xs
xsm
sm
md
lg

ปี 2562 'ซานต้าตู่' แจกแหลก ใช้งบกว่า 1.7 แสนล้านช่วยกระตุ้น ศก.จริงหรือ?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แจงสิทธิประโยชน์ 6 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 62 รัฐทุ่มเงินกว่า 1.7 แสนล้าน จัดสารพัดสวัสดิการ แจกเงินดาวน์บ้าน ยันภาคการเกษตร แต่เศรษฐกิจยังไร้แรงกระเตื้อง พบ “คนตกงาน” พุ่ง แตะ 4 แสนคน หวั่น “หมอนยางพาราประชารัฐ” แพงเกินจริง เปิดช่องทุจริต “รศ.ดร.ณรงค์” ชี้ หากไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หว่านเงินไปก็สูญเปล่า

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องประสิทธิภาพในการบริหารงาน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำย่ำแย่อยู่ในขณะนี้ นโยบายที่โดดเด่นและกลายเป็นภาพจำของรัฐบาลพลังประชารัฐ ที่นำโดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็คือการ “หว่านเงิน” ผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ จนเป็นที่มาของฉายา “ซานต้าตู่”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
สำหรับโครงการประชานิยมที่ดำเนินการมาตลอดปี 2562 ได้แก่

1.โครงการ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” นับเป็นประชานิยมโครงการแรกของรัฐบาลพลังประชารัฐ โดยเป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องจากสมัยที่เป็นรัฐบาล คสช. ซึ่งหลังจากได้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือน มิ.ย. 2562 “บิ๊กตู่” ก็ได้ทุ่มงบหลายหมื่นล้านเพื่อจัดสารพัดสวัสดิการซื้อใจผู้มีรายได้น้อยซึ่งถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.6 ล้านคน โดยเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติมาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3 มาตรการ วงเงินรวม 2.01 หมื่นล้านบาท จากนั้นต้นเดือน ก.ย.กระทรวงการคลังได้เสนอกรอบงบประมาณปี 2563 วงเงิน 60,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ที่จะเปิดลงทะเบียนรอบใหม่ในปี 2563

โดยสวัสดิการที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับในปี 2562 ได้แก่

-ซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค คนละ 200-300 บาทต่อเดือน โดยทุกคนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีสิทธิ์ได้รับสิทธิ์นี้ แต่ไม่สามารถกดเป็นเงินสดได้

-ค่ารถโดยสารสาธารณะ
แบ่งเป็น
•ค่าโดยสารรถเมล์ รถไฟฟ้า 500 บาทต่อเดือน (ใช้ชำระค่าโดยสารด้วยระบบ e-Ticket)
•ค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาทต่อเดือน
•ค่าโดยสารรถไฟ 500 บาทต่อเดือน

-เงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพผู้สูงอายุ (ผู้ที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป) 50 - 100 บาทต่อเดือน

-ค่าน้ำประปา ไม่เกิน 100 บาท/เดือน/ครัวเรือน ซึ่งต่ออายุให้จากมาตรการเดิม โดยผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าน้ำประปา ไม่เกิน 100 บาท/เดือน/ครัวเรือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 - กันยายน 2563 รวมระยะเวลา 11 เดือน โดยผู้มีสิทธิ์รับเงินต้องเป็นครัวเรือนที่ใช้น้ำประปาไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด

-ค่าไฟฟ้า ไม่เกิน 230 บาท/เดือน/ครัวเรือน เป็นการต่ออายุมาตรการช่วยเหลือเช่นเดียวกับค่าน้ำประปา โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 - กันยายน 2563 รวมระยะเวลา 11 เดือน ซึ่งผู้มีสิทธิ์รับเงินต้องใช้ไฟฟ้าไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด

-ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 100 บาท/เดือน ซึ่งผู้มีสิทธิ์รับเงินต้องเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร และเป็นผู้ที่เคยได้รับสิทธิ์ซื้อก๊าซหุงต้มเดิม โดยได้รับส่วนลดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2562 (โดยมาตรการนี้ไม่เกี่ยวกับวงเงินซื้อก๊าซหุงต้มที่เคยให้ 45 บาท/3 เดือน)


2. โครงการ “ชิม ช้อป ใช้” แจกเงินสดให้ประชาชนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ผ่าน www.ชิมช้อปใช้.com เพื่อนำไปใช้จ่ายและท่องเที่ยว โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ฮอตฮิตติดลม แจกต่อเนื่องกันถึง 3 เฟส โดย

-เฟสแรก มีการแจกเงินให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ คนละ 1,000 บาท มีเป้าหมาย 10 ล้านคน แต่มีผู้ลงทะเบียน 8.51 ล้านคน (รวมเป็นเงิน 8,262 ล้านบาท)

-เฟสที่ 2 แจกเงินให้ผู้ลงทะเบียนร่วมโครงการ คนละ 1,000 บาท จำนวน 3 ล้านคน (รวม 3,000 ล้านบาท) และในส่วนเงินที่ผู้เข้าร่วมโครงการใช้จ่ายเพิ่มเองโดยเติมเงินเข้าไปในกระเป๋า 2 (G-Wallet 2) กระทรวงการคลังจะจ่ายเงินคืน (Cash Back) ให้ 15% ของยอดค่าใช้จ่าย ผ่านกระเป๋า 2 (G-Wallet 2) ทั้งนี้ได้จ่ายคืนครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยจ่ายให้แก่ผู้ที่ใช้สิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. – 30 ก.ย. 2562 จำนวน 153,579 คน รวมเป็นเงิน 384 ล้านบาท

-เฟสที่ 3 ให้ประชาชนใช้จ่ายเงินของตัวเองผ่านกระเป๋า 2 (G-Wallet 2) เพื่อรับสิทธิ Cash Back รับเงินคืน 15% ของยอดการใช้จ่าย เมื่อใช้จ่ายตั้งแต่ 1- 30,000 บาท (รับเงินคืนไม่เกิน 4,500 บาท) และรับเงินคืน 20% ของยอดใช้จ่าย ในส่วนที่เกิน 30,000 - 50,000 บาท (รับเงินคืนในส่วนนี้ไม่เกิน 4,000 บาท) โดยหากใช้จ่ายถึง 50,000 บาท จะได้รับเงินคืนถึง 8,500 บาท ทั้งนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 2 ล้านคน

ทั้งนี้ “โครงการชิมช้อปใช้” ทั้ง 3 เฟส ใช้เงินไปแล้วถึง 11,646 ล้านบาท และรอการจ่ายคืนให้แก่ผู้ใช้ที่ใช้เงินผ่าน G-Wallet 2 อีกจำนวนหนึ่ง

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสิรฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
3.โครงการ “บ้านดีมีดาวน์” รัฐทุ่มเงิน 5,000 ล้านบาท ช่วยออกเงินค่าดาวน์ให้แก่ผู้กู้ซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียม จำนวน 50,000 บาท โดยต้องเป็นผู้ที่มีรายได้เดือนละไม่เกิน 100,000 บาท และอยู่ในระบบฐานภาษีอากรของกรมสรรพากร ทั้งนี้จะเป็นการซื้อบ้านหลังที่เท่าไรก็ได้ ราคาเท่าใดก็ได้ แต่ต้องเป็นการกู้ซื้อบ้านหรือคอนโดฯ ใหม่จากผู้ประกอบการที่เป็นผู้จัดสรร และต้องได้รับการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัย จากสถาบันการเงินและจดจำนองตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 2562 จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2563 ทั้งนี้จะให้สิทธิ์แก่ผู้ที่กู้ซื้อที่อยู่อาศัยจำนวน 100,000 ราย โดยสามารถลงทะเบียนใช้สิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ www.บ้านดีมีดาวน์.com (คนละ 1 สิทธิ์ หรือ 1 บัตรประชาชนต่อ 1 สิทธิ์) ได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2562 เวลา 08.00 น. จนถึง 31 มี.ค. 2563

4. โครงการ "บ้านในฝัน รับปีใหม่" ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะให้สินเชื่อดอกเบี้ยคงที่ 2.5% นาน 3 ปี แก่ผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัย ในระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท (วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท) พร้อมทั้งฟรีค่าโอน ฟรีค่าจดจำนอง และโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม นอกจากนั้นยังมีส่วนลดพิเศษจากโครงการที่เข้าร่วม
โดยโครงการนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2562 เท่านั้น

5. โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้า ประกอบด้วย

-สนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรที่ปลูกข้าวในปีการผลิต 2562/2563 โดยอนุมัติงบเพิ่มเติม
เพื่อใช้อุดหนุนต้นทุนการผลิต จำนวน 2,667 ล้านบาท

-ช่วยค่าเก็บเกี่ยวข้าว โดยรัฐให้เงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวแก่เกษตรกรที่ขึ้น
ทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 4.57 ล้านครัวเรือน ในอัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 228 ล้านบาท - 4,570 ล้านบาท

-อนุมัติงบประมาณให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อใช้ในโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก จำนวน 1,370 ล้านบาท


6. โครงการแจกหมอนยางพารา แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ โดย “โครงการผลิตหมอนยางพาราประชารัฐ” เกิดจากไอเดียของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้หารือกับกระทรวงการคลังในการที่จะให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ออกสลากการกุศลผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อนำเงินมาใช้ในการผลิตหมอนยางพารา จำนวน 30 ล้านใบ มูลค่ารวม 18,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อช่วยพยุงราคายางพาราให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางและนำหมอนยางพาราที่ผลิตได้ไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนทั่วประเทศครัวเรือนละ 1 ใบ ซึ่ง นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ก็ขานรับแนวคิดดังกล่าวอย่างแข็งขัน

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนโครงการประชานิยมทั้ง 6 โครงการของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในปี 2562 นั้นต้องใช้งบประมาณรวมกว่า 171,000 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่างบประมาณดังกล่าวล้วนมาจากเงินภาษีประชาชน ขณะที่คนส่วนใหญ่กลับเห็นว่ามาตรการของรัฐบาลเป็นเพียงการ “หว่านเงิน” เพื่อเรียกคะแนนนิยม ไม่ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดการผลิต ไม่ได้เพิ่มความต้องการของตลาด และไม่ได้พัฒนาความสามารถในการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ขณะที่ปัญหาหลักๆ อย่าง ภัยแล้ง ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ และปัญหาการว่างงานก็ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งได้ศึกษาเรื่องสถานการณ์แรงงานไทย ระบุว่า ในเดือน พ.ย. 2562 มีคนว่างงานถึง 429,000 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 60,000 คน

หนำซ้ำโครงการล่าสุดอย่าง “โครงการหมอนยางพาราประชารัฐ” ยังก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างหนัก ประเด็นที่ถูกจับตาเป็นพิเศษคือความกังวลเรื่องการทุจริต เนื่องจากเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในการผลิตหมอนยางพาราของนายธรรมนัสแล้ว จะตกอยู่ที่ใบละ 600 บาท ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่ใบละ 100-250 บาทเท่านั้น อีกทั้งหลายฝ่ายยังไม่มั่นใจว่าโครงการนี้จะสามารถพยุงราคายางได้จริง เพราะปริมาณการผลิตน้ำยางพาราของไทยนั้น สูงถึงปีละ 5 ล้านตัน แต่โครงการนี้ใช้น้ำยางแค่ 1.5 แสนตันเท่านั้น

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสิรฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้ว่า การเอาเงินมาแจกชั่วครั้งชั่วคราวไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ เพราะรัฐบาลไม่ได้แก้ไขที่รากฐานของปัญหา ซึ่งต้นเหตุที่เป็นรากของปัญหาก็คือความไม่เป็นธรรมและเหลื่อมล้ำในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น โอกาส อำนาจ สิทธิ การเมือง การเข้าถึงทุนและทรัพยากร ดังนั้นที่บางคนคาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาใช้ในปี 2562 จะส่งผลในปี 2563 บอกเลยว่าเป็นไปไม่ได้

“การหว่านเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็เหมือนโยนก้อนกรวดลงในแม่น้ำ ยังไงก็ไม่กระเพื่อม ต้องเข้าใจว่าความไม่เป็นธรรมคือสารตั้งต้นของปัญหา คนจนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร ไม่มีอำนาจต่อรอง คนรวยรุกป่านับพันไร่กลับไม่มีความผิด ขณะที่คนจนอยู่อาศัยมาก่อนที่จะประกาศเป็นเขตป่ากลับถูกจับติดคุก เมื่ออำนาจการเมืองจับมือกับอำนาจทุน แน่นอนว่าผลประโยชน์ไม่มีทางตกถึงประชาชนและคนยากจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ปีนี้เป็นยังไง ปีหน้าก็เป็นอย่างนั้น” รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น