xs
xsm
sm
md
lg

“เทคเดียว” ผ่าน! “โดนัท มนัสนันท์” เปิดใจถึงผลงาน One Take เล่าเรื่อง BNK48

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ด้วยการเลือกตั้งเซ็มบัทสึซิงเกิลที่ 6 ของวงไอดอลอย่าง บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต (BNK48) ที่กำลังงวดเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าว บวกกับ การมีสมาชิกรุ่นที่ 2 เพิ่มเข้ามาเป็นกำลังเสริมเพิ่มเติมให้กับวง นั่นจึงทำให้ ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘One Take’ ซึ่งได้บันทึกเรื่องราวในช่วงเวลาตรงนั้น และการได้ โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล นักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ เข้ามาบันทึกเรื่องราวที่ว่านี้ และยิ่งกลายสภาพมาเป็นหนังสารคดี original เรื่องแรกของทาง Netflix ประเทศไทยด้วยแล้วล่ะก็ จึงทำให้เรื่องนี้ มีความน่าสนใจ และน่าค้นหาเกี่ยวกับวงนี้มากยิ่งขึ้น...

เนื้อเรื่องของหนังเรื่องนี้ มันดูเหมือนเป็นภาคต่อจาก Girl Don’t Cry เลย สรุปว่ามันต่อเนื่องเลยหรือเปล่า

ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า หนังเรื่องนี้ถูกถ่ายทำตั้งแต่ปี 2018 โจทย์แรกที่เราได้รับจากทางบริษัท BNK48 ณ ขณะนั้น คือ เขากำลังจัดให้มีการเลือกตั้ง ซิงเกิลที่ 6 ซึ่งเป็นการเลือกเซนเตอร์ผู้ที่จะมาร้องเพลงนำในซิงเกิลเป็นครั้งแรก ซึ่งจริง ๆ อีเวนท์นี้ มันเป็นงานใหญ่มากของญี่ปุ่น ซึ่งถ้าใครที่ตามวงในลักษณะนี้มาตลอด จะรู้ว่าใครที่จะมาเป็นผู้นำในแต่ละซิงเกิล จะต้องได้รับเลือกจากทางออฟฟิเชียล แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ เหมือนการเปิดโอกาสให้แฟนคลับได้โหวต นี่คือโจทย์ตั้งต้น ที่ทาง BNK48 มาคุยกับเรา ซึ่งก่อนหน้านั้น ทางเขาก็ได้สร้างหนังสารคดีเรื่องแรกไปแล้ว เอาตรง ๆ ว่า เราไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับ BNK48 มาก่อนเลย แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เราเปลี่ยนจากการดู Feature film มาดูหนังสารคดีมากขึ้น

ทีนี้พอมาทำเรื่องของ BNK48 ความยากอยู่ที่ ฟุตเทจของเขาหาไม่ยาก แต่ฟุตเทจที่คนไม่เคยเห็น หาไม่ได้ (หัวเราะเบาๆ) คือมันยากมากจริง ๆ ตรงที่ว่า จะไปเอาฟุตเทจเหล่านั้นมาจากไหนนะ แล้วจึงเกิดความคิดขึ้นมาในหัวเราว่า ด้วยลักษณะของวงนี้ แสดงตัวเองในพื้นที่สาธารณะตลอดเวลา การจะเป็นที่ยอมรับ และเป็นที่นิยม เขาจะต้องออกมา เขาจะอยู่เงียบ ๆ ไม่ได้ ทีนี้พอเราต้องมาทำหนังสารคดี เราก็เลยต้องมานั่งคิดว่า เราจะทำยังไงที่จะได้ฟุตเทจเหล่านั้น

ตอนนั้นมีหนังเรื่อง girls don’t cry แล้ว เราก็เลยไปดูหนังเรื่องนี้ว่ามันเป็นยังไง จริง ๆ มันมีความต่างคนละมุมมองเลย คือคุณเต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) เขาเล่าเรื่อง BNK 48 ในฐานะคนที่ชื่นชอบ แฟนคลับ หรือ คนที่ให้กำลังใจ แต่เราจะเล่าในฐานะคนที่ไม่รู้จัก แล้วจะทำคอนเทนต์นี้ให้รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง มันก็เลยเป็นโจทย์ที่ต่างกัน แล้วคุณเต๋อก็ทำก่อน คุณเต๋อมีฟุตเทจหมดแล้ว แล้วเขาก็ไปมาหมดทุกอีเว้นท์แล้ว เราก็เลยต้องไปในลักษณะที่ว่า ต้องไปให้ลึกกว่า

ถามว่าลึกขึ้นในแง่ไหนบ้าง เราก็ต้องไปถึงที่ญี่ปุ่น เพราะว่ารูปแบบของวงนี้เกิดขึ้นที่นั่น แล้วเราก็ไปถามผู้บริหารว่า สำหรับเขาแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จหรือยัง ซึ่งในคนไทย รูปแบบนี้ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว จึงได้มาคุยกับทางผู้บริหาร คนเขาคงไม่อยากฟังเนอะ ให้ผู้บริหารมานั่งเล่าเรื่องว่าน้อง ๆ เป็นยังไง เขาก็พูดในแง่ของธุรกิจ ซึ่งสำหรับเรา ถือว่าน่าสนใจมาก ๆ เพราะว่า พอเราคุยกันลึกขึ้นๆ สิ่งที่สำเร็จสำหรับน้อง ๆ คือรูปแบบธุรกิจชนิดนี้

แต่สุดท้าย เราก็ยังไม่ได้ฟุตเทจแบบที่เราสนใจอีก เราก็เลยสร้างเส้นเรื่องขึ้นมา ซึ่งมันไป relate หนังเรื่อง every little step ที่พูดถึงกลุ่มนักแสดงบรอดเวย์กลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มคอรัส ไม่ใช่ตัวหลัก แล้วต้องพยายามเพื่อที่จะได้บทนั้นมา เราเลยเซ็ทอัพให้น้องมาทำกิจกรรมด้วยกัน ซึ่งมันยากนะกับการที่ต้องเอาเด็กผู้หญิง 51 คน ที่มีแฟนคลับไม่เท่ากันมาอยู่รวมกัน แล้วให้ทำอะไรด้วยกัน มันยากมากที่จะทำให้เขาเปิดใจกับเรา ในช่วงเวลาที่เรามีน้อยมาก หนังเรื่องนี้มีเวลาถ่ายทำประมาณ 6 เดือน เพราะว่าเราต้องถ่ายอยู่บนช่วงเวลาจริง ๆ ของวงด้วย คือการแข่งขันในการเลือกตั้งซิงเกิลที่ 6 เพื่อที่จะได้เป็นเซ็มบัทสึในเพลงนี้


ในหนังสารคดีเรื่องนี้ ได้นำความเป็นเพศหญิง หรือ นำเสนอตัวน้องๆ ในรูปแบบไหนครับ

one take มันเล่าแบบตรงไปตรงมาเลยค่ะ มันมี timeline ของมัน ที่จะเล่าเรื่องว่า เด็ก 51 คน ที่เป็น BNK48 ทั้ง 2 รุ่น ต้องมาแข่งกันเพื่อเป็นที่หนึ่ง ถ้าได้ดูในตัวอย่าง จะมีประโยคว่า ‘ความฝันมันไม่ได้มีที่ยืนสำหรับทุกคน’ มันไม่มีที่พอสำหรับน้อง ๆ 51 คนนี้ คือเราก็ไม่ได้เอาความเป็นผู้หญิงมาใช้ขนาดนั้น แต่พอดีเราเล่าเรื่องผู้หญิง แล้วสิ่งที่เรามั่นใจอีกอย่างหนึ่งคือ พอเราเป็นผู้หญิงด้วยกัน บางทีความลึกซึ้งอะไรบางอย่าง เราไม่ได้มองเขาแบบที่ผู้ชายมอง เรามองเขาแบบผู้หญิงที่มองผู้หญิง แล้วเราก็ได้ ‘พี่หญิง-นิรมล รอสส์’ ซึ่งเป็นช่างภาพหญิงที่ถือว่าเป็น 1 ใน 5 ของวงการ มาช่วยถ่ายทอด ก็จะมีความอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นเอง แล้วจนมาถึงขั้นตอนการตัดต่อ

จริง ๆ ตอนแรกสุด จะเป็นทีมผู้ชายตัด มันก็เลยไม่เสร็จซักที เลยเป็นสาเหตุว่าทำไมถึงยังไม่ได้ฉายซักที แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะมันมีเหตุผลของมัน เราเลยเปลี่ยนคนตัดต่อเป็นผู้หญิง แล้วมันประหลาดมาก จากที่ตัดกับทีมผู้ชายมาปีนึงยังไงก็ไม่เสร็จ แต่พอเป็นทีมผู้หญิงตัด แค่พูดกันไม่กี่ครั้ง เราจำได้เลยว่า ตอนนั้นเราอยู่ที่แอลเอ ซึ่งพอรู้ว่ามีการเปลี่ยนทีมแล้ว ก็โทรมาบรีฟให้ทีมตัดต่อใหม่ แล้วก็ปล่อยให้ทำงาน จนพอได้มาดูครั้งแรก เราร้องไห้เลย เพราะรู้สึกว่า ทำไมทีมตัดต่อถึงเข้าใจเราขนาดนี้ เหมือนเข้าใจความคิดน้อง ๆ เราว่ามันไม่เหมือนผู้ชายเลือก เราก็เลยรู้สึกว่า อันนี้ก็เป็นความพิเศษอีกอย่างของหนังเรื่องนี้ด้วยค่ะ

ในมุมมองของสังคมที่มีการแข่งขันกันมีข้อดี-ข้อเสียยังไงบ้าง

จริง ๆ ก็มีในทุกที่นะคะ แต่มันดันมาอยู่ในธุรกิจบันเทิง คนก็เลยมาร่วมวง มีความสุข สนุก มีความลุ้น เสียใจ ดราม่ากับมันด้วย แต่ก็เป็นอย่างที่บอก แล้วโดยส่วนตัวเราเอง มีความสนใจในเรื่องของมนุษย์มาก ๆ เพราะเรารู้สึกว่า คนสามารถทำได้หลากหลาย แล้วความเป็นคนมันให้แรงบันดาลใจกับเรา การที่เราเรียนรู้ชีวิตผ่านคน มันมหัศจรรย์ ซึ่งพอได้ทำหนังเรื่องนี้ เหมือนเราได้เรียนรู้ระบบของธุรกิจนี้ ได้ทำความเข้าใจกับตัวน้อง ๆ

ขณะเดียวกันระหว่างทางที่เราทำงานอยู่ เราก็ต้องคุยกับแฟนคลับ แล้วก็ต้องกลับไปดูว่า รูปแบบวงแบบนี้ไม่ได้เพิ่งมีนะ มันมีมานาน ส่วนการแข่งขัน มันก็เป็น loop แบบนี้ละค่ะ พอมีคนชนะ เราก็จะกลับไปที่การแข่งขันต่อไป คือมันตอบยากในธุรกิจบันเทิง สำหรับเราในฐานะที่เป็นคนแข่งขัน มันไม่สนุกหรอก แต่ในด้านผู้ชม เขาอาจจะสนุกก็ได้ ขณะเดียวกัน เรามองว่าไม่ได้มีข้อเสียอะไรนะ ถ้าเป็นในเรื่องของการแข่งขัน มันทำให้เรามีการพัฒนามากขึ้น เราอาจจะไม่ได้ในวันนี้ แต่เราอาจจะได้ในวันต่อไปก็ได้

อย่างเรื่องของน้องจิ๊บ (สุชญา แสนโคต – สมาชิกทีม BIII) ที่เราชอบมาก เราได้คุยกันในตอนที่คัดเลือกว่าใครจะมาร้องเพลง เราก็ขอไปเองเลยว่า ขอเฌอปราง 1 เพลง เพราะได้ที่ 1 แล้วก็ขอจิ๊บ 1 เพลง เพราะได้ลำดับสุดท้ายที่ได้รับเลือก ผู้ซึ่งไม่ได้โอกาสไปยืนแถวหน้า ไม่เคยเป็นตัวจริง ก็มีการสัมภาษณ์น้องจิ๊บต่างหาก น้องเขาบอกว่า ‘หนูอยากให้เพื่อนได้ร้องด้วยกันค่ะ’ เราก็รู้สึกว่า ทำไมไม่ดีใจเหรอ น้องก็บอกว่า จำไม่ได้แล้วว่าในช่วงแข่งขันกันนั้น มีความรู้สึกว่าอย่างไร แต่ว่าถ้าย้อนกลับไปดู ก็ร้องไห้แบบเป็นลม พูดไม่ได้ แต่วันนี้เขาได้เรียนรู้แล้ว ซึ่งมันก็ relate กับการแข่งขันในโลกของผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน

เรียกว่าการทำงานในเรื่องนี้ เป็นการจำลองโลกของเด็กผู้หญิงในช่วงวัยรุ่นด้วยมั้ยครับ

ในช่วงที่เราเป็นวัยรุ่น เราไม่ถึงขั้นที่จะทำถึงขนาดนี้ เพื่อเป็นที่รักของคน ซึ่งตอนที่ทำงาน มันก็ย้อนกลับมาที่เราเหมือนกันนะว่า จริง ๆ โลกออนไลน์ มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเลยแหละ แล้วบางคนอาศัยอยู่กับมัน จนบางทีเอาตัวตนของเราไป แล้ว ทำให้ลืมไปแล้วว่าเราเป็นใคร ถามว่าจำลองเลยมั้ย มันจำลองในช่วงเวลานี้ เรียกว่าใน 5 ปีนี้ดีกว่า แต่ก็ไม่ได้จำลองทุกยุคสมัย คือสำหรับเรา มันโหดมากนะที่ทำให้ทุกคนในโลกออนไลน์มารักเรา แต่พอเราทำงานชิ้นนี้ไป น้อง ๆ ก็บอกเรานะว่า ‘มันก็สนุกดีนะคะพี่’ ซึ่งก็เปลี่ยนมุมมองเราเหมือนกันนะ ทำให้เราได้เข้าใจวัฒนธรรมของเด็กยุคนี้ ว่าเขาคิดยังไง มองโลกยังไง (ยิ้ม)


จากที่คุณพูดถึง เฌอปราง กับ จิ๊บ ที่ทาง Girl Don’t Cry ได้พูดถึงไปแล้ว พอมาถึงหนังเรื่องนี้ การเล่าเรื่องหัวตารางกับท้ายตาราง ที่เพิ่มมากขึ้น ทำยังไงถึงจะแตกต่างจากเรื่องก่อนหน้านี้ครับ

เราไม่ได้โฟกัสว่าใครเป็นอันดับที่เท่าไหร่ แต่เราพูดถึงความฝันในโลกของความจริงว่าบางทีมันใจร้าย แต่ว่ามันจริง คือเราสู้มาแทบตาย พอชนะปุ๊บ เดี๋ยวก็วนกลับมาใหม่อีก นั่นคือสิ่งที่หนังเล่าค่ะ คือต่อให้ไม่ได้เป็นโอตะหรือแฟนคลับของใครเลย ก็อยากให้ดูจริง ๆ เพราะว่าสำหรับเรา เวลาที่เราอยากจะเข้าใจอะไรซักอย่าง เราก็บอกว่าไปดูสิ่งนั้น อยากจะเรียนเรื่องสงครามโลก ก็ไปดูหนังที่เกี่ยวข้องซัก 2 ชั่วโมง เราก็จะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นตอนไหน ทีนี้เราปฎิเสธไม่ได้ว่า เราอยู่ในสังคมมีวัฒนธรรมรูปแบบนี้เกิดขึ้นมา

อย่างแต่ก่อนเวลาที่เราไปดูคอนเสิร์ต เราจะต้องไปมาบุญครอง ต้องซื้อบัตรแถวหน้า อยู่ใกล้ชิดที่สุด แม้ว่านักร้องที่เราไปดู จะหันมาคุยกับเราหรือเปล่า แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า เราอยากเจอศิลปินหรือนักแสดงที่เราชอบ เราซื้อบัตรไปเจอเขา ก็สามารถเจอได้เลย ได้จับมือด้วย ได้พูดกับเขาด้วย ยังไงก็ได้ถ่ายทูช้อตกับเขาด้วยแบบไม่มีอะไรมากั้นอยู่ข้างหลัง เราว่ามันเป็น pop culture โดยที่มี social media เข้ามาข้องเกี่ยว หลาย ๆ คนตั้งคำถามว่า แล้วโลกออนไลน์ มันมีผลกับเราขนาดไหน เราว่ามันมีผลมาก ๆ แต่ว่าเราจะเรียนรู้ยังไง แล้วก้หนังเรื่องนี้มันเล่าบริบทของสังคม แต่เล่าผ่าน BNK48 เลยอาจจะทำให้สนุกขึ้น

การที่ได้ไปคลุกคลีกับน้อง ๆ สมาชิกวง ทั้งความแตกต่างจากหลากหลายที่มา หรือในเรื่องการโดนบูลลี่ คิดว่าจะส่งผลต่อตัวสมาชิกแค่ไหนอย่างไรบ้างครับ

จริง ๆ ถ้าพูดถึงโซเชียลมีเดีย มันไม่ใช่แค่น้อง ๆ นะคะ เราเพิ่งได้ดูเรื่อง Don’t Fuxx With Cats แล้วสิ่งที่โหดที่สุด คือ ตอนจบของหนัง มีการตั้งคำถามว่า เรามีส่วนร่วมหรือเปล่าในการทำสิ่งนี้ จากที่เราบอกกับคนอื่นว่ามันไม่ดี แล้วมันเจ็บมาก หรือบางทีเราก็มีส่วน เราเชื่อนะคะว่า เรื่องนี้จะสะท้อนอะไรบางอย่าง เพราะว่าทุกคนได้พูดหมด ตั้งแต่ผู้บริหาร สมาชิกวง และแฟนคลับ ในบางวันที่มีความรู้สึกว่าเหนื่อยจังเลย บางทีก็อาจจะมาจากคนรอบข้าง หรือบางทีก็อาจจะเกิดมาจากเรานี่แหละ อยากให้ทุกคนดูหนังเรื่องในมุมที่แตกต่างออกไปนะ ว่าเรามีส่วนในการสร้างความกดดันนี้ด้วยหรือเปล่า


ตอนที่ทำงานเสร็จแล้ว ทางผู้บริหารได้ปรับตัวเนื้องานมั้ยครับ

เราขอยกตัวอย่างตอนที่ทำ the journey ดีกว่า คือเวลาที่เราทำหนังสารคดี เราจะมีตัวฟุตเทจที่เยอะมาก ซึ่งเราต้องเลือกว่าเราจะเล่าอะไร เราต้องเปิดพื้นที่ไว้ให้คนดูคิด เราสรุปไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของหนังสารคดีเลย เราบอกไม่ได้ว่าอะไรผิดหรือถูก เราต้องเปิดตัวเลือกให้คนดูตัดสินค่ะ เหมือนกันกับเรื่องนี้ เรามีข้อกำหนดจากทางฝั่งผู้บริหาร แต่เราว่าทางเขาก็ปล่อยให้เราทำหลายอย่างนะ แต่ก็มีบางอย่างที่ต้องเอาออก ซึ่งเรื่องนี้จะได้ฉายทั่วโลก จริง ๆ ต้องขอบคุณพี่ต้อม (ณัฐพล บวรรัตนะ : อดีตผู้บริหาร BNK48) เหมือนกัน ที่ให้เราทำ หรือพูดบางประเด็น ที่มันอาจจะทำให้เขาดูไม่ดี แต่เขาก็ยอม

การเป็นนักทำหนังอิสระในบ้านเราในตอนนี้ คิดว่าโอกาสในอนาคตข้างหน้า จะมีความยากน้อยกว่าในตอนนี้มั้ยครับ

จากที่เราเริ่มทำงานเบื้องหลังมากว่า 6-7 ปี ก็ถือว่าดีขึ้นนะคะ จากงานเล็ก ๆ ทำกันเอง หาเงินกันเอง มันก็ทำได้ จนกระทั่งมาที่หนังเรื่องนี้ ก็เหมือนกับได้รับโอกาสจากทางสตูดิโอให้มากำกับหนัง มันดีขึ้นมาก ๆ แถมทาง Netflix เขามีการสนับสนุนมาก ๆ ในการทำงานกับหนังท้องถิ่น มันก็เลยง่ายขึ้น แต่เราก็ไม่อยากให้คนไทยทิ้งกันทำหนังหรือหนังสารคดีไทย เราว่ามันเป็นการบันทึกช่วงเวลาในช่วงเวลานั้น ๆ หวังว่าหลังจากมีการคลี่คลายจากสถานการณ์โควิด-19 เราน่าจะมีโปรเจกต์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น แล้วก็หวังว่าจะมีนักทำหนังเก่ง ๆ ในเมืองไทย มีโอกาสได้ทำอะไรมากขึ้น

เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ดรงค์ ฤทธิปัญญา



กำลังโหลดความคิดเห็น