xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการนิด้าไขข้อข้องใจ ทำไมรัฐบาลต้องประกาศเคอร์ฟิว แก้ปัญหาโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) NIDA ออกมาโพสต์ข้อความ อธิบาย 4 สาเหตุที่ทำให้ทางรัฐบาลต้องประกาศเคอร์ฟิว

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) NIDA โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Warat Karuchit ตอบคำถาม 4 ข้อ เกี่ยวกับกรณี นายกรัฐมนตรี ประกาศเคอร์ฟิว เพื่อแก้ปัญหาการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 หลังมีชาวเน็ตจำนวนมากตั้งคำถามชวนปวดหัว ว่า เชื้อไวรัสไม่ทำงานในช่วงเวลากลางคืนเหรอ จึงต้องสั่งเคอร์ฟิว ในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. ซึ่ง ผศ.ดร.วรัชญ์ ได้ระบุข้อความอธิบายตามความเข้าใจของตัวเองว่า

“1. ถ้าถามผม ผมก็ขอตอบว่า เรายังอยู่ในสถานการณ์ที่คุมอยู่นะครับ (แค่คุมอยู่นะครับ ยังไม่ใช่เอาอยู่) สองสามวันมานี้ แม้ว่าดูเหมือนเรามีผู้ป่วยต่อวันเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อย แต่เมื่อเปรียบเทียบดูเป็น % แล้ว จะอยู่ในเลขตัวเดียว หรือสิบต้นๆเท่านั้นเอง และลดลงมา 4 วันต่อเนื่องแล้ว (อย่างวันนี้ก็แค่ 5%) (ดูรูป) ไม่เหมือนประเทศทึ่คุมไม่อยู่ ที่อัตราผู้ติดเชื้อใหม่จะมากกว่าเส้นตัดที่ 33% คือ การเพิ่มแบบทวีคูณ หรือ exponential ดังนั้น ข้ออ้างที่บอกว่า ต้องใช้เคอร์ฟิวเพราะเราคุมไม่อยู่นั้นตอบเลยว่า “ไม่จริง” (ผมพูดเองนะ)

2. แต่แม้อัตราการเพิ่มผู้ติดเชื้อจะไม่พุ่งขึ้น แต่การเพิ่มวันละร้อย ก็ไม่ใช่เรื่องดีแน่ แค่ประคองตัวไปได้ ไม่ให้รักษาไม่ทันเท่านั้นเอง หากมี cluster ใหม่ขึ้นมาตู้มเดียว ก็พลิกผันเลย เราประมาทไม่ได้จริงๆ ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นเพื่อพยายามกดตัวเลขลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่คำนึงถึงผลกระทบรอบด้านด้วย (แค่นี้คนก็บอกว่าจะอดตายก่อนติดเชื้อแล้ว) ซึ่งหนึ่งในทางเลือกนั้นก็คือการประกาศเคอร์ฟิว โดยที่เริ่มจากตอนกลางคืนก่อน ก็เป็นเพราะกระทบความเป็นอยู่ของคนน้อยที่สุด ซึ่งคนที่อยู่ตอนกลางวันจำนวนมาก ก็เป็นพวกที่ปฏิบัติตามดีเป็นส่วนใหญ่ และมีกฎระเบียบของสถานที่ต่างๆ บังคับอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าท่านไม่รู้สึกเดือดร้อนกับเคอร์ฟิว ก็แสดงว่าท่านทำตัวดีอยู่แล้ว รีบกลับบ้าน ไม่ไปมั่วสุมที่ไหน แต่การกำหนดเคอร์ฟิวตอนกลางคืน ก็เพื่ออุดช่องโหว่สำหรับพวกที่ไร้วินัย ออกไปจับกลุ่มกันตอนกลางคืน ไม่มีร้านอาหาร ผับ บาร์ ก็ไปรวมกันหน้าเซเว่น หรือไปมั่วสุมกันบ้านเพื่อน อะไรแบบนี้ ซึ่งเป็นพวกที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิด cluster ขึ้นใหม่ ต้องเก็บกวาดพวกเหล่านี้ก่อน

3. นอกจากนั้น ตอนกลางคืนยังน่าจะมีการดูแลได้ยากกว่า มีกำลังคนน้อยกว่า ไม่มีคนทั่วไปช่วยกันดูช่วยกันเตือน โอกาสที่จะทำผิดกฎหมายในการมั่วสุมก็มีมากขึ้น ได้ยินข่าวมั้ยครับที่แอบไปตีไก่กันตอนกลางคืนในป่า นัดปาร์ตี้ยากัน

นอกจากนั้น การ curfew ตอนกลางคืน ยังช่วยลดภาระของแพทย์จากเรื่องอุบัติเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ด้วย พวกว่างงานรวมตัวกันก๊งเหล้า ขากลับก็เกิดอุบัติเหตุอีก

4. ทำไมไม่ lock down เลย อันนี้ผมก็เดาอีก ว่า คำตอบง่ายๆ ก็คือ เค้าประเมินแล้วว่า “มันยังไม่จำเป็น” ไง (ซึ่งเค้า นี่ก็ไม่ใช่ลุงตู่ แต่เป็นคณะแพทย์ที่ปรึกษา) เมื่อเทียบกับผลกระทบที่จะตามมา มันยังไม่ถึงขั้นนั้น และมันก็ไม่ได้การันตีว่า ถ้า lock down แล้วจะจบจริงมั้ย มีหลายประเทศก็ดูเหมือนจะไม่เวิร์ก เช่น อิตาลี อินเดีย ยิ่งล็อกคนอาจจะยิ่งต่อต้านและควบคุมยากขึ้นไปอีก กลายเป็นปัญหาใหม่ขึ้นมา แต่ curfew นี่คือ สิ่งที่สามารถไปใช้กับทุกพื้นที่ได้เป็น minimum ให้มีกรอบไว้ แต่ว่าแต่ละจังหวัดก็มีอำนาจในการจะเข้มกว่านี้ได้ตามแต่สถานการณ์ (เช่น ภูเก็ต) แต่ถ้าขืน curfew ทั่วประเทศ ยังมีอีกตั้งหลายจังหวัดที่เค้าก็ทำดีอยู่แล้ว เช่น ลำปาง ของ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ แต่ต้องมาโดนผลกระทบไปด้วย ก็ไม่แฟร์

ถ้าใครขี้เกียจอ่านทั้ง 4 ข้อ ผมสรุปสั้นๆ เลย คุณจำ ศอฉ. ได้ป่าว ก็นั่นแหละครับ นโยบายเดียวกัน “จากเบาไปหาหนัก” เริ่มต้นที่เบาก่อน ถ้าเบาจบก็ดี แต่ถ้าไม่จบ ก็ค่อยเริ่มกระชับพื้นที่ ค่อยๆ เพิ่มความร้อนแบบไม่ให้รู้ตัว และถ้าตัวเลขพุ่งด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม ก็รับรองว่าเราได้เจอของหนักแน่

ดังนั้น พวกที่บ่นกันตอนนี้ว่า เบาจัง เบาจัง นั่นแหละคือเข้าทางลุงตู่แล้วล่ะ บ่มให้ได้ที่ก่อน เวลาปิดจริงๆ จะได้พูดไม่ออก อ้าว ตรูเป็นคนเรียกร้องเองนี่ฝ่า 555”




กำลังโหลดความคิดเห็น