ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความอธิบายหลังมีการพูดถึงการฉีดวัคซันป้องกันวัณโรค BCG ในทารก สามารถต้านทานการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ โดยสรุปว่าไม่เป็นความจริง
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Yong Poovorawan” พูดถึงกรณีการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคในวัยเด็กสามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ ศ.นพ.ยงได้ระบุข้อความเพื่ออธิบายเรื่องราวดังกล่าวไว้ว่า
“โควิด-19 วัคซีนวัณโรค BCG เมื่อแรกเกิด ป้องกันโรคได้จริงหรือ มีการพูดกันมากว่า คนทางแถบเอเชียได้รับวัคซีนป้องกันวัณโรคแรกเกิด ติดเชื้อโควิด-19 น้อยกว่าคนทางยุโรป ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันวัณโรคเมื่อแรกเกิด จึงมีข้อสมมติฐานว่า วัคซีน BCG ป้องกันวัณโรค ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
จากการศึกษาที่อิสราเอล เป็นประเทศที่ให้วัคซีน BCG ในเด็กแรกเกิดมาจนถึงปี 1982 หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการให้อีก เมื่อเปรียบเทียบประชากรย้อนขึ้นไป 3 ปี กับประชากรลงมา 3 ปี คือประชากรที่เกิดก่อนและหลังปี 1982 เมื่อเปรียบเทียบอายุแล้วจะอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน และดูอัตราการติดเชื้อโควิด-19 พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน BCG ติดเชื้อโควิด-19 11.7%
ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน BCG ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 10.4% และมีความรุนแรงเสียชีวิตกลุ่มละ 1 คน จากข้อมูลดังกล่าวได้ลบล้างความเชื่อที่ว่าการให้วัคซีน BCG เมื่อแรกเกิดอย่างที่ประเทศไทยพี่ให้กับทารกแรกเกิด ไม่มีผลในการป้องกันโควิด-19”
วัคซีน BCG เป็นวัคซีนสำหรับวัณโรค (TB) เป็นที่รู้จักกันในนามวัคซีน BCG (บาซิลลัสกาลแม็ต-เกแร็ง - bacille Calmette-Guérin) วัคซีน BCG มีแบคทีเรีย (เชื้อโรค) ที่ทําให้เป็นโรค TB ในรูปแบบที่อ่อนแอ เพราะความอ่อนแอของมัน จึงทําให้คนที่สุขภาพดีไม่เป็น TB แต่กลับช่วยพัฒนาการป้องกัน (ภูมิคุ้มกัน) ต่อต้าน TB BCG ได้ผลดีที่สุดในเด็กทารกและเด็กเล็ก และได้ผลดีอย่างยิ่งในการป้องกัน TB แบบร้ายแรง รวมทั้งโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบวัณโรค โดยให้ความคุ้มครองมากกว่า 70% ต้องฉีดวัคซนเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่แนะนําให้ฉีดมากกว่านี้