออกมาก่อนนั้นไม่ยอมอาบเพราะกลัวหนาว ร่างกายจึงหมองคล้ำดำมัวตลอดมา
ฝ่ายผู้ไท ฮ่อ ญวน ได้แยกย้ายกันไปสร้างเมือง ผู้ไทดำตั้งตัวเป็นเจ้าที่เมืองแถง มีนามว่า ขุนลอคำ ส่วน ฮ่อ และญวนนั้น ไม่มีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุ สำหรับข่า พี่ใหญ่นั้น ไม่คิดการใหญ่ ไม่อยากเป็นเจ้าแผ่นดิน ชอบอยู่ตามป่าเขา ตัดไม้ทำไร่เลี้ยงชีวิต
เมืองแถงของผู้ไท ขยายบ้านเมืองใหญ่โตขึ้น เมื่อขุนลอคำสิ้นพระชนม์ ขุนบรม หรือ พีล่อโก๊ะ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน เป็นกษัตริย์ที่มีเดชานุภาพมาก มีโอรสถึง ๗ องค์ ให้แต่ละองค์แยกไปสร้างเมืองขึ้นอีก ๖ เมือง โอรสองค์สุดท้ายมีนามว่า เจ็ดเจือง ให้ครองเมืองแถงต่อ
จากนั้นเมืองแถงก็ถูกเปลี่ยนมือระหว่างไทย ญวน ลาว จนถึงปี ๒๔๑๙ สมัยรัชกาลที่ ๕ เมืองแถงถูกรวมอยู่ในแคว้น สิบสองจุไท ขึ้นกับกรุงเทพฯ เจ้าเมืองแถงมีราชทินนามว่า พระสวามิภักดิ์สยามเขต
ตั้งแต่ปี ๒๔๐๒ ที่ฝรั่งเศสเริ่มเข้ายึดญวนแล้ว พยายามจะขยายอำนาจเข้าครอบครองดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง ตีความแบบหมาป่าว่าเมืองใดที่เคยขึ้นกับญวนมาก่อน ต้องเป็นของฝรั่งเศสด้วย และบีบเอาเขมรไปจากไทย
ในระยะนั้น ได้เกิดกบฎไต้ผิงในจีน เพื่อจะโค่นล้มราชวงศ์ชิง และถูกปราบปรามจนต้องถอยร่นเข้าในแคว้นสิบสองจุไทย และชายแดนด้านเหนือของลาว พวกจีนฮ่อได้เข้าปล้นก่อความเดือดร้อนให้ราษฎรในดินแดนเหล่านั้น ถึงขั้นเข้าปล้นเมืองหลวงพระบางและเผาเมือง ทำให้ไทยต้องปลดพระเจ้ามหินทรเทพนิภาธร เจ้าผู้ครองเมืองหลวงพระบาง ที่ไม่สามารป้องกันรักษาเมืองได้ และตั้งเจ้าคำสุกขึ้นป็น พระเจ้าสักรินทรฤทธิ์ ปกครองแทน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งกองทัพใหญ่ไปปราบกบฏฮ่อ โดยมีพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)" เป็นแม่ทัพ การปราบกบฏฮ่อทางหัวพันห้าทั้งหกครั้งนี้ กองทัพไทยสามารถปราบกบฏฮ่อได้อย่างราบคาบ แต่ฝรั่งเศสอ้างว่าดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันห้าทั้งหกเป็นเมืองขึ้นของญวน ดังนั้นจึงต้องตกเป็นสิทธิของฝรั่งเศสด้วย กล่าวหาว่ากองทัพไทยบุกรุกดินแดนของฝรั่งเศสโดยพลการ และส่งกองทัพจากแดนญวนเข้ามาขับไล่ฮ่อด้วย โดยตั้งประจันหน้ากับกองทัพไทยที่เมืองแถง
พระยาสุรศักดิ์มนตรีเปิดการเจราจากับ โอกุสท์ ปาวี รองกงสุลฝรั่งเศสประจำหลวงพระบาง ต่างฝ่ายต่างยืนยันสิทธิเหนือดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันห้าทั้งหก ต้องการให้อีกฝ่ายถอนกำลังทหารออกไป แต่ฝรั่งเศสมีกำลังมากกว่าเพระเกณฑ์ทหารญวนมาด้วย และดินแดนพิพาทยังอยู่ใกล้กับญวนมากกว่าไทย ยากที่ไทยจะเป็นฝ่ายชนะ ไทยกับฝรั่งเศสจึงได้ทำสัญญาร่วมกันที่เมืองแถง มีเงื่อนไขว่า ในระหว่างที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ ทหารฝรั่งเศสจะตั้งอยู่ที่สิบสองจุไท และทหารไทยจะตั้งอยู่ที่หัวพันห้าทั้งหก ต่างฝ่ายต่างจะไม่ล่วงล้ำเขตแดนกัน แต่เมื่อเกิด “วิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒” ที่ฝรั่งเศสส่งเรือรบฝ่าป้อมพระจุลฯเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ก็บีบเอาสิบสองจุไทกับหัวพันห้าทั้งหกไปทั้งหมด
ต่อมาเมืองแถงได้ชื่อใหม่เป็นภาษาญวนว่า เดียนเบียนฟู กลายเป็นป้อมปราการที่แข็งแกร่งที่สุดของฝรั่งเศสในอินโดจีน มีเทือกเขาสูงเป็นกำแพงล้อมรอบ ยากที่ข้าศึกจะบุกเข้าได้ มีสนามบิน มียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย และมีหน่วยรบที่แข็งแกร่ง ฝรั่งเศสจึงเชื่อมั่นว่าเดียนเบียนฟูจะเป็นป้อมปราการที่ศัตรูขยาด คุมเส้นทางขบวนการเวียดมินห์ที่จะปลดแอกเวียดนามไม่ให้เคลื่อนกำลังลงไปภาคกลางได้ และขัดขวางการเชื่อมต่อกับขบวนการปเทดลาว
แต่ฝรั่งเศสไม่คาดคิดว่า ขบวนการเวียดมินห์ที่ใช้วิธีรบแบบกองโจรมาตลอด จะสามารถระดมประชาชนเข้าร่วมขยายกำลังเป็นกองพลได้ และคนยุโรปที่มีทุกอย่างพร้อมมูล ไม่เหมือนคนเอเซียที่ยังขาดแคลน จึงถนัดในการแก้ไขดัดแปลงของใช้ทุกอย่างที่คนตะวันตกคาดไม่ถึง การวางแผนของกลุ่มเสนาธิการเวียดมินห์ซึ่งมี “ลุงโฮ” โฮจิมินห์ เป็นผู้นำ แล นายพลหว่อเหงวียนช้าป เป็นแม่ทัพ จึงใช้วิธีถอดปืนใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนมาเป็นจำนวนมาก ออกเป็นชิ้นๆ ให้อาสาสมัครประชาชนแบกไปตามไหล่เขาที่ชนเผ่าไทเรียกกันว่า “ช่องเขาฟ้าดิน” จุดบรรจบของดินและฟ้า เป็นระยาทาง ๓๒ กม. ช่วยกันสร้างถนนและสะพานจนถึงเชิงเขาสูง จากนั้นนำชิ้นส่วนปืนใหญ่บรรทุกบนจักรยานเป็นพันคัน ทหารที่ควบคุมจักรยานไม่ได้ขี่ แต่จูงจักรยานไต่ขึ้นเทือกเขาสู่จุดสูงสุดของเทือกเขาฟ้าดินซึ่งสูง ๑,๖๔๘ เมตร หาถ้ำและซอกมุมลับตาประกอบปืนใหญ่ขึ้น
ส่วนเสบียงสำหรับกำลังพลนับหมื่นคน ไม่สามาถจะขึ้นไปหุงหาต้มผัดกันบนภูเขาให้ข้าศึกเห็นควันได้ จึงต้องใช้เยาวชนและอาสาสมัครชาวบ้านกว่า ๘,๐๐๐ คน แบกและหาบขึ้นไปพร้อมกับกระสุนปืนใหญ่ อาหารที่เป็นหลักสำคัญในสงครามปลดแอกครั้งนี้ นอกจากข้าวแล้วก็มีไข่เค็ม อาหารสำเร็จรูปที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการขนขึ้นไปในภูมิประเทศเช่นนี้
เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ในบ่ายวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๗ ปืนใหญ่ทุกกระบอกก็คำรามถล่มลงไปในหุบเขาเบื้องล่าง ไม่ต้องสงสัยว่าทหารฝรั่งเศสจะตกใจและขวัญกระเจิงกันแค่ไหน คิดไม่ถึงว่าข้าศึกจะมีสมรรถภาพโจมตีได้ถึงขั้นนี้ ทุกอย่างในป้อมถูกถล่มด้วยปืนใหญ่ สนามบินและอาวุธต่างๆพังพินาศ ทั้งเครื่อบินที่มาส่งพลร่มสนับสนุนก็ถูกยิงตกไปหลายต่อหลายลำ ขณะเดียวกันทหารราบเวียดมินห์ก็เคลื่อนลงจากภูเขาบุกเข้าชิงพื้นที่ ทำลายป้อมค่ายและใช้ระเบิดขนาดยักษ์ทำลายอุโมงค์ที่แข็งแกร่งของศัตรู แต่กระนั้นการรบก็ยาวนานถึง ๕๖ วัน ๕๖ คืน จนในเวลา ๑๗.๓๐ น.ของวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๔๙๗ กองทัพเวียดมินห์ก็ยึดอุโมงบัญชาการของฝรั่งเศสได้ คณะนายทหารและเสนาธิการทุกคนที่อยู่ในอุโมงยอมแพ้ ธง “ตั้งใจรบ ตั้งใจชนะ” ของกองทัพเวียดนามโบกสะบัดเหนืออุโมงบัญชาการฝรั่งเศส จับทหารฝ่ายศัตรูได้มากกว่า ๑๖,๐๐๐ คน ยิงเครื่องบินตก ๖๒ ลำ ยึดอาวุธและยุทธปัจจัยของฝ่ายศัตรูได้ทั้งหมด ถือเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของชาติเอเซียอาคเนย์ต่อมหาอำนาจนักล่าอาณานิคม
การล่มสลายของป้อมปราการฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู เป็นข่าวดังกระหึ่มโลก รัฐบาลฝรั่งเศสในปารีสต้องลาออก รัฐบาลใหม่สนับสนุนการถอนทหารฝรั่งเศสออกจากอินโดจีน สงครามอินโดจีนครั้งนี้จึงยุติลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพเจนีวา ฝรั่งเศสยอมสละอาณานิคมทั้งหมด สำหรับทางเหนือ ฝรั่งเศสรับรองอำนาจของโฮจิมินห์ แต่สำหรับทางใต้ จะมีการจัดการเลือกตั้งเพื่อกำหนดอนาคต แต่แล้วการเลือกตั้งก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะนักล่าอาณานิคมยุคใหม่เข้ามาแทรกแซงยกเลิกไป
ข้อตกลงนี้แบ่งประเทศเวียดนามออกเป็นเวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้ สองประเทศ จนใน พ.ศ.๒๕๐๓ ได้เกิดการสู้รบกันอีก เป็นสงครามอินโดจีนครั้งที่สอง ซึ่งอเมริกาเสนอตัวเข้ามาเป็นผู้แพ้แทนฝรั่งเศส
ชาวไทดำชนพื้นเมืองของเดียนเบียนฟู ก็มีบทบาทสำคัญในชัยชนะครั้งนี้ ประชาชนและเยาวชนอาสาสมัครที่ส่วนใหญ่ก็เป็นไทดำที่มี ลอวันฮัก เจ้าเมืองไทดำเป็นผู้นำ ได้เข้าร่วมกับขบวนการเวียดมินห์ หลังชัยชนะของเดียนเบียนฟู เขาได้รับตำแหน่ง หัวหน้าคณะกรรมการปกครองตนเอง เขตตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนามเหนือ และเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ