อดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ระบุเหตุกราดยิงโคราช สื่อไร้จรรยาบรรณ มาจากระบบแก่งแย่งเรตติ้งของทีวีดิจิทัล หน่วยงานที่กำกับดูแลกลับเป็นต้นเหตุให้สื่อไร้ประสิทธิภาพ ชี้ทีวีบางช่องต้องการแต่เรตติ้ง คนคุมฝ่ายข่าวได้ส่วนแบ่งจากรายได้ข่าวอีก
วันนี้ (10 ก.พ.) เฟซบุ๊ก "นารากร ติยายน" ของ น.ส.นารากร ติยายน อดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดัง โพสต์ข้อความถึงกรณีการทำหน้าที่ของสื่อ ในเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา ว่า สองวันที่ผ่านมาเฝ้าติดตามปรากฏการณ์สื่อไร้จรรยาบรรณที่เกิดขึ้น ถามตัวเองตลอดเวลาว่า ถ้าเรายังอยู่ในตำแหน่งผู้อำนายการฝ่ายบริหารงานข่าว สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งอยู่ เราจะตัดสินใจยังไง จะทำดราม่าข่าวเรียกเรตติ้ง หรือเก็บข้อมูลเงียบๆ รอให้ทุกอย่างคลี่คลายแล้วค่อยนำเสนอ ยอมรับว่า ให้คำตอบกับตัวเองยังไม่ได้
ทั้งนี้ เราอยู่ในวงการข่าวตั้งแต่ยุคอนาล็อก ทีมข่าว 1 ทีมเมื่อออกไปทำข่าวเสร็จแล้ว ต้องนำม้วนเทปกลับมาสถานี ผ่านกระบวนการ 6 ขั้นตอน ได้แก่ กระบวนการตัดต่อ ผ่านกลั่นกรองบทจากบรรณาธิการข่าว ผ่านการตัดสินใจเลือกข่าวจากบรรณาธิการบริหาร โดยทุกครั้งที่จะออกอากาศ ต้องมีบรรณาธิการควบคุมการออกอากาศ ผ่านการกำหนดลำดับข่าว (Rundown) จากที่ประชุมข่าวประจำวัน สุดท้ายบทจึงจะถึงมือผู้ประกาศข่าว
แต่วันนี้เราอยู่ในยุคดิจิทัลดิสรัปชัน (Digital Disruption) นักข่าวภาคสนาม มีโทรศัพท์มือถือพร้อมสัญญานอินเตอร์เน็ตเครื่องเดียว ก็สามารถถ่ายทอดทุกอย่างถึงผู้ชมได้ทันที ไม่มีการกลั่นกรอง ไม่ต้องถามหาจรรยาบรรณ ทุกคนทำเพื่อความอยู่รอดของตนเอง ถ้าข่าวมีเรตติ้ง รายได้เข้า ผู้บริหารสถานีพอใจ ฝ่ายข่าวก็อยู่ได้
ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ได้ยินข่าวฝ่ายข่าวถูกสถานีเลิกจ้างพนักงานไปกี่ครั้ง กี่สถานีแล้ว 2 วันที่ผ่านมาตามอ่านความเห็นต่างๆ ในทุกเพจ ทุกคอมเมนต์ ทุกแฮชแทก น้ำตาไหลเมื่อเห็นภาพ พ่อแม่ลูกนอนกอดกันตาย หน่วยอรินทราช 2 นายยอมสละชีวิตเพื่อล่อให้คนร้ายออกจากที่ซ่อน คนบริสุทธิ์นับสิบต้องจบชีวิตจากเหตุการณ์นี้
"ไม่ได้บอกว่าสำนักข่าวไม่ผิด ทีวีดิจิตอล 3 ช่องที่ถูกติดแบนสื่อไร้จรรยาบรรณ ผิดเต็มๆ แต่ใครเป็นคนทำให้ระบบแก่งแย่งเรตติ้งบ้าบอนี้เกิดขึ้น หน่วยงานที่ควรกำกับดูแลสื่อกลับเป็นต้นเหตุให้สื่อไร้ประสิทธิภาพ ใครรู้ว่าหน่วยงานไหนช่วยบอกหน่อย" น.ส.นรากร ระบุ
อย่างไรก็ตาม ได้มีความเห็นจากบุคคลในแวดวงข่าวออกมาวิจารณ์จำนวนมาก ระบุว่า สถานีโทรทัศน์บางแห่งต้องการแต่เรตติ้ง คนคุมฝ่ายข่าวได้ส่วนแบ่งจากรายได้ข่าว ทำให้ทุกช่องต้องการเรตติ้ง เพื่อหวังรายได้ จึงลดต้นทุนทุกทาง เช่น จ้างนักข่าวรุ่นเด็ก ขาดประสบการณ์ลงพื้นที่ ทำให้รายงานโดยขาดการไตร่ตรอง ส่วนผู้บริหารข่าวในสถานี ก็อยากได้เรตติ้งเพื่อโชว์ผลงาน ก็ปล่อยให้ลูกน้องดราม่าเต็มที่
สื่อมวลชนบางคนกล่าวกับ น.ส.นรากร ว่า "เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางการแย่งชิงเรตติ้ง กางเรตติ้งมากดดันคนทำงานทุกวัน นำเสนอแต่ข่าวบ้าบอ บางข่าวไร้ซึ่งคุณค่าและสาระ ทำให้คนที่ทำงานข่าวจริงๆ ได้แต่มองตาปริบๆ"
ขณะที่เฟซบุ๊ก จ่าพิชิต ขจัดพาลชน ระบุว่า สถานีโทรทัศน์บางช่องไม่ต้องทำแบบนั้น มีรูปแบบนำเสนอโดยไม่ต้องไปแย่งกันไลฟ์เพื่อหาเรทติ้งหารายได้ น.ส.นรากร กล่าวว่า สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งเป็นช่องอันดับ 1 รายได้ยังดี มีกำไรอยู่ ส่วนอีกช่องหนึ่งไม่ต้องห่วงเรื่องรายได้ เพราะได้เงินจากกองทุนสรรพสามิต ปีละ 2,000 ล้านบาท ช่องดิจิตอลถูกกดดันเรตติ้งขนาดไหน คนทำงานเครียดแทบบ้า อาจเป็นต้นเหตุให้ทำข่าวบ้าบอไม่แคร์สังคม