xs
xsm
sm
md
lg

“นักวิชาการ” ชี้ช่วงโควิด-19 เป็นโอกาสทองส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ผศ.ประสาท” เชื่อโควิด-19 เกิดจากมนุษย์ทำลายธรรมชาติจนเสียสมดุล ลั่นพลังงานหมุนเวียน คือ ทางออกจัดการระบบนิเวศใหม่ทั้งระบบ ด้าน “รศ.ดร.ชาลี” ชี้ช่วงนี้ประชาชนใช้ไฟน้อย มีกำลังผลิตสำรองล้นเหลือเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นโอกาสทองในการควบรวมพลังงานหมุนเวียนเข้าไปในระบบได้สูงขึ้น โดยที่ไม่สะเทือนความมั่นคงทางพลังงานเลย แนะแผน “พีดีพี” ฉบับใหม่อย่าอิงแค่เศรษฐกิจโตแล้วลุยสร้างโรงไฟฟ้าเผื่อรอ แล้วกลายเป็นภาระค่าไฟที่คนทั้งประเทศต้องแบกรับ

วันที่ 12 พ.ค. 63 ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “โอกาสของพลังงานหมุนเวียน New Normal หลังโควิด-19”

ผศ.ประสาท ได้กล่าวว่า ขอย้อนว่า โควิดเกิดจากอะไร นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกมองว่ามันเกิดจากการเสียสมดุลของธรรมชาติ มนุษย์ทำลายธรรมชาติมากเกินไป เกิดการเสียสมดุลและไวรัสหลุดออกมาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และยังยังมีไวรัสอีกราว 1.7 ล้านชนิด ที่อาจรุนแรงกว่าโควิด ที่จะตามมาเป็นระลอกๆ ฉะนั้น แก้ปัญหาไวรัส ต้องจัดการระบบนิเวศใหม่ทั้งระบบ ระบบที่กำลังสูญเสียไป เพราะพลังงานฟอสซิลประมาณ 72 เปอร์เซ็นต์ อีกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ จากการเกษตร การปรับปรุงที่ดิน ปุ๋ยเคมี ที่บอกว่าโควิดเป็นโอกาสให้มาใช้พลังงานหมุนเวียน นั้นไม่ใช่ แต่คือจำเป็นต้องไปสู่พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเดี๋ยวนี้ถูกมากแล้ว

ปัจจุบันพลังงานหมุนเวียน มีหลายชนิด ง่ายสุดก็พลังงานแสงอาทิตย์ ที่บอกว่าไม่เสถียร ตอนนี้แก้ได้หมดแล้ว รวมแล้วถูกกว่าค่าไฟในปัจจุบันด้วยซ้ำ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของอนาคต แต่เป็นเรื่องปัจจุบัน แต่เรายังมีปัญหาเรื่องการเมือง และผลประโยชน์อยู่

ผศ.ประสาท กล่าวอีกว่า โควิดทำให้เราต้องมาคิดใหม่ ในไทย พลังงานประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี มันใหญ่มาก ต้องแก้ตรงนี้ ของเราเคยถึง 19 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีด้วย มันทำให้คนตกงานเพราะรวมศูนย์ มันผูกขาด มีคนไม่กี่คนที่รวย ประชาชนจะทำพลังงานแสงอาทิตย์ ก็มีเงื่อนไขเต็มไปหมด

ตอนนี้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนพร้อมแล้ว แต่ติดที่การเมือง คนเขียนนโยบายคือพ่อค้า เป็นไปไม่ได้ที่พ่อค้าจะเขียนนโยบายทำลายผลประโยชน์ตัวเอง ฉะนั้น ประชาชนต้องลุกขึ้นมาปกป้องสุขภาพของตัวเอง สุขภาพของเมือง

ด้าน รศ.ดร.ชาลี กล่าวว่า ช่วงนี้ประชาชนใช้ไฟน้อยลง เสถียรภาพระบบไฟฟ้าดีขึ้นมาก เรามีกำลังผลิตสำรองล้นเหลือเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ความมั่นคงสูง เราน่าจะใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาเรื่องของรูปแบบพลังงานหมุนเวียน แล้วก็พัฒนาการบริการให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ให้สามารถควบรวมพลังงานหมุนเวียนเข้าไปในระบบได้สูงขึ้น

เป็นโอกาสดี ที่ช่วงนี้เราน่าจะหันกลับมาทบทวนการใช้พลังงานจากฟอสซิล เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี แล้วไม่กระเทือนความมั่นคงทางพลังงานเลย เนื่องจากตอนนี้กำลังผลิตสำรองเราสูง ก็สามารถพัฒนาเทคโนโลยีในการควบรวมพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบได้มาก ช่วงนี้เป็นโอกาสทอง

รศ.ดร.ชาลี กล่าวด้วยว่า เรื่องการเมือง กระทรวงพลังงานมีที่ปรึกษาค่อนข้างดี ถ้าฟังเสียงส่วนน้อยของทีมที่ปรึกษาบ้าง คงได้แนวคิดใหม่ๆ อดีตรองผู้ว่าการ กฟผ. เคยบอกว่า ในการที่จะสร้างไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ควรทำให้เป็นระดับชุมชนมากขึ้น ควรทำให้แหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่ใกล้แหล่งใช้ไฟฟ้า เพื่อลดปัญหาการสูญเสียในสายส่ง ประเด็นนี้เองเกิดแนวคิดของกระทรวงพลังงาน ตรงกันในเรื่องของการมีสหกรณ์ซื้อขายไฟฟ้าชุมชน ซึ่งถ้าทำได้ จะเป็นการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองในชุมชน เศรษฐกิจก็หมุนเวียนในชุมชนด้วย แต่ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เก็บเงินจากชุมชน ชุมชนเป็นฝ่ายจ่ายอย่างเดียว

แผนพีดีพี (Power Development Plan) ต้องทบทวนเยอะเลย ดูในแผนที่ผ่านมา มักเน้นเรื่องความมั่นคงทางพลังงานเป็นหลัก พยากรณ์เรื่องเศรษฐกิจว่าอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่าไหร่ และอัตราการใช้ไฟก็จะโตตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งโอกาสทายถูกน้อยมาก ก็เลยทำนายเผื่อเกินไว้ ผลที่ตามมาทำให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าเผื่อรอไว้ ดูมั่นคงดี ไฟไม่ดับแน่นอน แต่มองในอีกมิติ โรงไฟฟ้าที่มีมากขึ้น หมายถึงการที่เราต้องจ่ายค่าโรงไฟฟ้า คือค่าพร้อมจ่าย พร้อมจ่ายทันทีเมื่อสั่งให้จ่าย ถึงแม้ผลิตไม่ผลิตก็ต้องจ่าย ค่าพร้อมจ่ายเหล่านี้นี่เอง กลายเป็นภาระค่าไฟที่คนทั้งประเทศต้องแบกรับร่วมกัน ฉะนั้นพีดีพีฉบับใหม่ควรดูมิติอื่นๆ ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น