xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 งัด 6 มาตรการพร้อมรับมือเข้าสู่ระยะ 3 ยันไทยยังอยู่ระดับ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองนายกรัฐมนตรีลั่นรัฐบาลไม่ประมาท ยกระดับ 6 มาตรการสำคัญ ยืนยันไทยยังคงอยู่ในระยะที่ 2 เน้นลดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของกลุ่มคน

วันนี้ (16 มี.ค.) ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล COVID-19 ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายแพทย์ รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป แถลงชี้แจงข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่ง ที่ประชุมมีมติ เอกฉันท์เห็นพ้องต้องกัน โดยบางส่วนสามารถดำเนินการได้เลย บางส่วนต้องเสนอ ครม.วันพรุ่งนี้ ยืนยันไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เรากำหนดขึ้นเองว่าระดับใดเป็นขั้นไหน

โดยขั้นที่ 3 คือ ประชาชนชาวไทยรับเชื้อหรือติดกันเอง โดยสืบสาวราวเรื่องไม่ได้ว่าติดจากคนที่มาจากต่างประเทศ ติดแบบนี้จำนวนมาก หลากหลายพื้นที่ แสดงว่าคับขันเกินกว่าขั้น 2 แล้ว ต้องใช้การรับมืออีกแบบหนึ่ง เป็นเกณฑ์ที่เราตั้งขึ้นเอง

แบ่งงานเป็น 6 ด้าน เพื่อเตรียมรับระยะ 3

คณะกรรมการได้เห็นชอบและมีมติให้จัดตั้งทีมทำงานไว้ 6 ด้าน ในแต่ละด้านจะมีหน้าที่รายงาน สถานการณ์ ความพร้อม อุปสรรคในการรับมือไวรัสโควิด-19 ในแต่ละด้านจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ไป เบื้องต้นจะต้องนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ (17 มี.ค.) และส่วนหนึ่งมีผลบังคับใช้ได้เลย

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า แม้จะมีการเตือนโรคโควิด-19 และมีการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ แต่ในที่ ประชุมยืนยันว่าขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในระยะ 2 ยังไม่เข้าระยะ 3 หากจะเข้าระยะ 3 ก็ต่อเมื่อมีประชาชน ติดต่อเชื้อกันเองโดยไม่รู้สาเหตุว่ามาจากไหน คนไทยติดต่อกันเอง จึงเห็นว่ามีความรุนแรงในประเทศโดยมีการติดต่อแพร่เชื้อเป็นจำนวนมาก และมีปรากฏหลากหลายพื้นที่ จึงจะต้องมีวิธีปฏิบัติ จึงขอย้ำว่าประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ระยะ 3

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้แบ่งงานเป็น 6 ด้าน เพื่อเตรียมรับระยะ 3 โดยเตรียมไว้ก่อนเพื่อความ อุ่นใจของพี่น้องประชาชน โปรดอย่าตื่นตระหนก

ประกอบด้วย ด้านที่ 1 คือ ด้านสาธารณสุข เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลทั้งของรัฐ เอกชน ท้องถิ่น มหาวิทยาลัย ทหาร ตำรวจ จัดสรรจำนวนตียงผู้ป่วย ความพร้อมบุคลากรทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติค่าตอบแทนเป็นกรณีพิเศษให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์รับมือป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นี้ด้วย

ด้านที่ 2 เวชภัณฑ์ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ได้เร่งกำลังกระบวนการผลิตให้มีจำนวนมากขึ้นให้ได้ประมาณวันละ 2 ล้านชิ้น โดยบางประเทศแจ้งพร้อมให้จัดส่งหน้ากากอนามัยเพื่อให้ความช่วยเหลือไทยด้วย นอกจากนี้ ยังจะเร่งผลิตแอลกอฮอล์และเจลล้างมือให้มากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีเสนอให้นำหน้ากากอนามัยที่ยึดไว้ได้จำนวนมากที่ถือว่าเป็นของกลาง ให้ศูนย์ป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อแจกจ่ายไปตามสถานพยาบาลต่างๆ โดยไม่ให้เสียรูปคดี

ด้านที่ 3 ด้านข้อมูล การชี้แจง การรับเรื่องราวและข้อร้องเรียน ซึ่งมีการรายงานว่ามีการร้องเรียนเข้ามายังศูนย์ข้อมูลโควิด -19 วันละประมาณหนึ่งพันราย ซึ่งได้ชี้แจงทำความเข้าใจ และแก้ปัญหาไปแล้ว 98 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือให้แก้ปัญหาต่อไป

ด้านที่ 4 ด้านการต่างประเทศ รายงานว่าบางประเทศแสดงความปรารถนาดีที่จะให้ความช่วยเหลือด้านเวชภัณฑ์ คือ ยา หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น กรณียกเลิกฟรีวีซ่าและวีโอเอนั้น ไม่มีประเทศใดขัดข้อง ทุกประเทศพร้อมและน้อมรับการดำเนินการของเรา ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยคนไทยในประเทศต่างๆ และข้าราชการที่มีประมาณ 1.5 พันคน นักเรียนไทยในต่างประเทศนับพันคน พระภิกษุประมาณ 1.5 พันรูป แรงงานไทยที่ยังไม่กลับเข้ามาอีกนับเป็นแสนคน จึงได้สั่งการให้จัดตั้งทีมไทยแลนด์ในทุกประเทศเพื่อรับมือโควิด-19 โดยมีเอกอัครราชทูตประเทศนั้นๆ เป็นหัวหน้าทีม เพื่อรับร้องเรียน ร้องทุกข์ ตลอดจนให้ข้อมูลข่าวสารเป็นทีมเฉพาะกิจ

ด้านที่ 5 คือมาตรการป้องกัน เพื่อเตรียมรับมือสำหรับกรณีผู้ที่ยังไม่ได้ติดเชื้อหรือเจ็บป่วยจากไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แม้ไทยยังไม่มีการประกาศเข้าสู่ระยะที่ 3 แต่มีมาตรการเข้มงวดมากขึ้นในการตรวจคนเข้าเมืองทั้งทางบก น้ำ และอากาศ เช่น มีการสั่งยกเลิกวีซ่าฟรี และ Visa on Arrival การเข้าไทยต้องมีใบรับรองแพทย์ การประกันชีวิต การใช้แอปพลิเคชันติดตามตัวบุคคลที่เดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อเป็นประโยชน์ในการติดตามข้อมูล ยืนยันขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเมืองหรือปิดประเทศ

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้หารือให้มีการงดวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ตั้งแต่ 13-15 เมษายน 2563 ออกไปก่อน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการและไม่เป็นวันหยุดงานของภาคเอกชน และจะชดเชยวันหยุดให้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ส่วนการปิดหรือหยุด หรือระงับการเปิดสถานที่บางแห่ง ซึ่งเป็นที่ชุมนุมคนไปอยู่รวมกันจำนวนมาก ได้แบ่งออก 2 ลักษณะ คือ 1. สถานที่ใดซึ่งมีผู้คนไปชุมนุมกันคราวละมากๆ เป็นกิจวัตร และมีโอกาสเสี่ยงสูงเพราะมีกิจกรรม สัมผัส พูดจาปราศรัยกันในที่คับแคบ แต่มีทางเลือกทางเลี่ยง ชดเชยการชุมนุมได้ เช่น มหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน โรงเรียนรัฐและเอกชน โรงเรียนนานาชาติ สถานกวดวิชา ให้เสนอ ครม. เพื่อให้หน่วยงานไปดำเนินการหยุดหรือปิดกิจการเหล่านั้นไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว 2. สถานที่ที่มีคนชุมนุมกันคราวละมากๆ จัดกิจกรรมร่วม มีสัมผัสระหว่างกัน เช่น สนามมวย สนามกีฬา โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ ขอดูรายละเอียดกำหนดเกณฑ์ผู้ชุมนุม ส่วนสถานที่อื่น ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ไม่เข้าเกณฑ์ ยังสามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติ แต่ต้องมีมาตรการรองรับ เช่น วัดไข้ สวมหน้ากากอนามัย จัดที่นั่งให้ห่างกัน 1 เมตรหรือ 1 เมตรเศษ มีเจลล้างมือ หากพบว่ามีการฝ่าฝืนจะสั่งปิดหรือดำเนินการเป็นรายๆ ต่อไป โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 35 รวมถึงแนวคิดเหลื่อมเวลาทำงานและรับประทานอาหาร และการทำงานจากบ้าน ของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนอยู่รวมกันแน่น เช่นเดียวกับเอกชนหลายแห่งได้ดำเนินการไปก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีกำชับมาตรการป้องกันว่า ต้องให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลตัวเองให้ถูกต้อง โดยสั่งการให้ทุกกระทรวงไปพิจารณาเรื่องกำหนดมาตรการเลื่อนหรือเหลื่อมเวลาทำงาน การทำงานที่บ้าน เพื่อลดจำนวนคน หลีกเลี่ยงการชุมนุมพร้อมๆ กัน โดยให้กระทรวงรายงานให้ ครม.ทราบทุกๆ 7 วัน รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นที่มีกำหนดการประชุมประจำปีในเดือน เม.ย. สามารถเลื่อนหรือให้ประชุมทางไกลผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งเป็นไปตามประกาศ คสช.ที่ 44/2557 สามารถทำได้

และด้านที่ 6 มาตรการเยียวยา กระทรวงการคลังรับที่จะไปพิจารณารายละเอียดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีภาระในการผ่อนหนี้รถ หนี้ที่อยู่อาศัย รวมทั้งการพิจารณาลดค่าเช่าในพื้นที่ของราชการ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น