อีกไม่นานปี 2019 ก็จะผ่านพ้นไปและปี 2020 กำลังที่จะผ่านเข้ามา และอีกหนึ่งสิ่งที่ประชาชนคนทั่วไปนิยมทำกันก็คือ การตั้งเป้าหมายรายปีเสียใหม่ สิ่งที่คนนิยมตั้งเป้าหมายกัน เช่น เรื่องการท่องเที่ยว การเรียน การพัฒนาตัวเอง การออกกำลังกาย และการเงินก็เป็นอีกเป้าหมายใหญ่ของใครหลายๆคน แต่ก็อีกแหละเมื่อเวลาผ่านไปเดือนหรือสองเดือน เป้าหมายต่างๆ ที่ตั้งเอาไว้ก็มักจะเลือนลางจางลงไป ปีนี้ที่ผ่านมาแล้วหลายคนอาจทำได้ตามเป้าหมายบ้าง หรือบางคนตั้งเป้าเอาไว้แล้วไม่ได้ลงมือทำเลย ปีหน้าที่กำลังจะมาถึงในเร็วๆนี้ เป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้เริ่มทำอะไรใหม่ๆ
ปิติพงศ์ ศิริเกียรติโยธิน ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 บล.โกลเบล็ก ได้เปิดเผยถึงเทคนิคการตั้งเป้าหมายอย่างเป็นระบบในโอกาสที่จะเข้าสู่ปีใหม่นี้ เอาไว้ให้นำไปลองทำกันดู ได้แก่
1.ทำบัญชีรายรับ - รายจ่าย บัญชีรายรับรายจ่าย ช่วยให้เรารู้ได้เลย ว่าในแต่ละเดือน เรามีรายรับเข้ามาเท่าไหร่ มีรายจ่ายออกไปเท่าไหร่ หากเราทำได้ตลอดทุกวันจนติดเป็นนิสัย เชื่อได้เลยว่าเราจะเห็นเงิน ออกไปกับอะไรที่ “ไม่จำเป็น” เยอะมาก โดยหากเราบริหารจัดการเงินตรงนี้ได้ดี เงินเหลือก็จะมากขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในยุคที่อะไรๆ ก็มือถือแบบนี้ที่สามารถเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายดายเพียงแค่ปลายนิ้ว การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอันดับต้นๆ
2.คิดแผน “วิธีปลดหนี้” “ฉันมีหนี้อยู่เท่าไหร่ ฉันมีรายรับอยู่เท่าไหร่ ฉันจะใช้หนี้เดือนละเท่าไหร่ อีกกี่ปีฉันถึงจะหมดหนี้” แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นอย่างนั้นเลยสิ “บัตรเครดิตใบนี้ยังไม่เต็ม ใช้บัตรนี้รูดก่อน” ,”เงินติดตัวเราไม่มี ใช้บัตรกดเงินสดก่อน” , “เฮ้ยเพื่อนเราไม่มีเงิน ขอยืมก่อน” หนักสุดเลยก็ไปกู้หนี้นอกระบบ เอาโฉนดบ้าน โฉนดที่ดินค้ำกับหนี้นอกระบบเลยก็มี หากยังเป็นอยู่แบบนี้หนี้ที่มีอยู่ไม่มีทางหมดแน่ๆ ดังนั้นแล้ว จึงควรเริ่มวางแผนปลดหนี้ตั้งแต่ปีใหม่นี้เลย
3.เริ่มสร้างนิสัย เริ่มออมเงินตั้งแต่วันนี้ ให้ “จ่ายให้ตัวเองก่อน” จ่ายให้ตัวเองในที่นี้ หมายถึงเมื่อเราได้รับเงินเสร็จ ให้เก็บไว้ส่วนหนึ่งทันทีเลยครับ โดยเงินที่เก็บนั้น ควรจะสำรองไว้เผื่อฉุกเฉิน หรือตกงาน เก็บออมไว้ให้ได้เท่าจำนวนเงินเดือน 6-12 เดือน สำหรับบางคน ทำงานในบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมีการหักเงินจากบัญชีเงินเดือน และบริษัทที่เราทำงานจะสมทบให้ตามอัตราที่บริษัทกำหนด เมื่อถึงเวลาเกษียณ หรือลาออกจากงาน เราก็จะได้รับเงินก้อนนี้ โดยเงินกองนี้ จะมีบริษัทนำไปลงทุนให้เรา และนำเงินปันผลกลับมาจ่ายให้เราอีก ทั้งนี้ หากเราเลือกกองทุนที่มีความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตนเองก็จะสามารถเพิ่มผลตอบแทนได้โดยเฉพาะคนที่เริ่มทำงานใหม่ๆหรือคนที่อายุยังน้อย
4.ใช้หนี้บัตรเครดิตเป็นประจำทุกเดือน เรื่องนี้ก็สำคัญเช่นกัน สำหรับการใช้หนี้บัตรเครดิตโดยหากเราคิดเป็นหนี้บัตรเครดิตแล้ว แต่ไม่คิดใช้คืน หรือชำระไม่ตรงตามวันที่กำหนด แนะนำว่าอย่าไปเป็นหนี้เลย เพราะหนี้บัตรเครดิตมีดอกเบี้ยที่สูง และหากเรามีประวัติ ขาดการชำระหนี้ครบ 3 เดือน ชื่อของเราจะไปติดอยู่เครดิตบูโร โดยหากวันนึงเราคิดจะกู้ซื้อบ้าน หรือต้องการเงินลงทุนจากธนาคาร แต่เราดันมีชื่อติดอยู่เครดิตบูโร คราวนี้เราจะไม่สามารถกู้อะไรจากธนาคารในระบบได้อีกเลย สรุปเลยคืออย่าพยายามใช้บัตรเครดิตให้อยู่ในวงเงินและชำระให้ตรงเวลา
5.ถามทุกครั้งที่จ่าย ว่าเรื่องนี้ “จำเป็นมั้ย” ทุกครั้งที่เรามีเรื่องอยากเสียเงิน ไม่ว่าจะซื้อโทรศัพท์ใหม่ รองเท้า กระเป๋า เสื้อผ้า หรือแม้แต่เครื่องเล่นเกมส์รุ่นใหม่ ให้ยั้งคิดสักนิด และคุยกับตัวเองอย่างนี้ว่า “นาย เราอยากถามนายว่า เรื่องนี้ จำเป็นมั้ย เราว่าอย่าพึ่งซื้อวันนี้เลยนะ เราสัญญาว่า พรุ่งนี้เราจะมาถามใหม่ หากนายคิดว่าจำเป็น เราให้นายซื้อได้เลย” 80% ของรายจ่ายในชีวิตที่ผมศึกษามา ทำให้เข้าใจได้ว่า เรามักเสียไปกับสิ่งไม่จำเป็น และตัวแปรหลักที่ทำให้เราเสียเงินโดยสิ้นเปลือง ก็มาจากความใจร้อน ขาดความยั้งคิด และคำว่า “ของมันต้องมี” นี่แหล่ะครับ
การเริ่มต้นนั้นไม่ง่าย แต่เริ่มได้แล้วจะไม่ยาก ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเงินเพื่อให้คนเองมีความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน