กรมสุขภาพจิต เปิดตัวโปรแกรมดูแลจิตใจปรับสู่วิถีชีวิตใหม่ ลดเครียด วิตกกังวลจากโควิด-19 เน้นฝึกสติ-สมาธิ ฝึก 8 ครั้ง 8 วัน วันละ 20-30 นาที แนะทำทุกวันช่วยจิตใจเข้มแข็ง ปรับสมดุลชีวิตได้
วันนี้ (6 พ.ค.) นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงโปรแกรมการดูแลจิตใจด้วยตนเอง เพื่อปรับเข้าสู่ฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ว่า จากนี้ไปเราอาจต้องมีการเปลี่นแปลงดำเนินชีวิตเพื่อให้เหมาะสมสถานการณ์ และลดความเสี่ยงการติดเชื้อโรคโควิด-19 แต่หลายคนคิดว่า ทำแล้วชีวิตจะดีขึ้นจริงหรือ ทำให้ชีวิตหายเครียดจริงหรือไม่ แต่คิดว่าการที่เราทำวิถีชีวิตใหม่จะเกิดความสุขไม่ได้หากขาดสิ่งที่เรียกว่า สุขภาวะ คือ การมีความสุขสมบูรณ์ทั้งกายและใจ จะเกิดขึ้นได้เกิดจากการที่เราสามารถจัดการเวลาและตนเองได้ คนเราจะมีร่างกายที่แข็งแรงต้องประกอบด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
“จิตของเราปกติจะชอบล่องลอย ฟุ้งซ่าน วอกแวก แต่กายของเราจะตรงข้าม คือ อยู่นิ่งๆ ชอบอยู่เฉยๆ ไม่ชอบเหนื่อย ไม่ชอบลำบากตรากตรำ ถ้าเราจัดการสองสิ่งนี้ไม่ได้ ไม่ทำให้เกิดความสมดุลจะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา จริงๆ กิจวัตรคนเราอย่างน้อยมี 5 ด้าน คือ 1. การดูแลสุขภาพ เช่น ออกกำลังกาย 2. การพักผ่อนหย่อนใจ 3. การมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เพื่อน สังคมอื่นๆ 4. การทำงานการเรียนรู้สิ่งใหม่ และ 5. การรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ขาดสิ่งใดไปจะขาดความสมดุลของร่างกายและจิตใจ และเกิดปัญหาตามมา เช่น เนือย นิ่ง เฉา เครียด เบื่อ เหงา เป็นต้น” นพ.จุมภฏ กล่าว
นพ.จุมภฏ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้กรมสุขภาพจิตจึงพัฒนาโปรแกรมการดูแลจิตใจตนเองเพื่อปรับตัวสู่ฐานวิถีชีวิตใหม่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งจิตใจฟันฝ่าอุปสรรคต่อไปได้ ด้วยการฝึกสติและสมาธิ ซึ่งคนอาจมองว่าเป็นธรรมะ แต่เราเน้นเรื่องของวิทยาศาสตร์ ซึ่งสติคือการมีใจจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่วอกแวก ทำงานได้ราบรื่นไม่หลงลืม ส่วนสมาธิคือมีจิตใจจดจ่อขณะที่เราพัก โดยรูปแบบกิจกรรม สามารถฝึกตามได้ มีทั้งหมด 8 ครั้ง 8 วัน วันละ 20-30 นาที หลังจากนั้น ควรฝึกทุกวันเพื่อให้เป็นวิถีชีวิต โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ 1. กลุ่มคนที่สงสัยว่าติดเชื้อ ต้องกักกันตัวอยู่ในบ้าน 14 วัน 2. กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการไม่รุนแรง ที่กักตัวเอง 14 วัน 3. กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ยังทำกิจกรรมต่างๆ ได้ 4. กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการรุนแรงมาก ที่รักษาตัวในห้องไอ.ซี.ยู. เมื่อพ้นจากอาการรุนแรงยังต้องฟื้นฟูอยู่ในโรงพยาบาล 5. เจ้าหน้าที่ที่มีความเครียดจากภาระงานและความเสี่ยงที่เพิ่มอย่างมาก และ 6. ประชาชนทั่วไปที่สนใจ
นพ.จุมภฏ กล่าวว่า โปรแกรมการดูแลจิตใจนี้ ประกอบด้วย วันที่ 1 ฝึกสมาธิใช้การรับรู้ลมหายใจ เพื่อหยุดความคิด ช่วยลดความว้าวุ่นใจ
วันที่ 2 ฝึกสติพื้นฐาน ใช้การรับรู้ลมหายใจไว้เล็กน้อยและรับรู้สิ่งที่กำลังทำ เพื่อช่วยให้ทำกิจต่างๆ โดยไม่รับและแพร่เชื้อโควิด-19
วันที่ 3 สติในการกิน มีสติในการกินช่วยให้เราดูแลสุขภาพได้ดีและปลอดภัยจากโรค
วันที่ 4 สติควบคุมอารมณ์ มีสติรับรู้อารมณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอารมณ์ลบและช่วยจัดการกับอารมณ์ลบที่เกิดขึ้น
วันที่ 5 สติใคร่ครวญ สติในการรู้เท่าทันความคิดและใคร่ครวญ เราได้อะไรจากวิกฤตเปลี่ยนความคิดลบเป็นความคิดบวก
วันที่ 6 สติสื่อสาร มีสติในการฟัง และ พูด ช่วยให้สื่อใจถึงใจกับคนใกล้ชิด
วันที่ 7 สติเมตตาให้อภัย ใช้ใจที่สงบเผื่อแผ่ความรักความปรารถนาดีให้กับตนเองและผู้อื่น ช่วยให้ใจเปิดกว้าง แม้ในยามวิกฤต
วันที่ 8 สติเป็นวิถี แนะนำการฝึกอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้มแข็งในจิตใจเรา และเป็นพลังใจให้ผู้อื่น
“ประโยชน์ที่จะได้รับ คือ จะสามารถปรับตัวและจิตใจในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้อยู่ในระดับสมดุล ลดความเครียดความวิตกกังวล สามารถทำกิจกรรมในแต่ละวันได้อย่างปกติด้วยสติซึ่งช่วยป้องกันการรับเชื้อโรคและการแพร่ระบาดของเชื้อโรคสู่ผู้อื่นในวงกว้างต่อไป โดยช่องทางการเข้าใช้งานโปรแกรม ได้แก่ เว็บไซต์กรมสุขภาพจิต https://www.dmh.go.th/covid19 เว็บไซต์ห้องสมุดกรมสุขภาพจิต https://www.thaidmh-elibrary.org/videocovid19 รวมไปถึงยูทูปและเฟซบุ๊กของกรมสุขภาพจิต” นพ.จุมภฏ กล่าว