xs
xsm
sm
md
lg

“ไปส่งกู บขส. ดู๊” กับการฉีกกรอบทั้งบทเพลงและการแสดงสด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ถ้าการไปดูคอนเสิร์ตของวงดนตรีในตามเทศกาลหรืออีเวนท์ดนตรีต่างๆ แน่นอนว่าผู้ชมจะต้องได้ฟังบทเพลงและภาพลักษณ์ตามรสนิยมของแต่ละบุคคลไป แต่ถ้ามีวงดนตรีวงหนึ่งที่มีทั้งบทเพลงที่แต่ง และการแสดงสดบนเวทีแบบตามใจตัวเองแบบสุดๆ ไม่ว่าจะเป็น มีการแจกเงินให้กับคนดู, มือกีต้าร์บรรเลงโซโล่แล้วโชว์สายแจ๊คกีต้าร์ หรือ อยู่ๆ สมาชิกวงก็กระโดดลงมาบอดี้เซิร์ฟแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย และอีกหลายพฤติกรรมของสมาชิกวงบนเวทีที่คนดูมีทั้งรับเสียงเพลงและเสียงฮาไปในคราสเดียวกัน วงดนตรีจากขอนแก่น อย่าง ‘ไปส่งกู บขส. ดู๊’ คือชาวคณะที่ว่านั้น


จุดเริ่มต้นของวงครั้งนี้มันเริ่มมาจากอะไรครับ

เอกภาพ ป้านภูมิ (บูม - กีต้าร์) : เริ่มมาจากที่เราตั้งวงดนตรีขึ้นมา เพื่อพร้อมที่จะมีชื่อเสียงอยู่แล้ว (หัวเราะ) คือเราตั้งวงดนตรีขึ้นมาจากพี่น้องนักศึกษาในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อช่วยละครเวทีคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือ ละครนัวเนียร์ เริ่มจากผมกับอ๋องจะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกัน จากนั้นก็มีต้ากับโขงตามมา และก็มีอ๊อฟเข้ามาหลังสุด ตอนแรกสุด เรามีชื่อวงว่า ตึ้ดช์ คือมันเป็นเสียงต่อยกัน แต่ต่อมาก็เปลี่ยนเป็น ไปส่งกู บขส.ดู๊ เพราะมันเป็นคำที่ฮิตมากในมหาลัย เนื่องจากสถานีขนส่งจะตั้งห่างจากตัว ม. แล้วเวลาที่จะกลับบ้านของแต่ละคน เราก็ต้องวานเพื่อนว่าไปส่งที่ บขส. หน่อย ซึ่งประโยคนี้เป็นคำที่ปกติมากสำหรับ เด็ก ม. เรา ทีนี้ เราก็ใช้ชื่อนี้เป็นชื่อวง แล้วผมก็จะเป็นในส่วนของการเขียนเพลงและทำดนตรีเป็นหลัก เขียนเพลงที่เราอยากจะทำ แค่นั้นเองครับ หลังจากเรียนจบไป ก็แยกย้ายกันไปทำงานในแต่ละคน แต่จากนั้นก็เริ่มพัฒนาฝีมือขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่ง สมาชิกปัจจุบันก็อย่างที่เห็นกันนี่แหละครับ

ซึ่งก็เป็นช่วงที่ แทตทู คัลเลอร์ กำลังจะมีผลงานพอดีด้วย

เอกภาพ : จริงๆ พี่ๆ วงแทตทูฯ ก็อยู่คนละคณะกับพวกเรา แล้วชั้นปีก็ห่างด้วย เราเพิ่งเข้ามาปี 1 พี่ๆ ก็ปี 4 แล้ว ซึ่งพี่ๆ เขาก็ดังไปก่อนแล้ว เราก็ทำเพลงกันเองมาก่อน ก็เลยจากละครเวทีคณะนี่แหละ สุดท้ายพี่ๆ เขาก็ไปปล่อยเพลงกับค่าย ซึงเราก็ใช้วิธีการเดียวกัน เราก็ทำเพลงของเราและตั้งวงมา แต่เรียกชื่อตามชั้นปี เพราะว่ายังไม่มีชื่อวง จนขึ้นปี 3 พร้อมกับที่อ๋องเข้ามาเป็นสมาชิก เลยตั้งชื่อวงว่าไปส่งกู ฯ ทำเพลงแรกคือ ‘หมีโตขึ้น 4 มิล’ และอีกเพลงคือ ‘พนักงานสวนสัตว์’ ในตอนปี 4 ซึ่งเป็นเพลงประกอบละครนัวเนียร์ทั้ง 2 เพลง และเป็นอีก 1 เพลงประกอบละครเวทีในช่วงปีนั้น


ผลตอบรับของทั้ง 2 เพลงนี้ เป็นยังไงบ้างครับ

เอกภาพ : จริงๆ ใน ม. เขาก็สนใจตั้งแต่ชื่อวงแล้ว แถมเนื้อหาเพลงก็เป็นที่สนใจใน ม. อยู่ประมาณนึง แต่ถ้าถามในขอบเขตของคณะวิศวะฯ คิดว่าน่าจะเป็นเพลงฮิตแน่นอน ตอนนั้นก็เริ่มปล่อยเพลงในยูทูปด้วย แต่ว่าเป็นแอคเคาน์คนอื่น (หัวเราะเบาๆ) ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้คาดหวังอะไร เพียงแค่ลงเพื่อเป็นผลงานของเราปกติ

โชติกะ คำสุขะ (อ๋อง -ร้องนำ) : ดังเลย (หัวเราะ) พอหลังจากที่มี 2 เพลงที่ว่าแล้ว พวกผมก็เริ่มที่จะทำวงอย่างจริงจัง เราก็เริ่มมาเป็นนักร้องนำอย่างเต็มตัว ทีนี้เราก็ไปหาเวทีเล่นต่างๆ จนวันหนึ่งเพื่อนของบูม เขาก็ชวนไปเล่นที่ no space gallery ซึ่งเป็นงานดนตรีในธีมโพสต์ร็อค ที่กำลังฮิตในตอนนั้น แล้วด้วยความที่เราคิดว่าเราเจ๋งที่สุดในขอนแก่นแล้ว คงไม่มีวงไหนเทียบเท่าได้ ผมก็เลยไปงานนี้ แล้วก็ไปเล่นในเวทีนั้น ซึ่งพอลงจากเวที ทุกคนก็นั่งเงียบหมดเลย อารมณ์ประมาณหนังเรื่องโหมโรง ที่พระเอกเข้าไปตีระนาดในพระนคร แล้วมาเจอขุนอินในครั้งแรก ลักษณะประมาณนั้นเลย แบบ “พวกกูมาทำอะไรกันวะเนี่ย” เพราะบางวงในงานเขาเอากีต้าร์มารูดกับเสาแล้วเล่น เราก็เลยกลับมาคิดว่า อย่างงี้คือโพสต์ร็อค คนชอบแบบนี้เหรอ เลยบอกกับบูมว่า เดี๋ยวเรามาทำวงร็อคกัน

ผมก็เริ่มทำเพลง ด้วยการเอาไมค์ไว้ในกลางห้องเลย แล้วเราก็ได้เพลงมา 3 เพลง คือ 'เธอทิ้ง', 'รุ่นน้องตีปาก' และ 'ผมรู้ดีผมคนแถวนี้' แล้วก็ปล่อยเพลงเหล่านี้เข้าไปในยูทูป พอปล่อยไม่นาน บูมโทรมาหาผมแล้วบอกว่า ลบเพลงออกไปก่อนได้มั้ย เพราะโดนแม่ด่า (หัวเราะ) ผมก็บอกกับบูมกลับไปว่า เพลงเหล่านี้แหละจะทำให้เราดังได้ ซึ่งปรากฏว่าก็ได้รับการติดต่อให้ไปเล่นในงานต่างๆ เช่น บิ๊ก เมาท์เท่น เพราะเพลงเหล่านี้ จนกระทั่งมีเพลงถังน้ำแข็ง แล้วก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อยๆ ได้รับโอกาสให้ไปเล่นตามเทศกาลดนตรีต่างๆ อยู่เรื่อยๆ


ตอนที่ได้รับการติดต่อ เริ่มมีความรู้สึกแปลกใจมั้ย ว่าอยู่ดีๆ ก็เกิดเหตุการณ์แบบนี้

โชติกะ : ไม่ค่อยแปลกใจ เพราะผมก็คิดว่าผมดังเสมอ (หัวเราะ) ซึ่งตอนที่พี่ๆ เขาโทรมาว่าให้ไปเล่นงานนี้ แต่ผมก็บอกเขาไปว่า ขอถามเพื่อนก่อน ซึ่งจริงๆ เราไปแน่ๆ แต่ขอเล่นตัวก่อน แล้วก็โทรไปบอกบูม ซึ่งตอนแรกบูมก็ไม่เชื่อนะ แต่พอหลังจากนั้น พวกเราก็ทำเพลงมาเรื่อยๆ และก็ได้ต้าร์เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่ม เริ่มทำเพลง เริ่มจริงจังขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่คิดว่าเพลงมันจะติดหูได้ขนาดนี้ แต่ช่วงนั้นก็ถือว่าดังในขอนแก่นแล้ว แวเดินไปไหนก็มีคนมาขอถ่ายรูปด้วย เพราะผมหล่อ (หัวเราะ) คือวงเรามันเป็นวงดนตรีที่เป็นวงจริงๆ คือสมาชิกในวงอาจจะผ่านการเล่นดนตรีมาเป็นเวลานาน ส่วนผมจะเป็นแบบแนวเด็กยกของในวง อาจจะไม่ค่อยจริงจังกับดนตรีเท่าไหร่ (หัวเราะเบาๆ) แต่ผมชอบบรรยากาศในการเล่นดนตรีนะ เพราะได้มาดื่มฉลองกับเพื่อน แค่นั้นเลย

เท่าที่สังเกตมา ซิงเกิลของวงในแต่ละเพลงคือ ตามใจตัวเองมาก วงรู้สึกอย่างงั้นมั้ย

โชติกะ : คือเพลงที่อยู่ในวงเรา บูมจะเป็นคนแต่ง ซึ่งผมจะมีความเชื่อในตัวบูมมากเลยนะ ผมเชื่อว่าเขาเป็นอัจฉริยะในวง เพราะไม่ว่าใครจะได้ไปยังไงก็ตาม จะต้องมีประโยชน์ในส่วนตรงนั้นแน่นอน ซึ่งในเพลงที่เขาแต่งมาในแต่ละเพลง ผมไม่เคยเห็นใครแต่งเพลงแล้ว มันมีทั้งความแปลกและความเท่อยู่ในตัว แล้วเป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจมาก


ในการทำเพลงลักษณะอย่างงี้ ถือว่าเป็นความยากของวงด้วยมั้ย

โชติกะ : คือในแต่ละเพลงที่พวกเราทำ ซึ่งจากเพลงที่เราเคยทำกันมาก่อนหน้านี้ พวกเราจะไปอยู่ในตามผับบาร์ต่างๆ บางทีสมาชิกวงก็จะพูดประโยคขึ้นมาดื้อๆ เลย เช่น นั่งกินอยู่ ต้าก็พูดขึ้นว่าว่า โห พี่ เห็นชุดชั้นในอย่างชัดเจน เราก็จะได้มาหนึ่งเพลงและ หรือมีเหตุการณ์หนึ่งที่ผมบอกว่า เฮ้ย วันนี้กูเลี้ยงเอง พ่อเป็นสุลต่าน ก็ ได้มาอีกเพลงแล้ว

หรือเพลงถังน้ำแข็ง ก็นำมาจากเหตุการณ์ที่หลังผับแห่งหนึ่ง บูมก็บอกกับผมว่า มึงแล้วเอาตัวเองไปนอนในถังซิ ผมก็เอาตัวเองเข้าไปนอนในถังน้ำแข็ง เขาก็แต่งเพลงจากเหตุการณ์ จนบูมลืมไปเลยว่ามีผมอยู่ในนั้น ซึ่งก็เกือบตายเหมือนกัน โชคดีที่มีคนมาตักน้ำแข็งพอดี เลยรอดมาได้ ในหลายๆ เพลงที่ผ่านมา ส่วนมากจะเป็นการคุยกันในหมู่วงเครื่องดื่มต่างๆ เราให้คำจำกัดความว่ามันคือเพลงชีวิต มัไนม่ใช่แนวเพื่อชีวิตอย่างที่รู้จักกัน แต่มันเป็นเพื่อชีวิตของเราเอง ไม่เกี่ยวกับใครเลย เราทำเพื่อตัวเองทั้งนั้น (หัวเราะ)


เรืองวิทย์ ไสเหลื่อม (อ๊อฟ - กีต้าร์) : ส่วนเรื่องเนื้อเพลงในช่วงหลังๆ มันเป็นเชิงสัญลักษณ์มากกว่า ถ้าเป็นเด็กฟังอาจจะเป็นเรื่องสนุกสนานไป แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ฟังมันอาจจะเป็นเรื่องชีวิตของวัยทำงานพวกเขาไป อย่างเช่น ม้าลายอยากขับรถจิ๊บ ซึ่งพี่บูมเขาจะเขียนเพลงแบบ 2 ความหมาย

เอกภาพ : เอาจริงๆ ผมเขียนเพลงมาก็ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นสัญลักษณ์ขนาดนั้น แต่จะใช้ในเชิงว่า เอาความเจ็บปวดของสัตว์ต่างๆ มาเป็นตัวแทนมากกว่า คือโดยส่วนตัวเราชอบเขียนเพลงแบบนี้ เพราะว่าเราชอบดูสารคดีสัตว์โลกแล้วจำตรงนี้ จากนั้นก็เอามาเขียนเป็นเพลงอีกที ประมาณนี้ครับ


แต่ถ้าคนทั่วไปที่มาฟังเพลงวงเรา เขาอาจจะบอกว่า เพลงอะไรวะเนี่ย ตรงนี้มีความรู้สึกยังไงบ้าง

โชติกะ : คำถามนี้ตอบง่ายมาก จริงๆ ถ้ามีคนฟังเพลงวงเรา แล้วมีความรู้สึกแบบนั้น เราว่ามันเป็นส่วนน้อยนะ เพราะเรามีความชัดเจนในตรงนี้มาก ถ้าฟังแล้วมันจะมี 2 แบบ คือ ไม่ชอบมากก็เกลียดเลย ซึ่งเราจะคัดคนฟังเพลงเราได้ง่ายมาก ฉะนั้น คนที่ชอบเรา เขาก็จะฟังเพลงของเราต่อ แต่ถ้าคนเกลียดก็ไม่ฟังอย่างที่บอก นั่นคือสิ่งที่เราคิดว่า มีคนชอบมากกว่าคนที่เกลียดเราแน่นอน คือในการทำเพลงแต่ละเพลงของเรา ผมเชื่อว่าบูมตั้งใจทำเพลงให้ออกมาขำแหละ แต่มันมีคนที่มองเหนือกว่าบูมไปอีก คือบูมอาจจะแต่งประมาณนี้ แต่เขามองไปอีกขั้นหนึ่ง

บางคนอาจจะมองว่าพวกเรามีความอินดี้ แต่จริงๆ เราใช้ชีวิตแบบง่ายๆ เลยนะ ก็แค่ใช้ชีวิตธรรมดา ทำงาน แล้วสังสรรค์ เล่นดนตรี แค่นั้นเอง แต่บางครั้งเราอาจจะถูกมองว่าใช้ชีวิตแบบง่ายๆ เกินไป จนบางครั้ง คนที่มาฟังผลงานเรา มองเป็นความอินดี้ไป ซึ่งธรรมชาติเขาอาจจะมองว่า คุณต้องมีลุคอย่างงี้นะ แต่พวกเราไม่เคยที่จะสร้างลุคอะไรเลย เราเป็นยังไง ก็เป็นอย่างงั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนก็ตาม

เอกภาพ : โดยส่วนตัวผมไม่ซีเรียสตรงนี้นะ ก็ได้ทำตามเป้าหมายตรงที่มันทำให้ขำได้ แต่ถ้าคนฟังกลุ่มนั้นสามารถที่จะคิดไปอีกขั้นได้ เราก็จะดีใจกว่านี้อีก


ในการที่วงสามารถนำพามาสู่ส่วนกลางได้ ทางวงรู้สึกว่ามันเกินจากความคาดหมายของวงมั้ย

เรืองวิทย์ : ไม่ได้เกินความคาดหมายนะครับ เพราะเราก็ไม่ได้หวังสิ่งนี้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ก็มีความรู้สึกดีที่มีคนร้องเพลงของวงเราได้ เพราะตอนแรกสุดเราไม่ได้คิดในเรื่องที่ว่าจะมีคนฟังหรือไม่ฟังวงเรา แต่พอมีคนฟังเพลงเรา ก็รู้สึกดีใจครับ

โชติกะ : คือเราไม่ได้คาดอะไรเลย พอวงถูกพูดถึงมากขึ้น ก็ยังเหมือน เพียงแค่คนมาขอถ่ายรูปเยอะขึ้น

แน่นอนว่า การแสดงสดของวงเอง ก็ถือได้ว่าเป็นที่กล่าวขานมาก ถือว่าเป็นความตั้งใจของวงด้วยมั้ย

เอกภาพ : ถ้าถามผม ผมตั้งใจนะ ตั้งใจให้มันร็อค

โชติกะ : เอาจริงๆ คือไม่ได้ซ้อม (หัวเราะ) มันเลยดูไม่มีสคริปต์ แต่คือตอนแรก เราก็เหมือนกับวงดนตรีอื่นๆ ปกติทั่วไปที่เขาทำเพลงกัน แล้วเอาเพลงไปโปรโมตในช่องทางออนไลน์ต่างๆ ซึ่งเขาก็ต้องเสียเงินดปรโมตใช่มั้ย ซึ่งผมก็เลยคิดว่า เราเอาเงินตรงนี้มาโยนให้คนดูเลย พวกเขาก็ได้เงินกลับบ้าน แล้วไม่ต้องเสียเงินค่าโปรโมตด้วย คือถ้าเพลงมันจะดัง มันก็ดังเองได้ ผมคิดอย่างงั้นนะ แล้วมันก็เป็นอย่างงั้นจริงๆ

ซึ่งในตอนแรกๆ ที่เราแจกเงินคนดู มันก็ไม่คิดอะไร แต่เหตุการณ์นี้ถูกพูดถึงเยอะ น่าจะเปผ็นตอนที่ไปเล่นงาน Cat Expo ครั้งที่ 4 ที่ช่วงนั้น เราแสดงพร้อมกับพี่ๆ วง พาราดอกซ์ ที่เขาเล่นอีกเวทีนึง แล้วผมก็พูดกับคนดูที่เวทีที่เราเล่นว่า “พาราดอกซ์แจกลูกโป่ง แต่วงกูแจกเงินเว้ย” เขาก็เลยพูดถึงกันเยอะ และหลังจากนั้น ผมก็สียเงินทุกครั้งที่ไปเล่นที่ไหนก็ตาม ซึ่งเราก็รู้สึกโอเคนะ เพราะถือว่าเป็นการโปรโมตตัวเองไปเลย ก็เหมือนกับเขาได้ยินเสียงเพลง และได้ตังค์จากเราไปด้วย ให้เขาชอบเราเอง ประมาณนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเงินของผมนะ และมันก็แล้วแต่ครั้ง แต่ถ้าวันไหนเมามากก็อาจจะเยอะหน่อย (หัวเราะ) แล้วถ้าเป็นงานที่เล่นในเทสกาล ผมก็จะแลกเป็นแบงค์ 20 เป็นจำนวนหลักพันได้ แต่ถ้าเป็นตามผับบาร์ต่างๆ จะเป็นลักษณะมีอะไรก็ล้วงจากกระเป๋ามากกว่า ล้วงจากเพื่อนในวงบ้าง ก็แล้วแต่ เพราะคนก็มารอจังหวะนี้แหละ


ซึ่งพอมีพฤติกรรมที่อยู่บนเวที ก็กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของวงเลยนะ

โชติกะ : ผมว่าก็โอเคนะ ตรงที่คนดูได้เงิน ถ้าเยอะสุดตั้งแต่แจกมา น่าจะเป็นงานแคททีเชิ้ต ครั้งล่าสุดนะครับ หมดไปประมาณ 6000-7000 ได้ เพราะผมได้ค่าตัวมา แล้วก็บวกของตัวเองไปด้วย

เอกภาพ : ส่วนการโชว์แจ๊คของผม มันมาจากอ๊อฟเข้ามา แล้วเป็นความลำบากของผม เพราะตอนเล่นนี่คือ อ๋องก็จะบอกให้ผมโซโล่กีต้าร์ตลอด ซึ่งทำให้ตัวเองมีความสำคัญในตอนเล่นนะ แต่พออ๊อฟเข้ามาในวง เรารู้สึกว่า เราสู้ในเรื่องโซโล่กีต้าร์กับอ๊อฟไม่ได้ ผมก็เลยต้องการให้คนดูรู้ว่าผมโซ่โล่ ผมเลยถอดแจ๊คยิงใส่คนดูเลย เป็นการยิงเลเซอร์สายแจ๊คกีต้าร์ไปหาคนดู ซึ่งผมรู้สึกว่า พอถอดทีไรเรารู้สึกเด่นกว่าอ๊อฟทันที (หัวเราะ)

โชติกะ : ช่วงหลังๆ ผมก็ถอดสายไมค์ตามบูมเหมือนกันนะ (หัวเราะ)

เอกภาพ : ผมรู้สึกว่าการโซโล่กีต้าร์มันสำคัญนะ คือถ้าเราโซโล่แล้วไปหลบมุมในควันสโมกคอนเสิร์ต มันก็จะหายไปเฉยๆ เพราะส่วนนี้มันเป็นงานเดี่ยว เราจะต้องเด่น เราไม่ต้องเล่นกีต้าร์ในตอนนั้นก็ได้ แค่ดึงแจ๊คแล้วยิงใส่คนดูก็เด่นแล้ว นี่แหละโซโล่ของแท้ (หัวเราะ) คือมันโอเคแหละ ที่วงเราได้อ๊อฟเข้ามา แต่ผมก็ต้องหาทางรอดให้กับตัวเองอยู่ดี (หัวเราะอีกครั้ง)


แล้วอีกจังหวะหนึ่งที่อยู่ดีๆ สมาชิกวงต่างก็นึกจะทำอะไรก็ทำในตอนโชว์เลย มันคล้ายกับว่า บนเวทีมันคือโลกของเราด้วยมั้ย

เอกภาพ : ใช่ครับ มันคือสนามเด็กเล่นของเราเลย เราสามารถจินตนาการว่าจะทำอะไรบนนั้นได้เลย แต่แค่ไม่ล้ำเส้นคนอื่น แค่นั้นเอง เราต้องอยู่ของเรา

เรืองวิทย์ : สำหรับผม มันเหมือนบ้านนะ เหมือนได้กลับบ้าน ได้อยู่ในที่ที่สบายใจ ผมรู้สึกอย่างงั้นจริงๆ นะ บางทีเราก็นึกจะลงไปกอดแฟนเพลงบ้าง หรือ กระโดดบอดี้เสิร์ฟลงจากเวทีบ้าง แต่มันก็เป็นพื้นที่ความสบายใจของเรานะ ผมคิดอย่างงั้น

ภาสกร สิงหา (โขง - เบส) : ส่วนตัวผมก็เปรียบเหมือนกับกองหลัง เพราะกองหน้าอย่างพี่อ๋องนี่คือเผื่อเยอะเกิน (หัวเราะ) เราต้องคอยหนุนเขาตลอดเวลา คือในบางจังพวะในตอนเล่น เขาอาจจะอย่ในจินตรนาการของเขาอยู่นะครับ ทำให้ผมกับต้าร์ต้องตามพี่เขาให้ทันให้ได้ แต่ก็สนุกดีครับ

กฤตภาส ฉพรรณรังษี (ต้า - กลอง) : สำหรับผม คำตอบก็คล้ายกับโขงนะครับ แต่เราจะฟังพี่อ๋องที่สุด แทบจะไม่ฟังคนอื่นเลย เพราะเวลาที่พี่อ๋องพาไปไหน ผมก็ตามเขาไปตลอด แต่ในช่วงหลัง ผมก็มีการเอาคืนพี่เขาและ ด้วยการที่ผมจะตีตามใจตัวเอง เพื่อให้แกตามผมบ้าง เพราะเป็นการลองใจพี่เขาว่าจะตามเรามั้ย อีกอย่างถ้ากลองตีผิดท่อน มันเหมือนกับเราตีผิดจังหวะใช่มั้ยครับ ผมเลยคิดว่า เราอยากจะเท่บ้างแหละ เราเลยเอาคืนบ้างในบางจังหวะ (หัวเราะ)


อีกมุมหนึ่ง ตอนนี้เห็นเด็กวัยรุ่นใส่เสื้อที่มีรูปอ๋องเต็มไปหมดเลย มันเหมือนกับเป็นการสร้างสัญลักษณ์ให้กับตัววงด้วยมั้ย

โชติกะ : ตอนแรกสุด เราไม่ได้ตั้งใจที่จะให้เป็นแบบนั้น แต่แรงบันดาลใจจริงๆ มันมาจากรูปใบหน้าของบ็อบ มาร์เลย์ บนเสื้อยืด พอเรามองแล้วรู้สึกว่าเท่ดีว่ะ ซึ่งบางทีคนก็ไม่รู้ว่าคนๆ นี้คือใคร แต่บางคนก็เคยเห็นหน้าลักษณะนี้บ่อยแล้ว ผมเลยพูดกับเพื่อนในวงเล่นๆ ว่า หน้ากูจะต้องดังเขาบ้าง แล้วก็ไปเห็นรูปหน้าตัวเองตอนสมัครเข้ามหาลัย ผมเลยเอารูปนั้นมาทำเป็นเสื้อใส่เล่น เพราะผมโดนห้ามถอดเสี้อเล่นบนเวทีอยู่ช่วงนึง เราก็เลยหาเสื้อเท่ๆ มาใส่ แล้วสกรีนรูปหน้าตัวเองมาใส่ แล้วใส่ไปเล่นที่ playyard แล้วก็เอาเสื้อตัวนี้แหละไปสกรีนในงานนั้นประมาณ 30-40 ตัว ปรากฏว่ามันขายได้ หลังจากนั้นผมก็ทำเพิ่ม จนเรารู้สึกว่ามันเป็นไวรัลแล้วจริงๆ แล้วคนไม่ต้องรู้หรอกว่า หน้าผมคือใคร แค่ให้เห็นว่าเป็นรูปประดับรูปหนึ่ง ว่าคนเขาใส่กัน

ซึ่งผมก็มีวางแผนเหมือนกันว่า จะเอารูปผมรูปนี้แหละ ไปติดตามผับบาร์ต่างๆ เพราะจะต้องให้คนที่เข้าสถานที่ดังกล่าวเห็นรูปผมทุกวัน จนเกิดความสนใจว่าไอ้นี่คือใคร คิดว่าทำได้แน่ๆ เพราะบางวงเพลงดังแต่ไม่รู้ว่าใครร้อง แต่เพลงวงเรา ไม่ต้องรู้หรอก เอาหน้าดังไปก่อน เขาจะต้องไปค้นหาก่อนว่า รูปผมคือใคร แล้วทำให้เขาค้นหาต่อไปว่า เขาร้องเพลงวงนี้นะ เราจะทำให้คนสงสัยก่อนไงว่า คนนี้คือใคร ร้องเพลงอะไร

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้วงถูกพูดถึงในวงการเพลงไทยพอสมควรครับ

โชติกะ : คิดว่าคงเป็นตัวเพลงมั้งครับ เพราะว่าวงเราอยู่ในยุคสมัยที่คนที่มาเสพผลงานแบบไม่ต้องคิดอะไรเยอะครับ แต่ก็จะทำไปเรื่อยๆ แหละ มันก็เท่ของมันอยู่แล้ว บางคนคิดว่าเราเป็นวงหน้าใหม่ แต่เราเป็นวงรุ่นน้องวงแคลชแค่ไม่กี่ปีเอง คือถ้าพูดถึงในฐานะวงอินดี้ด้วยกัน เราน่าจะเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศนะ ที่ยังอยู่ในวงการ และหวังว่าจะยังทำเพลงต่อไป ซึ่งตอนซิงเกิล “หมีโตขึ้นสี่มิล” กับ “พนักงานสวนสัตว์” โดยส่วนตัวเราก็คิดว่าดังมากแล้วนะ อย่างน้อยก็ในขอนแก่น พวกเขาก็จะบอกว่าเพลงเชี่ยอะไรวะ ประมาณนั้น

แต่ในฐานะที่เราเป็นตัวนำ เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนมาดูอะไรเยอะแยะ เราแค่เอาพอใช้ได้ แล้วสายตาจะต้องไปสื่อสารกับคนดูให้ได้ ให้ทุกคนมองมาที่พวกเราให้ได้ หน้าที่ผมมีแค่นั้น ส่วนเรื่องแต่งเพลง บูมกับอ๊อฟจะเป็นคนจัดการ และโขงกับอ๊อฟ จะทำหน้าที่หลังบ้านให้วง ผมคิดว่าเท่านี้มันก็สุดยอดแล้วครับ

เอกภาพ : ผมว่าเพลงของพวกเรามันทันสมัยนะ มันเหมือนกับงานสารคดีเก่าที่มาดูแล้วก็ยังทันสมัยอยู่ ซึ่งคิดว่าอีก 20 ปี มันน่าจะเป็นอย่างงั้นนะ อีกอย่างทำเพลงดังแค่ในคณะ เราก็มีความสุขแล้ว แล้วพอมาเป็นลักาณะเฉพาะกลุ่มอีก เราก็มีความสุขเหมือนเดิมเช่นกันครับ

เรืองวิทย์ : ผมว่าน่าจะเป็นการแสดงสดของพวกเรานะ การโชว์ของพี่อ๋อง รวมทั้งตัวเพลงด้วย แล้วก็การทำเพลงมานานด้วย เราค่อยๆ ทำเพลงไปทีละนิดด้วย แล้วก็การพูดแบบปากต่อปากด้วย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าถูกพูดถึงเยอะแค่ไหน เพราะว่าเราก็ไม่ได้มีตัวชี้วัดขนาดนั้น
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ศิวกร เสนสอน



กำลังโหลดความคิดเห็น