xs
xsm
sm
md
lg

จากวิศวกร สู่ผู้สร้าง "บางหว้า เมล่อนฟาร์ม" : ศราวุธ จันทะพรหม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

อดีตวิศวกรผู้เบื่อหน่ายงานประจำ จึงตัดสินใจลาออกมาเปิดร้านอาหาร แต่เนื่องด้วยพิษเศรษฐกิจ บวกกับความชื่นชอบและมีใจรักการทำเกษตรกรรมเป็นทุนเดิม จึงทำให้ โหน่ง - ศราวุธ จันทะพรหม ปิดร้านอาหารลง หันมาทำฟาร์มเมล่อนในเมืองกรุง

ด้วยการศึกษาวิธีการปลูก ลองถูกลองผิด และน้อมนำพระราชดำริ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการทำฟาร์มเมล่อน โดยเริ่มจากน้อยไปหามาก ค่อย ๆ ทำ จึงใช้เวลาอยู่หลายปีกว่าจะลงตัว กระทั่งเมื่อชำนาญแล้วจึงเปิดเป็น “บางหว้า เมล่อนฟาร์ม” ในที่สุด

ปัจจุบัน “บางหว้า เมล่อนฟาร์ม” เปิดมาเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี ซึ่งจุดเด่นของที่นี่คือเป็นฟาร์มเมล่อนในกรุง โดยจะนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากญี่ปุ่นทั้งหมด 100 % และขายราคาเดียวกิโลกรัมละ 150 บาท

ทั้งนี้หากใครสนใจสามารถเข้ามาเยี่ยมชม ศึกษา ก็สามารถมาที่ฟาร์มนี้ได้ เพราะเจ้าของฟาร์มยินดีอย่างยิ่งที่จะส่งต่อความรู้ให้กับคนที่มีใจรักในด้านนี้เหมือนกัน


จากวิศวกร เจ้าของร้านอาหาร สู่เจ้าของบางหว้า เมล่อนฟาร์ม

ก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นวิศวกรโยธาอยู่ประมาณ 8 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2540 และย้อนไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว มีช่วงหนึ่งที่ผมลาออกมาทำร้านอาหาร และระหว่างที่ทำร้านอาหารก็ได้ทดลองปลูกผักสวนครัวเพื่อใช้ในร้าน พอได้เริ่มทำเกษตรก็รู้สึกชอบ รู้สึกรัก และมีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำ ได้ปลูกผักสวนครัว

พอช่วงหนึ่งที่เศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ร้านอาหารเงียบเหงา ซบเซา ก็เลยเลิกทำกิจการร้านอาหาร ลองมองหาอาชีพใหม่ และคิดว่าเกษตรกรรมน่าจะโอเค ผมจึงตัดสินใจหันมาทำอาชีพเกษตรกรรมครับ

ตอนนั้นก็ได้แต่คิดว่าจะหาพืชอะไรดีที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเราได้ เพราะถ้าปลูกแค่ผักสวนครัวคงจะไม่เพียงพอ ผมเลยสนใจที่จะปลูกเมล่อน เนื่องจากเมล่อนมูลค่าสูง ค่อนข้างปลูกยาก ผมจึงลองผิดลองถูกเรื่อยมา พอหลังจากที่เลิกทำร้านอาหารได้ 4-5 เดือน ผมก็ได้ทำโรงเรือนปลูกเมล่อนจริง ๆ จัง ๆ ซึ่งพอทำไปสักพัก ได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าดีมาก ผลผลิตเริ่มมีมาตรฐาน ผมจึงขยายกิจการเรื่อยมา

บางหว้า เมล่อนฟาร์ม ล่อนแท้ ๆ สายพันธุ์จากญี่ปุ่น 100%

เมล็ดพันธุ์ของบางหว้า เมล่อนฟาร์ม จะนำเข้าจากญี่ปุ่นทั้งหมดเลย ที่นี่จะมีสายพันธุ์คิโมจิ อิชิบะ คาซึสะ ซูบาริ โยกุโบะ ประมาณ 4-5 สายพันธุ์ครับ

จุดเด่นแต่ละสายพันธุ์ ถ้าเป็นเมล่อนสีเขียวส่วนใหญ่ในเรื่องกลิ่น เรื่องรสสัมผัส จะไม่ค่อยต่างกันมากเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่เมล่อนญี่ปุ่นจะมีเนื้อนิ่ม ซึ่งต่างจากพันธุ์พื้นเมืองของไทย คนไทยจะนิยมกินแบบกรอบ ๆ แต่คนญี่ปุ่นจะชอบนิ่ม ๆ เพราะฉะนั้นเมล่อนส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นแทบจะทั้งหมดเลยจะนิ่ม ส่วนสีส้มจะมีเอกลักษณ์และกลิ่นที่แตกต่างกันออกไปแต่ละสายพันธุ์ แต่สีเขียวจะไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ครับ

ส่วนสายพันธุ์ไหนรสชาติดีหรือขายดีที่สุด จริง ๆ เรื่องความอร่อยใกล้เคียงกันนะครับ แต่บางสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์ซูบาริ จะปลูกยากและรสชาติอร่อย ในความคิดผมนะ ถ้าเมล่อนสายพันธุ์ไหนปลูกยากจะอร่อยมาก ซึ่งในเมืองไทยมีปลูกสายพันธุ์ซูบาริอยู่ไม่กี่เจ้าครับ


เน้นการพึ่งพาตนเอง น้อมนำพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้

ผมน้อมนำพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของในรัชหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ ซึ่งผมศึกษามาพอสมควร การทำการเกษตรของผมจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปในลักษณะที่ว่าพึ่งตนเองเป็นหลัก เราจะจ้างคนน้อยที่สุด หรือแทบจะไม่จ้างเลย ตอนนี้ผมดูแลเองทั้งหมดเลย จะมีลูกชายมาช่วยดูด้วยบางครั้ง แม้แต่โรงเรือนเราก็ศึกษาเองทั้งหมดเนื่องจากเราเป็นช่างมาก่อน

ผมจะเริ่มจากน้อยไปหามาก ค่อย ๆ ทำไป อย่างการลงทุนครั้งแรก ผมลงทุนทำโรงเรือน 6*18 1 โรง ลงทุนไปประมาณ 80,000 บาท ในส่วนนี้ก็จะรวมทุกอย่างทั้งในส่วนเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ระบบน้ำต่าง ๆ ซึ่งโรงเรือนเราก็ผลิตเองด้วยเศษเหล็กที่เหลือนำมาประกอบ มาทำเองครับ

ส่วนการตลาดผมก็จะพยายามขายเอง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง จริง ๆ สินค้าเกษตรทุกอย่างมันสามารถอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง ถ้าเกิดเราผลิตและสามารถขายให้ผู้บริโภคโดยตรง แต่มันจะมีปัญหาถ้าเราขายผ่านพ่อค้าคนกลาง เพราะฉะนั้นผมจะพยายามตัดเรื่องพ่อค้าคนกลางออกไป และเราจะผลิตในปริมาณที่พอเหมาะกับการขาย จะไม่ผลิตเยอะมากเกินไป จนทำให้การขายมีปัญหา

อย่างผลผลิตช่วงแรก ออกมารอบหนึ่งประมาณ 300 ลูก ซึ่งผลผลิตเยอะเกินไป ปัจจุบันผมจะปรับผลผลิตให้เหลือประมาณ 100 ลูก จะออกผลผลิตทุก 15 วัน เฉพาะของเราเอง ส่วนของลูกฟาร์ม หรือของคนที่มาศึกษา เขานำไปปลูกและมีสถานีการตลาด ส่งมาขายที่นี่ก็มีครับ ก็ช่วย ๆ กัน

หรือถ้าผลผลิตออกมาเยอะเกินไป เราขายไม่ทัน ก็จะมีการนำไปแปรรูป เพราะเมล่อนที่ผลิตในโรงเรือนหนึ่ง จะมีทั้งเกรดเอ เกรดบี เกรดเอจะสามารถขายเป็นลูกได้ ที่นี่ก็จะขายราคาเดียวคือกิโลกรัมละ 150 บาท ส่วนเกรดบีเราขายเป็นลูกไม่ได้ อาจจะนำไปผ่าและขายเป็นเนื้อแช่เย็น หรือนำมาแปรรูปเป็นน้ำเมล่อนปั่น และน้ำเมล่อนคั้นสกัด 100% ไม่ผสมอะไรเลย ประมาณนี้ครับ


เคล็ดลับการปลูกเมล่อนในกรุงเทพฯ

จริง ๆ ใครอยากทำสามารถทำได้เลยครับ พื้นที่มีน้อยก็สามารถทำเกษตรกรรมได้ เราจะใช้การจัดการที่มีประสิทธิภาพ อาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ระบบการตั้งเวลา การให้น้ำค่อนข้างที่จะสำคัญ

ต้องบอกว่าการดูแลเมล่อนต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะดูแลยากครับ ปลูกยากมาก ถือว่ายากมากสำหรับเมืองไทย เพราะเมล่อนอ่อนไหวง่าย อย่างแรกคือสภาพอากาศ อีกทั้งแมลงศัตรูพืช พาหะนำเชื้อไวรัส เพลี้ยไฟ ไรแดง นำเชื้อไวรัสมา เป็นตัวที่ทำให้พืชมีปัญหาใบหยิก โตช้า ส่วนหนึ่งก็ต้องป้องกันครับ ก็มีโรงเรือนที่มาตรฐานควบคุมการเข้า-ออก

การปลูกเมล่อนของผมไม่ได้มีเคล็ดลับอะไรพิเศษเลยนะครับ เพราะการปลูกเมล่อนจริง ๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ว่าทำมานานกี่ปี เพราถ้าช่วงใดช่วงหนึ่งที่เราเผลอดูแลไม่ดี ก็อาจจะพลาดได้ เพราะถ้าเสียแล้วมันจะเสียหมดทั้งโรงเรือนเลย ซึ่งต้องเริ่มการปลูกใหม่ทั้งหมด

ตอนแรกที่ตัดสินใจมาทำฟาร์มเมล่อนในกรุงเทพฯ ถามว่าคิดว่าจะเติบโตมากน้อยแค่ไหน จริง ๆ ต้องบอกว่าตอนที่เริ่มทำความมั่นใจยังไม่มีนะครับ เพราะเมล่อนค่อนข้างที่จะปลูกยาก ผมจึงศึกษาการปลูกเมล่อนทาง YOUTUBE ก่อน แต่ว่ามันไม่พอ ผมก็เลยไปเรียนรู้ตามฟาร์มต่าง ๆ ที่ต่างจังหวัด มีไปอบรมสัมมนาเกี่ยวกับการปลูกเมล่อนบ้าง ไปอบรมเรื่องการทำปุ๋ยบ้าง ไปอบรมและสัมมนาหลาย ๆ อย่าง แล้วเราก็เอามาดัดแปลงให้เหมาะกับเรา ซึ่งกว่าทุกอย่างจะลงตัวก็ใช้เวลา 2-3 ปี

พอเราเริ่มศึกษาและเริ่มทำอย่างจริงจัง ได้ผลผลิตออกมาโอเค เสียงตอบรับมีมากขึ้น เนื่องจากว่าการทำฟาร์มในกรุงเทพฯ เป็นเรื่องยาก ทำให้เรามีคู่แข่งน้อย การตลาดไม่มีปัญหาอะไร ตอนนี้บางหว้า เมล่อนฟาร์ม เปิดมาได้ 6 ปี และเริ่มขยายกิจการไปเปิดฟาร์มเมล่อนที่บางแคอีกที่ครับ


อยากทำอาชีพเกษตรกรรม ต้องมีใจรักเป็นอันดับแรก

ถ้าอยากทำอาชีพเกษตรกรรมต้องมีใจรักก่อน ต้องมีความมุ่งมั่น จิตใจต้องมาก่อน สมมติจะปลูกเมล่อน แต่ไม่ชอบทำเกษตร อยากจะทำเพื่อแค่หารายได้ ผมบอกเลยว่ายาก เพราะกว่าจะประสบความสำเร็จมันต้องใช้เวลา ใช้ความพยายามสูง ถ้าคนไม่รักจริง ทำไม่ได้ ก็เลิกไป ของผมปลูกมา 4-5 รอบ ยังไม่ได้กินเลยนะครับ ผมก็ใช้วิธีลองผิดลองถูก ค้นคว้า ศึกษามาเรื่อย ๆ จนกระทั่งโอเค

ตอนนี้ผมรักอาชีพนี้ไปแล้ว ผมต้องการความสงบ ต้องการอยู่กับครอบครัว เกษตรกรรมจึงตอบโจทย์ได้ดีมาก เป็นอะไรที่มีความสุขมากครับ ผมจึงอยากถ่ายทอดและให้ความรู้คนอื่น ๆ ต่อไป เพราะผมคิดว่าคนที่อยากรู้เรื่องเมล่อนน่าจะมีเยอะ แต่ว่าไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลที่ละเอียดพอ ไปลองผิดลองถูกปลูกไปก็ไม่สำเร็จ ก็เหมือนผมช่วงแรก ๆ ที่ย้อนกลับไปเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ผมหาความรู้เรื่องเมล่อนยากมาก ซึ่งพอผมรู้แล้ว ผมจึงอยากส่งต่อให้กับคนที่มีใจรักทางด้านนี้เหมือนกัน

ผมยินดีต้อนรับผู้ที่สนใจ อยากจะทำสวนเมล่อน อยากทำเกษตรกรรม เกษตรพอเพียงในเมืองพื้นที่น้อย สามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้เลยนะครับ เพราะที่นี่ยังเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ด้วย ที่ผ่านมาก็มีคนเข้ามาศึกษาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นพนักงานออฟฟิศ คนที่อยากเปลี่ยนแปลงอาชีพมาทำเกษตรกรรม คนตกงาน คนเกษียณ หรือกลุ่มที่มีอาชีพเกษตรกรรมอยู่แล้วอยากปลูกเมล่อนก็เข้ามาศึกษากันเยอะ ซึ่งคนที่เข้ามาศึกษาสามารถนำไปประกอบอาชีพได้เยอะเหมือนกัน บางคนประสบความสำเร็จรวยไปเลยก็มี

อนาคตถามว่าผมอยากทำอะไรเพิ่มเติมอีกไหม สำหรับตัวผมคิดว่าพอแล้วครับ ผมอายุเยอะแล้ว ถ้าให้ไปทำเยอะขึ้น ภาระก็จะเยอะขึ้น ผมจึงอยากถ่ายทอดความรู้มากกว่าการทำในเชิงธุรกิจครับ


3 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการปลูกเมล่อน

เมล่อนชอบอากาศเย็น? เมืองไทยปลูกได้ไหม

จริง ๆ แล้วเมล่อนไม่ได้ชอบอากาศเย็น แต่ชอบอากาศร้อน ที่ญี่ปุ่นจะปลูกได้ 1ครั้ง คือ ฤดูร้อน ร้อนที่สุดของเขา ปีหนึ่งเขาจะปลูกได้ครั้งหนึ่ง เนื่องจากว่าพอหมดช่วงฤดูอบอุ่นของเขาก็จะปลูกไม่ได้แล้ว

ส่วนในเมืองไทยเป็นพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกเมล่อน สามารถปลูกได้ประมาณ 4 รอบต่อปี ยิ่งถ้าหน้าหนาวของไทยจะปลูกได้ดีมาก เพราะอากาศกำลังเหมาะ เพียงแต่ว่าช่วงเดือนมีนาคม เมษายน ที่อากาศร้อนจัด สายพันธุ์ที่มีประวัติว่าเคยมีปัญหาเรื่องอากาศร้อน เรื่องการออกดอก พวกนี้จะมีปัญหาบ้าง แต่พวกใบจะสมบูรณ์มากในหน้าร้อนแต่จะมีปัญหาในการออกดอก

ดินแบบไหนเหมาะสำหรับปลูกเมล่อน?

จริง ๆ มันสามารถปลูกได้โดยไม่ต้องใช้ดินแล้ว ซึ่งเกษตรกรรุ่นใหม่จะต้องควบคุมปัจจัยการผลิตให้ได้ทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องแร่ธาตุ เรื่องโรคพืช ต้องมีความเข้าใจ จะสามารถป้องกันได้ แต่ว่าการปลูกลงดินเหมือนเป็นการเดาแร่ธาตุในดินว่ามีอะไรบ้าง แต่มันจะควบคุมยาก ซึ่งเกษตรสมัยใหม่ แม้แต่ประเทศอิสราเอล สหรัฐอเมริกา เขาจะไม่ค่อยใช้ดินแล้ว

อย่างที่บางหว้า เมล่อนฟาร์ม ก็จะไม่ใช้ดิน จะใช้ขุยมะพร้าว วัสดุปลูก ใช้วัสดุอะไรก็ได้ที่มีความเป็นกลาง ไม่เป็นกรด ไม่เป็นด่าง และสามารถดูดซึมน้ำได้ดี ลักษณะโปร่งไม่ทืบน้ำ และจะตั้งเวลาให้น้ำในรูปของน้ำหยด จะมีถัง มีปุ๋ยที่ผสมกับน้ำ เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมาก แต่ว่าต้นทุนช่วงเริ่มต้นจะค่อนข้างสูง โดยเราดัดแปลงจากที่ได้ไปศึกษามา ให้เหมาะสมกับเรา

เมล่อนต้นหนึ่งสามารถเก็บผลผลิตได้กี่ลูก? ใช้ระยะเวลานานไหมถึงจะเก็บเกี่ยวได้

1 ต้น ผมจะเก็บได้ลูกเดียว เราต้องปลูกใหม่ นำเมล็ดมาใหม่ เพาะกล้าใหม่ทุกครั้ง เราจะผสมเกสรไว้ประมาณ 4 - 5 ดอก และคัดเหลือลูกที่สวยที่สุดไว้ลูกเดียว และก็เลี้ยงไปรอระยะเวลาประมาณ 70 - 80 วัน ถึงจะเก็บเกี่ยวได้




บางหว้า เมล่อนฟาร์ม

พิกัด : Bang Wa Melon • บางหว้าเมล่อน ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 10160 ใกล้ BTS บางหว้า
เปิดทำการ : 10:00 - 18:00 น. วันพุธ-วันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์กับวันอังคาร)
เบอร์โทร : 081-209-3226
เฟซบุ๊ก : https://web.facebook.com/pg/BangWaMelon/about
เรียบเรียงโดย : วรัญญา งามขำ


กำลังโหลดความคิดเห็น