xs
xsm
sm
md
lg

“สามารถ” เยือนสงขลาพบ ปชช.ร่วมถกปราบแชร์ลูกโซ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้เสียหายเฮ เตรียมยื่นคุ้มครองสิทธิเหยื่อคดีแชร์ “เวิลด์ บิทเทรด“ หลัง ป.ป.ง.ยึดอายัดและประกาศคุ้มครองสิทธิ ด้านกระทรวงยุติธรรมเร่งลุยกฏหมายปราบแชร์ลูกโซ่ ชาวบ้านผุดไอเดีย เน้นคุมประพฤติมิจฉาชีพจนกว่าจะคืนเงินครบ

วันนี้ (1 ก.พ.) เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมคริสตัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นการยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ โดยมีนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจากนายสมหวัง เรืองเพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นผู้กล่าวต้อนรับ

โดยมีมีผู้แทนส่วนราชการในพื้นที่เข้าร่วม เช่น นายอุกฤษฎ์ ฤทธิศักดิ์ รองอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย พล.ต.ต.ดำรัส วิริยะกุล รอง ผบช.ภาค 9 พ.ต.อ.เอนก ศรีคำอ้าย รอง ผบก.ภ.จว.สงขลา นายศาสตรา ศรีปาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา นางยุพิน องอาจ ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา ภาครัฐและภาคประชาชน

สืบเนื่องจากกระทรวงยุติธรรมได้รับเรื่องร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมจากประชาชน กรณีถูกหลอกลวงเป็นเหตุให้สูญเสียทรัพย์สินจากการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่จำนวนมาก ประกอบกับประชาชนขอความสนับสนุนจากกระทรวงยุติธรรม ให้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ที่จัดทำขึ้นโดยภาคประชาชน ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการรวบรวมรายชื่อประชาชนไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมาย


สำหรับบรรยากาศการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ นายสามารถกล่าวว่า ที่ผ่านมาพบสถิติผู้ที่ตกเป็นเหยื่อคดีแชร์ลูกโซ่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบอย่างวงกว้าง เพราะแชร์ลูกโซ่ถือเป็นมะเร็งร้ายของสังคม ทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตอนที่ตนทำงานในฐานะภาคประชาชนที่ต่อสู้เพื่อนำความยุติธรรมกลับสู่พี่น้องประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ พบว่ากระบวนการต่อสู้เป็นเหมือนบันได 8 ขั้น แต่ตนขอเรียกว่าเป็นภูเขา 8 ลูกอย่างที่ ส.ส.ศาสตรา ศรีปาน ได้นำเรียนต่อรัฐสภา

ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาเกี่ยวกับการถูกหลอกลวงในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม จึงมอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หารือร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อศึกษาแนวทางมาตรการป้องกัน ปราบปรามและช่วยเหลือประชาชนผู้ตกเป็นผู้เสียหาย จากการถูกหลอกลวงในความผิดลักษณะแชร์ลูกโซ่

“ที่ผ่านมาเห็นนายกรัฐมนตรี 3 คน ที่จริงจังแก้ปัญหาแชร์ลูกโซ่ คนแรก คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คนที่สอง คือ นายชวน หลีกภัย ประธานสภา และคนที่สามคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้แชร์ลูกโซ่เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ 7 ตุลาคม 2560 และ ได้ให้เป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลนี้” ผช.รมว.ยธ.กล่าว

นายสามารถกล่าวต่อว่า สำหรับร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ ประกอบด้วยการกำหนดองค์ประกอบการกระทำในลักษณะแชร์ลูกโซ่มาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันมีลักษณะแชร์ลูกโซ่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ การจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนช่วยเหลือแชร์ลูกโซ่และการจัดตั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอันมีลักษณะแชร์ลูกโซ่และบทกำหนดโทษ

ด้านนายเรืองศักดิ์กล่าวว่า ต้องการให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นในวันนี้ ได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่จะทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีความสมบูรณ์ และสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้แท้จริง ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ ได้มีความเห็นที่จะให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับคดีแชร์ลูกโซ่ ให้เป็นหน่วยงาน one stop service

รวมถึงอยากให้มีการคืนเงินที่ถูกหลอกลวงไปเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากต้องรอถึง 34 ปี 4 เดือนกว่าจะได้เงินคืน และถึงแม้จะได้คืนก็ยังคงเป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเงินลงทุนไป ด้วยเหตุนี้จึง ควรมีกองทุนสำรอง ช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อ 10% จากคดีแชร์ลูกโซ่ ซึ่งถือหลักคุ้มครองผู้สุจริตไม่คุ้มครองผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ตลอดทั้งควรมีการคุมประพฤติโดยการใส่ กำไล EM สำหรับผู้พ้นโทษและให้บำเพ็ญประโยชน์ จนกว่าจะชำระหนี้หมดหรือตามที่กฎหมายกำหนด

ผู้เสียหายเหยื่อคดีแชร์ลูกโซ่เล่าประสบการณ์ว่า ตนเองถูกหลอกให้ลงทุนแชร์โอดี แคปปิตอล จำนวน 5,000,000 บาท เพราะหลงเชื่อแม่ทีมซึ่งมีหน้าที่การงานดี ทำให้ตนเองหลงเชื่อว่าจะไม่โดนหลอก จึงตัดสินใจทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ จนทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก และปัจจุบันคดี อยู่ระหว่างที่พนักงานสอบสวน สภ.หาดใหญ่ ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดี นอกจากนี้ตนเองยังถูกทนายความของคู่กรณี ยื่นโนติสให้ถอนคำร้องทุกข์ในส่วนที่ตนเองได้แจ้งความไว้ด้วย

คดีเกิดที่ขึ้นก็จะมีลักษณะคล้ายกับคดีของผู้เสียหายอีกหลายราย ที่ได้เล่าประสบการณ์ที่ตนเองตกเป็นเหยื่อคดีแชร์ลูกโซ่ ถูกหลอกลวงให้ลงทุน เป็นจำนวนเงินหลักแสนและบางรายถูกหลอกให้ลงทุนหลักล้าน โดยมีผู้ได้รับความเสียหายยอดเงิน 3,700,000 บาท 1 ราย ยอดเงิน 1,900,000 บาท 1 ราย และ ยอดเงิน 500,000 บาท 1 ราย ซึ่งทุกรายล้วนแล้วแต่ได้ผลตอบแทนในช่วงแรก แต่สุดท้ายก็โดนหลอกให้ลงทุน ส่งผลให้ได้รับความเดือดร้อน และบางรายมีปัญหาครอบครัว

ดังนั้นจึงอยากให้ภาครัฐได้กระตุ้นเตือนประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่กระทำการเกี่ยวกับการหลอกลวงในลักษณะแชร์ลูกโซ่ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ โดยเห็นว่า 1. ควรลงโทษผู้กระทำความผิดคดีแชร์ลูกโซ่ ให้จำคุกไม่น้อยกว่า 50 ปี 2. รัฐต้องให้ความคุ้มครองผู้เสียหายที่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 3. ทนายความที่โกงแชร์ลูกโซ่ต้องร่วมรับผิดชอบผลทางคดีด้วย 4. ควรเปิดเผยชื่อคนโกง เพื่อให้สังคมรับรู้และจะไม่ถูกหลอกลวงอีก

นายศาสตรากล่าวว่า ตนเองในฐานะ ส.ส.ได้เป็นตัวแทนของพ่อแม่พี่น้องประชาชนในการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ โดยเมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้เสนอให้การแก้ไขปัญหาคดีแชร์ลูกโซ่ ซึ่งนับวันทวีความรุนแรงขึ้น บรรจุอยู่ในรายงานการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน เพื่อให้มีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาแชร์ลูกโซ่อย่างจริงจังและเป็นระบบ พร้อมกันนี้ ได้เสนอโครงสร้างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดการฉ้อโกงประชาชนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ และการเงินนอกระบบและคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนฯ

โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่รัฐมนตรีมอบหมาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำหน้าที่เป็นประธาน และมีกรรมการ ประกอบด้วย 1. ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม 2. ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 3. ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 4. ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง 5. ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงมหาดไทย 6. ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ 7. ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข 8. ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ 9. อัยการสูงสุด

10. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 11.เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 12. อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ 13. เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย 14. เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ 15. เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่เลขานุการ และอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ทำหน้าที่เลขานุการร่วม และมีคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีกระทำความผิดการฉ้อโกงประชาชน ในลักษณะแชร์ลูกโซ่ และการเงินนอกระบบ

โดยมีที่ปรึกษา ประกอบด้วย 1. ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม 2. ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 3. ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทาวงพาณิชย์. และมีองค์ประกอบของคณะทำงาน ดังนี้1.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (หัวหน้าคณะทำงาน) 2.ผู้แทนอัยการสูงสุด 3.เลขาธิการ ป.ป.ง. 3. อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ 4. อธิบดีกรมการปกครอง 5. อธิบดีกรมสรรพากร 6. เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค 7. อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 8. เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ

9. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 10. รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1-9 (ที่รับผิดชอบงานสืบสวนสอบสวน) 11. รองผู้บังคับการตำรวจภูธร 1-9 (ที่รับผิดชอบงานสืบสวนสอบสวน) 12. ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นฝ่ายเลขานุการ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวจะทำหน้าที่ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาแชร์ลูกโซ่อย่างเป็นรูปธรรม

นายสามารถกล่าวช่วงท้ายว่า ในการออกกฎหมายร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเป็นกลไกการทำงานตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วันนี้ที่เรามาอยู่ที่จังหวัดสงขลาเนื่องจากมีผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการเหล่านี้ จำนวนมาก ซึ่งตรงนี้ก็ต้องขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดสงขลาที่เข้ามาช่วยกันดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่ถูกหลอกลวงอีก โดยจะร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และปลูกฝังประชาชนให้ไม่เชื่อใครง่ายๆ

รวมทั้งปลูกฝังให้ประชาชนมีระเบียบวินัย ไม่คิดคดโกง และให้รู้ถึงผลของการกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้นทางกฎหมาย เป็นต้นเพราะท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้การแก้ปัญหาแชร์ลูกโซ่เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน ซึ่งเรื่องแชร์ลูกโซ่นั้นก็เป็นหนึ่งในเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญ ซึ่งคดีแชร์ลูกโซ่ เป็นคดีที่เกิดผลกระทบอย่างวงกว้างดังนั้น ต้องตั้งสำนักงานเพื่อให้เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงของข้อมูล

ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ต้องมีกฎหมาย ต้องมีสำนักงานที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลทั้งหมด เพื่อคุ้มครองประชาชนที่สุจริต ตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องมีสำนักงานที่มีความเชี่ยวชาญ จึงเป็นที่มาที่ให้พ่อแม่พี่น้องได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องแก้ไขปัญหา ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้มีเจตนาที่นำภาษีประชาชนมาช่วยเหลือ แต่เป็นเงินของผู้เสียหายที่ได้จากการยึดทรัพย์ผู้กระทำความผิดมาช่วยเหลือ หากลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนได้ จะส่งผลให้ประชาชนเกิดความเสมอภาคทุกชนชั้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่เน้นย้ำ ให้สร้างความยุติธรรมให้กับประชาชนทุกชนชั้น เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม












กำลังโหลดความคิดเห็น