ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ออกมาโพสต์เรื่องราวน่ายินดี เมื่อกล่าวว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ผลงานวิจัยศูนย์วัคซีน จุฬาฯ ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อาจจะมีการนำมาใช้ในปี 2564 หลังประสบความสำเร็จในหนูทดลองแล้ว เตรียมทดสอบกับลิงในขั้นตอนต่อไป
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesincee” กล่าวถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 “ชนิด mRNA” อาจจะมีการนำมาใช้ในปี 2564 โดย ดร.สุวิทย์ได้ระบุข้อความว่า
“ผมมีข่าวดีเรื่องการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 มาเล่าให้ฟังครับ ขณะนี้งานวิจัย “วัคซีนชนิด mRNA” ที่ศูนย์วัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้มอบให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รับผิดชอบ ผมทราบว่าประสบความสำเร็จในระดับดีทีเดียวครับ หลังทดสอบในหนูทดลองแล้ว โดยผลการคัดกรองเบื้องต้นที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอมริกา พบว่าให้ผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า Neutralizing antibody ในระดับที่สูงถึง 1: 3,000 ทั้งนี้กำลังเตรียมจะทดสอบในลิงในประเทศไทยสัปดาห์หน้าต่อไปครับ
ขณะเดียวกัน เราได้มีการประสานเตรียมการผลิตวัคซีนชุดแรกกับโรงงานผลิตในสหรัฐอเมริกา และแคนาดา เพื่อนำมาใช้ทดสอบในคนตามขั้นตอนมาตรฐานสากล รวมทั้งได้ประสานกับบริษัท Bionet Asia ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของไทย เตรียมการในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากโรงงานผลิตวัคซีนต้นแบบ ซึ่งเชื่อว่าจะสำเร็จจนถึงขั้นสุดท้าย คือ ประเทศไทยจะสามารถผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยี mRNA ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่มากที่สุดในประเทศไทยและนำมาใช้ช่วยคนไทยในการป้องกันโควิด-19 ทั้งนี้ ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนให้ประเทศไทยดำเนินการเรื่องวัคซีนอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อมีวัคซีนโรคโควิด-19 ใช้แล้ว ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่มีวัคซีนใช้อย่างเพียงพอสำหรับคนไทยแน่นอนครับ
ผมได้สั่งการให้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ระดมกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนให้มีการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนใช้งานได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอ โดยใช้ 3 แนวทางควบคู่กันไป คือ การสนับสนุนการวิจัยในประเทศ การร่วมมือกับเครือข่ายนานาชาติ และการทำงานจตุรภาคี กับผู้ผลิต ภาควิชาการ ภาครัฐ และเอกชน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมทั้งได้ให้ทุนวิจัยเรื่องวัคซีนโควิด-19 แล้ว 5 โครงการในหลายสถาบัน ซึ่งหลายแห่งมีความก้าวหน้าจนถึงขั้นทดสอบในสัตว์ทดลองแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คือการบริหารจัดการให้แน่ใจว่าจะมีวัคซีนใช้งานได้อย่างรวดเร็วและจำนวนเพียงพอ ซึ่งต้องเตรียมการทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา และการผลิตควบคู่กันไป เช่น การเตรียมโรงงานเพื่อผลิตวัคซีนสำหรับทดสอบในอาสาสมัคร รวมทั้งการวางแผนถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่บริษัทผลิตวัคซีนในประเทศไทยซึ่งต้องเตรียมการให้เหมาะสมจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการผลิตวัคซีนให้เพียงพอสำหรับประเทศภายในปีหน้าได้หากประสบความสำเร็จครับ ขณะที่ปัจจุบัน มีวัคซีนต้นแบบที่เข้าทดสอบในสัตว์ทดลองมากกว่า 150 ชนิดและอย่างน้อยมี 10 ชนิดที่เริ่มทำการทดสอบในอาสาสมัครแล้วอย่างน้อย 5 ประเทศ คือ จีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และแคนาดา”