“กรมอนามัย” เผยพฤติกรรมการฆ่าตัวตายในประเทศไทย สามารถป้องกันได้ จากความรักและความเข้าใจของคนในครอบครัว เผย คนไทยพยายามฆ่าตัวตายปีละ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน และฆ่าตัวตายสำเร็จปีละ 4,000 คน
วันนี้ (7 พ.ค.) เพจ “Anti-Fake News Center Thailand” ได้ออกมาโพสต์ข้อคว่ามเตือนเกี่ยวกับ “สัญญาณเตือนคนเสี่ยงฆ่าตัวตาย” โดยนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์นี้มาจาก “กรมอนามัย” หลังพบว่าในประเทศไทย มีคนพยายามฆ่าตัวตายปีละ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน ฆ่าตัวตายสำเร็จปีละ 4,000 คน แนะบุคคลใกล้ชิดสังเกต 10 สัญญาณเตือนเสี่ยงฆ่าตัวตาย หากพบต้องรีบเข้าไปพูดคุยรับฟัง ดูแลช่วยเหลือ สามารถป้องกันการฆ่าตัวตายได้ สำหรับสัญญาณเตือนคนเสี่ยงฆ่าตัวตาย มี ทั้งหมด 10 หัวข้อ
(1) ประสบปัญหาชีวิต เช่น ล้มละลาย สูญเสียกะทันหัน
(2) ใช้สุรากับยาเสพติด
(3) มีประวัติคนในครอบครัวเคยฆ่าตัวตาย
(4) แยกตัว ไม่พูดกับใคร
(5) นอนไม่หลับเป็นเวลานาน
(6) พูดจาด้วยน้ำเสียงวิตกกังวล หน้าตาเศร้าหมอง
(7) มีอารมณ์แปรปรวน จากซึมเศร้าเป็นเวลานาน กลับสบายใจอย่างผิดหูผิดตา
(8) ชอบพูดว่าอยากตายหรือไม่อยากมีชีวิตอยู่
(9) เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน
(10) มีการวางแผนการฆ่าตัวตายไว้ล่วงหน้า
ซึ่งทางเพจได้ระบุข้อควม ถึงแนวทางการป้องกันไว้ว่า “แนวทางป้องกันการฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้จากบุคคลรอบข้าง ครอบครัว ญาติ เพื่อนสนิท คนใกล้ชิด ชุมชม และสังคม การดูแลจิตใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ การพูดคุยซักถาม รับฟัง ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่กำลังมีปัญหาอย่างใส่ใจ ให้คลายจากความเศร้า ความกังวล เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเคยทำร้ายตนเองมาก่อน จะต้องคอยดูแลใกล้ชิด ช่วยเหลือประคับประคองจิตใจ หรือพาไปรับการรักษากับแพทย์ เช่นเดียวกับในรายที่มีความเครียดหรือมีอาการซึมเศร้า ซึ่งจะมีทั้งการใช้ยารักษา โดยต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง และการให้การปรึกษาทางจิตวิทยา เพื่อเปลี่ยนความคิดและมุมมองก็จะช่วยได้”
ทั้งนี้ หากญาติหรือประชาชนท่านใด มีข้อสงสัยสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง