“ดร.วิวัฒน์ชัย” กระตุกรัฐบาลเตรียมรับมือสงครามเย็น “จีน-อเมริกา” อย่าเปิดทางต้อนรับอย่างไม่ระวังตัว จะถูกครอบงำ รุกคืบทางเศรษฐกิจ แนะคบทุกฝ่าย อย่าเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง โดยเอาผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นหลัก
วันที่ 2 ก.ค. 63 รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ในหัวข้อ “อิทธิพลของ Deep State ในสงครามเย็นรอบใหม่ สหรัฐฯ VS จีน”
โดย ดร.วิวัฒน์ชัยกล่าวช่วงหนึ่งว่า สงครามเย็นที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับจีน มีนัยต่อประเทศไทย คือ 1. การต่างประเทศ และการทหารของไทยอ่อนแอ ผู้นำขาดวิสัยทัศน์ ทำงานไม่เป็น ไม่รู้ความสำพันธ์เชิงบูรณาการระหว่างความมั่นคงทางทหารกับการต่างประเทศ และอำนาจทางเศรษฐกิจ จึงหลงประเด็น
6 ปีภายใต้นายกฯ คนนี้ และกำลังเข้าปีที่ 7 ไม่ได้ทำนโยบายที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งเพื่อรองรับสงครามเย็นระหว่างอเมริกากับจีนเลย แสดงว่าอ่านสถานการณ์ไม่ออก
2. ต้องยอมรับว่าไทย ทหารพาณิชย์ และทหารการเมือง ใส่อำนาจ จมไม่ลง ทหารอาชีพมีน้อยมาก และเป็นที่น่าสังเกตว่าทหารอาชีพไม่ถูกทำให้เกิดการปฏิรูปให้เป็นทหารมืออาชีพ ดังนั้นทหารอาชีพแทบไม่เหลือ การปฏิรูปกองทัพเลยไม่เคยเกิดขึ้น น่าเป็นห่วง เจอสงครามเย็นแบบนี้ ขีดความสามารถของระบบเราจะรองรับไม่ได้ เพราะตอนนี้เราขาดความสามัคคี พยายามปิดบังจุดอ่อนของเรา
ดร.วิวัฒน์ชัยกล่าวอีกว่า ตัวอย่าง แจ็ก หม่า เป็นคนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนชื่นชมและไว้วางใจ ถูกส่งมา นายกฯ รองนายกฯ ที่เป็นทหารยินดีปรีดามาก เข้าใจว่าจะช่วยให้เราขายทุเรียนได้เยอะ แต่ปรากฏว่าทุกวันนี้ล้งจีนครอบงำผูกขาดตลาดหมดแล้ว
จีนมีข้อดี แต่ข้อไม่ดีจะไม่ถูกจำกัด ถ้ารัฐไทย อำนาจไทย เปิดทางให้อย่างไม่ระมัดระวังตัว จีนสามารถซื้อกิจการมหาวิทยาลัย แถวห้วยขวางคนจีนเข้ามายึดครอง เข้ามาซื้อคอนโดต่างๆ นี่เป็นการรุกทางเศรษฐกิจ แล้วคนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเข้าใจเชื่อมโยงได้ไหม ถึงอำนาจสงครามเย็นและสงครามร้อนในอนาคต ที่จะทำให้ฐานที่มั่นของไทยแข็งแรง
ดร.วิวัฒน์ชัยกล่าวด้วยว่า สิ่งที่เราควรทำ คือ เชื่อมนโยบายต่างประเทศ ความมั่นคงทางทหาร นโยบายทางเศรษฐกิจ เข้าไปรวมเป็นองค์รวม ที่จะใช้ศักยภาพในการต่อรองกัน แล้วก็คบกับทุกฝ่าย ทั้งจีน และอเมริกา ไม่ควรเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง แต่คบโดยเอาผลประโยชน์ของไทยเป็นใหญ่
ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ ไทยแย่แน่ การเมืองอำนาจยังไม่ลงตัว ท่ามกลางบ้านเมืองในวิกฤต ไม่ต้องโทษโควิด แต่โทษตัวเองที่ทำมา