xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนเส้นทาง "สรยุทธ" คดีไร่ส้ม ทุจริตค่าโฆษณาช่อง 9 ก่อนศาลฎีกาชี้ชะตา 21 ม.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มาดูเส้นทาง 14 ปี คดีกรรมกรข่าวดัง "สรยุทธ สุทัศนะจินดา" ทุจริตยักยอกเงินค่าโฆษณารายการช่อง 9 ร่วมกับ "พนักงานจัดคิวโฆษณา" ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์สั่งจำคุก 13 ปี 4 เดือน ชี้ชะตาชั้นฎีกาพรุ่งนี้ (21 ม.ค.)

ในวันที่ 21 ม.ค. 2563 ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาคดีที่นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรเล่าข่าวและผู้จัดรายการชื่อดัง ร่วมกับพนักงานบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ยักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลารายการคุยคุ้ยข่าว ทางช่องโมเดิร์นไนน์ทีวี ตั้งแต่ปี 2548-2549 จำนวน 138.79 ล้านบาท หลังศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จำคุกนายสรยุทธไป 13 ปี 4 เดือน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2546 สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี (ช่อง 9 MCOT HD ในปัจจุบัน) ยุคที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท. ขณะนั้น ดึงนายสรยุทธมาเป็นพิธีกรรายการถึงลูกถึงคน ระหว่างที่นายสรยุทธมีปัญหากับนายสุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น (ขณะนั้น)

ก่อนหน้านี้ นายสรยุทธจะเข้าไปทำรายการเรื่องเล่าเช้านี้ กับบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (มหาชน) ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 โดยไม่แจ้งต้นสังกัดตามขั้นตอน ทำให้เครือเนชั่นตัดสินใจระงับงานพิธีกรทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล และคอลัมน์นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ เพื่อให้เวลานายสรยุทธตัดสินใจ

สุดท้ายนายสรยุทธลาออกจากการเป็นพนักงานเครือเนชั่น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 หลังเข้ามาทำงานเครือเนชั่นตั้งแต่ปี 2531 รวมระยะเวลา 15 ปี เข้าไปทำรายการเรื่องเล่าเช้านี้ทางช่อง 3 ในช่วงเช้า และรายการถึงลูกถึงคน ช่วงกลางคืน จนมีชื่อเสียงโด่งดัง และขนานนามตัวเองว่าเป็น "กรรมกรข่าว" เนื่องจากจัดรายการเช้ายันดึก

ขณะนั้น อสมท. จ้างนายสรยุทธเป็นพิธีกรรายการถึงลูกถึงคน รับค่าจ้างเป็นพิธีกรตอนละ 5,000 บาท เมื่อรายการมีชื่อเสียงโด่งดัง มีโฆษณาและผู้สนับสนุนรายการเข้ามาเรื่อยๆ จึงเพิ่มค่าจ้างเป็นตอนละ 30,000 บาท ส่วนช่อง 3 จ้างนายสรยุทธในนามบริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัด


ต่อมานายมิ่งขวัญเสนอให้นายสรยุทธทำรายการคุยข่าวเพิ่มขึ้นมาอีก 1 รายการ เพื่อเพิ่มเรตติ้งในช่วงกลางคืนซึ่งเป็นช่วงเวลาออกอากาศละคร โดยเข้ามาในฐานะเป็นผู้ผลิตรายการ และแบ่งเวลาโฆษณาแบบไทม์แชร์ริ่ง นายสรยุทธจึงตั้งบริษัท ไร่ส้ม จำกัด แล้วเข้าไปผลิตรายการ "คุยคุ้ยข่าว" ออกอากาศวันแรก 3 เม.ย. 2547

อสมท. กับบริษัทไร่ส้มตกลงกันว่า วันจันทร์-ศุกร์ บริษัทไร่ส้มได้เวลาโฆษณาไม่เกิน 2 นาที 30 วินาที ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ไม่เกิน 5 นาที หากเกินจะต้องจ่ายค่าโฆษณาเพิ่มให้แก่ อสมท. นาทีละไม่ต่ำกว่า 240,000 บาท ซึ่ง อสมท. จะคิดค่าส่วนลดให้

ในปี 2548-2549 ผู้บริหาร อสมท. พบความผิดปกติที่ข่าวเที่ยงคืนออกอากาศช้ากว่าที่กำหนด ตรวจสอบพบว่าบริษัทไร่ส้มส่งคิวโฆษณาเกินข้อตกลง จึงมีการตั้งกรรมการสอบเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

ปรากฎว่า พบนางพิชชาภา เอี่ยมสอาด พนักงาน อสมท. ที่รับผิดชอบรับคิวโฆษณาที่บริษัทไร่ส้มขายได้ มาจัดคิวรวมกับโฆษณาที่ อสมท. ขายเอง ปกปิดความผิด ด้วยการลบคิวโฆษณาส่วนเกินของบริษัทไร่ส้มออกโดยใช้น้ำยาลบคำผิด กลายเป็นหลักฐานสำคัญในการเอาผิดนายสรยุทธและพวก

นอกจากนี้ หลังย้ายนางพิชชาภาออกไป พบหลักฐานใบหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่บริษัทไร่ส้ม จ่ายให้นางพิชชาภา และใบเสร็จนำฝากเช็คเข้าบัญชีธนาคารทหารไทยของนางพิชชาภา เป็นต้นทางที่ทำให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า นายสรยุทธสั่งจ่ายเช็คธนาคารธนชาต สาขาพระราม 4 ให้นางพิชชาภา 6 ฉบับ เป็นเงิน 744,659 บาท


อสมท. ดำเนินคดีแพ่งให้บริษัทไร่ส้มต้องชดใช้เงินค่าโฆษณาส่วนเกิน 138.79 ล้านบาท บริษัทไร่ส้มชำระ 103.95 ล้านบาท โดยขอหักส่วนลด 30% แต่ อสมท.ไม่ยินยอม เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญา จึงคิดดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีและภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมเป็น 152.96 ล้านบาท ซึ่งบริษัทไร่ส้มก็ยินยอมชำระเงินดังกล่าวไปแล้ว

29 ต.ค. 2550 อสมท.แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง ให้ดำเนินคดีกับนางพิชชาภา และ น.ส.อัญญา อู่ไทย หัวหน้างานของ น.ส.พิชชาภา ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และกล่าวหานายสรยุทธ, น.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงานของบริษัทไร่ส้ม และบริษัทไร่ส้ม ฐานเป็นผู้สนับสนุน จึงส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

20 ก.ย. 2555 ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดว่า นางพิชชาภา ผิดวินัยร้ายแรงและมีความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ พ.ศ. 2502 ส่วน น.ส.อัญญา ผิดวินัยฐานประมาทเลินเล่อ ส่วนนายสรยุทธและ น.ส.มณฑา ผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนและผิดกฎหมายอาญา มาตรา 86 ก่อนส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณา

แต่คดีนี้ยืดเยื้อมานานกว่า 3 ปี เนื่องจากคณะทำงานระหว่าง ป.ป.ช. กับอัยการสูงสุดไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ ขณะที่นายสรยุทธยังคงจัดรายการเรื่องเล่าเช้านี้ตามปกติ และใช้รายการของตัวเองแก้ต่างคดีนี้ อ้างว่าคดีความเป็นเรื่องการทำธุรกิจของบริษัท ไม่มีส่วนกระทบใดๆ ต่อการทำรายการของตน

ในที่สุดเมื่อ 4 ส.ค. 2557 นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. ขณะนั้น จึงได้ข้อยุติเห็นควรให้อัยการสูงสุดฟ้องคดี กระทั่ง 30 ม.ค. 2558 พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางพิชชาภา จำเลยที่ 1, บริษัท ไร่ส้ม จำเลยที่ 2, นายสรยุทธ จำเลยที่ 3 และ น.ส.มณฑา จำเลยที่ 4


ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อ 29 ก.พ. 2559 จำคุกนางพิชชาภา กระทงละ 5 ปี รวม 30 ปี โดยศาลเห็นว่า นางพิชชาภามีหน้าที่จัดทำคิวโฆษณา ไม่รายงานโฆษณาเกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เป็นเหตุให้ อสมท. ได้รับความเสียหาย การใช้น้ำยาลบคำผิดลบคิวโฆษณาแสดงถึงการปกปิดข้อเท็จจริง และการรับเช็คเป็นการกระทำต้องห้าม

ปรับบริษัท ไร่ส้ม กระทงละ 2 หมื่นบาท รวม 1.2 แสนบาท โดยศาลเห็นว่าแม้จะมีความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิด แต่บริษัทไร่ส้มได้ชำระค่าโฆษณาส่วนเกิน 138.79 ล้านบาทแก่ อสมท. แล้ว จึงลงโทษสถานเบา

จำคุกนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ซึ่งเป็นผู้นำเช็คไปมอบให้นางพิชชาภา กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุกคนละ 20 ปี โดยศาลเห็นว่านายสรยุทธน่าจะทราบเนื้อหางานเป็นอย่างดี การใช้เงินแม้จะให้โดยเสน่หา แต่ไม่รายงานให้ทราบก็เป็นการสนับสนุน การจ่ายเช็คให้นางพิชชาภาเพื่อจูงใจ ทำให้หน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหาย

แต่ทางนำสืบเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกนางพิชชาภา 20 ปี จำคุกนายสรยุทธและ น.ส.มณฑา คนละ 13 ปี 4 เดือน และปรับบริษัทไร่ส้ม 8 หมื่นบาท โดยจำเลยทั้งหมดได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์สู้คดี

หลัง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และศาลชั้นต้นพิพากษา นายสรยุทธยังคงจัดรายการเรื่องเล่าเช้านี้ และรายการเจาะข่าวเด่นทางไทยทีวีสีช่อง 3 ตามปกติ และเลือกที่จะลาออกจากองค์กรวิชาชีพสื่อ แต่เมื่อกระแสสังคมกดดันถึงขั้นบริษัทห้างร้านจะถอนโฆษณา ทำให้นายสรยุทธตัดสินใจยุติปฏิบัติหน้าที่เมื่อ 3 มี.ค. 2559 เพื่อความสบายใจ


ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์สู้คดี 29 ส.ค. 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น โดยศาลระบุว่า นางพิชชาภาต้องสำนึกในหน้าที่จะต้องทำงานเพื่อประโยชน์ของรัฐ จะอ้างว่ามีช่องว่างทางการตรวจสอบไม่ได้ ที่อ้างว่าใช้น้ำยาลบคำผิดลบคิวโฆษณา เพราะตกใจกลัวจะต้องรับผิด เป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนัก

ส่วนที่บริษัทไร่ส้ม และนายสรยุทธ อ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลบคิวโฆษณา ศาลเห็นว่าเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่น่าเชื่อถือ เพราะนางพิชชายอมรับไปแล้วว่าได้รับการร้องขอจากนายสรยุทธ ส่วนคุณงามความดีที่นายสรยุทธ กล่าวอ้างนั้นเป็นเรื่องของประวัติและความดีคนละส่วนกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด

นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ได้ประกันตัวระหว่างฎีกาสู้คดี ตีราคาประกันคนละ 5 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลและให้จำเลยต้องมารายงานตัวต่อศาลทุก 3 เดือน เช่นเดียวกับนางพิชชาภา ได้ประกันตัวไป 5 ล้านบาทเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนั้นยังมีคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 4 ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสาร เมื่อปี 2559 แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันกับคดีนี้ จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ซึ่งนายสรยุทธปรากฎตัวเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา

เข้าสู่ศักราชใหม่ 2 ม.ค. 2563 ศาลกำหนดนัดฟังคำพิพากษาฎีกาในวันที่ 21 ม.ค. 2563 เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ เป็นวันชี้ชะตานายสรยุทธว่า จากกรรมกรข่าวในวันนั้น จะรอดหรือจะกลายเป็นนักโทษ?
กำลังโหลดความคิดเห็น