xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระ” ค้าน การรับผู้ป่วยต่างชาติมารักษาในประเทศ แนะ ควรจัดการเรื่องภายในประเทศก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ แพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความถึงหน่วยงานความมั่นคง และ ศบค. คัดค้านการรรับผู้ป่วยต่างชาติมารักษาในประเทศ วอนอย่าสู้ศึกหลายด้าน ขณะนี้ควรจัดการกับกิจการในประเทศเสียก่อน

วันนี้ (23 มิ.ย.) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” ถึง ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และหน่วยงานความมั่นคง เกี่ยวกับมาตรการรับผู้ป่วยต่างชาติมารักษาในประเทศ ซึ่งต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนเสียใหม่ พร้อมระบุสิ่งที่ควรคำนึงถึง 5 ข้อ โดยได้ระบุข้อความว่า

“1. โรคยังระบาดทั่วโลกกว่า 9 ล้านคน เพิ่มวันละแสนกว่า สัปดาห์ละล้านคน ความเสี่ยงจากต่างประเทศจึงมากเกินกว่าจะรับได้

2. ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้มาคนเดียว มักต้องมีสมาชิกในครอบครัวเข้ามาด้วยไม่มากก็น้อย นั่นแปลว่า ความเสี่ยงย่อมเพิ่มขึ้นมาก และเป็นมาตรการเลี่ยงบาลีของการเปิดประตูประเทศนั่นเอง

3. ไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองใดที่จะการันตีความปลอดภัยได้ 100% และแต่ละวิธีที่เรามีอยู่นั้นมีความไวและความจำเพาะที่แตกต่างกันไปในแต่ละระยะของการติดเชื้อ โอกาสหลุดรอดของเคสที่ติดเชื้อจึงมีสูงขึ้นมากแน่ๆ หากเปิดรับตามมาตรการที่จะชงเข้าสู่ศบค.ตามที่ออกข่าวทางสื่อมวลชน

4. การเอาโรงพยาบาลของไทยมุ่งช่วยเศรษฐกิจประเทศด้วยการนำเข้าต่างชาติเข้ามารักษานั้น หากมีกรณีติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์และต้องปิดโรงพยาบาลดังที่เราเห็นในประเทศเพื่อนบ้านเร็วๆ นี้ จะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาต่อการดูแลรักษาประชาชนไทยจำนวนมาก และยิ่งทำให้ช่องว่างทางสังคมกว้างขึ้น และบ่งถึงความไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพต่อสังคมไทยโดยรวม นำความเสี่ยงของคนทั้งประเทศมาแลกกับรายได้ที่มีโอกาสสูงที่จะเป็นลักษณะ “ได้ไม่คุ้มเสีย”

5. จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร และอื่น มีจำกัดมาก การสร้างมาตรการที่นำความเสี่ยงมาสู่พวกเค้าเหล่านั้น อาจนำมาซึ่งความสูญเสียชีวิต การขาดแคลนบุคลากรที่จะเตรียมรับมือการระบาดระลอกใหม่ที่จะเกิดขึ้นได้"

นอกจากนี้ รศ.นพ.ธีระ ได้แนะนำว่า จะมีอยู่แค่กรณีเดียวที่เราควรนำเข้าผู้ป่วยต่างชาติมารักษาในประเทศ นั่นคือ กรณีช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรมและตามจริยธรรมทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ประเทศเค้ารักษาไม่ได้แล้ว และประเทศเรารักษาได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นโรคที่คุกคามชีวิตหากไม่รักษาโดยเร็ว หากจะเป็นกรณีดังกล่าวก็มีน้อยมากจริงๆ

กราบท่านนายกรัฐมนตรี ศบค. และหน่วยงานความมั่นคง โปรดไตร่ตรองให้ดี สิ่งที่ควรตัดสินใจทำในช่วง 1 กรกฎาคม คือ การปลดล็อกกิจการเสี่ยงสูงตามที่วางแผนไว้ ได้แก่ โรงเรียน ผับ บาร์ คาราโอเกะ การเปิดประตูแง้มให้ต่างชาติเข้ามานั้น ควรเป็นไปในลักษณะที่ทำเท่าที่จำเป็นจริง

“อย่าสู้ศึกหลายด้าน”...ไม่ควรทรนงว่าเราชนะโควิดแล้ว เพราะประเทศทีประกาศชัยชนะทั้งหลาย ล้วนกลับมาแพ้จนกำลังเมาหมัดอยู่ตอนนี้

ต่างชาติที่เราจะแง้มให้เดินทางเข้ามานั้น ตามที่ตกลงหารือกัน คือ กลุ่มที่ลงทะเบียนไว้ราว 23,000 คน ประกอบด้วย

หนึ่ง นักธุรกิจ นักลงทุน 670 คน

สอง ผู้เชี่ยวชาญ แรงงานฝีมือที่จำเป็น 22,000 คน

และสาม คนต่างชาติที่ได้รับสิทธิพำนักในประเทศไทย เช่น คนที่แต่งงานกับคนไทย อีกจำนวนหนึ่ง

ทั้งนี้ ทั้งสามกลุ่มข้างต้น ควรได้รับการตรวจคัดกรองตามมาตรฐานสากล เน้นความปลอดภัยทั้งต่อตัวเค้า และคนไทยทั้งชาติ ไม่ควรเล่นแร่แปรธาตุตามการชงแบบมั่วซั่ว และนำความเสี่ยงที่เกินกว่าจะรับได้เข้ามา การหาเงินมีหลายทาง สถานการณ์ปัจจุบันต้องหาเงินอย่างปลอดภัย อดทน อดออม อดกลั้น และโปรดระลึกถึงปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เอาไว้ในใจเสมอ นี่คือ คาถาอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะปกป้องพวกเราทั้งประเทศจากภยันอันตรายครับ ด้วยความรักและปรารถนาดีต่อทุกคน




กำลังโหลดความคิดเห็น