โซเชียลฯ แห่วิจารณ์เพียบ ชายใจดำรังแกนกสายพันธุ์ “ค็อกคาเทล” ทั้งการใช้นิ้วดีด ใช้มือกำตัวนกอย่างแรงจนไม่สามารถเดินได้ และมีเลือดออกตามลำตัว ชาวเน็ตตั้งคำถาม “นกมันทำอะไรผิด” และการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิด พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “พรเจริญ ฟิชชิ่ง” โพสต์คลิปวิดีโอสะเทือนใจขณะมีชายรายหนึ่งกำลังรังแกนกสายพันธุ์ “ค็อกคาเทล” ทั้งการใช้นิ้วดีด ใช้มือกำตัวนกอย่างแรงจนไม่สามารถเดินได้ และมีเลือดออกตามลำตัว ถือว่าเป็นภาพรุนแรงสำหรับผู้ที่รักสัตว์ และสงสารนกตัวนี้เพราะนกไม่ได้ทำผิดอะไร ทำไมถึงต้องทำอะไรโหดร้ายถึงขั้นนี้ สำหรับการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์
ด้านผู้โพสต์ระบุว่า “ฝากแชร์ตามหาคนที่ขายนกให้คนนี้เผื่อจำนกได้ช่วยติดต่อมาด้วยคะ (อาจจะมีภาพรุนแรงสะเทือนใจ ทำให้จิตตกต่อคนรักสัตว์นะคะ ต้องขอโทษด้วย) ใจสลายเลย... จนป่านนี้ก็ยังไม่กล้าดูคลิป ทำร้ายน้องแบบนี้ทำไมเหมือนจะเป็นโรคจิตฆ่านกหลายตัวแล้วไปโพสต์ในกลุ่มต่างๆ จิตใจมึงทำด้วยอะไร ...ฆ่านกพันธุ์ไหน..ก็ไปโพสต์ในกลุ่มนั้น ...มาก ตามหาร้านขายนก ที่มีนก ค๊อกคาเทลสีนี้แล้วใช้ห่วงขาสีน้ำเงิน แน่ใจได้เลยว่ามันคงไม่ได้เลี้ยงตั้งแต่ลูกป้อนคงซื้อมาตอนโต เพราะมันซื้อมา ฆ่าหลายตัวแล้วไม่ใช่แค่ตัวนี้ตัวเดียว ...จะตามหา...จนเจอ ช่วยๆ กันค่ะ ร้านไหนขายนก ช่วยกันดูด้วยค่ะ มันโหดร้ายเกินไป ฝากแชร์ด้วยค่ะ ที่เซ็นเซอร์หน้าไว้เพราะอาจจะเป็นเฟสปลอมเอารูปคนอื่นมาลง”
ทั้งนี้ เรื่องราวดังกล่าวได้เผยแพร่สู่โลกออนไลน์ มียอดแชร์กว่า 1,300 ครั้ง มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การกระทำชายรายดังกล่าวที่ฆ่านก อีกทั้งทางกฎหมายคุ้มครองสัตว์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไป สำหรับ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ เพื่อคุ้มครองสัตว์มิให้ถูกทารุณกรรม และเจ้าของจะต้องจัดสวัสดิภาพให้สัตว์มีความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับสภาวะของสัตว์แต่ละชนิด พร้อมกำหนดบทลงโทษไว้ดังนี้
- ผู้ที่กระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
- เจ้าของสัตว์ หรือผู้ใดที่ไม่จัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสมกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดตามมาตรา 22 มาตรา 24 หรือฝ่าฝืนมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท
ทั้งนี้ ศาลมีอำนาจสั่งห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้กระทำความผิดนั้นครอบครองสัตว์ หากเห็นว่าสัตว์นั้นอาจจะถูกทารุณกรรมหรือได้รับการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ไม่เหมาะสมอีก โดยจะมอบให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่เห็นสมควรเป็นผู้ครอบครองหรือดูแลสัตว์นั้นต่อไป
โพสต์ต้นฉบับ