เพจหมอเวร ออกมาให้ความรู้หลังมีกระแสข่าวถึงสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ว่า ถึงรักษาหายก็สามารถกลับมาเป็นได้อีก โดยระบุว่า หากร่างกายแข็งแรงก็จะมีภูมิคุ้มกันโรคนี้ไปอีกหลายเดือนถึงเป็นปี แต่ถ้าร่างกายอ่อนแอสามารถเป็นซ้ำได้ โดยแนะอย่าตื่นตระหนกเรื่องนี้ยังสรุปไม่ได้แน่นอน ต้องศึกษากันอีกเยอะ
วันนี้ (14 เม.ย.) เพจ “หมอเวร” ได้โพสต์อธิบายข้อสงสัยของประชาชน กับกระแสข่าวถึงสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ในช่วงนี้ โดยระบุว่า “ทำไมมีข่าวว่าคนไข้ที่ติด COVID-19 บางคนหายแล้วแต่ดันกลับมาติดเชื้ออีกรอบได้นั้น เพื่อที่ทุกคนจะเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง หมอต้องขอเล่าย้อนไปถึงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ชื่อ IgM และ IgG เสียก่อน คือ ปกติเวลาร่างกายเจอกับเชื้อโรคเนี่ย ภูมิคุ้ม IgM คือ ภูมิคุ้มกันชนิดแรกที่ร่างกายส่งออกมาต่อสู้กับเชื้อโรค เอาให้เห็นภาพง่ายๆ IgM ก็เปรียบเหมือนกับ รปภ.ในหมู่บ้าน เชื้อโรครับบทเป็นโจร และเจ้าของบ้านเป็นภูมิคุ้มกันนะ
ถ้าวันไหนมีโจรเข้าบ้าน รปภ. IgM ก็คือ หน่วยแรกที่ออกมาปฏิบัติหน้าที่นั่นเอง ซึ่งไม่ได้เจอเชื้อแล้วออกมาเลยนะ ต้องหยิบไฟฉาย และถีบจักรยานมาแบบเนิบๆ ซึ่งถ้าเป็นเวลาจริงระยะเวลาที่ร่างกายสร้างภูมิชนิดนี้ขึ้นมาจะใช้เวลาประมาณ 5 วัน IgM ถึงจะเดินทางไปจับโจรได้ ทีนี้ถ้าวันนึงโจรมันแกร่งมากจน รปภ. IgM สู้ไม่ไหว ก็ต้องขอกำลังเสริมเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาช่วย
โดยตำรวจภูมิคุ้มกันชุดหลังที่ออกมานี้ เราจะเรียกกันว่า IgG แน่นอนล่ะ ตามละครไทยเราก็เห็นๆ กันอยู่ว่าตำรวจมักโผล่ออกมาท้ายสุดอยู่แล้ว ฉะนั้นกว่าตำรวจจะมาเจอโจรได้ ก็ใช้เวลาเตรียมตัวราวๆ 2 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย
ซึ่งหลังปราบโจรเสร็จ พี่จ่า IgG ก็จะอยู่ลาดตระเวนในหมู่บ้านต่อไปอีกหลายเดือนหรืออยู่ต่ออีกเป็นปีเลยทีเดียว
โดยการติดเชื้อซ้ำ คาดเดาว่า มี 2 กรณีด้วยกัน กรณีที่ 1 ต้องรู้ก่อนยามหมู่บ้าน หรือตำรวจ ของแต่ละคนเนี่ย ความสามารถมันไม่เท่ากันหรอกนะ ถ้าบางคนร่างกายอ่อนแอมาก ทำให้ภูมิคุ้มกันตำรวจที่กระจายในหมู่บ้านมีไม่มากพอนัก พอเชื้อมันบุกมาละรอกสองก็ต้านไม่อยู่ ทำให้ติดเชื้อซ้ำได้อีกรอบนั่นเองคือด้วยความที่มันเป็นโรคใหม่ด้วยแหละ เลยไม่รู้ว่าภูมิที่มันขึ้นเนี่ย มันจะอยู่นานแค่ไหน หรือต้องมีภูมิสูงแค่ไหนถึงจะกันเชื้อได้ อันนี้ยังอยู่ในช่วงที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป
กรณีที่ 2
เชื้อตัวนี้มันมีหลายสายพันธุ์ มันก็อาจเป็นไปได้ว่าภูมิคุ้มกันของสายพันธุ์ที่เราเพิ่งติดเชื้อไปล่าสุด มันอาจป้องกัน COVID-19 อีกสายพันธุ์นึงไม่ได้ อารมณ์เหมือนไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ เป็นแล้วเป็นซ้ำอีกได้ แต่จะไม่เป็นสายพันธุ์เดิมซ้ำอะไรแบบนั้น
แต่เรื่องนี้ยังสรุปไม่ได้นะ ต้องศึกษากันอีกเยอะว่าตกลงภูมิที่มี มันกันได้หรือไม่ได้กันแน่
ทั้งนี้ ซึ่งถ้าใครติดเชื้อ COVID-19 และรักษาจนหายดีแล้ว คนๆ นั้นอาจจะมีภูมิคุ้มกันตำรวจ IgG อยู่ในร่างกายฝังไปอีกหลายเดือนจนถึงเป็นปีอย่างที่บอกในตอนต้น ทำให้ช่วงนี้เราเลยเห็นสธ.และกาชาดเชิญชวนให้ผู้ป่วยที่หายดี มาบริจาคพลาสมาเพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยที่อาการหนักนั่นเอง คือ วิธีนี้เค้าเรียกว่า convalescense plasma ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบันนอกเหนือไปจากวิธีอื่นที่เคยได้ยินกันมา หลักการก็ไม่ยากเลย เอาภูมิคุ้มกันที่อยู่เลือดของผู้ป่วยที่หายดีแล้ว ส่งตรง EMS เข้าร่างกายของคนป่วยที่ยังสร้างภูมิคุ้มกันเหล่านี้ในร่างกายไม่ได้ เค้าเลยส่งตำรวจ IgG แบบสำเร็จรูปไปจัดการแทน อารมณ์เหมือนเซรุ่มต้านพิษงูนั่นแหละ เข้าไปแล้วทำงานได้เลย ไม่ต้องรอร่างกายสร้างอีก มันเลยช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ให้ผู้ป่วยที่อาการหนักให้มีโอกาสรอดมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ใครอ่านแล้วถ้ารู้ว่าตัวเองยังไม่ป่วย ยังไม่หาย ก็ไม่ต้องไปบริจาคพลาสมาหรอกนะ เพราะเราไม่ได้มีภูมิต้านทานอะไรกับเค้าเลย ส่วนคนที่ป่วยจนหายแล้ว ไม่มีอาการอะไร รวมถึงกักตัวต่ออีก 14 วันจนครบแล้ว อันนี้ก็อยากเชิญชวนให้มาบริจาคพลาสมากันนะ “เพราะคุณคือความหวังของผู้ป่วยทั่วประเทศเลยล่ะ”