xs
xsm
sm
md
lg

เตือนความจำ “ทักษิณ ชินวัตร” ปิดข่าว “ไข้หวัดนก” 3 ปี ตายไปตั้ง 16 ศพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นั่งไทม์แมชชีน ดู “ทักษิณ ชินวัตร” สมัยเป็นรัฐบาล ตอนที่ไข้หวัดนกระบาด ปิดข่าวเงียบ กลัวกระทบส่งออกไก่ พอผลแล็บพบเชื้อยังคงกินไก่โชว์ไปทั่ว ผลก็คือ 3 ปี 47-49 คนไทยตายไป 16 ศพ

รายงานพิเศษ

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากจะเปิดช่องให้มีบรรดาผู้คนที่อ้างว่าเป็น “วงใน” ปล่อยข่าวปลอม หรือ “เฟกนิวส์” สร้างความแตกตื่นแล้ว ยังกลายเป็นการฉวยโอกาส สร้างวาระทางการเมือง สาดโคลน โจมตีฝั่งตรงข้ามแบบไม่ยั้งปาก

โดยเฉพาะบรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมาเปรียบเทียบการจัดการวิกฤต ทั้งเหตุจลาจลเผาสถานทูตไทยในกัมพูชา ไข้หวัดนก และคลื่นยักษ์สึนามิ ของ “ทักษิณ ชินวัตร” สมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรี มีภาวะความเป็นผู้นำ จัดการแบบมืออาชีพ อย่างเป็นระบบ ดีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม คนปัจจุบัน

แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ช่วงที่ไข้หวัดนกระบาดมาสู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2546-2547 ในยุค รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็เคยเลือกใช้วิธี “ปิดข่าว” ไม่ให้ประชาชนรู้ว่ามีไข้หวัดนกระบาด กระทั่งมีผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นศพแรก ถึงค่อยมาดีดดิ้นแก้ปัญหา สร้างภาพถึงขนาด “กินไก่โชว์” ออกสื่อไปทั่วโลก

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2540 เชื้อไวรัสไข้หวัดนก (Influenza A H5N1) มีการติดต่อจากสัตว์ไปสู่คนเป็นครั้งแรก ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้มีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย เสียชีวิต 6 คน ทางการฮ่องกงใช้วิธีฆ่าไก่ 1.4 ล้านตัว จึงสงบลง แต่ก็ไม่หายไป ยังคงประปรายในปีถัดมา

ปลายปี 2546 ไข้หวัดนกระบาดครั้งใหญ่ในเอเชีย เริ่มจากเวียดนาม มีผู้ป่วย 3 ราย เสียชีวิตทั้งหมด ระหว่างนั้นพบว่ามีไก่ในไทยตายมากมายเป็นแรมเดือน แต่รัฐบาลทักษิณเลือกที่จะ “ปิดข่าว” ว่า ประเทศไทยมีไข้หวัดนก เพราะเกรงว่าจะกระทบกับธุรกิจส่งออกไก่ไปยังต่างประเทศ

ปรากฏการณ์ “ไก่ตายเป็นเบือ” เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2546 เป็นต้นมา ในพื้นที่ภาคกลาง คร่าชีวิตไก่ไข่ 10 ล้านตัว และไก่เนื้อกว่า 30 ล้านตัว แต่กรมปศุสัตว์กลับแถลงว่า “ไก่ตายเพราะอากาศเปลี่ยนแปลง”

ก่อนที่สองรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ อย่าง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” และ “เนวิน ชิดชอบ” จะอ้างว่าเกิดจากโรคหลอดลมอักเสบ และ โรคอหิวาต์ในไก่ แถมโจมตีว่า มีประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซีย ปล่อยข่าวว่าไก่ไทยมีเชื้อไข้หวัดนก เพื่อตัดโอกาสส่งออกไก่เพิ่มขึ้น หนำซ้ำยังโยงไปถึงการเมืองท้องถิ่นที่หาเสียงเรียกร้องค่าชดเชยให้ชาวบ้าน

หนำซ้ำ นายกฯ ทักษิณ ยังสร้างภาพด้วยการให้คณะรัฐมนตรีกินไก่โชว์ทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ เพื่อสยบข่าวไข้หวัดนก

แม้จะปิดบังความจริงยังไงก็ปิดไม่มิด 22 มกราคม 2547 นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และที่ปรึกษาด้านไวรัสขององค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูล เพราะผลการตรวจสอบเชื้อโรคระบาดในไก่ในระดับห้องปฏิบัติการ ชัดเจนว่าเป็น “เชื้อไข้หวัดนก”

กระทั่งผลการตรวจเชื้อในห้องแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า มีผู้ป่วย 2 ราย “ติดเชื้อไข้หวัดนก” ที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยอีกนับ 10 ราย ทำให้ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข (ขณะนั้น) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2547 ยอมรับความจริง ว่า เกิดโรคไข้หวัดนกระบาดในไก่ของไทยและติดเชื้อไปสู่คน

แต่ นายกฯ ทักษิณ ทำใจดีสู้เสือ อ้างไม่ได้ปกปิดข้อมูล เพียงแต่แก้โดยไม่พูด เพราะไม่อยากให้เกิดความตระหนก แถมยังปากไว บอกว่า ห้ามนกเป็ดน้ำมันบินมาจากเมืองจีนไม่ได้ ทีแรกมั่นใจว่าไม่โดน หรือโดนก็ควบคุมได้ แต่ตอนหลังฆ่าไก่ช้าไป บางเรื่องช่วยไม่ได้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด จะกางร่มไม่ให้นกบินเข้ามาทั้งประเทศคงทำไม่ได้

ต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2547 “น้องกัปตัน” เด็กชายวัย 6 ขวบ ชาวอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ที่เป็นผู้ป่วยไข้หวัดนก 1 ใน 2 รายแรก เสียชีวิตที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นรายแรก บิดากล่าวด้วยน้ำตานองหน้า ว่า ทำไมรัฐบาลต้องปกปิด ไม่บอกความจริงว่าไก่ตายเพราะไข้หวัดนก จะได้ป้องกันไม่ให้ลูกไปใกล้ชิดกับไก่ ไม่งั้นลูกผมก็คงไม่ตาย

“มาถึงตอนนี้ผมไม่อยากเรียกร้องอะไรทั้งนั้น เพราะรัฐบาลรู้ดี เขาพูดอะไร ทำอะไรไปบ้าง เขาเป็นผู้บริหารประเทศ คนเป็นดอกเตอร์ไม่น่าทำแบบนี้ มันไม่คุ้มเลยกับชีวิตคนหนึ่งคน ถ้าผมขออะไรได้ตอนนี้ ผมก็อยากได้ชีวิตลูกผมคืน”

เมื่อย้อนดูเหตุการณ์ที่ผ่านมา พบว่า วันที่ 6 มกราคม 2547 มีไก่ตัวหนึ่งป่วย ด.ช.กัปตัน จึงอุ้มไปให้เพื่อนบ้านทำอาหารกิน ต่อมาวันที่ 9 มกราคม 2547 น้องกัปตันเป็นไข้หวัด แพทย์โรงพยาบาลมะการักษ์ สงสัยว่าจะเป็นโรคไข้หวัดนก (ซึ่งในช่วงนั้นรัฐบาลยืนยันว่าไม่มี) จึงส่งตัวไปที่โรงพยาบาลศิริราช กระทั่งน้องกัปตันเสียชีวิต

ถัดมาเพียง 1 วัน 27 มกราคม 2547 “น้องโอ๊ต” เด็กชายวัย 6 ขวบ ชาวอำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย เสียชีวิตเพราะไข้หวัดนกเป็นรายที่สอง หลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก มาตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2547 เนื่องจากต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อไข้หวัดนก (และย้ำว่า ในช่วงนั้นรัฐบาลยืนยันว่าไม่มี)

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2547 ปู่ของน้องโอ๊ตนำไก่ที่ตายแล้วไปให้แม่น้องโอ๊ตทำกับข้าว โดยแบ่งเอาไปทอดและทำต้มยำ ปรากฏว่า เพียง 2 วัน น้องโอ๊ต ก็มีไข้สูง จึงนำส่งโรงพยาบาลศรีสังวร แต่ต่อมาแม่น้องโอ๊ต มีไข้สูง ปวดหัวรุนแรง และอาเจียนออกมาเป็นเลือด จึงนำส่งโรงพยาบาล แต่แม่อยู่ได้วันเดียวเสียชีวิต

ขณะที่น้องโอ๊ตถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลศรีสังวร มาที่โรงพยาบาลพุทธชินราช แต่ปัญหาก็คือ การตรวจพิสูจน์เสมหะ และเลือดที่ส่งไปกระทรวงสาธารณสุขล่าช้า แพทย์จึงรักษาไม่ถูกทาง เพราะไม่รู้ว่าเด็กเป็นไข้หวัดนกจริงหรือไม่ ต้องรอผลการพิสูจน์ จึงกลายเป็นเหยื่อสังเวยไข้หวัดนกเพราะระบบราชการยุคทักษิณยังคงเช้าชามเย็นชาม

ขณะเดียวกัน โรคไข้หวัดนกแพร่ระบาดนับสิบจังหวัด เกิดการระบาดเป็นระลอกจนยากที่จะควบคุม ประชาชนไม่กล้าแม้แต่จะบริโภคไก่ และไข่ไก่ เพราะกลัวติดเชื้อไข้หวัดนก หลายประเทศทั้งในยุโรปและเอเชีย ระงับการนำเข้าสัตว์ปีกมีชีวิต และผลผลิตทั้งหมดที่นำเข้าจากประเทศไทย ทำให้ไก่ที่ส่งออกถูกตีกลับกองแน่นท่าเรือ

นายกฯ ทักษิณ ประกาศว่า ถ้าใครกินไก่สุก ไข่สุกแล้วตาย จะจ่ายให้รายละ 3 ล้านบาทแล้ว ยังจัดงานมหกรรมกินไก่กินไข่ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกันทั่วประเทศเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547 ไม่นับรวมก่อนหน้านั้นยังควง “เจ๊หน่อย” และ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม กินไก่เคเอฟซีที่สาขาเสรีเซ็นเตอร์ อีกต่างหาก

ในรอบปี 2547 เกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกไป 2 ครั้งใหญ่ๆ รัฐบาลทักษิณสั่งฆ่าสัตว์ปีกในประเทศไปถึง 60 ล้านตัว มีผู้คนคร่าชีวิตจากไข้หวัดนกไป 12 ศพ แถมในปี 2548 ไข้หวัดนกระลอกใหม่กลับมาอีกครั้ง พบผู้ป่วย 5 ราย เสียชีวิต 2 ราย และปี 2549 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก่อนถูกยึดอำนาจไม่กี่เดือน รายงานว่า พบผู้ป่วย 2 ราย เสียชีวิตทั้ง 2 ราย

รวมกันแล้วในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 3 ปี มีผู้คร่าชีวิตจากไข้หวัดนกอย่างเป็นทางการไป 16 ราย ไม่นับรวมคนที่เสียชีวิตก่อนหน้า ในช่วงที่รัฐบาลยืนยันว่า ไม่มีไข้หวัดนก เป็นบทเรียนจากการปิดบังข้อมูลข่าวสาร ปิดบังความจริง เพราะเกรงว่าจะกระทบกับธุรกิจส่งออกไก่ไปยังต่างประเทศ แต่ไม่นึกถึงชีวิตและสุขภาพของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น