xs
xsm
sm
md
lg

THLOS : ของใช้และอาหาร สืบสานวัฒนธรรม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การที่จะนำจุดขายทางด้านวัฒนธรรมต่างๆ มาประยุกต์ให้เข้ากับตัวสินค้า ในบางครั้งมันอาจจะดูเหมือนกับขัดแย้งกันไปบ้าง ถ้ามองโดยแบบทั่วไป เพราะมันจะเป็นไปได้หรือที่ทั้ง 2 สิ่งนี้ มันมาอยู่ด้วยกันได้ แต่ อังคนา พรวิศวารักษกูล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ THLOS กลับทำให้ทั้ง 2 อย่างเดินหน้าไปด้วยกัน เพราะเธอได้ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางด้านผิวพรรณ และ ด้านอาหาร โดยมีจุดขายทางด้านศิลปะวัฒนธรรมในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 มาเป็นตัวเดินเรื่อง และทำให้แบรนด์นี้ยังคงได้รับการตอบรับแบบเล็กๆ แต่ยาวนานและแข็งแรงมากว่า 10 ปีแล้ว...

อยากให้ช่วยเล่าถึงแบรนด์ว่ามีที่มาที่ไปยังไงบ้างครับ

เราได้รับการปลูกฝังในเรื่องของศิลปะไทยมาตั้งแต่เด็ก ทางบ้านก็สนับสนุน ส่งให้เรียนทางด้านจิตรกรรม จำพวกเขียนลายไทย แล้วเราก็เรียนพวกดนตรีไทย อีกทั้งได้เข้าเรียนโรงเรียนทางเลือกเชิงพุทธ โดยเนื้อหาเขาจะสอดแทรกทั้งในเรื่องของอาหารไทย หรือศิลปะไทยเข้าไปในตารางสอน ก็จะถึงซับสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก แล้วอีกอย่างหนึ่งคือ ตรงบริเวณแถวบ้านเรา อยู่ตรงบริเวณท่าพระจันทร์ซึ่งเป็นเขตเมืองเก่า ซึ่งบริเวณนั้นก็จะแวดล้อมไปด้วยทั้ง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ แล้วในตอนเด็กๆที่เที่ยวของเราก็จะเป็นสถานที่เหล่านี้ เราไม่ได้ไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าเหมือนคนอื่น เพราะว่าวันเสาร์-อาทิตย์ ถ้าเราอยากเที่ยวเราก็แค่เดินออกจากบ้าน ไปเที่ยวตามสถานที่ดังกล่าว หรือบางครั้งนั่งเรือข้ามฟากอีกฝั่ง เดินไปถนนพระอาทิตย์ หรือเดินเข้าไป ม.ศิลปากร ส่วนใหญ่เราก็จะเดินเที่ยวอยู่แถวนั้น

คือมันเป็นการซึมซับมาตั้งแต่เด็กแล้วล่ะ แล้วพอได้ไปเรียนเมืองนอกเราก็มีโอกาสได้ซึมซับวัฒนธรรมจากที่นั่น จนกระทั่งมันถึงจุดที่เรารู้สึกว่า พอมองย้อนกลับมาว่า ถ้าวันหนึ่งมีโอกาสได้ทำธุรกิจ เราอยากทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและศิลปะ ซึ่ง ณ จุดนั้น เราก็ยังไม่รู้หรอกว่าเราจะทำอะไร แต่เราซาบซึ้งกับมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ เราอยากทำงานสิ่งเหล่านี้ เพราะเรารู้สึกว่า มันมีอัตลักษณ์ และมันยั่งยืน มากกว่าทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกระแสและเทรนด์

แสดงว่าการที่เคยทำงานด้านโฆษณามาก่อน ก็ค่อนข้าง ‘ตกผลึก’ กับด้านนี้มาพอสมควร

ก่อนที่เราจะไปเรียนเมืองนอกนั้น เราเคยทำงานทางด้านโฆษณามาก่อน หลังเรียนจบ ปริญญาตรี ใบแรก (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) คือเราอยู่ในวงการโฆษณามาตลอดชีวิต แต่สิ่งที่เราได้และทำให้เราไม่อยากทำอีก การโฆษณามันคือการกระตุ้นกิเลสและความอยากได้ของมนุษย์ แต่ถามว่ามันขัดกับความเป็นตัวตนของเราหรือเปล่า บอกเลยว่าขัด เพราะว่าเราไม่ชอบแบบนั้น เรามีความรู้สึกว่าคนเราเกิดมามันจะต้องมีคุณค่าในตัวเอง ถามว่าคนเรามันมีเหตุผลในการเกิดทั้งหมด มันไม่ใช่แค่เกิดมาทำงาน กิน ใช้ แล้วก็ตายจากไป เรารู้สึกว่ามันไม่มีคุณค่าไง ดังนั้นการมีคุณค่าในตัวเอง มันจะต้องมีความซื่อสัตย์ลำดับแรก เราเลยรู้สึกว่าวงการโฆษณาไม่ตอบโจทย์สำหรับเราแล้ว เรามองว่ามันเป็นการสร้างบาปทางอ้อม เราไม่อยากทำ


จากที่คุณว่ามา บางทีการโฆษณามันก็ไม่ต้องขนาดนั้นด้วยเช่นกันนะครับ

ในการทำสินค้าตัวหนึ่งมันก็ต้องทำยังไงให้คนอยากซื้อและอยากใช้ ถามว่าจำเป็นไหมมันจำเป็นนะ แต่มันมีวิธีการสื่อสารให้คนซื้อของเรา แต่โดยปกติจากที่เราเรียนมา เขาก็จะสอนทฤษฎีตัวเดียวกัน ว่าถ้าคุณอยากจะทำการตลาดคุณจะต้องใช้หลัก 4P 6P อะไรก็ว่าไป ซึ่งทฤษฎีที่เราเรียนนั้นเราเรียนมาจากหลักสูตรของอเมริกา ซึ่งที่นั่นระบบเศรษฐกิจของเขาจะเป็นลักษณะสังคมนิยมนายทุน พลเมืองทุกคนไม่มีการทำธุรกิจ ทุกคนจะเป็นลูกจ้างหมด ซึ่งต่างจากเมืองไทยที่มีความหลากหลายมาก เพราะว่าเราเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ดังนั้นถ้าคนคนหนึ่งตกงานเขาก็สามารถที่จะทำธุรกิจได้เลย จะเป็นธุรกิจอะไรก็ได้ คือมันมีความหลากหลายในเชิงวัฒนธรรม เราเลยรู้สึกว่าสิ่งที่เราเรียนมาจากที่นั่นนั้นมันไม่สามารถใช้กับเมืองไทยได้

ทีนี้สังคมของเมืองไทย เป็นลักษณะที่ว่า ถ้าเขาซื้อของแล้วชอบ ซึ่งมันจะต้องมีในเรื่องของคุณภาพ การบริการ ความสัมพันธ์ ซึ่งถ้าเราสามารถตอบโจทย์ 3 สิ่งที่เราว่ามาได้ ผู้บริโภคจะให้ของขวัญให้กับเราด้วยการบอกต่อ ซึ่งมีเฉพาะแค่เมืองไทยเท่านั้น ที่อื่นไม่มี คือเราทำธุรกิจอีกแนวนึงไง ถามว่าทำไมแบรนด์อยู่ได้ถึง 10 ปี เพราะตัวตนของเรานั้นไม่ใช่คนที่โกหก เรามีความซื่อสัตย์กับทั้งตัวเองและคนอื่น อย่างเวลาที่เราขายสินค้าเราก็จะอธิบายด้วยข้อเท็จจริง ไม่ใช่แบบอารมณ์ แบบว่าใช้สิ่งนี้แล้วได้แบบนี้ แต่ที่ไม่ได้แบบนี้เพราะคุณเป็นแบบนี้ อารมณ์เหมือนกับหมอที่รักษาคนไข้ เพราะว่าหมอเขารักษาด้วยข้อเท็จจริง การสื่อสารของแบรนด์ก็จะเป็นลักษณะนี้ อีกทั้งมีการบริการและรักษาความสัมพันธ์ได้ดี ซึ่งถ้ามีครบที่ว่าเขาก็จะมีการบอกต่อให้เรา

การที่นำศิลปะในช่วงสมัย ร.5 มาเป็นเมน ในมุมหนึ่งถือว่าเป็นการนำมาจับต้องได้ และสื่อถึงสินค้าด้วยมั้ยครับ

เวลาที่เราทำธุรกิจเราจะต้องหาสิ่งที่มานำเสนอตรงนี้ได้ ซึ่งในยุครัตนโกสินทร์ ช่วงสมัยที่เริ่มต้นการทำการค้ากับต่างประเทศ ก็คือสมัยรัชกาลที่ 5 ที่จะเห็นได้จากทั้งเชิงสถาปัตยกรรมและเชิงพาณิชย์ เพราะในช่วงรัชกาลก่อนหน้านั้นจะเน้นไปแค่จีนกับโปรตุเกส พอเป็นช่วงยุคสมัยนี้จะเน้นไปทางยุโรปซะเยอะ ทั้งถนนราชดำเนินและพระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งมันมีความเป็นสากลและความเป็นไทยด้วย ซึ่ง Concept นี้มันเหมาะกับแบรนด์ของเรา เราก็เลยขออนุญาตใช้การสื่อสารแบบเดียวกัน นั่นคือไทยเทศแต่ก็ยังมีความเป็นไทย ความเป็นอินเตอร์อยู่ และก็ยังมีความคลาสสิค เพราะเราส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังไง

แต่ถามว่าทางลูกค้าจะรับรู้สิ่งตรงนี้ไหม จากที่เราไปออกบูธตามที่ต่างๆ เขาจะมองในลักษณะที่ว่าแบรนด์ของเรามันมีความเป็นอินเตอร์ มันก็ไม่ได้ดูแบบฝรั่งจ๋า เพราะมันก็มีบางอย่างที่เป็นไทยอยู่ เช่น เถาไม้เลื้อย โลโก้หรือว่าตัวอักษร อีกทั้งการออกแบบก็ไม่ได้ยั้วเยี้ยะ ยังเป็นสไตล์ มินิมอลริซึ่ม ไง ไม่ได้มีแบบจัดเต็มทั้งหมด ซึ่งเราคิดว่ามันไม่ใช่ไง เราต้องการแบบว่าเรียบง่ายแต่เท่ ซึ่งมันก็ได้ตามใจต้องการนะ เพราะเราสื่อสารไปในแนวนั้นซึ่งเราก็ได้ตรงนั้นกลับมาด้วย ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่เขาจะรู้ถึงศิลปะตรงนั้นไหม เราคิดว่าคงไม่น่าถึงขนาดนั้นน่ะ


อยากให้แนะนำสินค้าที่ขายดีของทางแบรนด์มา 3 อย่างหน่อยครับ

สินค้าที่ขายดีตัวแรกก็คือแป้งน้ำเย็น และเป็นตัวแรกที่ขายด้วย เพราะว่าก่อนหน้านี้เราตั้งใจที่จะขายสินค้าชนิดนี้อย่างเดียว เพราะว่าที่มาของมันนั้นเริ่มมาจากช่วงเวลา 2-3 ปีที่เราดูแลแม่ที่ป่วย แล้วท่านก็มีผิวที่มีลักษณะแพ้ง่ายเหมือนกับเรา โดนอะไรนิดหน่อยก็ขึ้นผื่น แล้วพี่ชายที่เป็นแพทย์แผนไทย ก็รับเคสดูแลท่าน พี่เขาก็ทำยามาให้ แล้วที่เขาทำมาให้ก็คือแป้งน้ำ ซึ่งตอนนั้นเราก็มีความเข้าใจผิดว่าแป้งน้ำมันก็เหมือนกันทุกยี่ห้อแหละ เราก็มีความสงสัยว่าทำไมไม่ซื้อของในตลาดมาใช้ ทำไมต้องทำเอง เขาก็บอกว่าตอนที่เขาทำนั้นก็จะใส่สมุนไพรเชิงยาลงไปด้วย ซึ่งแตกต่างจากแป้งน้ำทั่วไปที่จะทำให้แค่รู้สึกเย็น มันไม่ได้ช่วยแก้โรค อารมณ์คล้ายๆประมาณคารามาย แต่มันจะมีความอ่อนโยนกว่า พอได้เอามาทาให้ท่านแล้วผื่นก็หายไป เราก็เลยเอามาลองใช้ด้วย ซึ่งปรากฏว่าชอบแล้วก็มีความรู้สึกสงสัยว่าทำไมของดีขนาดนี้คนไม่รู้จัก เราก็เลยคุยกับพี่ชายว่าถ้าทำสินค้าดีขนาดนี้จะทำการตลาดให้ไหม ซึ่งถ้าเราจะทำได้นั้นต้องชอบมันก่อน แล้วก็เราต้องใช้เองด้วย ซึ่งพอตอบโจทย์ตัวเองแล้ว ด้วยความที่เมืองไทยเป็นเมืองร้อน เราเลยคิดว่าแป้งน้ำเย็นน่าจะเหมาะ แม้ว่าปัจจุบันนี้คนจะใช้แอร์แต่ในบางพื้นที่มันก็ยังไม่มี เช่นพื้นที่ป่าหรือพื้นที่โล่งแจ้งต่างๆ มันก็จะมีกรณีที่ไม่ได้อยู่ที่เย็นตลอดเวลา สินค้าตัวนี้เลยตอบโจทย์ที่ว่ามา ซึ่งสินค้านี้ก็เป็นสินค้าที่ขายดีของเราจากวันแรกที่ขายจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

สินค้าตัวที่ 2 เป็นแบล็คแชมพู ซึ่งก็นำสมุนไพรไทยมาเป็นองค์ประกอบด้วยเช่นกัน ในเรื่องของการทำให้รากผมแข็งแรง ก็จะทำให้ผมร่วงช้าลง และตัวที่ 3 คือตัวน้ำมันคลายเส้น ตัวนี้ก็ใช้สมุนไพรมาร่วมด้วยเช่นเดียวกันจะเป็นในเรื่องของการคลายเส้น ซึ่งมันไม่ใช่น้ำมันนวดสปา มันเป็นสูตรของเราทั้งหมดซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของสินค้า ที่คนใช้จะรู้ว่ามันต่างกันจริงๆ แล้วพอเห็นความแตกต่างมันก็เลยทำให้ราคาไม่แพงมาก ก็เลยเป็นสินค้าที่ขายดีมาจนถึงตอนนี้



แล้วเรทราคาสินค้าอยู่ในช่วงประมาณไหน และกลุ่มลูกค้าที่มาซื้อด้วยครับ

ผลิตภัณฑ์ของเราจะมีราคาเริ่มที่ 180 บาท ส่วนราคาแพงสุดจะอยู่ที่ 890 บาท ซึ่งถือว่าราคาไม่แพงเพราะเวลาที่ลูกค้ามาซื้อเป็นเซ็ตราคาก็ไม่ถึง 2,000 บาท ซึ่งถ้าเทียบราคาแล้วผู้หญิงซื้อได้แค่แป้งตลับเดียว แต่ถ้ามาซื้อของเราก็จะได้เป็นเซตกลับบ้านไปเลย ส่วนกลุ่มลูกค้านั้นตอนแรกสุดเรามองว่าเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ เพราะเรารู้สึกว่าผู้ใหญ่น่าจะเข้าใจพวกนี้มากกว่าเด็ก อีกอย่างเราให้แม่ใช้ผลิตภัณฑ์นี้แล้วหาย เพราะผู้ใหญ่ในตอนนี้มีปัญหาในเรื่องของผื่นแพ้คันเยอะ ยิ่งเลยช่วงอายุ 60 ก็จะมีปัญหาที่ว่า แล้วเขาก็จะไม่ค่อยกล้าใช้อะไรที่เขาไม่รู้จัก ซึ่งถ้าเราสามารถทำให้ผู้ใหญ่เชื่อถือในแบรนด์ของเราได้ เขาก็จะมีความภักดีต่อสินค้าสูงมากแล้วก็จะไม่เปลี่ยนเลย

ในขณะที่เด็กนั้นจะเป็นลักษณะที่ไม่นิ่ง จะเป็นลักษณะที่ว่าถ้าแบรนด์ไหนใช้แล้วดีก็จะเปลี่ยนแบรนด์ไปเรื่อยๆ คือเขาจะมีการเปลี่ยนตลอดเวลา อย่างบางครั้งถ้าเราได้ลูกค้ากลุ่มนี้ก็อาจจะได้แค่ครั้งเดียว ถามเขาว่าชอบไหมเขาบอกว่าก็ชอบแต่ว่าก็มีหลายยี่ห้อที่อยากใช้ด้วย ดังนั้นเราก็เลยพยายามหากลุ่มย่อยในตลาดที่มี 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็มีกลุ่มที่มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ จะเป็นลักษณะว่าถ้าเจอแล้วใช่จะไม่เปลี่ยนเลย โดยที่ไม่สนทั้งยี่ห้อและราคา เพราะคนส่วนใหญ่ยังยึดติดว่าจะต้องใช้สินค้าที่มีชื่อเสียง สอง สินค้ายิ่งแพงแปลว่ายิ่งดี แต่ถ้าลูกค้ากลุ่มนี้เคยผ่านลักษณะอย่างที่ว่ามาแล้ว เขาจะมาถึงช่วงที่ว่าไม่ต้องใช้ของมียี่ห้อก็ได้ เขาแค่หาคุณภาพซึ่งราคาจะเท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งถ้าเขาเจอแล้วก็จะไม่เปลี่ยน ซึ่งลูกค้ากลุ่มนั้นก็จะอยู่ในช่วงอายุที่ 35 ขึ้นไป


ผลตอบรับและยอดขายของตัวแบรนด์โดยรวมเป็นยังไงบ้างครับ

เอาเป็นว่าเราอยู่รอดมาได้จนปัจจุบันน่ะ (หัวเราะเบาๆ) โดยที่ผ่านมาทุกเหตุการณ์ ขายได้เรื่อยๆ แต่เราต้องบอกก่อนว่า ถ้าคนทำธุรกิจ เป้าหมายหลักเขาคือกำไร และการขยายธุรกิจให้ใหญ่ที่สุด ให้ได้กำไรและคนรู้จักสูงสุด เราก็รู้จักวิธีที่จะไปให้ถึงสูงสุดนะ แต่เราเลือกที่จะไปอีกเส้นทางหนึ่ง เราขอเลือกไปในทางสเกลเล็กๆ ถามว่าทำไม หนึ่งเราอยากสร้างความสมดุลให้กับชีวิตของเรา เราไม่ได้อยากให้ตัวเองมีชีวิตที่มีแต่งาน เราอยากมีชีวิตส่วนตัวที่จะเดินทางไปที่ต่างๆได้ ฉะนั้นเราเลยต้องหาธุรกิจที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของเรา ดังนั้นลักษณะอย่างนี้จึงเหมาะสม ดังนั้น เป็นคำถามให้กับผู้ใหญ่ท่านอื่นว่า ถ้าไม่ขยายธุรกิจมันจะตันไหม เราเลยบอกว่าทำแค่ร้านเดียวแต่ทำให้มันยั่งยืน ทำให้ลูกค้าติดแบรนด์เราให้ได้ ให้เขาตั้งใจมาหาเรา เพื่อที่จะมาซื้อของที่ร้านนี้ แต่ถามว่ายอดขายที่ร้านสูงมั้ย สูง แต่เทียบกับธุรกิจสเกลเล็กด้วยกันนะ สามารถเลี้ยงคนได้ ไม่ต้องถึงขั้นให้คนออก ส่วนการทำงานก็จะเป็นลักษณะ Online base เราใช้ระบบในการทำงาน

นอกจากสินค้าตัวเดียวแล้วเราก็ทำสินค้าของขวัญสำหรับองค์กรด้วย ดังนั้นแต่ละปีเราจะมีออเดอร์จากองค์กรต่างๆ เข้ามาเยอะ ซึ่งจะเป็นลักษณะเซตสกินแคร์ และเช็ดของกิน ราคาเฉลี่ยก็อยู่ในประมาณ 500 ถึง 1,000 บาทต่อเซ็ท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ดีมากสำหรับกลุ่มลูกค้า เพราะเราจะพยายามให้งานทุกชิ้นที่ทำมือ หมายถึงลักษณะการห่อ เราอยากให้คนรับมีความรู้สึกว่า ของชิ้นนี้มีการตั้งใจทำ อารมณ์เหมือนกับการห่อของขวัญของทางญี่ปุ่น เราอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ Mass ทุกอย่าง เราขายความเป็นศิลปะ การทำมือและศิลปิน ความเป็นของหายาก ในราคาที่ไม่แพง เพราะเราตัดต้นทุนจากการเข้าข้างทั้งหมดทิ้ง ซึ่งเราสามารถตัดต้นทุนไปได้ถึง 50%

จากการนำวัตถุดิบที่เรียกได้ว่ามีส่วนผสมที่มีคุณภาพ ในมุมหนึ่งถือว่าทางตัวแบรนด์ค่อนข้างที่จะใส่ใจต่อกลุ่มลูกค้าได้พอสมควรมั้ยครับ
เขารับรู้ได้ เพราะว่าเรามีลักษณะการทำธุรกิจที่อารมณ์เหมือนเล่าเรื่อง พอเราตั้งแฟนเพจเรียบร้อย เราก็จะเล่าเรื่องในสไตล์แบบไดอารี่บ้าง การเขียนเล่าบ้าง อาจจะมีการเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการขายของบ้าง เหมือนกับถ่ายทอดการนึกคิดของตัวเองโดยตลอด แล้วบางทีการจะทำสินค้า 1 ตัว ลูกค้าก็จะรู้แล้วว่าเราจะทำอะไร แล้วเราก็จะนำเสนอในเรื่องการผลิตทุกขั้นตอนทั้งหมด ทุกคนจะได้รับรู้ตลอดเวลาที่เราทำสินค้าตัวใหม่ เขาจะรู้ว่าเราใช้วัตถุดิบจากที่ไหนอย่างไร ฉะนั้นมันเลยจะเกิดการเฝ้ารอ มีการจอง ซึ่งจะมีความแตกต่างจากยี่ห้ออื่นตรงที่ว่าถ้าเขาทำผลิตภัณฑ์แล้วจะออกขายเลย แล้วก็มีการโปรโมท แต่ของเราจะเป็นเล่าเรื่องที่มาของผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้จนถึงวันที่ขาย

ถ้าจะยกตัวอย่าง หลังจากที่เราทำธุรกิจมา 6 ปี เราก็ลงทุนกับเพื่อนทำธุรกิจกรีนเฮาส์ ออร์แกนิคฟาร์ม เป็นวัตถุดิบและขนมไทย ซึ่งธุรกิจอย่างหลังเราทำร่วมกันมา 3 ปีแล้ว แต่ไม่ได้ขาย แล้วลูกค้าก็เข้ารอว่าเมื่อไหร่จะขาย แต่เราก็มีการเล่าเรื่องตลอดว่าทำอะไรอยู่บ้าง หนึ่ง เราหาวัตถุดิบจากทั่วประเทศ เราไม่ได้ใช้แป้งสำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่งมาแล้วมาทำขนม เรารอวัตถุดิบจากนาข้าวตรงนี้ เพราะงานของเราก็คือต้องช่วยเหลือชุมชนให้มากที่สุด ดังนั้นเราจะเอาวัตถุดิบจากแต่ละที่มาใช้มากที่สุด สอง คือแปรรูปทำขนม เราก็ไปเรียนกับครูที่เก่งที่สุดในประเทศ แล้วเราก็เข้าโครงการนวัตกรรม อารมณ์แบบว่าทุกคนยังรับรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ มันจะเกิดการเฝ้ารอ นี่คือการถ่ายทอดในตัวสินค้าของเรา แล้วพอถึงวันที่ขายของทุกคนก็ทำการซื้อเลย โดยที่ไม่ต้องตั้งข้อสงสัยว่า มันคืออะไรเพราะทุกคนรับรู้มาตลอด ว่าเราทำอะไร


จากการเดินทางของแบรนด์มาเป็น 10 ปีแล้ว ถ้าให้เปรียบเทียบ คิดว่าตนเองเป็นอะไรครับ

เราคิดว่าตัวแบรนด์มันสะท้อนบุคลิกของเรานะ อย่างที่บอกไปว่าชีวิตคนเราเกิดมาแล้วต้องมีความหมาย ดังนั้นถ้าจะคิดทำงาน งานที่ว่าจะต้องมีคุณค่า ทำให้งานนั้นตื่นมาทุกเช้าแล้วอยากทำ ไม่ใช่ทำแบบซังกะตาย รอเงินเดือนออก แม้ว่างานนั้นอาจจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนสูงสุด แต่เป็นงานที่กระตุ้นให้ฝึกทักษะทุกด้านตลอดเวลา ในขณะที่เราทำธุรกิจคู่ขนาน เราก็ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ สมมุติว่าถ้าเราทำอาหารไทยเราก็ต้องไปหอสมุดแห่งชาติ ไปนั่งอ่านหนังสือ ซึ่งในสภาวะปกติ เราจะไม่ได้ไปตรงนี้ แต่เป็นเพราะเนื้องานที่ทำให้เราต้องไป เรามีความสุขไง ในขณะเดียวกันถ้าเราให้ความรู้กับลูกค้า เราก็ต้องหาความรู้มาให้ตัวเองด้วย ฉะนั้นเราจะต้องทำงานหนักเพื่อให้ได้ความรู้ที่ว่ามา เราต้องไปหาผู้ใหญ่ที่มีความรู้เรื่องดังกล่าว ถามและขอความรู้เขา มันเหมือนกับว่า เราทำงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไปด้วย สิ่งนี้มันทำให้เรามีความสุข จากสิ่งที่เราทำมาทั้งหมด และธุรกิจนี้ทำให้เราอยู่ได้ ในขณะเดียวกันถ้าเราไปทำสิ่งอื่นที่ไม่ได้สร้างคุณค่าเลย นอกจากหลอกขายของให้กับลูกค้า สร้างกิเลสให้เขา เราจะไม่มีความสุข

คือจนถึงวันนี้แบรนด์ของเรามีความชัดเจนมากในเรื่องของผลิตภัณฑ์ ว่าเราจะสื่ออะไร ถ้าเทียบสเกลกับยี่ห้ออื่น อาจจะเล็กมาก แต่ในความเล็กนั้น มันแข็งแรงมากเลย ซึ่งเราคิดว่าเราน่าจะเป็นนักเล่าเรื่องวัฒนธรรมนะ (หัวเราะเบาๆ) เล่าเรื่องในส่วนของวัฒนธรรมการใช้ การกิน แล้วผลแห่งการทำสิ่งเหล่านี้ เราได้ผลตอบรับที่กลับมาสูงมาก ก็คือ มีผู้ใหญ่มาสนับสนุนเราเยอะมาก แต่เขาจะไม่บอกกล่าวว่าเป็นใครนะ เขาจะเป็นการสนับสนุนอย่างเงียบๆ แต่ดูจากยอดการสั่งซื้อ หรือ เวลาที่เราออกบูธแล้วเขาเข้ามาหา เรารู้ว่าเขาตามงานเราอยู่ ประมาณว่า เราไปออกบูธที่งานๆ หนึ่ง แล้วมีทูตพาณิชย์เดินมาหา มาบอกว่า ‘ดีใจมากเลยที่ได้ทานพริกกับเกลือ ไม่ได้ทานมาตั้งแต่เด็กเลย ดีใจมากที่ได้กลับมาทาน’ ซึ่งเราก็รู้สึกงงนะว่าทำไมได้รับสารแบบนี้เยอะจัง ซึ่งเขามีการบอกต่อให้เราแบบเงียบๆ แล้วดึงดูดให้บุคคลเหล่านี้ให้เข้ามา เขาตามอ่านในแฟนเพจ ซึ่งมีแบบนี้เยอะมาก ซึ่ง 2 เปอร์เซ็นต์ที่เราบอกไป คิดว่าน่าจะมาถูกทางแล้ว

เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : THLOS



กำลังโหลดความคิดเห็น