“ทางรถไฟสายมรณะ” นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ คนทั่วโลกรู้จักเส้นทางรถไฟสายนี้มากกว่าสิ่งมหัศจรรย์ของโลกทั้ง ๗ แห่งเสียอีก เพราะมีการกวาดต้อนผู้คนราว ๓๐๐,๐๐๐ คนไปสร้างทางรถไฟเพื่อใช้ในการทำสงครามโดยเฉพาะ ฝ่าแดนทุรกันดารจากไทยไปพม่า มีความยาว ๔๓๐ กม.โดยไม่สามารถขนเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทันสมัยใดๆเข้าไปได้ ต้องใช้แต่จอบ เสียม มีด และแรงงานคนเท่านั้น ชีวิตมนุษย์เกือบแสนคนจึงถูกถมทับลงบนเส้นทางมรณะสายนี้ จนเปรียบเปรยกันว่า หนึ่งไม้หมอนต่อหนึ่งชีวิต
เมื่อญี่ปุ่นได้เสนอต่อรัฐบาลไทยในเดือนมีนาคม ๒๔๘๕ ขอสร้างทางรถไฟแยกจากสถานีหนองปลาดุกในอำเภอบ้านโป่ง ไปถึงด่านเจดีย์สามองค์ เป็นระยะทาง ๓๐๔ กม. จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเกรงว่า หลังสงครามถ้าญี่ปุ่นชนะก็จะยึดทางรถไฟสายนี้เป็นของตัวโดยอ้างว่าเป็นผู้สร้าง จึงขอทำเอง ให้ญี่ปุ่นส่งแต่วัสดุที่ใช้มาให้เท่านั้น แต่เมื่อแจ้งเรื่องไปทางกรมรถไฟ ก็ได้รับคำตอบมาว่า ระยะทางยาวขนาดนี้ หากสร้างในพื้นที่ราบ ก็ต้องใช้เวลาราว ๘ ปี แต่ภูมิประเทศที่จะสร้างนี้หาที่ราบไปเจอเลย และยังกำหนดเวลาสร้างไม่ให้เกิน ๑ ปีจึงเป็นไปไม่ได้
ในที่สุดก็ต้องยอมให้ญี่ปุ่นสร้างเอง โดยไทยช่วยเคลียร์ปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินและถมทางจากสถานีหนองปลาดุกจนถึงท่ามะขาม หรือสะพานข้ามแม่น้ำแควให้เท่านั้น ซึ่งญี่ปุ่นให้เวลาสร้างเพียง ๑๐ เดือน ๑๐ วันก็สำเร็จทั้ง ๔๑๕ กม.ถึงสถานีทันบูซายัตในพม่า
หลังสงครามสงบ ข่าวการเสียชีวิตของเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนไปสร้างทางรถไฟสายนี้แพร่กระจาย ทั้งภาพสังขารอันน่าสังเวชของเหล่าเชลยศึก ทำให้ผู้คนหดหู่กันไปทั่วโลก แต่ความจริงที่ไม่ใคร่มีการกล่าวถึงก็คือ แรงงานชาวเอเซียที่มีชาวจีน เวียดนาม อินโดเนเซีย มาเลเซีย พม่า อินเดีย รวมทั้งไทย ถูกเกณฑ์ ถูกบังคับ และถูกหลอกลวง ไปร่วมชะตากรรมกับเหล่าเชลยศึกเหล่านี้ถึง ๒๐๐,๐๐๐ คน รวมกับทหารญี่ปุ่นเองและทหารเกาหลีผู้ควบคุมการสร้างทาง ก็ตายมากกว่าเชลยศึกหลายเท่า
เมื่อก่อนที่สถานีน้ำตก ซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายของรถไฟสายนี้ในปัจจุบัน มีแท่นแสดงภาพจำลองเส้นทางรถไฟ และแจ้งตัวเลขผู้ร่วมในโศกนาฏกรรมครั้งนี้ไว้ว่า
แรงงานชาวเอเซีย ๒๐๐,๐๐๐ คน ตาย ๘๐,๐๐๐ คน
เชลยศึกอังกฤษ ๓๐,๐๐๐ คน ตาย ๖,๕๔๐ คน
เชลยศึกฮอลันดา ๑๘,๐๐๐ คน ตาย ๒,๘๓๐ คน
เชลยศึกออสเตรเลีย ๑๓,๐๐๐ คน ตาย ๒,๗๑๐ คน
เชลยศึกอเมริกัน ๗๐๐ คน ตาย ๓๕๖ คน
ทหารญี่ปุ่นและเกาหลี ๑,๕๐๐ คน ตาย ๑,๐๐๐ คน
เชลยศึกสัมพันธมิตรทั้งหมดตาย ๑๒,๔๓๖ คน แต่แรงงานชาวเอเซียและทหารผู้คุมการก่อสร้างตายถึง ๘๑,๐๐๐ คน
ถ้าคิดเป็นเปอร์เซนต์
แรงงานชาวเอเซียตายถึง ๔๐ เปอร์เซนต์
เชลยศึกอังกฤษตาย ๒๒ เปอร์เซนต์
เชลยศึกฮอลันดาตาย ๑๖ เปอร์เซนต์
เชลยศึกออสเตรเลียตาย ๒๑ เปอร์เซนต์
เชลยศึกอเมริกันตาย ๕๑ เปอร์เซนต์
ทหารญี่ปุ่นและเกาหลีตาย ๖๗ เปอร์เซนต์
น่าสังเกตว่า เปอร์เซนต์ของคนมีหน้าที่ควบคุมบังคับคนให้ทำงาน กลับตายมากกว่าเชลยที่ถูกบังคับกว่าถึง ๓ เท่า ส่วนเชลยอเมริกันมีจำนวนน้อย ก็เพราะเพียงแค่ส่งมาช่วยฮอลันดารบที่ชวาเท่านั้น แต่ปรากฎว่าตายไปกว่า ๕๐ เปอร์เซนต์ แสดงว่าเปราะกว่าทหารฝรั่งทุกชาติ
นี่ก็เป็นประวัติศาสตร์โลกที่แสดงให้เห็นถึงพิษภัยของสงคราม ชีวิตผู้คนจำนวนร่วม ๓ แสนคนไม่ว่าชาติไหน ถูกคนที่กระหายอำนาจเพียงไม่กี่คนเดินหมากให้ต้องมาร่วมชะตากรรมในถิ่นทุรกันดาร และถูกเข่นฆ่าด้วยโรคภัยไข้เจ็บจากธรรมชาติเช่นกัน ไม่ได้เข่นฆ่ากันเองเลย นับเป็นเรื่องที่น่าโศกสลดที่สุดของชีวิตมนุษย์ ขออย่าให้สงครามโลกเกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๓ เลย
แต่คนที่เข้าไปในเส้นทางสายมรณะในวันนี้ กลับมีความรู้สึกตรงกันข้ามกับคนที่เข้าไปในระหว่างสร้างทางครั้งนั้นอย่างสุดขั้ว หลังจากทางรถไฟสายนี้ถูกทอดทิ้งอยู่ในป่าหลายปี ถูกไฟไหม้ไม้หมอนและสะพาน ถูกขโมยงัดรางไปขาย แต่เมื่อมีผู้นำเรื่องนี้ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อ “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” ออกฉายดังกระฉ่อนโลก ผู้คนทั่วโลกก็สนใจสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้กันมาก การรถไฟจึงได้บูรณะเส้นทางที่ถูกทอดทิ้งขึ้นใหม่ถึงแค่สถานีน้ำตก ใกล้น้ำตกไทรโยคน้อยใน อำเภอไทรโยค สะพานไม้ที่ไต่ไปตามหน้าผาอย่างน่าหวาดเสียว ถูกเปลี่ยนเป็นสะพานคอนกรีต เปลี่ยน “เส้นทางมรณะ” เป็น “เส้นทางท่องเที่ยว” ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๐๑ เป็นต้นมา กลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวราคาถูก เปิดเดินรถทุกวันๆละ ๒ เที่ยว ออกจากสถานีธนบุรีในเวลา ๗.๕๐ น. และ ๑๓.๕๕ น. ถึงสถานีน้ำตกในเวลา ๑๒.๒๐ น. และ ๑๘.๓๐ น. ส่วนเที่ยวออกจากสถานีน้ำตกในเวลา ๕.๒๐ น. และ ๑๒.๕๐ น. ถึงสถานีธนบุรีในเวลา ๑๐.๑๐ น. และ ๑๗.๓๕ น. อัตราค่าโดยสารเที่ยวละ ๓๙ บาท แต่ถ้าเป็นคนต่างชาติก็เที่ยวละ ๑๐๐ บาท
ส่วนขบวนพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว จัดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ออกจากสถานีหัวลำโพงในเวลา ๐๖.๓๐ น. ถึงสถานีนครปฐในเวลา ๐๗.๔๐ น. หยุดให้เดินไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์และซื้อข้าวหลามหรือของอื่นๆได้ ๔๐ นาที ถึงสะพานข้ามแม่น้ำแควเวลา ๐๙.๓๕ น. จอดให้ลงถ่ายรูปได้ ๒๕ นาที และไปถึงสถานีน้ำตกสุดเส้นทางในเวลา ๑๑.๓๐ น. จอดอยู่ ๓ ชั่วโมง มีเวลาให้ต่อรถสองแถวไปเล่นน้ำตกในฤดูที่มีน้ำ หรือจะไปซื้อของฝากที่ตลาดหน้าน้ำตกก็มีเวลาพอ ขบวนรถจะออกจากสถานีน้ำตกในเวลา ๑๔.๒๕ น. มาแวะที่สถานีกาญจนบุรีให้เดินข้ามถนนไปชมสุสานทหารสัมพันธมิตร หรือจะไปซื้อทอง ของดีของเมืองกาญจน์ ที่ถนนด้านหลังของสุสานก็ได้ ทองม้วนนะครับ และกลับมาถึงหัวลำโพงในเวลา ๑๙.๒๕ น. อัตราค่าโดยสารทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไปกลับคนละ ๑๒๐ บาท ถ้าเป็นตู้ปรับอากาศคนละ ๒๒๐ บาท ทั้งยังมีผู้จัดทัวร์ร่วมขบวนนี้ แล้วแยกที่สถานีท่ากิเลน พาไปชมอุทยานประวัติศาสตร์ปราสาทเมืองสิงห์ แล้วรับประทานอาหารริมแคว ก่อนจะกลับกรุงเทพฯในวันนั้น บางรายการก็พาแยกไปเที่ยวรีสอร์ท เล่นน้ำในแคว มีทั้งกลับวันนั้น หรือไปวันเสาร์กลับวันอาทิตย์
“เส้นทางมาณะ” ในวันนี้จึงมีแต่ความสุข สนุกสนาน ต่างกับนั้น ที่มีแต่ความทุกข์ ความขมขื่น โลกเราก็เป็นเช่นนี้แล