“นักวิชาการ” เผยข้อตกลงหนึ่งใน CPTPP ห้ามประเทศสมาชิกทำออฟเซต หวั่นปิดกั้นไทยได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้-เทคโนโลยี หรือผลประโยชน์อื่น ที่มาพร้อมกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แม้ยกเว้นให้ประเทศกำลังพัฒนา ผ่อนปรนได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ไทยจะไปเจรจาผ่อนปรนอะไรในสิ่งที่ยังไม่เคยเริ่มทำเลย แนะรัฐหาทางให้ได้ใช้ออฟเซต ถ้าไม่สำเร็จ ต้องหากลไกอื่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ
วันที่ 22 มิ.ย. 63 นาวาตรี ดร.บดินทร์ สันทัด นักวิเคราะห์เทคโนโลยีป้องกันประเทศ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และ ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “ปม CPTPP กับเรื่องที่คนยังไม่พูดถึง!?”
ดร.ประมวล กล่าวว่า ข้อตกลงใน CPTPP เอกสารแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่เป็นเนื้อหาของข้อตกลง กับส่วนที่เป็นภาคผนวก เฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อหามีอยู่ประมาณ 30 บท ที่เราจะมาคุยกัน อยู่บทที่ 15 ว่าด้วยเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในส่วนของหัวข้อออฟเซต (offset) หรือการชดเชย
มีคำเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า สินค้าที่จัดซื้อโดยภาครัฐ ที่มีมูลค่าสูง มีเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เตาปฏิกรณ์ปรมาณู ดาวเทียม รวมถึงยุทธภัณฑ์ การจัดซื้อตามกระบวนการเดิมๆ เงินจ่ายไปเอาของมาจบ แต่หลายสิบปีที่ผ่านมา หลายประเทศมีการใช้นโยบายออฟเซต เพื่อเอื้อให้กระบวนการจัดซื้อภาครัฐ ไม่ใช่แค่จ่ายตังค์ไปได้ของมา แต่ต้องมีการชดเชยเพิ่มเติม เช่น มีเงื่อนไขว่าต้องถ่ายทอดองค์ความรู้, มาตั้งโรงงานในประเทศ หรือใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศเรา
การเกิดเงื่อนไขแบบนี้ ในประเทศที่คิดซับซ้อนกว่าเรา ก็จะกลายเป็นกลไกที่ชัดเจนที่ทำให้อุตสาหกรรมภายในประเทศเติบโต ควบคู่ไปกับการจัดซื้อเหล่านั้นด้วย อย่างรอบหลายปีที่ผ่านมา ประเทศเราใช้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเยอะ แต่เรานำเข้าแทบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยองค์ความรู้ได้มาน้อยมาก
ดร.บดินทร์ กล่าวว่า มีประเทศที่ทำออฟเซตประมาณทำ 130 ประเทศ แต่ตนศึกษามาแค่ 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ซึ่งพบว่าเลือกออฟเซตเป็นเครื่องมือนโยบายในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยเฉพาอาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ใช่แค่เอาเงินไปของมา แต่ขอกิจกรรมทางเศรษฐกิจ-ทางเทคโนโลยี เพิ่มเติม เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ การสร้างงาน พัฒนาคน พัฒนาการศึกษา เป็นสิ่งที่ค้นพบว่าไทยเราน่าจะมีในเรื่องนี้ ซึ่งดู CPTPP ก็พบว่าอยู่หน้าแรกในบทที่ 15 ด้วยซ้ำ
ดร.ประมวล กล่าวเสริมว่า ข้อตกลง CPTPP เขียนชัดเจนว่า ประเทศที่ร่วม ต้องไม่ทำออฟเซต คำถามที่น่าสนใจคือมันไม่ดี หรือดียังไง บางประเทศอยากทำ บางประเทศไม่อยากให้บางประเทศทำ
ยกตัวอย่างอาวุธยุทโธปกรณ์ เราซื้อเครื่องบินรบมา ไม่ใช่เพราะอยากทำสงคราม แต่เพื่อเป็นหลักประกันว่าหากมีเหตุฉุกเฉิน เรามีเครื่องมือในการป้องกันประเทศ แต่มันมีอายุการใช้งาน เงื่อนไขการทำออฟเซต อย่างน้อยประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าที่ต้องขายข้าวเพื่อไปซื้ออาวุธสงคราม จะได้สบายใจบ้างว่าหลังจากสินค้าที่ซื้อมาหมดอายุลงแล้ว ฉันยังเหลืออะไรอยู่ในมือบ้าง ที่จะเป็นตัวต่อยอดให้ประเทศ
CPTPP มีเงื่อนไขชัดเจนประเทศที่ไปลงนามเจรจาห้าทำออฟเซต เกิดคำถามทันที ไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เรายังไม่เคยใช้นโยบายออฟเซตอย่างเป็นรูปธรรม ประเทศที่ต้องการการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเยอะๆ แบบไทย ยังไม่ทันเริ่มเลย ก็จะไปเซ็นสัญญาว่าไม่ทำแล้ว ในอนาคตถ้าไปเจรจาตกลง ต้องตั้งคำถามว่าเราควรได้อะไร แล้วถ้าจะยอม ยอมได้แค่ไหน
ดร.บดินทร์ กล่าวเสริมว่า แต่อนุญาตให้ประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถขอมาตรการเปลี่ยนผ่านได้ ห้ามประเทศสมาชิกทำ แต่ให้ประเทศกำลังพัฒนากำหนดมาว่าถ้าทำ นานแค่ไหน ขนาดสเกลเท่าไหร่ ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็จะเขียนข้อสงวนเอาไว้เอาไว้ ว่าไม่ครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง
ดร.ประมวล กล่าวว่า อยากให้มอง 2 มุมมอง มุมของประเทศกำลังพัฒนา กับประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศพัฒนาแล้ว มองเทคโนโลยีเป็นทรัพย์สิน ถ้าไม่จำเป็นก็คงไม่อยากถ่ายทอดให้ แต่ประเทศกำลังพัฒนา องค์ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ ก็อยากให้มีการเชย ซึ่งก็ต้องเจรจากัน
เงื่อนไขในข้อตกลง ประเทศสมาชิกห้ามทำออฟเซต ก็เกิดคำถาม มาเลเซียยังไปเจรจาขอใช้ 12 ปี ในช่วงเปลี่ยนผ่าน มาเลเซียทำออฟเซตมาก่อนเรา 30 ปี แต่ไทยยังไม่ได้เริ่มทำเลย ถ้าเราไปเจรจาเพื่อขอผ่อนปรน เราจะผ่อนปรนอะไรในสิ่งที่เรายังไม่ได้ทำ เป็นคำถามสำคัญ แล้วต้องเริ่มพิจารณาต่อว่า ถ้าเราเข้าร่วม ก็ขอยืดเวลาสักระยะหนึ่งที่เราจะสามารถใช้ออฟเซต เพื่อใช้โอกาสนี้พัฒนาประเทศ ถ้าเราไม่สามารถใช้ออฟเซตได้ เราจะใช้กลไกใดที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ เมื่อเรากลายเป็นภาคีนึงที่อยู่ในกลุ่มประเทศ CPTPP