1.ศธจ.มุกดาหาร สั่ง 5 ครูข่มขืนศิษย์ ออกจากราชการไว้ก่อน พร้อมสอบวินัยร้ายแรง ด้าน กมว.มีมติพักใบอนุญาต 5 ครู 60 วัน!
ความคืบหน้าคดีครู 5 คน และศิษย์เก่าโรงเรียนดงมอนวิทยาคม ต.ดงมอน อ.เมือง จ.มุกดาหาร ข่มขืนลูกศิษย์หญิง 2 คน ชั้น ม.2 อายุ 14 ปี และชั้น ม.4 อายุ 16 ปี ตั้งแต่เดือน มี.ค.2562 ถึงวันที่ 4 มี.ค.2563 รวม 6 ครั้ง โดย 5 ครูดังกล่าว ประกอบด้วย นายวิพจน์ แสนสุข อายุ 35 ปี ครูคณิตศาสตร์ เป็นผู้พาไปข่มขืน และชักชวนให้ครูอีก 4 คนร่วมก่อเหตุ คือ นายยุทธนา ภูถนนนอก อายุ 37 ปี ครูคอมพิวเตอร์ นายอานุภาพ บรรจง อายุ 33 ปี ครูวิทยาศาสตร์ นายเอกลักษณ์ เกื้อหนองขุ่น อายุ 25 ปี ครูสังคมศึกษา ว่าที่ร้อยตรีสิทธิ์นันท์ ณ หนองคาย อายุ 25 ปี ครูผู้ช่วยสังคมศึกษา ส่วนศิษย์เก่าอีก 2 คน คือ นายชนะศักดิ์ สาธุชาติ และนายพีรพงษ์ พรมมา อายุ 21 ปี ซึ่งทั้งสองได้ร่วมข่มขืนด้วยหลายครั้ง เหตุเกิดที่บ้านพักและในโรงเรียน และระหว่างนั้น ยังให้เหยื่อคนแรกพาเพื่อนนักเรียนหญิงอายุ 16 ปี มาด้วย โดยถูกข่มขืนและสลับคู่กัน รวมทั้งมีการถ่ายคลิปวิดีโอไว้ข่มขู่ว่า จะไม่ให้เลื่อนชั้นเรียนด้วย ซึ่งภายหลัง ผู้ปกครองได้นำหลานอายุ 14 ปี เข้าแจ้งความเมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนเด็กหญิงอายุ 16 ปี ผู้ปกครองได้พาเข้าแจ้งความเมื่อวันที่ 8 พ.ค.นั้น
ปรากฏว่า ผู้ต้องหาได้ทยอยเข้ามอบตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาและขอให้การในชั้นศาล หลังตำรวจยื่นศาลเพื่อขอฝากขัง ผู้ต้องหาได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัว และศาลได้อนุญาตให้ประกัน
ด้านนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงคดีนี้ว่า “เราจะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ลอยนวลอยู่ใน ศธ. จะทำทุกวิถีทางให้หมดไป นับคดีย้อนหลังมาพบว่า ไม่มีใครออกจากราชการ เกรงใจกันและกัน มอบค่าเสียหายให้ผู้ถูกกระทำ ในอดีตเป็นเช่นนี้ ย้ายจากโรงเรียนหนึ่งไปอีกโรงเรียนหนึ่ง หรือย้ายจากโรงเรียนเข้าสู่ส่วนกลาง แต่ปัจจุบัน 4-5 คดีที่ผ่านมา จะเห็นชัดเจนว่า ศธ.ให้ออกจากราชการ พักใบอนุญาต หากผิดวินัยร้ายแรงจะเพิกถอนใบอนุญาตตลอดชีวิต คนเหล่านี้จะไม่มีโอกาสกลับเข้าสู่วงการศึกษาแล้ว”
นายณัฏฐพล กล่าวในเวลาต่อมาด้วยว่า ทราบว่า ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงและให้ครูทั้ง 5 รายออกจากราชการไว้ก่อนแล้ว กำลังเสนอให้คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) พิจารณาพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเป็นการชั่วคราว
ขณะที่นายอำนาจ วิชานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากการสอบสวนข้อเท็จจริงครูทั้ง 5 ราย เบื้องต้นพบว่า มีมูลถึงขั้นมีความผิดทั้งวินัยร้ายแรง และมีการแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ส่วนผู้อำนวยการโรงเรียนจะมีความผิดด้วยหรือไม่นั้น ได้มอบหมายให้ สพท.และนายชนะ สุ่มมาตย์ ผู้อำนวยศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน สพฐ.ลงไปตรวจสอบควบคู่กันไปด้วย เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นในโรงเรียน หากพบว่าผู้อำนวยการโรงเรียนรู้ว่ามีเหตุเกิดขึ้น แต่ละเลย ไม่แก้ไข บกพร่องต่อหน้าที่ ก็ถือว่ามีความผิด ส่วนเรื่องทางอาญา ให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ส่วนกรณีที่มีครูผู้หญิงคนหนึ่ง ออกมาให้กำลังใจครูผู้ชายทั้ง 5 คน และกล่าวหาว่าเด็กหญิงผู้ถูกกระทำล่วงละเมิดทางเพศ เป็นเด็กดื้อ ฯลฯ ตราหน้าว่าเป็นคนเนรคุณพร้อมคำสาปแช่งต่าง ๆ นานานั้น นายจักราวุธ สอนโกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 22 (ผอ.สมพ.22) กล่าวว่า เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของครูคนนั้น ถ้าถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ตนเองเห็นว่าไม่เหมาะสม ควรแยกให้ออกระหว่างความดีกับความชั่ว ตอนนี้ให้เขียนรายงานชี้แจงแล้ว เบื้องต้นอาจจะแค่ว่ากล่าวตักเตือนก่อน
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงคดีครู 5 คน และศิษย์เก่า 2 คน ข่มขืนนักเรียนชั้น ม.2 และ ม.4 นานกว่า 1 ปี พร้อมถ่ายคลิปไว้ข่มขู่ที่ จ.มุกดาหารว่า ต้องดำเนินการและลงโทษตามกฎหมาย ถ้ามีการกระทำความผิดและมีหลักฐานชัดเจน ครูถือเป็นบุคลากรสำคัญ ควรจะต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กและสังคม
ขณะที่กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ได้ออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์ที่เด็กนักเรียนหญิง อายุ 14 และ 16 ปี ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.มุกดาหาร ถูกครู 5 คนข่มขืน พร้อมระบุว่า เหตุการณ์เลวร้ายดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในการปกป้องคุ้มครอง และควรเป็นจุดเปลี่ยนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการ เพื่อปรับปรุงการคุ้มครองเด็กในโรงเรียนโดยด่วน และโรงเรียนควรเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน
ล่าสุด วันนี้ (16 พ.ค.) รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธุ์ ประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เผยหลังประชุมคณะกรรมการ กมว.ว่า ที่ประชุมมีมติพักใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเป็นเวลา 60 วัน กับครูทั้ง 5 ราย จากกรณีร่วมกันกระทำชำเรานักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร เนื่องจากมีข้อมูลเชื่อได้ว่า ประพฤติผิดตามจรรยาบรรณครู ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง หากผลการสอบสวนพบว่า ครูทั้ง 5 รายผิดจริง จะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และถูกขึ้นบัญชีดำ ไม่สามารถกลับมาประกอบวิชาชีพครูได้อีกตลอดชีวิต เนื่องจากเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่เป็นความผิดร้ายแรง และเป็นเรื่องที่สังคมรับไม่ได้
ขณะที่ครูซึ่งโพสต์ให้กำลังใจครูชายทั้ง 5 คน แม้จะไม่เข้าข่ายประพฤติผิดตามจรรยาบรรณครูโดยตรง แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ที่ประชุมจึงจะมีการส่งหนังสือตักเตือนไปยังครูคนดังกล่าว ซึ่งจะถือเป็นกรณีตัวอย่างให้กับครูทั่วประเทศได้ตระหนักถึงบทบาทในฐานะครู หากจะแสดงความเห็นต้องใช้ความระมัดระวัง และคำนึงถึงกาลเทศะเป็นสำคัญ
2.ศบค.คลายล็อกระยะ 2 ไฟเขียวเปิดห้าง-ร้านค้าปลีก/ส่งขนาดใหญ่-สถานเสริมความงาม เริ่ม 17 พ.ค. ลดเวลาเคอร์ฟิวเหลือ 5 ทุ่ม-ตี 4!
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงมติจากที่ประชุม ศบค.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติให้ดำเนินมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มกิจการ/กิจกรรม ที่อยู่ในกลุ่มสีเขียว ซึ่งประกอบด้วย
1.กิจการ/กิจกรรม ที่มีความจำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวัน ได้แก่ กลุ่ม ก. จำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในภัตตาคาร ศูนย์อาหาร ร้านเครื่องดื่ม ในอาคารสำนักงาน ให้เปิดโดยอาจนำกลับไปบริโภคที่อื่น หากให้ใช้บริการในสถานที่นั้นทำได้โดยจัดระเบียบเข้าใช้บริการตามคำแนะนำมาตรการป้องกันโรค ห้ามบริโภคสุราเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน
กลุ่ม ข. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ ให้ปิดเวลา 20.00 น. ส่วนที่ยังต้องปิดต่อเนื่อง คือ โรงภาพยนตร์ คาราโอเกะ สวนสนุก สวนน้ำ ตู้เกม สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส ฯลฯ
กลุ่ม ค. ร้านค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ ช่วงนี้พายุฤดูร้อนมา จำเป็นเปิดให้ เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ตลาดผลไม้ แต่ต้องควบคุมการเข้าออกและตามมาตรการควบคุมโรค
กลุ่ม ง. ร้านเสริมสวย (ย้อมผม ดัดผม กิจกรรมอื่นๆ ในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง) และร้านทำเล็บ
2.กิจกรรมด้านออกกำลังกาย และการดูแลสุขภาพ ได้แก่ กลุ่ม ก. โรงพยาบาล สถานพยาบาล ให้เปิดคลินิกเวชกรรมเสริมความงามได้ เน้นย้ำทำเฉพาะเรือนร่าง ผิวพรรณ เลเซอร์ ยกเว้นความงามใบหน้า เพราะมีความสุ่มเสี่ยง เนื่องจากโรคนี้ติดเชื้อทางเดินหายใจ จมูก ปาก ถ้าไปเกี่ยวสัมผัสแถวหน้าจะเป็นความเสี่ยง ให้ทำส่วนอื่นของร่างกายได้ก่อน ที่ยังปิดคือการเสริมความงามควบคุมน้ำหนัก สัก เจาะผิวหนัง อบอาบน้ำสมุนไพร อาบอบนวด เพราะยังเสี่ยงสูง
กลุ่ม ข. โรงยิม สถานที่ออกกำลังกายในร่ม ฟิตเนส เปิดเฉพาะกีฬาตามกติกาสากลที่ไม่มีการปะทะกัน เล่นเป็นทีมไม่เกิน 3 คน ไม่มีผู้ชม เช่น แบดมินดัน เซปัคตะกร้อ เทเบิลเทนนิส โยคะ สควอช ฟันดาบ ยิมนาสติก และปีนผา ส่วนสถานออกกำลังกายฟิตเนส เปิดเฉพาะส่วนฟรีเวต ไม่มีการออกกำลังกายแบบรวมกลุ่ม ห้ามใช้เครื่องลู่วิ่ง จักรยานปั่น หรือเครื่องออกกำลังกายอื่นๆ เพราะมีการสัมผัส มีเหงื่อกระจายไปอยู่ในพื้นผิว ถ้าไม่ทำความสะอาดเพียงพออาจติดต่อกันได้ ส่วนสระว่ายน้ำกลางแจ้งในร่ม ต้องจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ ตามจำนวนเลนของการว่าย จำกัดไม่เกิน 1 ชั่วโมง ความกว้างเลนไม่น้อยกว่า 7 ฟุต ที่ยังปิด เช่น สนามมวย โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ สวนน้ำ บึงธรรมชาติ กีฬาทางน้ำทั้งหลาย
กลุ่ม ค. สวนดอกไม้ สวนพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ แกลลอรี (เข้าเป็นรายคน)
กลุ่ม ง. นวดแผนไทย (เฉพาะนวดเท้า)
3. กิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ ห้องประชุม ศูนย์ประชุม เฉพาะจัดประชุมองค์กรหน่วยงาน ลักษณะนั่งประชุมจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมและติดตาม ทำให้โรงแรมเปิดได้ ห้องสมุดสาธารณะ แกลอรี พิพิธภัณฑ์เปิดได้ ส่วนกิจกรรมอื่นๆ เช่น กองถ่าย ถ่ายภาพยนตร์ วีดิทัศน์ ให้มีบุคคลต่างๆ รวมทีมงานหน้าฉากหลังฉาก ทุกแผนก ไม่เกิน 50 คน
ทั้งนี้ การเปิดห้างสรรพสินค้านั้น ทุกแห่งจะต้องเปิดและปิดพร้อมกันในเวลา 10.00-20.00 น. ส่วนมาตรการบังคับใช้ทางกฎหมายที่ยังคงไว้ คือ 1.การเดินทางเข้าราชอาณาจักร ทั้งทางบก น้ำ อากาศ 2.การปรับระยะเวลาการห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) แต่ปรับจาก 22.00-04.00 น. เป็น 23.00-04.00 น. และ 3.งดชะลอการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด สำหรับมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 นี้ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.เป็นต้นไป
3.สถานการณ์โควิด-19 ในไทยน่าพอใจ ไร้ผู้ป่วยรายใหม่ 2 วันในรอบสัปดาห์!
สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในไทย สัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 11 พ.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 6 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 3,015 ราย รักษาหายเพิ่ม 2 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 2,796 ราย เสียชีวิตรวม 56 ราย เหลือรักษาใน รพ. 163 ราย โดยผู้ป่วยรายใหม่ 6 ราย แบ่งเป็น 1.สัมผัสกับผู้ป่วยรายก่อนหน้า 1 ราย คือ เด็กชายไทยอายุ 6 ปี จ.นราธิวาส จากการเฝ้าไข้พ่อ โดยเด็กไม่มีอาการ ก็นำมาตรวจ
2.กลุ่มที่รายงานไม่เป็นทางการ 4 ราย แบ่งเป็น ไปสถานที่ชุมนุมชน 1 ราย คือ ชายไทย อายุ 19 ปี จ.ภูเก็ต และกลุ่มอาชีพเสี่ยง 3 ราย คือ ชายไทย อายุ 29 ปี เป็นตำรวจ, หญิงไทย อายุ 23 ปี พนักงานบริษัท, หญิงไทย อายุ 29 ปี พนักงานขายของในร้านค้า และ 3.ค้นหาเชิงรุก จ.ยะลา 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 22 ปี โดยพบมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยรายก่อนหน้ากลับมาจากมาเลเซีย
วันต่อมา 12 พ.ค. มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 2 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยรวม 3,017 ราย รักษาหายเพิ่ม 2 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 2,798 ราย ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 163 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 2 ราย ได้แก่ 1. หญิงไทย อายุ 19 ปี อยู่ กทม. มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยในครอบครัว 3 คน และ 2.หญิงไทย อายุ 51 ปี จ.นราธิวาส มีประวัติสัมผัสผู้ป่วย โดยเป็นพี่เลี้ยงเด็กอายุ 6 ขวบที่รายงานติดเชื้อเมื่อวันก่อน
วันต่อมา 13 พ.ค. ไม่มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ ซึ่งถือเป็นวันแรกที่การติดเชื้อเป็นศูนย์ ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมเท่าเดิม คือ 3,017 ราย รักษาหายเพิ่ม 46 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 2,844 ราย
เมื่อถามว่า ขณะนี้ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่เป็นศูนย์ ใช้ชีวิตปกติได้แล้วหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ยังใช้ชีวิตปกติไม่ได้ การเป็นศูนย์อาจเกิดในวันนี้ แต่พรุ่งนี้คนสัมผัสผู้ป่วยที่อาจฟักเชื้ออยู่ ถ้าดูแลไม่ดี อาจจะติดเพิ่มได้แบบเกาหลีใต้ 1 คนติดไปแล้ว 100 กว่าคน ต้องตามอีก 2 พันกว่าคน ถ้ามีแม้แต่ 1 คนที่เกิดอยู่ อาจไปสัมผัสกับใครมา เป็นหน้าที่กรมควบคุมโรค คนในท้องถิ่น ต้องช่วยกันดู ญาติๆ กันเอง ดูอาการตัวเองจะติดหรือไม่ ทั้งนี้ ต้องไม่มีเชื้อเป็นศูนย์ไปตลอด บางทฤษฎีอาจจะต้อง 14 วัน หรือ 21 วัน แม้แต่จีนเอง แม้ศูนย์มาหลายวันยังกลับมา อย่างอู่ฮั่นตั้งแต่ปลายปีที่แล้วก็มาใหม่ ยังไว้วางใจไม่ได้
วันต่อมา 14 พ.ค. มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 1 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,018 ราย รักษาหายแล้ว 2,850 ราย ถือว่าน่าพอใจต่อการประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2
วันต่อมา 15 พ.ค. มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 7 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,025 ราย สำหรับผู้ป่วยใหม่ 7 ราย อยู่ในสถานกักกันของรัฐทั้งหมด เป็นชาย 6 ราย หญิง 1 ราย สำหรับผู้ป่วยใหม่ เป็นชายไทย อายุ 39 ปี อาชีพรับจ้าง ภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ แต่ทำงานในพื้นที่ จ.ภูเก็ต
ล่าสุด วันนี้ (16 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ แถลงว่า ไม่มีรายงานผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ ซึ่งนับเป็นวันที่สองที่ผู้ป่วยรายใหม่เป็นศูนย์ นอกจากนี้ ยังไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 3,025 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 1 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 2,855 ราย ยังรักษาใน รพ. 114 ราย ยอดผู้เสียชีวิตรวมคงที่ 56 ราย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า วันที่ 17 พ.ค.นี้ เป็นวันที่เปิดกิจการกิจกรรมมากมาย เราผ่านวันที่มีผู้ป่วยสูงสุด 188 ราย ในวันเดียว วันที่ 22 มี.ค. ผ่านมาเกือบ 2 เดือน ยอดสูงในวันนั้นกลับมาต่ำเตี้ย เหลือ 0 ถึงสองครั้ง ต้องขอบคุณคนไทยทุกคนที่ร่วมกัน นี่คือ ชัยชนะของคนไทยต่อโรคร้ายระบาดไปทั่วโลก
4.“อนุทิน” ยัน นายกฯ ไม่เคยคิดปล่อย “การบินไทย” ล้มละลายหรือขายทอดตลาด อยากให้ฟื้นฟูกิจการก่อน!
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. มีการลุ้นว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการพิจารณาแผนฟื้นฟูการบินไทยหรือไม่ ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผยหลังประชุม ครม.ว่า เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ยังไม่มีวาระดังกล่าวเข้าที่ประชุม แต่ขอย้ำอย่างเดียวว่า จะต้องเข้าสู่แผนการฟื้นฟูที่มีประสิทธิผล ขอร้องบุคลากรทั้งในองค์กร นอกองค์กร และสหภาพรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง จะต้องช่วยกันตรงนี้ ไม่อย่างนั้นไปกันไม่ได้ สุดท้ายคนก็จะไม่มีอาชีพ ไม่มีแรงงาน ไม่มีลูกจ้าง พนักงานไม่มีเงินจ้าง นั่นคือการล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้น ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เสนอผลการพิจารณา เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของกระทรวงคมนาคม ทั้งหมดต้องดำเนินการอีกหลายอย่าง เพื่อนำเข้า ครม.อนุมัติได้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการค้ำประกันเงินกู้ ยังไม่มีการพูดตรงนั้น ต้องรับฟังเสียงประชาชนด้วย
2 วันต่อมา (14 พ.ค.) นายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย พร้อมตัวแทนสหภาพ ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องให้ความร่วมมือแผนฟื้นฟูบริษัทการบินไทย โดยนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นผู้รับหนังสือ โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ทางสหภาพแรงงานฯ การบินไทย รู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่งที่นายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยการบินไทยและพนักงานการบินไทย พร้อมยืนยัน สหภาพและพนักงานยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับนายกรัฐมนตรี เพราะเชื่อมั่นว่า นายกฯ ในฐานะผู้นำประเทศจะสามารถแก้ปัญหาให้การบินไทยซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ได้เรียกนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าหารือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบสัปดาห์ หลังหารือ นายอนุทิน เผยว่า การบินไทยถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ส่วนการให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ หรือหาเงินมาเพิ่มทุนก็ลำบาก น่าจะเหลืออยู่วิธีการเดียวคือ การฟื้นฟูการบินไทยภายใต้กฎหมายล้มละลาย ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนทำไปพร้อมกับการปรับโครงสร้างผู้บริหาร บมจ.การบินไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ แต่ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นใหญ่ของการบินไทยซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นหลัก
นายอนุทิน เผยต่อว่า “นายกรัฐมนตรีมีความเห็นให้มีการฟื้นฟูกิจการการบินไทย ซึ่งถือเป็นวิธีการที่สวยที่สุด เราต้องแข่งกับเวลา เมื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ก็เป็นเรื่องของเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยมีศาลเป็นผู้กำกับ และจะต้องมีผู้ทำแผน อำนาจการบริหารจัดการบริษัทก็จะอยู่กับผู้บริหารแผนที่ศาลเป็นผู้แต่งตั้ง โดยเป็นความเห็นชอบทั้งจากเจ้าหนี้และลูกหนี้ ผู้ทำแผนต้องมีหน้าที่เจรจากับเจ้าหนี้และทำแผนฟื้นฟูกิจการขึ้นมา ถ้าตกลงกันได้ ก็ไปโหวตที่ศาล หลังจากนั้นผู้ทำแผนก็หมดหน้าที่ไป เป็นหน้าที่ของผู้บริหารแผนที่ต้องทำตามแผนฟื้นฟูกิจการตามที่ศาลมีคำพิพากษามา ซึ่งมีขั้นตอนอีกมาก”
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า “ผมคิดว่าตอนนี้เหลือเพียงซอยเดียวแล้ว การฟื้นฟูในศาลเป็นทางที่ดีที่สุด ทุกคนต้องถอยกันบ้าง เพียงแค่ก้าวเดียว แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นกระทรวงคมนาคมที่ผมกำกับดูแล เพียงได้แต่เสนอเท่านั้น แต่ทั้งหมดอยู่ที่ผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะกระทรวงการคลังก็ต้องไปพูดคุยกันอีกที ...ถ้าผู้ถือหุ้นและลูกหนี้ พนักงาน ให้ความร่วมมือ กิจการก็จะสามารถกลับมาใหม่ได้ แต่ถ้าทุกคนไม่ให้ความร่วมมือ อะไรก็ไม่ได้ เจ้าหนี้ก็ไม่มีทางเลือก ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องขายทอดตลาด หลักการก็มีอยู่แค่นี้ แต่นายกรัฐมนตรีก็อยากให้มีการฟื้นฟูกิจการก่อน การไปขายทอดตลาด หรือปล่อยให้ล้มละลายไม่มีอยู่ในหัวของนายกรัฐมนตรี เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ถือเป็นทิศทางที่ดี”
ขณะที่นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า แผนฟื้นฟูการบินไทยยังไม่ได้สรุปชัดเจน ต้องรายงาน พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธาน คนร.รับทราบก่อน 18 พ.ค.นี้ อย่างไรก็ตามทางเลือกการขอฟื้นฟูตามกระบวนการของศาลล้มละลาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย มีความเป็นไปได้มากกว่าแผนเดิมที่ทำไว้
โดยผู้ที่มีอำนาจยื่นศาลล้มละลายมี 3 ฝ่าย คือ ลูกหนี้ เจ้าหนี้ และองค์กรของรัฐ (ในฐานะเจ้าหนี้และลูกหนี้) หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ วัตถุประสงค์ของการใช้ช่องทางนี้ เพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ครบถ้วน และให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้ ในระหว่างขั้นตอนฟื้นฟูอาจเจรจาให้มีทางเลือกอื่น เช่น เปลี่ยนหนี้เป็นทุน ลดหนี้บางส่วน ยืดเวลาชำระหนี้ หรือแม้แต่ปรับโครงสร้างหนี้
นายถาวร เผยด้วยว่า ยังมีข้อกังวลและความเห็นต่าง กรณีหาก ครม.อนุมัติให้คลังค้ำประกันเงินกู้ 54,000 ล้านบาทให้การบินไทย จะเกิดปัญหาตามมาภายหลัง เนื่องจากมีเอกชนถือหุ้นอยู่ในการบินไทย 31% เพราะการที่รัฐไปช่วยเหลือเอกชนและเลือกช่วยโดยเอาเงินและความเสี่ยงของรัฐไปช่วย ทั้งที่ไม่มีหน้าที่ต้องทำ ถือว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน จึงทำให้กระทรวงคมนาคมยังเห็นต่างกับบางหน่วยงานตรงจุดนี้
อนึ่ง มีรายงานว่า หนี้ของการบินไทยกว่า 2.5 แสนล้านบาทนั้น มีกลุ่มเจ้าหนี้ 3 กลุ่ม 1.กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ อาทิ กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ 3.6 หมื่นล้านบาท ไม่รวมรายย่อย ๆ ที่ถือหน่วยหุ้นกู้อีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากนักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ไม่ลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยนานแล้ว จะมีบางส่วนที่ซื้อ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น 2.กลุ่มสถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารกรุงไทยรายใหญ่สุด ธนาคารออมสิน (3.5 พันล้านบาท) 3.เจ้าหนี้การค้ากว่า 1 แสนล้านบาท อาทิ ค่าเครื่องบิน เป็นต้น ซึ่งการเจรจากับเจ้าหนี้กลุ่มนี้จะยากที่สุด รวมถึงมีเจ้าหนี้ต่างประเทศอยู่ด้วย
5.ศาลตัดสินประหาร “ติวเตอร์ณัฐ” ใช้ไม้เบสบอลตี “น้องชายแดน” ดับ ด้านแม่ยาย-ภรรยาเจอคุกตลอดชีวิต!
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ศาลจังหวัดนครสวรรค์ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีนายณัฐพล ถาวรพิบูลย์ เจ้าของสถาบันกวดวิชาทหาร “กวดวิชาบ้านพี่ณัฐ” ซึ่งตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านไอซแลนด์ 6 เขตพื้นที่ ต.วัดไทร อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เป็นจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายรางกาย ด.ช.ฐปกร ทรัพย์สิน หรือน้องชายแดน ขณะเข้าไปศึกษาอยู่ในสถาบันดังกล่าวจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ก่อนจะไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โดยมี น.ส.พีรญา พละแสน ภรรยานายณัฐพล และ น.ส.นงลักษณ์ พละแสน แม่ยายนายณัฐพล ซึ่งอยู่ร่วมในเหตุการณ์ทำร้ายน้องชายแดน ร่วมเป็นจำเลยด้วย เหตุเกิดเมื่อเดือน มิ.ย.2562
โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า จำเลยมีความผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริง พิพากษาประหารชีวิตนายณัฐพล และจำคุกตลอดชีวิต น.ส.พีรญา และ น.ส.นงลักษณ์
สำหรับคดีนี้ เป็นข่าวครึกโครมเมื่อเดือน มิ.ย.2562 โดยนายณัฐพลได้ลงมือทำร้ายร่างกาย ด.ช.ฐปกร นักเรียนในสังกัดอยู่หลายครั้ง ขณะเข้าไปศึกษาอยู่ในสถาบันกวดวิชาดังกล่าว กระทั่งเหตุการณ์บานปลาย โดยมีการซ้อมนายชายแดนอย่างรุนแรงจนช็อกหมดสติและได้รับบาดเจ็บสาหัส ก่อนจะไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เพียงเพราะน้องชายแดนต้องการโทรศัพท์ไปหาพ่อแม่เพื่อให้พาไปรักษาตัว เนื่องจากก่อนหน้านี้ถูกรุมซ้อมหลายครั้งจนได้รับบาดเจ็บ แต่กลับถูกปฏิเสธจากแม่ยายของนายณัฐพล และเกิดปากเสียงกัน ก่อนจบด้วยการที่นายณัฐพลใช้ไม้เบสบอลตีน้องชายแดนอย่างรุนแรงเพื่อทำโทษที่ไปต่อว่าแม่ยายของนายณัฐพล จนเสียชีวิต
ซึ่งคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหลักฐานทั้งวัตถุพยานและพยานบุคคลมัดแน่นหนา จนสามารถสรุปสำนวนส่งอัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสามคน และศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำพิพากษาดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายณัฐพลยังคงให้การปฏิเสธและขอสู้คดีต่อ โดยให้ทนายยื่นเรื่องขอประกันตัว แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ผู้ต้องหาทั้งสามจึงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ทั้งนี้ นายณัฐพลให้การปฏิเสธ โดยอ้างว่า ไม่ได้มีเจตนาฆ่าน้องนายแดน แค่เป็นการทำโทษเพื่อสั่งสอน ซึ่งครูสามารถกระทำต่อศิษย์ได้ แต่ผู้พิพากษามองว่า คดีมีหลักฐานการทำผิดชัดเจน และเจ้าตัวไม่สำนึกผิดต่อการกระทำ และยังคงให้การปฏิเสธ จึงพิพากษาประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม จำเลยยังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คดีได้ภายใน 30 วันนับจากวันที่ศาลตัดสิน