นับว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ในวงการไอดอลบ้านเราที่หันมาจัดกิจกรรมทางวิชาการนัดผู้รู้ในด้านต่างๆ มาพูดคุยในประเด็นสังคม อย่างที่วงวิชด้อม (Wishdom) ได้จัดงาน WISHDOM THE DEBUT : THE WISHER’S SEMINAR ขึ้นเมื่อ 15 ธ.ค.2562 โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้ง "ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , "รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์" อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , "หมอแล็บแพนด้า-ภาคภูมิ เดชหัสดิน" เจ้าของเพจหมอแล็บแพนด้า , "เบล-อรรถพล ไข่ทอง" เจ้าของเพจขอบสนาม และ "'ไนท์-พิชญุตม์ สิทธิพันธุ์" นักเล่าเรื่องเจ้าของยูทูป "Gssspotted" มาให้ร่วมแสวงหาความรู้แบบจริงๆ จังๆ
ซึ่งก็ทำให้ ผู้จัดการออนไลน์ สนใจในทัศนะของผู้รู้เหล่านั้นต่อวงการไอดอลไทย จึงได้ไปพูดคุยกับ "รศ.ดร.เจษฎา" , "หมอแล็บแพนด้า" และ "ผศ.ดร.ธรณ์" ถึงข้อสงสัยว่าพวกเขารู้จักและมองกลุ่มเด็กเหล่านี้เป็นอย่างไรกันแน่
"ถ้าติดตามเป็นหลักๆ ก็คือวงบีเอ็นเคโฟร์ตี้เอต (BNK48) เพราะติดตามมาตั้งแต่ตั้งวง ทำการออดิชั่นแคนดิเดตมาจนถึงปัจจุบัน และเขาก็มีวงน้องก็คือซีจีเอ็มโฟร์ตี้เอต (CGM48) เราก็ติดตามเหมือนกัน แต่ว่าก็มีวงอื่นๆ ที่เขาแชร์ขึ้นมา บางทีเราก็ติดตามบ้างเป็นคนๆ ไป อย่างเช่น "แฟนนี่-วรวีร์ ธาราชีวิน" สมาชิกวงสยามดรีม (Siam Dream) ซึ่งก็เป็นศิษย์เก่าจุฬาฯ ก็ถือว่าน่าจะส่งเสริมเหมือนกัน"
"รศ.ดร.เจษฎา" เล่าถึงวงไอดอลที่เขารู้จัก ขณะที่ "หมอแล็บแพนด้า" บอกว่า เขาติดตามอยู่หลายวง วงที่เรารู้จักกันดีก็คือ BNK48 และก็วง Wishdom ที่มีโมเดลน่าสนใจมากเลย เพราะน้องๆ มีความรู้ความสามารถโดยเฉพาะทางด้านวิชาการ เขาให้ความสำคัญในด้านนี้ ตนคิดว่าวงนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ที่มาติดตามได้เป็นอย่างดี
"รศ.ดร.เจษฎา" ยังเล่าที่มาของการหันมาชื่นชอบวงไอดอลว่า มันเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญ สักประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว ตนก็เล่นโซเชียลมีเดียมาเยอะ แล้วมาถึงจุดที่เรากับเพื่อนๆ ทั้ง หมอแล็บแพนด้า , จ่าพิชิต ดรามา แอดดิค (นพ.วิทวัส ศิริประชัย) ก็จะมีความรู้สึกเบื่อคำว่าเน็ตไอดอลมาก ยุคนั้นเป็นนักโทษ , คนหัวรุนแรง หรือ คนขายครีมก็เป็นเน็ตไอดอลได้ผมว่ามันไม่ใช่ จนกระทั่งเกิดระบบของนักร้องวงไอดอล ซึ่งมันอาจจะเป็นเรื่องของวงการบันเทิงก็จริง แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่เราคิดว่าน่าจะเป็นมากกว่าคือ คนที่เป็นตัวอย่าง แบบอย่างให้กับเยาวชนและสังคมได้ พอตอนนั้นเกิดวงอย่าง BNK48 หรือวงอื่นๆ เราก็เริ่มสนใจ และสนับสนุนมากขึ้น
ส่วนทาง "หมอแล็บแพนด้า" ก็มองในมุมที่ว่า จริงๆ วงไอดอลเขาเป็นไอคอน (icon) แบบหนึ่ง ที่ทำให้ทุกคนได้มองและเห็นความมุ่งมั่น ความพยายามที่จะผลักดันตัวเองเพื่อให้เอาชนะอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ มันทำให้คนที่ขาดแรงบันดาลใจต่างๆ ในการใช้ชีวิต พอมาตามวงไอดอลชีวิตเขาน่าจะดีขึ้น หมายถึงใช้เป็นแรงบันดาลใจ แล้ววงนี้ (Wishdom) สำหรับคนที่ชื่นชอบด้านการศึกษา น่าจะชอบมากเพราะว่าน้องๆ เก่งทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์
"หมอแล็บแพนด้า" ยังมองวงการไอดอลไทยในปัจจุบันว่า ก็กำลังที่จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ จะเห็นได้ว่าเริ่มมีหลายวงมาก ซึ่งก็ดีเพราะว่าวงการไอดอลเขาจะดูแลศิลปินอย่างดี ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายใดๆ เพราะฉะนั้นการที่เราไปตามน้องๆ หรือยึดเป็นแบบอย่างค่อนข้างที่จะโอเค ถ้าเป็นผู้ปกครองก็ค่อนข้างที่จะไว้วางใจได้ มากกว่าการที่เราไปเสียเวลาตรงจุดอื่น ต่อไปนี้น่าจะมีวงแบบนี้มากขึ้นไปอีก และน่าจะมีการพัฒนาให้ดีขึ้นไปกว่านี้อีกมาก ด้าน "รศ.ดร.เจษฎา" ยอมรับว่าส่วนตัวไม่ได้ลงไปลึกมากทั้งวงการ แต่ก็คิดว่ามาได้ดี เป็นที่รู้จักมากขึ้นว่าวงไอดอลคืออะไร
"ปัญหาขาขึ้นขาลงซึ่งมันเป็นเรื่องธรรมดาของวงการบันเทิง และถ้าเกิดเราไปยึดติดกับมันมากว่าขาลงแล้วแย่แล้ว อาจจะไม่จริงก็ได้ มันก็มีวงอื่นขึ้นมา เพียงแต่ว่ารูปแบบเองก็ต้องเอาให้มันชัด มันเป็นแค่เกิร์ลกรุ๊ปหรือเปล่า เป็นแค่มาเต้นๆ ร้องๆ หรือแค่เป็นต้นแบบ เป็นไอดอล เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคมด้วยหรือเปล่า"
แน่นอนว่าวงไอดอลที่มีอย่างมากย่อมทำให้มีคำถามตามมาว่าวงต่างๆ เกิดขึ้นง่ายไปหรือไม่ ตรงนี้ "รศ.ดร.เจษฎา" มองว่า ถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้วจบไปอย่างรวดเร็วอันนั้นถือว่าง่ายเกินไป คือมันก็มีข่าวเหมือนกันนะตั้งวงมาไม่กี่เดือนแล้วก็ยุบวงไปแเล้ว อย่างนั้นถือว่าง่ายเกินไป แต่ก็จะเห็นว่ามีหลายวงเหมือนกันที่อยู่มาค่อนข้างยาว อาจจะมีสมาชิกออกบ้าง เข้ามาใหม่บ้าง และเขาก็สามารถทำงานของเขาได้ค่อนข้างดีในการมีส่วนร่วม ในการให้ความบันเทิงต่อสังคมในแง่มุมต่างๆ ตนยังเชื่อว่าธุรกิจหรือสังคมของคนไอดอลยังเดินหน้าต่อไปได้ ลักษณะของความเป็นเจ-ป็อป กับคนไทยก็ตั้งแต่ตนยังเด็กๆ เราก็สนใจญี่ปุ่นอยู่แล้ว เชื่อว่ายังเดินหน้าต่อไปได้
ขณะที่ "หมอแล็บแพนด้า" มองว่า จริงๆ วงไอดอลก็ไม่ได้เยอะมากจนเกินไป เพราะถ้าเทียบกับต่างประเทศอย่างเช่น ญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้ มีเยอะกว่านี้เยอะมาก บ้านเราถือว่ามีน้อยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นค่อยๆ พัฒนา สนับสนุนกันไป ตนคิดว่าต่อไปวงการไอดอลไทยน่าจะมีชื่อเสียงไม่ใช่แค่ในประเทศ น้องๆ เขาอาจจะสร้างชื่อเสียงในระดับเอเชียหรือระดับโลกได้
นอกจากนี้ "หมอแล็บแพนด้า" ยังบอกถึงการทำให้วงไอดอลถึงจะเป็นที่นิยมในสังคมด้วยว่า วงที่จะทำให้เป็นที่นิยมได้ต้องไปดูโมเดลของคนที่ทำสำเร็จแล้วว่ามีจุดแข็งอะไร ให้ศึกษาดูดีๆ และดูของเมืองนอกด้วยว่าวงไอดอลต่างๆ เขาทำกันยังไง เอาตรงนั้นมาเป็นโมเดลเพื่อให้เกิดความสำเร็จได้ แต่ทาง "รศ.ดร.เจษฎา" กลับมองว่า แต่ละวงต้องยอมรับความจริงว่า วงไอดอลไม่ได้เป็นในลักษณะของวงใหญ่ เป็นแมส (mass) มาก ทุกวงจะมีนิช (Niche) ของตัวเองว่าจะต้องดูแลคนที่สนใจแบบไหน และถ้าเขายังเดินหน้าต่อไปโดยที่ไม่หลงกระแสมากเกินไป เขาก็จะมีคนที่สนับสนุนได้และมาใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าเกิดจะพยายามทำตัวเองเป็นทุกอย่าง หรือทำตามกระแสทุกอย่างมันก็ไม่สามารถอยู่ได้
"เราต้องนึกภาพว่าถ้าเป็นเกิร์ลกรุ๊ปบางทีอาจจะเน้นความเซ็กซี่มากหน่อย วงไอดอลโดยพื้นฐานก็ไม่ได้เน้นเซ็กซี่ หรือว่าถ้าออกไปในแนวของการที่เป็นอะไรที่ไม่ค่อยถูกหลักของสังคมไทย ไม่ค่อยถูกจริตของสังคมบางทีก็อาจจะไม่ค่อยเหมาะสม ก็ต้องเลือกว่าจะเป็นรูปแบบไหนที่เหมาะสมที่สุด"
ด้าน "ผศ.ดร.ธรณ์" พูดถึงวงการไอดอลโดยยอมรับว่า ตนไม่ได้ติดตามวงการ แต่อย่างการที่มีวงไอดอลจัดเสวนาทางวิชาการก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เขาพยายามหาจุดขายใหม่ๆ และสิ่งที่สำคัญที่สุดสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ต้องให้ความสนใจคือเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องโลก เพราะมันเป็นของคนรุ่นเขา ถ้าเกิดมีการลุกขึ้นมี มีการแสดงออกเป็นผู้นำในสิ่งที่สมควรกระทำที่สุดคือการดูแลโลกที่พวกเขาต้องอยู่ไปอีก 70 ปี ถ้าเกิดว่าเขาลุกขึ้นมาแสดงออกอย่างนั้นแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องดี น่าภาคภูมิใจ เพียงแต่ขอแค่มีไฟมีพลัง ทำด้วยความจริงจังและจริงใจ อย่าไปเพียงแค่ทำเท่าที่ผู้ใหญ่บอกให้ทำ ไม่ได้หมายความไม่เชื่อผู้ใหญ่ คือเชื่อแต่ทำให้มากกว่า