1.ปิดฉาก 13 ปี คดี นปช.บุกบ้าน "ป๋าเปรม" ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก "ณัฐวุฒิ-วีระกานต์-นพ.เหวง" กับพวก 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา!
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษกได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำผู้ชุมนุมปิดล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อปี 2550 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง 1. นายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 2.นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน 3.นายวันชัย นาพุทธา 4.นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. 5.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. 6.นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ 7.นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้า หรือผู้มีหน้าที่สั่งการ, ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิกไปแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 215, 216, 297, 298 ประกอบมาตรา 33, 83 และ 91
คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2558 ให้จำคุกนายนพรุจ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน จำคุกนายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี 4 เดือน และยกฟ้องนายวีระศักดิ์ และนายวันชัย จำเลยที่ 2-3 ต่อมานายนพรุจ จำเลยที่ 1, 4-7 ยื่นอุทธรณ์
ต่อมา ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2560 ให้จำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน ส่วนนายนพรุจ จำเลยที่ 1 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา
เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนที่ศาลจะนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 26 มิ.ย. ได้มีการเลื่อนอ่านคำพิพากษามาแล้ว 4 ครั้ง ขณะที่จำเลยที่ 4-7 คือ นายวีระกานต์-นายณัฐวุฒิ-นายวิภูแถลง-นพ.เหวง ยื่นขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ
ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิพากษาว่า กรณีจำเลยที่ 4-7 เพิ่งยื่นฎีกาแก้ไขคำให้การเป็นรับสารภาพนั้น ไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากต้องทำก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ศาลยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า นายนพรุจ จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางทำร้ายเจ้าพนักงานหรือไม่ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและ พ.ต.ต.ทวีศักดิ์ นามจันทร์เจียม (ยศในคำพิพากษา) ตำรวจผู้บาดเจ็บเป็นพยานเบิกความว่า ภายหลังผู้บังคับบัญชามีคำสั่งสลายชุมนุม พยานเห็นรถกระบะพุ่งเข้ามาจะชนแถวเจ้าพนักงานตำรวจ แต่ตำรวจหลบพ้น รถเสียหลักชนเกาะกลางถนน คนขับรถวิ่งหนีเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเห็นจำเลยที่ 1 อยู่ท้ายรถยืนถือเสาธงพร้อมขว้างอิฐใส่ตำรวจ พ.ต.ต.ทวีศักดิ์ พยายามเข้าไปดึงขาจำเลยที่ 1 ที่ยืนอยู่บนกระบะ จำเลยที่ 1 จึงกระโดดชันเข่ากระทุ้งใส่ เป็นเหตุให้ พ.ต.ต.ทวีศักดิ์ ได้รับบาดเจ็บข้อมือขวาหัก จึงจับกุมจำเลยที่ 1 ดำเนินคดี
ซึ่งศาลเห็นว่า ตำรวจเป็นประจักษ์พยานโดยตรง เบิกความไม่มีพิรุธ จำเลยที่ 1 ยืนบนรถกระบะและถูกจับกุมจริง เหตุแห่งการจับกุมเกิดจากจำเลยที่ 1 ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามหน้าที่ เป็นความผิดซึ่งหน้า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักเชื่อมโยงกัน จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามคำพิพากษาศาลล่าง ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษนั้น ศาลเห็นว่า พฤติการณ์เป็นการก่อเหตุร้ายแก่เจ้าพนักงานตำรวจ ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง มิได้สำนึกถึงความผิด ไม่สมควรรอการลงโทษ ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง
ส่วนนายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 ชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ ศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติคุ้มครองการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ได้หมายความให้ใช้เสรีภาพปราศจากขอบเขตละเมิดสิทธิผู้อื่น กระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง โจทก์มีเจ้าพนักงานตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่เบิกความเป็นพยานหลายปาก เกี่ยวกับวันเกิดเหตุที่กลุ่ม นปก. (ชื่อขณะนั้น) นัดหมายเดินขบวนไปปราศรัยที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตเคลื่อนขบวน ตำรวจจึงวางแผนรักษาความสงบเรียบร้อย โดย พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาท โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล (ขณะเกิดเหตุ) ได้แจ้งผู้ชุมนุมว่า ตำรวจไม่อนุญาตให้ผ่านเส้นทาง เพราะเป็นพื้นที่หวงห้าม แต่จำเลยที่ 7 ยืนยันที่จะผ่านจุดสกัด
จากนั้นผู้ชุมนุมได้ประชิดจุดสกัดตามคำปราศรัยของจำเลยที่ 5 ดึงแผงรั้วเหล็กทิ้งคลองผดุงกรุงเกษม ผลักดันตำรวจและฝ่าแนวกีดขวาง จนไปปักหลักชุมนุมที่หน้าบ้านพัก พล.อ.เปรม โดยจำเลยปราศรัยโจมตีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจและจะชุมนุมจนกว่า พล.อ.เปรม จะลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี ตำรวจเจรจาให้ยุติการชุมนุม แต่จำเลยไม่ยินยอม พร้อมปราศรัยให้ผู้ชุมนุมฮึกเหิมพร้อมก่อความรุนแรง ตำรวจมีมติให้ผลักดันผู้ชุมนุมอย่างละมุนละม่อม ไปเชิญแกนนำมาเจรจา หากไม่เป็นผล ให้ตัดสายสัญญาณเครื่องขยายเสียง แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ถูกผู้ชุมนุมขว้างอิฐ ไม้ และขวดน้ำ จนต้องล่าถอย จึงมีมติให้จับกุมแกนนำและสลายการชุมนุมด้วยกระบอง แก๊สน้ำตา จากนั้นถูกผู้ชุมนุมใช้อิฐและสิ่งของอื่นขว้างเข้าใส่จนต้องล่าถอยมา 3 ครั้ง จึงสามารถสลายการชุมนุมได้สำเร็จ
ในทางนำสืบ โจทก์มีพยานหลักฐานวัตถุพยานภาพ วิดีโอ และเทปปราศรัย ขณะจำเลยชุมนุมที่สนามหลวงเป็นการชุมนุมโดยสงบมาตลอด เหตุที่จำเลยที่ 4-7 ต้องการนำผู้ชุมนุมไปปราศรัยที่หน้าบ้านสี่เสาฯ นั้น จำเลยเบิกความถึงภาพ พล.อ.เปรม นำคณะยึดอำนาจเข้าเฝ้าว่า เป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมของประธานองคมนตรี เมื่อปราศรัยมานานไม่ได้รับการตอบสนอง จึงนัดหมายไปทวงถาม พล.อ.เปรม โดยตรง เรียกร้องให้ตอบข้อสงสัยและกดดันให้ลาออก จำเลยที่ 4-7 เชื่อว่า พล.อ.เปรม อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ โดยความจริงแล้ว จำเลยไม่มีหลักฐานมั่นคงมาพิสูจน์ให้รับฟังได้ และ พล.อ.เปรม ไม่ได้นัดหมายหรือแถลงข่าวให้จำเลยที่ 4-7 ฟังคำตอบหรือคำชี้แจง การที่จำเลยที่ 4-7 นำผู้ชุมนุมไปปราศรัยโจมตี จึงเป็นการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต ละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของ พล.อ.เปรม
จำเลยที่ 4-7 และกลุ่ม นปก. เคลื่อนขบวนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย มีอำนาจโดยชอบในการควบคุมการชุมนุมสาธารณะ ...จำเลยปราศรัยส่งเสียงดังรบกวนไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเครื่องขยายเสียง ประชาชนไม่สามารถใช้ถนนได้ การที่ตำรวจตัดสินใจดำเนินการยับยั้งสมเหตุสมผล เพราะแกนนำและผู้ชุมนุมไม่ตอบสนอง พร้อมต่อต้านขว้างปาสิ่งของใส่ตำรวจ มีเจตนาเผชิญหน้า ตำรวจไม่ได้ก่อเหตุทำร้ายผู้ชุมนุมก่อน ไม่ทำให้ผู้ชุมนุมถึงแก่ความตาย จึงไม่เกินกว่าเหตุตามที่จำเลยอ้าง
ส่วนที่จำเลยที่ 4-7 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษนั้น ศาลเห็นว่า การกระทำเป็นลักษณะเตรียมวางแผนล่วงหน้าในการนำมวลชนจำนวนมากไปมั่วสุมใช้กำลังประทุษร้าย ทำลายทรัพย์สินราชการ ฝ่าฝืนคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของตำรวจ ต่อสู้ขัดขวางตำรวจจนเกิดการปะทะ เป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก สร้างความวุ่นวายปั่นป่วนทำลายความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน จำคุกจำเลยที่ 1, 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน
ทั้งนี้ หลังศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยทั้งหมดได้ถูกนำตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งญาติและมวลชนส่วนหนึ่งที่มาให้กำลังใจ ต่างพากันร่ำลา บางคนถึงกับร้องไห้
ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ซึ่งถูกฟ้องในคดีบุกบ้าน พล.อ.เปรม เช่นกัน แต่อยู่ในสำนวนที่สอง เนื่องจากฟ้องทีหลัง ซึ่งอยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษาเช่นกัน กล่าวว่า “ถ้าใครฟังคำพิพากษาก็รู้ว่าอย่างไรผมก็ไม่รอด 100% อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมก็ยอมรับความเป็นจริง เวลาที่เหลืออยู่ถ้าผมทำอะไรได้ให้กับประเทศชาติบ้านเมืองในท่ามกลางวิกฤตนี้ที่กำลังจะเกิด ผมก็จะทำ ผมไม่ได้สนใจว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล หรือใครจะมาเป็นตำแหน่งใด ผมเลยมันมาแล้ว”
2.“บิ๊กป้อม” นั่งหัวหน้า พปชร. ตามคาด ด้าน “อนุชา” เลขาธิการพรรค ไร้ 4 กุมาร ใน กก.บห.ชุดใหม่!
วันนี้ (27 มิ.ย.) ได้มีการประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี โดยผลการเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่แบบลับ ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์เลือก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร. เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ แบบไร้คู่แข่ง โดยมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร เพียงชื่อเดียว ส่วนนายอนุชา นาคาศัย เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นเหรัญญิกพรรค และนายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ เป็นนายทะเบียนพรรค
สำหรับกรรมการบริหารชุดใหม่อีก 23 คน ได้แก่ 1.นายสันติ พร้อมพัฒน์ 2.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 3.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 4.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 5.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 6.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 7.นายวิรัช รัตนเศรษฐ 8.นายไพบูลย์ นิติตะวัน 9.นายสุชาติ ชมกลิ่น 10.นายอิทธิพล คุณปลื้ม 11.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ 12.นายสุพล ฟองงาม 13.นายพงษ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ 14.นายชาญวิทย์ วิภูศิริ 15.นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ 16.นายนิโรธ สุนทรเลขา 17.นายไผ่ ลิกค์ 18.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ 19.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ 20.นายสุรชาติ ศรีบุศกร 21.นายนิพันธ์ ศิริธร 22.นางประภาพร อัศวเหม และ 23. นายสกลธี ภัททิยกุล
เป็นที่น่าสังเกตว่า กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่นี้ ส่วนใหญ่ยังเป็นรายชื่อกรรมการบริหารพรรคชุดเดิม เพียงแต่ตัดโควตาในส่วนของกลุ่ม 4 กุมารจำนวน 8 คน ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน (อดีตหัวหน้าพรรค), นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ (อดีตเลขาธิการพรรค), นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ (อดีตรองหัวหน้าพรรค), นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล, นายสันติ กีระนันท์, นายวิเชียร ชวลิต, นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ และนายชวน ชูจันทร์ โดยในการประชุมเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ครั้งนี้ นายอุตตมและนายสนธิรัตน์ เข้าร่วมประชุมด้วย ขณะที่นายสุวิทย์และนายกอบศักดิ์ ไม่เข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด
หลังลงมติเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เสร็จสิ้น โดยไม่มีชื่อของกลุ่ม 4 กุมาร นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตหัวหน้าพรรค ได้เดินออกจากห้องประชุมทันที ตั้งแต่ยังนับคะแนนไม่แล้วเสร็จ โดยไม่ได้มีการพูดคุยกับแกนนำคนอื่น เพียงแต่กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ไม่เป็นไร ผมยังคงทำงานต่อไป ไม่ได้น้อยใจอะไร และยังคงทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดไว้ เราก็ทำไป" ส่วนในอนาคตจะถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรีหรือไม่ ถือเป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวถามว่า รายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรควันนี้ไม่ผิดคาดใช่หรือไม่ นายอุตตม กล่าวว่า เป็นไปตามที่ประชุมพรรค เมื่อถามว่า ยังทำงานร่วมกับพรรคพลังประชารัฐได้หรือไม่ นายอุตตม กล่าวว่า ตนยังทำงานได้กับทุกคน แต่ปฏิเสธไม่ขอตอบจะลาออกจากพรรคพลังประชารัฐหรือไม่
ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตเลขาธิการพรรค เดินออกจากที่ประชุมในเวลาใกล้เคียงกับนายอุตตม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ยังคงทำงานอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ แม้ไม่มีรายชื่ออยู่ในกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ พร้อมปฎิเสธที่จะออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่
นายสนธิรัตน์ ยังฝากถึงเลขาธิการพรรคคนใหม่ด้วยว่า ขอแสดงความยินดีและอยากให้คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ นำพาพรรคพลังประชารัฐให้มีความก้าวหน้า ตนขอเป็นกำลังใจให้เสมอ ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรีในอนาคต ก็เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี
เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แล้ว ที่ประชุมยังมีการปรับเปลี่ยนโลโก้พรรค พปชร.ด้วย โดยให้ชื่อพรรคอยู่ในกรอบวงกลม เพื่อแสดงถึงความมีพลังแห่งความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจของประชาชน ร่วมพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า มั่นคงและยั่งยืน ส่วนแถบสีแดง สีขาว และสีน้ำเงินครามของกรอบวงกลม หมายถึงการรวมพลังความสามัคคีของทุกคนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียวปราศจากความขัดแย้ง
3.ไทยไร้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน ปท.เป็นวันที่ 33 ด้าน สมช.มีมติต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน!
สถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 22 มิ.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 3 ราย รักษาหายเพิ่ม 4 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 3,151 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 3,022 ราย ยังรักษาตัวใน รพ. 71 ราย เสียชีวิตรวมคงที่ 58 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ทั้งหมดกลับมาจากต่างประเทศ คือ อินเดีย เป็นหญิงไทย อายุ 11 ปี 21 ปี และ 34 ปี มีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วย 1 ราย ที่เดินทางมาไฟลต์เดียวกันและเจอเชื้อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยทั้ง 3 รายเข้าพักในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ใน จ.ชลบุรี
ต่อมา 23 มิ.ย. พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 5 ราย รักษาหายเพิ่ม 1 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยสะสม 3,156 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 3,023 ราย ยังรักษาใน รพ. 75 ราย เสียชีวิตรวมคงที่ 58 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ทั้งหมดเดินทางกลับจากต่างประเทศและอยู่ในสถานกักกันของรัฐที่ จ.ชลบุรี แบ่งเป็น 1. เดินทางกลับมาจากอียิปต์ 2 ราย ได้แก่ เพศชาย อายุ 31 ปี เป็นนักศึกษามาจากไคโร และเพศหญิง อายุ 22 ปี อาชีพแม่บ้าน 2. กลับมาจากเมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ 3 ราย เป็นหญิงอายุ 31 ปี ชายอายุ 22 ปี อาชีพพนักงานนวดสปา และชายอายุ 52 ปี อาชีพพนักงานขับรถเครน
วันต่อมา 24 มิ.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 1 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 3 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 3,157 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 3,026 ราย ยังรักษาตัวใน รพ. 73 ราย ผู้เสียชีวิตรวมคงที่ 58 ราย โดยผู้ป่วยรายใหม่เดินทางกลับจากฟิลิปปินส์ เป็นชายไทย อายุ 31 ปี อาชีพพนักงานร้านอาหาร เข้าพักในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ใน กทม.
วันต่อมา 25 มิ.ย. พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 1 ราย รักษาหายเพิ่ม 12 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 3,038 ราย ยังรักษาใน รพ. 62 ราย ยอดผู้เสียชีวิตรวมคงที่ 58 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่เดินทางกลับจากประเทศอียิปต์ เป็นนักศีกษาชาย อายุ 24 ปี เข้าพักในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ใน จ.ชลบุรี
วันต่อมา 26 มิ.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 4 ราย รักษาหายเพิ่ม 2 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 3,162 ราย รักษาหายกลับบ้าน 3,040 ราย ยังรักษาตัวใน รพ. 64 ราย ยอดผู้เสียชีวิตคงที่ 58 ราย สำหรับผู้ป่วยใหม่ เดินทางมาจากซูดาน 2 คน เป็นหญิงไทย อายุ 22 ปี และ 27 ปี เข้าพักในสถานกักกันของรัฐที่ จ.สมุทรปราการ ส่วนอีก 2 คน เป็นหญิงไทย อายุ 32 และ 53 ปี อาชีพพนักงานนวด เดินทางมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้าพักในสถานกักกันของรัฐใน กทม.
ล่าสุด 27 มิ.ย. ศบค. แถลงผ่านเฟซบุ๊ก “ศูนย์ข้อมูล COVID-19” ว่า ไม่มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ หรือผู้ป่วยเป็น 0 ราย ทั้งการติดเชื้อในประเทศ ซึ่งเป็น 0 รายต่อเนื่องวันที่ 33 และไม่มีการติดเชื้อของผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และเข้าพักในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสมรวมคงที่ 3,162 ราย รักษาหายเพิ่ม 13 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 3,053 ราย ยังรักษาตัวใน รพ. 51 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดรวมผู้เสียชีวิตคงที่ 58 ราย
ด้านที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. มีมติให้ต่ออายุการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีก 1 เดือน ถึงวันที่ 31 ก.ค. โดยเตรียมเสนอเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ในวันที่ 29 มิ.ย. และเสนอเข้าที่ประชุม ครม. พิจารณาในวันที่ 30 มิ.ย.
4."เบนซ์ เรซซิ่ง" คอตก กลับเข้าคุกอีกครั้ง หลังถูกศาลถอนประกัน ผิดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราว!
เมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 25 มิ.ย. ตำรวจ สน. วิภาวดี ได้พบกลุ่มรถจักรยานยนต์ 7 คัน รวมกลุ่มกันออกจากถนนเทวฤทธิ์พันลึก เข้าถนนวิภาวดี-รังสิต มุ่งหน้าแยกหลักสี่ และมีลักษณะใช้ความเร็ว และฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรเข้าไปเดินรถในช่องทางหลัก ซึ่งห้ามรถจักรยานยนต์ขับขี่ เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เจ้าหน้าที่จึงไล่ติดตาม ทางกลุ่มผู้ต้องหายังคงขี่รถด้วยความเร็ว จนรถตำรวจเกือบจะไล่ตามไม่ทัน แต่สุดท้ายสามารถจับกุมทั้งหมดได้ที่บริเวณหน้าโรงแรมรามาการ์เด้น ถนนวิภาวดี-รังสิตขาเข้า เขตทุ่งสองห้อง และควบคุมตัวทำบันทึกจับกุม ตรวจยึดรถจักรยานยนต์ของกลาง 7 คัน ผู้ต้องหา 8 ราย โดย 1 ในนั้น มีนายอัครกิตติ์ วรโรจน์เจริญเดช หรือ "เบนซ์ เรซซิ่ง" รวมอยู่ด้วย
จากนั้นนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ดำเนินการคดีข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนทำการชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ หรือฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.จราจร ฐานขับรถโดยประมาทหวาดเสียว ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยความเดือดร้อนของผู้อื่น จากการสอบสวนเบนซ์ เรซซิ่ง ให้การปฏิเสธ
โดยเบนซ์ เรซซิ่ง กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ขี่ในช่องทางหลักจริง แต่ไม่ได้รวมกลุ่มซิ่ง และก่อนหน้านี้เพิ่งไปกินข้าวกันมาและกำลังแยกย้ายกันกลับบ้าน โดยทั้งหมดกลับบ้านในเส้นทางเดียวกัน ตนบริสุทธิ์ใจให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการขอตรวจเอกสารคู่มือรถทุกอย่าง พวกตนเจตนาดี ซึ่งตนให้การปฏิเสธข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยืนยันไม่ได้มีการรวมกลุ่มหรือสร้างความวุ่นวายอะไร แต่ยอมรับผิด พ.ร.บ.จราจร ที่ขับขี่รถในช่องทางด่วน เรื่องทั้งหมดไม่มีอะไรมาก
ด้านมารดาของเบนซ์ เรซซิ่ง ได้ขอประกันตัวลูกชาย พร้อมกล่าวลักษณะตัดพ้อว่า รอตั้งแต่เช้า แต่กว่าจะได้ประกันตัวก็ช่วงเย็น ต้องใช้หลักทรัพย์คนละ 4 หมื่นบาท จึงเดินทางกลับไปบ้านเอาเงินสดประกันตัวเบนซ์และเพื่อนอีก 6 คน รวมเป็นเงิน 280,000 จึงได้ยื่นเอกสารครบก็ประกันตัวออกไปได้ทุกคน
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เบนซ์ เรซซิ่ง ถูกดำเนินคดีฐานฟอกเงินจากขบวนการยาเสพติด ต้องโทษจำคุก 8 ปี ต่อมาได้ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวระหว่างสู้คดี 1 ล้านบาท และได้รับการประกันตัวออกมา แต่ต้องใส่กำไลอิเล็กทรอนิคส์ (กำไล EM) ที่ข้อเท้าไว้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามนายอัครกิตติ์ ได้รับคำยืนยันว่า ปัจจุบันไม่ได้ใส่กำไล EM โดยอ้างปัญหาเรื่องต้องชาร์ตไฟกำไลบ่อย โดยที่ผ่านมาได้มายื่นคำร้องขอปลดกำไล EM เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2562 ให้เหตุผลว่า ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ เพราะต้องทำงานโดยการแข่งรถ กำไล EM เป็นอุปสรรคในการใส่ชุดแข่งที่ออกแบบเพื่อความปลอดภัยโดยเฉพาะ อีกทั้งการสวมกำไล EM ทำให้มีอาการเจ็บบริเวณข้อเท้าจากการกดทับเป็นเวลานาน ประกอบกับต้องเดินทางออกต่างจังหวัด บางครั้งติดต่อกันหลายอาทิตย์ ซึ่งด้วยข้อบังคับและกฎทำให้ไม่สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้ โดยการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวต้องใช้เวลานาน แต่หากมีการปลดอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว จะทำให้สามารถเดินทางด้วยเครื่องบิน ซึ่งช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางตลอดปีจำนวนมาก
นอกจากนี้ เบนซ์ เรซซิ่ง ยังให้เหตุผลว่า ยังต้องไปศึกษากฎหมายเพิ่มเติมที่ ม.รามคำแหง ส่วนหลักประกันที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ก็มีมูลค่ามากกว่าวงเงินประกันของศาลที่ตีราคาพอสมควร และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาต ซึ่งศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า นายอัครกิตติ์ หรือเบนซ์ เรซซิ่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และหลักประกันมีมูลค่าเพียงพอที่จะบังคับคดี หากเกิดกรณีผิดสัญญาประกัน จึงอนุญาตให้ปลดกำไล EM โดยให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 2 เดือนแทน
ทั้งนี้ หลังเบนซ์ เรซซิ่ง ได้รับการประกันตัวคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้เข้ารายงานตัวต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ตามเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์คดีฟอกเงินฯ ซึ่งเบนซ์ เรซซิ่ง กล่าวว่า ความจริงตนต้องมารายงานตัววันที่ 24 มิ.ย. แต่จำวันผิด เป็นวันที่ 25 มิ.ย. โดยมาเกิดเรื่องถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เสียก่อน จึงประสานทนายความมายื่นคำร้องขอรายงานตัวในวันนี้ (26 มิ.ย.)
ด้านศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายอัครกิตติ์ จำเลย มีพฤติการณ์ไม่เหมาะสม ถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดำเนินคดีข้อหากระทำผิด พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และข้อหากระทำผิด พ.ร.บ.จราจร ถือว่าผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของศาล จึงมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวจำเลย
หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้คุมตัวนายอัครกิตติ์ ไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในความผิดเดิมฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
ด้านนายอัครกิตติ์ หรือเบนซ์ เรซซิ่ง กล่าวสั้นๆ กับผู้สื่อข่าวระหว่างเดินขึ้นรถเรือนจำว่า จะมอบหมายให้ทนายความยื่นประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดีอีกครั้ง ขณะที่มารดานายอัครกิตติ์ กล่าวเพียงว่า จะยื่นขอประกันตัวลูกชาย ในวันจันทร์ที่ 29 มิ.ย.นี้
5.ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ลดโทษ “ครูจอมทรัพย์” จากจำคุก 8 ปี เหลือ 2 ปี 8 เดือน คดีสร้างหลักฐานเท็จ!
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ศาลจังหวัดนครพนม ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดนครพนม เป็นโจทก์ ฟ้องจำเลย 8 คน ในข้อหาร่วมกันสร้างหลักฐานเท็จต่อเจ้าพนักงานฯ ประกอบด้วย 1.นางจอมทรัพย์ ศรีบุญหอม หรือแสนเมืองโคตร 2.นายสุริยา นวนเจริญ หรือครูอ๋อง 3.นางทัศนีย์ หาญพยัคฆ์ 4.นางรจนา จันทรัตน์ 5.นายเสน่ห์ สุพรรณ 6.น.ส.วาสนา เพ็ชรทอง 7.นายนิรันดร์ แสนเมืองโคตร และ 8.นางทองเรศ วงศ์ศรีชา
สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจากนางจอมทรัพย์ตกเป็นจำเลยในข้อหาขับรถยนต์ชนนายเหลือ พ่อบำรุง เสียชีวิตเมื่อปี 2548 ในพื้นที่ สภ.นาโดน ต.สร้างเม็ก อ.เรณูนคร จ.นครพนม โดยต่อสู้กันถึง 3 ศาล และเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2556 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 3 ปี 2 เดือน แต่นางจอมทรัพย์ติดคุกแค่ 1 ปี 6 เดือน ได้รับพระราชทานอภัยโทษออกจากเรือนจำกลางนครพนม เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2558 และหลังพ้นโทษ ได้ร้องขอความเป็นธรรม เพื่อให้กระทรวงยุติธรรมช่วยรื้อฟื้นคดีใหม่ โดยอ้างว่าตนเองตกเป็นแพะในคดีดังกล่าว
ต่อมา วันที่ 9 ม.ค.2560 รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมเลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เข้าไปช่วยเหลือนางจอมทรัพย์ในการยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้รื้อคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ โดยนางจอมทรัพย์ ยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุตนอยู่กับครอบครัวที่บ้านใน จ.สกลนคร
ต่อมา ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดีฯ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2559 ตามที่นางจอมทรัพย์ร้องขอ เนื่องจากเห็นว่า คำร้องมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ โดยนางจอมทรัพย์อ้างว่า มีหลักฐานกรณีนายสับ วาปี ยื่นคำร้องขอชำระเงินแทนนางจอมทรัพย์ ในวันที่ 10 มิ.ย. 2557 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้นางจอมทรัพย์ชำระเงิน 170,000 บาท ให้กับบุตรของผู้ตาย และนายสับยังให้ข้อเท็จจริงกับนางจอมทรัพย์ว่า ตัวเองเป็นคนขับรถชนผู้ตายและได้หลบหนี ต่อมาทราบข่าวว่า นางจอมทรัพย์ถูกจำคุกทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้กระทำ จึงสำนึกผิด
กระทั่งศาลจังหวัดนครพนม นัดสืบพยานตามที่นางจอมทรัพย์ร้องขอในการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ ระหว่างวันที่ 8-10 ก.พ. 2560 โดยอ้างชื่อนายสับ ทำให้ตำรวจตกเป็นจำเลยของสังคมทันที
ต่อมา พนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ ออกมายืนยันว่า พยานหลักฐานที่รวบรวมไว้ เชื่อมโยงได้ทุกขั้นตอนไม่มีเลศนัย ไม่ได้เรียกร้องรับผลประโยชน์ใดๆ จากผู้ใดทั้งสิ้น ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
กระทั่งวันที่ 17 พ.ย. 2560 ศาลฎีกาพิจารณายกคำร้องของนางจอมทรัพย์ หลังพยานหลักฐานต่างๆ ไม่น่าเชื่อถือ ตำรวจจึงดำเนินคดีนางจอมทรัพย์อีกรอบใน 4 ข้อหา ประกอบด้วย 1. แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน 2. ร่วมกันแจ้งเจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ 3. ร่วมเบิกความเท็จ และ 4. ซ่องโจร ซึ่งตำรวจพบหลักฐานสำคัญว่ามีขบวนการปั้นพยานหลักฐานเท็จ โดยมีเพื่อนสนิทครูจอมทรัพย์ คือ ครูอ๋อง สุริยา นวลเจริญ เป็นคนสร้างพยานหลักฐานเท็จขึ้น พร้อมเคยนำตัวนายเสริฐ รูปสะอาด ไปรับสารภาพว่า เป็นคนขับรถกระบะโตโยต้า ที่ชนคนตาย
นอกจากนั้นได้พบหลักฐานบันทึกประจำวันขัดแย้งกัน คือมีนายสับ วาปี เป็นคนขับรถชนคนตายในคดีเดียวกัน กลายเป็นข้อพิรุธให้ตำรวจขยายผลสืบสวน พบข้อเท็จจริงว่า ทั้ง 2 รายถูกว่าจ้างให้เป็นคนรับผิดแทนครูจอมทรัพย์ แต่นายเสริฐ รูปสะอาด ขับรถไม่เป็น จึงมีการเปลี่ยนตัวเป็นนายสับ วาปี เป็นคนขับรถแทน จึงดำเนินคดีเอาผิดครูจอมทรัพย์ กับพวก รวม 8 คน
กระทั่งเมื่อวันที่ 6 มี.ค.2562 ศาลจังหวัดนครพนม พิพากษาจำคุกนางจอมทรัพย์ เป็นเวลา 8 ปี ข้อหาสร้างหลักฐานเท็จ จำคุกนายสุริยา นวนเจริญ หรือครูอ๋อง 7 ปี 9 เดือน จำคุกนายนิรันดร์ อดีตสามีนางจอมทรัพย์ 2 เดือน จำคุกนางทัศนีย์ หาญพยัคฆ์ 2 ปี 19 เดือน และจำคุกนางทองเรศ วงศ์ศรีชา 2 ปี 12 เดือน ส่วนจำเลยที่ 6-8 คือนายเสน่ห์ สุพรรณ นางรจนา จันทรัตน์ และ น.ส.วาสนา เพ็ชรทอง ศาลพิพากษายกฟ้อง
ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลยที่ 1 คือนางจอมทรัพย์ เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 นายสุริยา หรือครูอ๋อง เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 นางทัศนีย์ 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 7 นายนิรันดร์ 1 เดือน 10 วัน และจำคุกจำเลยที่ 8 นางทองเรศ 1 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 4, 5, 6 ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง