xs
xsm
sm
md
lg

“บรูวเวอร์” ถาม! ห้ามขาย “เบียร์ออนไลน์” สกัดนักดื่มหน้าใหม่หรือสกัดผู้ค้ารายย่อย?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บรูวเวอร์” กลุ่มคนหมักเบียร์คราฟท์ ตั้งคำถามถึงคณะกรรมการนโยบายแอลกอฮอล์แห่งชาติ ห้ามจำหน่ายเบียร์ออนไลน์ เพื่อสกัดนักดิ่มหน้าใหม่ หรือเพื่อสกัดผู้ค้ารายย่อย?

รายงานพิเศษ

“สกัดเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ สกัดผู้ผลิตรายย่อยไม่ให้มีช่องทางไปแข่งขันกับรายใหญ่กันแน่”

นั่นเป็นคำถามจากหนึ่งในกลุ่ม “บรูวเวอร์” (Brewer) หรือ คนหมักเบียร์คราฟท์ หลังทราบว่า รัฐบาลเตรียมออกประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายแอลกอฮอล์แห่งชาติ เมื่อ 2 กรกฎาคม 2563 มีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ได้อีกต่อไป

โดยให้เหตุผลว่า เป็นการป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย เพราะช่องทางการขายออนไลน์ทำลายข้อจำกัดต่างๆ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ซื้อมีอายุต่ำกว่า 20 ปีหรือไม่ ต่างจากการซื้อที่ร้านค้าทั่วไป

และยังพบว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่รัฐบาลห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ธุรกิจทางออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

“บรูวเวอร์” รายนี้อธิบายว่า ปกติคนที่ดื่มเบียร์คราฟท์ ก็ไม่ใช่นักดื่มหน้าใหม่อยู่แล้ว เพราะเบียร์คราฟท์เป็นเบียร์ทางเลือก มีราคาแพง ถ้าเป็นเบียร์คราฟท์ไทย ก็มีราคาตั้งแต่ขวดละ 140 – 220 บาท (ขวดเล็ก) หากเป็นเบียร์ต่างประเทศ ราคาขวดละ 180 บาท ไปจนถึง 500 บาทเลยทีเดียว


ดังนั้น ลูกค้าเกือบทั้งหมดที่สั่งซื้อเบียร์คราฟท์ทางออนไลน์ ล้วนแต่เป็นคนที่ชื่นชอบการดื่มเบียร์อยู่แล้ว ศึกษาเบียร์ชนิดนั้นๆมาเป็นอย่างดีก่อนที่จะสั่งซื้อ ซึ่งต่างจากกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่อย่างสิ้นเชิง เพราะนักดื่มหน้าใหม่ส่วนใหญ่ เริ่มจากการดื่มเบียร์แบรนด์ใหญ่ที่มีขายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไปมากกว่า

แต่การออกประกาศนี้ กลับไม่ส่งผลกระทบอะไรกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบรนด์ดังๆ เลย

“ช่องทางการขายเบียร์ออนไลน์ เป็นการติดต่อโดยตรงระหว่างเจ้าของแบรนด์กับผู้ซื้อโดยตรง ซึ่งผู้ซื้อก็จะเป็นกลุ่มที่ศึกษามาก่อนแล้วว่า ทำไมถึงสนใจเบียร์ตัวนี้จึงมาสั่งซื้อ เมื่อรัฐปิดช่องทางตรงนี้ กลุ่มผู้ผลิตเบียร์คราฟท์รายย่อย ก็ไม่มีช่องทางอื่นที่จะบอกลูกค้าว่า สินค้าของเขาเป็นอย่างไร รสชาติอย่างไร มีกระบวนการผลิตอย่างไร โดยเฉพาะหากเป็นแบรนด์ใหม่ ยิ่งไม่สามารถเกิดได้เลย”

“ผมมีข้อสังเกตว่า การออกประกาศห้ามจำหน่ายเหล้า-เบียร์ทางออนไลน์เช่นนี้ กลับไม่ส่งผลกระทบกับแบรด์ใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาดอยู่แล้ว หรือที่เราเรียกกันว่า Beer Mass เลย เพราะแบรนด์ใหญ่มีช่องทางการทำให้คนรู้จักอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม มีเอเย่นต์ มีโมเดิร์นเทรด มีตลาดที่ทำมายาวนานอยู่แล้ว กฎหมายแบบนี้ผมว่ามันลักลั่น” บรูวเวอร์ รายนี้กล่าว

อีกหนึ่งข้อเปรียบเทียบที่ กลุ่มบรูวเวอร์ หรือ คนหมักเบียร์คราฟท์ เห็นว่า การห้ามจำหน่ายเหล้า-เบียร์ทางออนไลน์ ไม่เป็นธรรมกับพวกเขา ก็คือ กลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งแบรนด์ใหญ่มีช่องทางในการใช้ช่องว่างของกฎหมายได้มากกว่าในการโฆษณา


ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ กลุ่มผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ สามารถใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้แบรนด์เดียวกันกับเบียร์ เช่น โซดา หรือ น้ำเปล่า เพื่อเลี่ยงกฎหมายให้สามารถโฆษณาแบรนด์ผ่านสื่อต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

แต่สำหรับแบรนด์เล็กๆ ในกลุ่มเบียร์คราฟ เมื่อไม่มีช่องทางออนไลน์ ก็ไม่สามารถทำให้คนเห็นสินค้าได้เลย ทั้งที่เป็นสินค้าที่ขายเฉพาะกลุ่ม

“ในโฆษณา มีคนรวมกลุ่มกัน เปิดเพลง ยืนเต้น เพื่อดื่มโซดาเปล่าๆ เป็นโซดายี่ห้อเดียวกับเบียร์ ผมว่ามันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าโฆษณานี้ต้องการสื่อถึงอะไร ยังมีโฆษณาอื่นๆ ที่อาศัยกีฬามาพูดถึงชื่อแบรนด์ ซึ่งจริงๆแล้วผมไม่ได้คัดค้านนะที่เขาจะทำแบบนั้นได้ แต่การที่เขาทำได้ และกลุ่มเบียร์คราฟท์ทำไม่ได้ มันก็ดูจะไม่เป็นธรรมกับเรา”

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่กลุ่มเบียร์คราฟท์ตั้งคำถามคือ การห้ามจำหน่ายทางออนไลน์ ดูเหมือนจะย้อนแย้งกับนโยบาย “เมาไม่ขับ” และนโยบาย “การเว้นระยะห่างทางสังคม” หรือไม่ เพราะกลุ่มคนที่สั่งซื้อเบียร์ทางออนไลน์ จะสั่งไปดื่มที่บ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่หากสั่งไม่ได้ ก็ต้องไปหาร้านนั่งดื่มและต้องเดินทางกลับเช่นเดิม

ส่วนแนวทางการต่อสู้ของกลุ่มผู้ผลิตเบียร์คราฟในขณะนี้ บรูวเวอร์รายนี้เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาพวกเขาได้รวมตัวกันเป็นชมรม แต่กำลังจะยกระดับเป็น “สมาคม” เพื่อแสดงออกว่า ประกาศที่ออกมาไม่เป็นธรรมกับพวกเขา จึงต้องผลักดันให้เกิดกระบวนการแก้ไขกฎหมายหรือยกเลิกประกาศนี้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น