รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้านหัวชนฝากับ “Travel Bubble” การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ที่อาจจะต้องแลกมากับชีวิตคนทั้งประเทศ
วันนี้ (29 มิ.ย) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” พูดถึงมาตรการการรับชาวต่างชาติเข้ามาภายในประเทศ ทั้งนี้ หมอธีระ เผยว่า การทำเช่นนั้นถือว่าเป็นการเดิมพันด้วยด้วยชีวิตของประชาชนในประเทศ อย่างไรก็ตาม หมอธีระ ได้ระบุข้อความว่า
“ความคิดโง่ๆ คือ การที่คิดว่าเราเนื้อหอม มีคนมากมายมาต่อคิวเพื่อขอทำสัญญาเข้ามาสุงสิงด้วย ข้อเท็จจริงคือ เค้าตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ไม่สามารถทำให้อยู่ในสถานการณ์แบบเราได้ จะติดต่อกับคนอื่นก็ล้วนไม่ปลอดภัย เลยมาติดต่อกับเราเพราะเราปลอดภัย
คำถามคือ การทำสัญญาแบบ “เธอเชื่อใจฉัน ฉันเชื่อใจเธอ เราจะไม่กักกัน” นั้น มันยุติธรรมต่อคนของเราจริงหรือ? ข่าวที่เราเห็นแทบทุกวัน คือ อาชญากรรม ทำร้าย ข่มขืน ฆ่า ยังเกิดได้กับคนในครอบครัวเดียวกัน นี่คือ การเดิมพันชีวิตคนทั้งประเทศด้วยการเชื่อใจ โดยดูตัวเลขที่รายงาน และเชื่อใจระบบการตรวจของเค้า แลกกับให้เค้าเชื่อเรา
มาตรฐานด้านการตรวจ การเคารพระเบียบวินัยกฎกติกามารยาท และการไม่โป้ปดมดเท็จนั้น อาจมีความแตกต่างกันมากในแต่ละคน แต่ละพวก แต่ละฝ่าย หากทำสัญญาโดยผลดีผลเสียเกิดแค่ระดับบุคคล คงไม่สนใจออกมาค้าน แต่นี่เดิมพันด้วยชีวิตคนทั้งหมด เรื่องแบบนี้ไม่ควรยินยอมครับ เราเจอเรื่องเชียร์แข่งรถขณะเกิดโรคระบาดในสังคม เราเคยได้ยินเรื่องหน้ากากล่องหนในยุคหวัดธรรมดา เราเคยเจอเรื่องยาเสพติดรักษาสารพัดโรคยังสร้างวิกฤติไม่พออีกหรือ?”
สำหรับ “ทราเวลบับเบิล” (Travel Bubble) เป็นศัพท์ใหม่ที่ถูกบัญญัติขึ้นในช่วงโควิด-19 เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ทราเวลบับเบิล หรือที่มีคำนิยามในภาษาไทยว่า “ระเบียงท่องเที่ยว” หมายความถึงการจับคู่ด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศที่มีความมั่นใจในความปลอดภัยของโรคโควิด-19
โดยจะมีการตกลงกันระหว่างรัฐบาลของแต่ละประเทศในการให้สิทธิพิเศษของการเดินทางเข้าออกระหว่างกันได้ โดยไม่ต้องมีการกักตัว 14 วัน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มข้น เช่น การตรวจเช็กสุขภาพทั้งจากประเทศต้นทาง และปลายทางว่าผู้ที่เดินทางมานั้นปลอดจากโรคโควิด-19 จริง
หรือมีหนังสือรับรองผ่านการตรวจโรคว่ามีผลเป็นลบมาแสดง การใช้แอปพลิเคชันติดตามตัวตลอดการเดินทาง และที่สำคัญคือต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรการป้องกันการโรคโควิด-19 ด้วยวิธีการที่แต่ละคู่ประเทศจะตกลงกัน