เซ็งเลย! อุตส่าห์ถือขวดแม็กกี้กับพริกไทยรอ พบตั๊กแตนที่ระบาดในเมืองซำเหนือ เป็น “ตั๊กแตนไผ่” คนละอย่างกับ “ตั๊กแตนทะเลทราย” ที่มาจากแอฟริกาเข้าทางตะวันออกกลางและเอเชีย ล่าสุด ยังไปถึงแค่เนปาล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยันโอกาสเข้าไทยน้อยมาก เพราะไม่ชอบอากาศร้อนชื้น ชอบแห้งแล้งแบบทะเลทราย
วันนี้ (30 มิ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า สถานีวิทยุเยาวชนลาว (Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz) ได้โพสต์ภาพเจ้าหน้าที่พ่นยากำจัดศัตรูพืช ระบุว่า สำนักงานเกษตรและป่าไม้เมืองซำเหนือ เมืองเอกของแขวงหัวพัน ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแขวงเชียงขวาง ติดกับประเทศเวียดนาม ลงพื้นที่ฉีดยาปราบศัตรูพืช เพื่อควบคุมการระบาดของฝูงตั๊กแตนไม้ไผ่ ใน 2 หมู่บ้าน คือบ้านเพียงคั้ง-ห้วยเสียง กับบ้านเฮาเหนือ พร้อมกับให้ชาวบ้านหลีกเลี่ยงเข้าไปในพื้นที่ควบคุม สอนการใช้ยาปราบศัตรูพืช และเรียกร้องให้ช่วยกันเฝ้าระวังไม่ให้ตั๊กแตนแพร่ลามไปยังเขตอื่นๆ หากพบการแพร่ระบาดให้รายงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขให้ทันการณ์
สำหรับตั๊กแตนไผ่ (Ceracris kiangsu) เป็นคนละชนิดกับตั๊กแตนทะเลทราย ที่ขณะนี้มีการแพร่ระบาดจากแอฟริกาใต้มายังตะวันออกกลางและเอเชีย โดยข้อมูลจาก สำนักวิจัยและพัฒนาและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ตั๊กแตนไผ่ พบครั้งแรกที่มณฑลเสฉวน หูเป่ย เกียงสู หูหนาน เกียงสี ฝูเจียน และ กวางตุ้ง ของจีน ในปี 2472 แล้วระบาดอย่างรุนแรงในปี 2478-2479 สำหรับประเทศไทย พบเมื่อปี 2512 ที่จังหวัดเชียงใหม่ และ สุพรรณบุรี แต่ไม่มีรายงานการระบาดในประเทศขณะนั้น ปัจจุบันจะพบแพร่กระจายในบริเวณพื้นที่ป่าไผ่ทางตอนใต้ของจีนที่ระดับสูงกว่าระดับน้ำทะเล 300-400 จนถึง 780 เมตร สร้างความเสียหายให้แก่พืชเกษตร อาทิ พืชตระกูลไผ่ พืชตระกูลหญ้า พืชตระกูลปาล์ม ข้าว และข้าวโพด
ส่วนตั๊กแตนทะเลทราย (Schistocerca gregaria) ข้อมูลจาก สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า เมื่อตัวเต็มวัยจะมีลักษณะเป็นสีน้ำตาล หรือ สีเหลือง หากอยู่แบบเดี่ยวมีสีน้ำตาล แต่ถ้าอยู่รวมเป็นกลุ่ม จะมีลักษณะตัวอ่อนสีชมพู และตัวเต็มวัยสีเหลือง ออกหากินในเวลากลางคืน วงจรชีวิต 2-6 เดือน สูงสุด 9 เดือน โดยผสมพันธุ์และวางไข่ลักษณะคล้ายเมล็ดข้าว เรียงเป็นฝัก 1-3 ฝัก แต่ละฝักมีจำนวนไข่ 90-160 ฟอง รูปร่างเป็นทรงกระบอกยาว 3-4 เซนติเมตร ในดินร่วนปนทราย ลึกประมาณ 5-10 เซนติเมตร เมื่อฟักเป็นตัวอ่อนจะใช้เวลาเติบโต 30-40 วัน โดยจะลอกคราบ 5-6 ครั้ง ตัวอ่อนวัยแรกจะมีสีดำ ก่อนจะลอกคราบเป็นสีดำสลับเหลือง
เป็นตั๊กแตนที่อพยพเป็นกลุ่มใหญ่ระยะทางไกล บินตามกระแสลมด้วยความเร็วประมาณ 16-19 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บินสูงถึง 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล บินได้นาน 10 ชั่วโมงต่อครั้ง สามารถเดินทางได้ตั้งแต่ 5-130 กิโลเมตร ออกหากินในเวลากลางคืน เพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วในช่วงฤดูฝนที่มีพืชอาหารอุดมสมบูรณ์ สภาพที่เหมาะสมได้แก่ พื้นที่โล่ง ดินร่วนปนทราย มีความชื้น มีอาหารอุดมสมบูรณ์ มีประชากรตั้งแต่ 40-80 ล้านตัวต่อ 1 ตารางกิโลเมตร กินพืชได้หลายชนิด รวมถึงพืชสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เลย์ อ้อย หญ้าเลี้ยงสัตว์ ฝ้าย ไม้ผล พืชผัก และ วัชพืช จัดเป็นศัตรูพืชที่มีความร้ายแรงระดับโลก กินได้ทุกส่วนของพืชทั้งใบ ลำต้น ดอก ผล เมล็ด และราก และสามารถกินอาหารได้ตลอดอายุขัย
ตั๊กแตนตัวเต็มวัยสามารถกินอาหารได้ในปริมาณเท่าน้ำหนักตัวต่อวัน หากมีการระบาดจะเกิดความเสียหายรุนแรง รวดเร็ว และเกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ที่ผ่านมา องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เตือนภัยตั๊กแตนทะเลทรายระบาดร้ายแรงที่สุดในรอบ 25 ปี ในแอฟริกาและกำลังแพร่ระบาดเข้าตะวันออกกลางและอินเดีย เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ปัจจุบันพบการระบาดของฝูงตั๊กแตนในประเทศเคนยา เอธิโอเปีย เอริเทรีย โซมาเลีย ซูดานใต้ อูกันดา จิบูตี เยเมน โอมาน ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน อินเดีย และ ปากีสถาน
ขณะที่ เว็บไซต์ เดอะ กาฐมาณฑุ โพสต์ สื่อออนไลน์ของเนปาล รายงานสถานการณ์ตั๊กแตนทะเลทราย ว่า ฝูงตั๊กแตนทะเลทรายจากประเทศอินเดียได้เข้ามาในประเทศเนปาล เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่ไม่มีรายงานความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรที่ชัดเจน โดย นายสหเดว พราสาด ฮูมาเกน (Sahadev Prasad Humagain) หัวหน้าศูนย์บริหารจัดการกักกันพืชและสารกำจัดศัตรูพืช กระทรวงเกษตรของเนปาล กล่าวว่า แม้ยังไม่ได้รับรายงานความเสียหายที่มีนัยสำคัญมาจากตั๊กแตนทะเลทราย แต่เราบอกไม่ได้ว่าขณะนี้ภัยอันตรายได้ผ่านพ้นไปแล้วหรือไม่
ขณะนี้กระแสลมจากทางทิศใต้เข้ามาทางประเทศเนปาล และมีแนวโน้มที่จะพัดผ่านไปอีกประมาณ 2-3 วัน หากมีฝูงตั๊กแตนหลงเหลืออยู่ทางฝั่งอินเดียตามแนวชายแดน อาจเข้าสู่ประเทศเนปาลด้วยลมที่พัดมา แต่ฝูงตั๊กแตนที่เข้ามาในเนปาลเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมายังมีขนาดเล็ก และยังเร็วเกินไปที่จะรายงานความเสียหาย ขณะนี้ฝูงตั๊กแตนทะเลทรายกำลังเคลื่อนจากรัฐราชสถาน ไปยังกรุงนิวเดลีของอินเดีย กระแสลมกำลังเข้าสู่ประเทศเนปาล ซึ่งสามารถพัดพาแมลงเข้ามาได้ หากทางการอินเดียควบคุมได้ ฝูงตั๊กแตนจะเหลือเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่ถ้าพบว่าฝูงตั๊กแตนกลุ่มใหญ่เข้ามาในเนปาลจะสร้างปัญหามากมาย จึงต้องตื่นตัวอยู่เสมอ
ส่วนความเคลื่อนไหวในประเทศไทย พบว่า สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ได้มีมาตรการการเฝ้าระวังตั๊กแตนทะเลทรายในประเทศไทยรองรับเอาไว้แล้วตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยติดตามสถานการณ์การระบาดและทิศทางการเคลื่อนย้ายในต่างประเทศ และสำรวจแปลงพืชอาหารของตั๊กแตนทะเลทรายที่อยู่ในบริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่มีรายงานการระบาด ตรวจเช็กชนิดของตั๊กแตน พร้อมเก็บตัวอย่างนำส่งเพื่อนำมาจำแนกชนิด
ในกรณีพบในประเทศไทย เมื่อตรวจพบตั๊กแตนทะเลทราย ให้ทำการป้องกันกำจัดโดยวิธีการที่เหมาะสม เช่น วิธีกลโดยใช้ตาข่ายหรือสวิงจับตัวตั๊กแตนมาทำลายเพื่อป้องกันไม่ให้ตั๊กแตนผสมพันธุ์และวางไข่ การใช้สารเคมี การใช้ชีววิธีโดยพ่นด้วยเชื้อราเขียว (Metarhizium anisopliae) หรือ สารชีวภัณฑ์อื่นๆ เช่น เชื้อโปรโตซัว และถ้ามีการระบาดรุนแรงก่อให้เกิดความเสียหายต่อพืชผลการเกษตรเป็นวงกว้าง จังหวัดอาจจะพิจารณาประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ อีกวิธีหนึ่ง คือ การนำตั๊กแตนทะเลทรายมาบริโภค โดยการทอดให้สุก เช่นเดียวกับตั๊กแตนปาทังก้า
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า โอกาสที่ตั๊กแตนจะแพร่ระบาดเข้ามาถึงประเทศไทยมีน้อยมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนชื้นของประเทศไทย ไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตและการตั้งรกรากเพื่อขยายพันธุ์ของแมลงชนิดนี้ ซึ่งชอบสภาพอากาศแห้งแล้งแบบทะเลทราย รวมทั้งกระแสลมตะวันออกจะพัดพาตั๊กแตนให้บินไปทิศตะวันตกมากกว่าที่จะมาถึงไทย แต่ได้จัดทำมาตรการเฝ้าระวังและวางแผนที่จะทำการสำรวจ เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันการเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยไว้ล่วงหน้าแล้ว