xs
xsm
sm
md
lg

ใหม่! รถเมล์ฟรีเชื่อมรถไฟฟ้า “BMA Feeder” ผ่านตรงไหน จะขึ้นยังไงบ้าง ที่นี่มีคำตอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทม. เปิดทดลองเดินรถชัตเติลบัส “BMA Feeder” เชื่อมไปยังสถานีรถไฟฟ้า นำร่องสายใต้ใหม่ (ตลิ่งชัน) ไปสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส บางหว้า ตั้งแต่ตีห้าถึงสามทุ่ม ลงทะเบียนเพื่อเช็กรถแบบเรียลไทม์

... รายงานพิเศษ โดยทีมข่าวโซเชียลมีเดีย MGR Online

วันนี้ (17 มี.ค.) เป็นวันแรกที่กรุงเทพมหานคร จะเปิดโครงการความร่วมมือทดลองให้บริการเดินรถ Shuttle Bus เพื่อนำส่งผู้โดยสารเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนหลัก (ระบบราง) หรือเรียกว่า “บีเอ็มเอ ฟีดเดอร์” (BMA Feeder)

นำร่องเส้นทางแรก “สาย B1” สถานีขนส่งสายใต้ใหม่-สถานี BTS บางหว้า เพื่อให้เป็นระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ระบบรอง ที่ให้บริการเสริมในส่วนที่ระบบหลักครอบคลุมไปไม่ถึง

โดยจะรับผู้โดยสารจากจุดขึ้น-ลงที่กำหนด ไปยังสถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุด เพื่อแก้ปัญหาการเชื่อมต่อการเดินทางในเส้นทางหลักที่ยังไม่มีบริการขนส่งมวลชนอื่นๆ รองรับ และช่วยลดปัญหาการจราจรได้


สาย B1 สถานีขนส่งสายใต้ใหม่-สถานี BTS บางหว้า เที่ยวไป เริ่มจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ (ตลิ่งชัน) บริเวณที่หยุดรถประจำทาง แวะรับผู้โดยสารที่เนติบัณฑิตยสภา ถนนกาญจนาภิเษก แล้วตรงไปยังสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส บางหว้า (ทางออก 1 และ 2)

เที่ยวกลับ จากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส บางหว้า แวะส่งผู้โดยสารที่ตลาดดอกไม้ ตรงไปยังสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ (ตลิ่งชัน) ไม่แวะจอดรับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างทาง

เบื้องต้น รถโดยสารที่นำมาใช้ เป็นรถปรับอากาศสีฟ้า (ปรับปรุงสภาพ) จากบริษัทเอกชน จำนวน 4 คัน และมีจอดสำรองอีก 1 คัน

โดยจะให้บริการฟรี ตั้งแต่เวลา 05.00-21.00 น. ประชาชนสามารถลงทะเบียนทดลองใช้ผ่านเว็บไซต์ แล้วจะได้รับรหัส เพื่อตรวจสอบตำแหน่งรถผ่านทางแอปพลิเคชัน ViaBus แบบเรียลไทม์ได้

คลิกที่นี่ เพื่อลงทะเบียน

เมื่อลงทะเบียนเสร็จ รับรหัสเข้าระบบ กรอกรหัสที่แอปฯ เมนู + Add New Transport Syatem
สาเหตุที่กำหนดจุดจอดเฉพาะไม่กี่แห่ง เพราะขณะนี้ยังเป็น “โครงการทดลองวิ่ง” แบบชัตเติลบัส (Shuttle Bus) บังคับกำหนดจุดจอด เพื่อหลีกเลี่ยงการทับซ้อนกับเส้นทางรถโดยสารประจำทาง และรถสองแถว

เพราะฉะนั้น รถจะไม่จอดป้ายหยุดรถประจำทางทั่วไป แต่สามารถลงที่จุดจอดที่กำหนด เพื่อต่อรถโดยสารสาธารณะหรือรถรับจ้างสาธารณะไปยังจุดหมายปลายทางได้

กทม. เตรียมเปิดการเดินรถฟีดเดอร์อีก 2 เส้นทาง ภายในเดือนมีนาคมนี้ คือ สาย B2 ศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง-สถานีรถไฟฟ้า BTS สนามเป้า เบื้องต้นกำหนดจุดจอดส่งผู้โดยสาร (เที่ยวกลับ) ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก โรงเรียนรักษาดินแดน (รด.) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

สาย B3 ชุมชนเคหะร่มเกล้า-สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ลาดกระบัง เบื้องต้นกำหนดจุดจอดรับผู้โดยสาร (เที่ยวไป) ที่ตรงข้ามปั๊มบางจาก, สวน 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และซอยตรงข้ามสนามกีฬาเคหะร่มเกล้า ไปยังสถานีลาดกระบัง


ขณะเดียวกัน ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการเดินรถฟีดเดอร์บัสอีก 7 เส้นทาง ได้แก่ 1. พระราม 6-สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ 2. เอกมัย-ทองหล่อ 3. ท่าเรือกรุงเทพ เขตคลองเตย-สถานีรถไฟฟ้า BTS อ่อนนุช 4. ซอยเสนานิคม-สถานีรถไฟฟ้า BTS เสนานิคม

5. สยามสแควร์-สนามหลวง 6. ถนนสามเสน (ดุสิต)-ถนนมิตรไมตรี (ดินแดง) 7. สายไหม-สถานีรถไฟฟ้า BTS สะพานใหม่ รวมทั้งศึกษาเส้นทางอื่นๆ ที่มีความเหมาะสมสำหรับเปิดให้บริการเดินรถชัทเทิลบัสเพิ่มเติมอีกด้วย

ส่วนความมั่นใจในการใช้บริการ ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กทม.กำชับให้เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดรถทุกครั้ง เมื่อถึงเวลาพักรถ หรืออย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง พร้อมเตรียมเจลล้างมือสำหรับผู้โดยสารไว้บริเวณประตูทางขึ้น-ลงรถแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น