ในสมัยก่อนที่บ้านเมืองยังไม่มีประปาหรือน้ำขวดที่ขายกันเกลื่อนอย่างในวันนี้ ถ้าเดินทางผ่านไปทางไหน ไมว่าริมถนนใหญ่ในเมืองหรือตามซอกซอยในหมู่บ้าน ก็จะเห็นโอ่งดินใส่น้ำสะอาดตั้งไว้หน้าบ้าน มีกระบวยทำจากกะลามะพร้าว หรือถ้วย แม้แต่กระป๋องนม ผูกเชือกแขวนไว้ เป็น “โอ่งน้ำใจ” สำหรับผู้คนที่ผ่านไปมาได้ดื่มดับกระหาย ถ้าเดินตากแดดมาร้อนๆมา น้ำนี้จึงเป็นน้ำอมฤตดับกระหายได้วิเศษ เพราะถ้าไม่มีโอ่งนี้ก็จะหาน้ำดื่มได้ยาก บางบ้านยังสร้างเป็นเรือนไม้เล็กๆไว้ตั้งโอ่ง ให้ดูสวยงามและน่าดื่มยิ่งขึ้น คนเดินทางที่ผ่านมา ก็แวะดื่มโดยไม่ต้องขอใคร เพราะเป็นที่รู้กันว่าเจ้าของบ้านตั้งไว้เพื่อให้คนผ่านไปมาได้ดื่ม บางคนมีมารยาทดีและสำนึกถึงความมีน้ำใจ ก็ตะโกนบอกไปในบ้านว่า “ขอน้ำกินหน่อยนะจ๊ะ”
วัฒนธรรมอันดีงามนี้ไม่ทราบว่ามีมาแต่เมื่อใด อาจจะไกลไปถึงสมัยกรุงสุโขทัยก็ได้ และมีอยู่ทั่วไปทุกภาค โดยเฉพาะภาคอีสานที่มีมากหน่อยเพราะแห้งแล้งกันดารกว่าภาคอื่น
ในภาษิตโบราณของอิสาน เกี่ยวกับ “เรือน ๓ น้ำ ๔” ได้กล่าวถึงน้ำดื่ม ซึ่งเป็นน้ำในข้อ ๒ ไว้ว่า
น้ำ ๒ นั้นแม่น น้ำดื่มเฮากิน
ขอให้ยินดีหาใส่เติมเต็มไว้
รักษาไหหรือหม้อถังออมอุแอ่ง
อย่าให้แมงง้องแง้งลงเล่นแอ่งกิน
ขัดให้เกลี้ยงอย่าให้เกิดมีไคล
ดูให้ใสซอนแลนแอ่งกินดูเกลี้ยง
อย่าให้มีกะหลึนเหมี่ยงสนิมไคลใต้ก้นแอ่ง
อย่าให้น้ำขอดแห้งแลงเช้าให้เกื่อยขน
ก้นแอ่งน้ำอย่าให้เกิดมีตม
อย่าให้มีแนวจมอยู่เนาในน้ำ
อย่าให้ไผเอาข้าวของไปหว่านใส่
บาดมันไคพุขึ้นสิปานน้ำฮากหมา
ให้รักษาแอ่งน้ำยามดื่มอย่ามีอึด
คึดอยากกินยามใด๋ก็เลาตักกินได้
มีแขกไปไทค้าคนมาจอดแว
กะได้แวใส่ได้เอาน้ำรับรอง
วัฒนธรรมนี้ยังมีไปถึงเพื่อนบ้านทั้งลาว พม่า เขมร ก็มีเช่นกัน แสดงถึงนิสัยใจคอของคนในภูมิภาคนี้
ปัจจุบัน “โอ่งน้ำใจ” ได้หายไปจากสังคมแล้ว แม้อาจจะมีเหลืออยู่บ้างในบางแห่ง ก็หาดูได้ยาก เพราะน้ำดื่มข้างทางไม่ได้หายากเหมือนสมัยก่อน สมัยเมื่อเริ่มมีน้ำประปา ก็มีก็อกน้ำข้างถนนไว้บริการประชาชน ทำให้โอ่งน้ำใจหายไปบางส่วน จนถึงสมัยนี้มีน้ำขวดขายอยู่ทั่วไป แช่เย็นเสียด้วย อีกทั้งยังตระหนักถึงเรื่องอนามัยกันมากขึ้น การดื่มกินจากภาชนะร่วมกันอาจเป็นช่องทางให้ติดโรคถึงกันได้ โอ่งน้ำใจเลยเกือบจะสูญไปจากสังคม แต่ไม่ใช่หายไปเพราะคนไทยเกิดแล้งน้ำใจ ขาดความเอื้ออาทรต่อกันแล้ว เพราะเมื่อสังคมเกิดมีปัญหาจากโควิด ๑๙ ความเอื้ออาทรต่อกันแบบ “โอ่งน้ำใจ” ก็แสดงออกอีกครั้งใน “ตู้ปันสุข” ปันน้ำใจให้กัน และกระจายออกไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ทำให้คนตกงาน คนขาดรายได้ พอบันเทาความขัดสนไปได้ ยืนยันให้เห็นถึงความเอื้ออาทรห่วงใยที่มีต่อกัน ไม่ทอดทิ้งกัน ของสังคมไทยยังมีอยู่เสมอ และยังเผื่อแผ่ไปถึงนักท่องเที่ยวที่ตกค้างอยู่ในประเทศไทย ตามธรรมเนียมที่ “ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” โดยไม่มีความรังเกียจในเรื่องเชื้อชาติและศาสนา
นี่คือความรักใคร่ห่วงใยกัน เป็นความอบอุ่นของสังคมไทย ที่คนต่างชาติพูดถึงด้วยความอิจฉา