xs
xsm
sm
md
lg

หมอแชร์ประสบการณ์ รพ.ขอนแก่น สร้างห้องไอซียูรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เสร็จใน 2 สัปดาห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.สุรพันธ์ เจริญธัญรักษ์ ของโรงพยาบาลขอนแก่น โพสต์ข้อความกรณีที่ทางโรงพยาบาลทำห้อง ICU COVID-19​ full negative​ pressure system ใช้สำหรับรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 5 ห้อง ใช้เวลา 2 สัปดาห์ ในการสร้าง พร้อมขอบคุณ​น้ำใจจากทุก​ๆ คน

วันนี้ 5 พ.ค. เฟซบุ๊ก “Suraphan Charoentanyarak” หรือ นพ.สุรพันธ์ เจริญธัญรักษ์ อายุรแพทย์โรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลขอนแก่น โพสต์ข้อความถึงกรณีเชื้อไวรัสโควิด-19 ในการทำห้อง ICU COVID-19​ full negative​ pressure system แยก 5 ห้องเสร็จ ใช้เวลา2 สัปดาห์ในการสร้าง โดยผู้โพสต์ระบุว่า

“แชร์ประสบการณ์​เกิน 8 บรรทัด​ ICU covid-19​ Negative​ pressure​ รพ.ขอนแก่น ทำไม่เราสร้างเสร็จเร็ว? คนทั่วไปคิดว่าเราใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการสร้าง เวลา 2 สัปดาห์เสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่อยู่บนผิวน้ำ แต่เวลาในการเตรียมการ คือ ฐานที่จมอยู่ใต้น้ำ ผมคิดมาตลอดว่า รพ.ขอนแก่น เป็น รพ.ต่างจังหวัด ถ้ามีการระบาดไปทั่วประเทศ การช่วยเหลือของรัฐบาล​และประชาชนส่วนใหญ่จะระดมไปที่ กทม. น้อยคนจะมาคิดถึงต่างจังหวัด ดังนั้นเราต้องขยับเตรียมการให้เร็วกว่าคนอื่น

เตรียมการ
ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดที่จีน เดือนธันวาคม มาถึงกลางเดือนมกราคม มีคนไข้รายแรกในไทย ผมก็เริ่มศึกษาหาความรู้ว่ามันเกิดอะไรกันแน่ในจีน อ่านข้อมูลจากจีนว่าเขาทำอะไรกัน จัดการ รพ.อย่างไร

เดือน ก.พ. เริ่มมีคนไข้ในไทยเยอะขึ้น ช่วงเดียวกับที่จ่าคลั่งกราดยิงโคราช ผมก็เริ่มคิดว่าถ้าขอนแก่นมีการระบาดจะจัดการอย่างไร​ คนส่วนใหญ่มองไปที่ ยาหรือ วัคซีน​ ซึ่งยังไม่มีหลักฐานว่ายาตัวไหนลดอัตราการตายได้ การรักษาส่วนใหญ คือ รักษาประคับประคอง​อาการ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญในการสู่กับโรคนี้ คือ สถานที่​ในการรักษา ต้องปลอดภัยต่อคนทำงานและผู้ป่วยคนอื่นๆ เราจำเป็นต้องมีห้อง Negative pressure ซึ่งเดิมทีเรามีอยู่แล้วกระจายอยู่ในหอผู้ป่วยปกติ ซึ่งไม่ตอบโจทย์​สำคัญโรคนี้ มันต้องแยกออกมาจากหอผู้ป่วยปกติ แยกอุปกรณ์​ที่ใช้ ในการรักษาแยกทีมพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย เราต้องมองหาสถานที่ใหม่

กลางเดือน ก.พ. ผมสำรวจความเป็นไปได้ ว่าใน รพ.ตรงไหนที่จะเหมาะสมที่สุดต้องเป็นตึกที่แยกออกมา ทางเข้าออกเดียวควบคุม​ได้ ปิดแยกตึกออกมาแล้วผล กระทบน้อยสุด ก็มาจบตรงตึกอาคารผ่าตัด มี icu ศัลยกรรม​ และ Icu CVT เก่า คิดไปถึงว่าถ้าการระบาดเอาไม่อยู่ก็พร้อมจะดัดแปลงห้องผ่าตัดขยายเป็น icu ต่อไป

รอเวลา
แต่สิ่งที่เราคิดทั้งหมด เราต้องรอเวลา ไม่สามารถไปบอกใครได้ ในช่วงกลางเดือน ก.พ. ถ้าบอกไปก็จะหาว่าเราบ้าคิดมากไป
เดือน มี.ค. เป็นเวลาที่เหมาะสม ขอนแก่นเราเริ่มมีคนไข้ กทม.เริ่มมีปัญหาจากทองหล่อ และ สนามมวย ตอนนี้ เราค่อยๆ หาแนวร่วม อธิบายแนวคิดเราให้ คนที่เกี่ยวข้อง คนที่ได้รับผลกระทบต่อแผนปิดตึกสร้างห้อง จนสถานการณ์​การระบาดถึงจุดที่ตึงเครียด​ เข้าพบผู้บริหารเสนอแนวคิดที่วางไว้ ทุกคนเริ่มคล้อยตามตกลงทำตามแผนที่เราวางไว้

หาเงิน
เมื่อผู้บริหารตกลง กับแนวคิด ต่อมาคือหาเงิน การสร้างด้วยเงินระบบราชการ​ปกติ กว่าจะได้สร้างใช้เวลาเป็นปี เราไม่มีเวลาขนาดนั้น ต้องให้เงินบริจาค มาหลายทาง เราโชคดีที่หาผู้บริจาครายใหญ่สนับสนุนในโครงสร้างแต่ละส่วน แต่ยังไม่พออยู่ดี เราจึงต้องใช้เงินมูลนิธิ​ ขอเงินบริจาคจากประชาชน ผอ.อนุญาต​ให้เปิดบัญชีรับบริจาคตรงเข้ามา เรารอให้เงินครบก่อนไม่ได้ ผู้บริหารก็กล้าให้เราดำเนินการไปก่อน เรารู้ว่าเสี่ยงที่จะหาเงินได้ไม่ครบมีโอกาสสร้างค้างไว้เหมือนโบสถ์​วัดรอเงินถอดกฐิน แต่เมื่อลูกศรหลุดออกจากเกาทัณฑ์เราต้องเดินหน้่าเท่านั้น วันที่ 30 มีนาคม เราก็เริ่มดำเนินการสร้างปรับปรุงห้อง negative​ pressure​

เตรียมอุปกรณ์​
พอแนวคิดการสร้าง ICU covid ได้รับการยอมรับ อุปกรณ์​ที่ใช้ใน ICU เราต้องแยกออกมาจากผู้ป่วยปกติ อุปกรณ์​หลายอย่างต้องจัดหามาใช้เฉพาะในการดูแลผู้ป่วยcovid อุปกรณ์​การสื่อสารที่ต้องเพิ่มขึ้นมา
ใช้อุปกรณ์​เก่าที่มี list รายการอุปกรณ์​ที่ต้องหาซื้อเพิ่มออกมา ใน Google sheet โทร.หาบริษัทตัวแทนที่ขาย ต่อรองราคา ขอ spec ใบเสนอราคา ลงรายละเอียดของแต่ละชิ้นไว้ ทั้งๆ ที่เรายังไม่มีเงินที่จะซื้อ
หลังจากนั้นก็ขอบริจาค ใครสะดวกจะบริจาคงบประมาณเท่าไร เรามีข้อมูลพร้อมก็เสนอใบว่าเราอยากได้ของชิ้นนี้งบพอดีกับที่ผู้บริจาคสามารถช่วยได้ ถ้าไม่บอกไปประชาชนคนส่วนใหญ่ก็รู้จักแต่เครื่องช่วยหายใจ

ประสานงาน
การสร้างห้อง ICU ไม่ใช่จ้างช่างบริษัท​เดียวมาทำเซ็นสัญญา​แล้วจบ ต้องใช้ช่างหลายหลายด้าน ช่างระบบอากาศ ช่างไฟฟ้าน้ำ ช่างระบบlan wifi ช่างระบบสื่อสารCCTV intercom ช่างติดตั้งอุปกรณ์​ทางการแพทย์​ ทั้งหมดต้องวางแผนเซ็นสัญญา​จ้าง ดูแบบแปลน ผ่านช่าง รพ.อีกทีส่งไปฝ่ายบริหารอนุมัติ​งบประมาณ​ ต้องวางแผนการเข้างานของช่างทุกด้านให้พอดีที่สุดเพื่อให้งานเสร็จเร็วที่สุด เป็นหมออยู่ดีๆ กลายเป็นผู้รับเหมาไปแล้ว

ไม่ลังเล
รพ.ขอนแก่น เราไม่มีการลังเลใจ ว่าจะต้องรับผู้ป่วยโควิดจริงหรือไม่ เพราะเราต้องรับแน่ๆ ต้องรับเป็นที่แรกในจังหวัดขอนแก่น ต่างจาก รพ.อื่นๆ ที่คิดว่าจะรับโควิดถ้ามีคนไข้เยอะเกินศักยภาพ​รพ.ขอนแก่นไปแล้ว งานเตรียมการทุกอย่างทำต่องทำเร็วที่สุด ประชุมวันละ 4-5 รอบ วิ่งเตรียมการทั้งวัน โทรศัพท์​สายไหม้ชาร์จ​แบตวันหนึ่งสามรอบ หมดค่าโทร.ไปเป็นพัน ตอบ line จนตะคริว​กินนิ้ว

ประชาชน​
สิ่งที่สำคัญ​ที่สุด คือ คนขอนแก่นคนไทยช่วยกันเติมที่ในทุกๆ ด้านไม่ใช่แค่เรื่องบริจาคเงิน ใครสามารถทำอะไรได้เสนอตัวเข้ามาช่วยจนผมตอบโทรศัพท์​ FB Line ไม่ทัน ขอบคุณ​น้ำใจจากทุก​ๆ คน

30 มีนาคม ถึง 14เมษายน เราทำ ICU COVID-19​ full negative​ pressure system แยก 5 ห้องเสร็จย้ายผู้ป่วยเข้าวันที่ 15 เมษายน 1 พฤษภาคม เราทำห้อง ICU ส่วนที่ 2 เสร็จเพิ่ม 8 เตียงเสร็จเหลือส่วนที่ 3 อีก 12 เตียงเสร็จในเดือนหน้า”




กำลังโหลดความคิดเห็น