“ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้จากไปอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งที่โคนลิ้น เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. เวลา 19.10 น. หลังจากรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ทางครอบครัวจะนำศพไปบำเพ็ญกุศลที่วัดเทพศิรินทร์ กรุงเทพฯ สิริอายุ 72 ปี
สำหรับประวัติ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ หรือ อาจารย์โต้ง บุตรชายอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของไทย เกิดเมื่อ 8 ต.ค. 2490 เป็นบุตรชายคนเดียวของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี และท่านผู้หญิง บุญเรือน ชุณหะวัณ โดย นายไกรศักดิ์ เคยมีบทบาทเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ซึ่งเป็นทีมที่ปรึกษานายกฯ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
เป็นหนึ่งในทีมปรึกษาบ้านพิษณุโลก (นักวิจัยประจำคณะที่ปรึกษา) และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ คือ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบสัดส่วนมาแล้ว นอกจากบทบาททางการเมือง อาจารย์โต้งยังได้รับการยกย่องในฐานะนักต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน รวมถึงความเป็นศิลปิน และนักดนตรี อีกด้วย
ด้านการศึกษา อ.โต้ง ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ จบปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัย George Washington University ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2517 ปริญญาโทศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (การเมือง) จากมหาวิทยาลัยลอนดอน (SOAS University of London) สหราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2520
ด้านการเมือง ประวัติ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เริ่มชัดเจนเมื่อบิดา คือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2532 เขาคือหนึ่งในคณะที่ปรึกษาอันลือลั่นในนาม “ที่ปรึกษาบ้านพิษฯ” ร่วมกับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ฯลฯ ถือเป็นมันสมองในการบริหารที่เต็มไปด้วยนักวิชาการด้านเศรษฐกิจ กฎหมาย และงานต่างประเทศ ก่อนยุติบทบาทลงในเหตุการณ์รัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี พ.ศ. 2534 ก่อนจะกลับสู่แวดวงการเมืองในการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี พ.ศ. 2543
ประวัติด้านการทำงาน
พ.ศ. 2520 ถึง 2536 เป็นอาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิชา การเมืองการปกครองของสหภาพโซเวียต, รัฐศาสตร์เบื้องต้น, ประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์การเมืองในประเทศเอเชียอาคเนย์, การเมืองการปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน, การเมืองการปกครองของประเทศเอเชียอาคเนย์ และการเมืองการปกครองของไทย นอกจากนี้ ยังเป็นอาจารย์พิเศษปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
พ.ศ. 2532 ถึง 2534 ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ด้านนโยบายการต่างประเทศ เป็นผู้ผลักดันนโยบายด้านต่างประเทศที่สำคัญๆ ในรัฐบาล พลเอก ชาติชาย เช่น การเจรจาสันติภาพในประเทศกัมพูชา, นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า”, ผลักดันให้มีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ทั้งสองแห่ง เจรจาแก้ไขมาตรการกีดกันทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา (มาตรา 301) ร่วมเจรจาและผลักดันให้มีการก่อตั้งเอเปก (APEC)
พ.ศ. 2539 ถึง 2542 ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัย นายพิจิตต รัตตกุล ด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2543 ถึง 2549 ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนครราชสีมา และ ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา
พ.ศ. 2547 ถึง 2549 รองประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่า Asean Inter-Parliamentary Myanmar Caucus หรือ AIPMC
พ.ศ. 2552 ถึง 2553 ประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่า Asean Inter-Parliamentary Myanmar Caucus หรือ AIPMC
พ.ศ. 2550 กรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD), ที่ปรึกษาคณะกรรมการหอศิลป์ กทม., กรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษาและวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียงและทรัพย์สินของประชาชน (คตน.)
พ.ศ. 2551 ถึง 2554 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบสัดส่วน, ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, ประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร
ปัจจุบัน ประธานมูลนิธิพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ, ประธานมูลนิธิเพื่อนป่า (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น มูลนิธิฟรีแลนด์) , ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร