ในยุคอดีต เหนือสุดของประเทศไทยขึ้นไป มีกองกำลังติดอาวุธอยู่มากมาย เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ตามแต่กำลังเงิน ทุกขบวนการประกาศอุดมการณ์เหมือนกันว่า “กู้ชาติ” แต่ภารกิจสำคัญที่เหมือนเป็นลมหายใจของทุกกลุ่ม ก็เคือ “ค้าฝิ่น”
“เราจะต้องต่อสู้กับความชั่วร้ายของคอมมิวนิสต์ต่อไป และการต่อสู้เราต้องมีกองทัพ กองทัพต้องมีปืน จะซื้อปืนได้ก็ต้องมีเงิน ในภูเขาอย่างนี้ ที่เป็นเงินได้มีอย่างเดียว คือฝิ่น”
คำพูดของ นายพลต้วน ซี เหวิน แห่งกองพลที่ ๙๓ ของก๊กมินตั๋ง ที่ตกค้างอยู่ด้านเหนือของไทยมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๒ ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ “วีคเอน เทเลกราฟ” ของอังกฤษ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๑๐ ดูจะเป็นการสรุปให้เห็นอย่างชัดเจน
ฉะนั้น การรบห้ำหั่นกันเกือบทุกครั้งในย่านนี้ จึงมักเกี่ยวกับผลประโยชน์จากธุรกิจค้าฝิ่น ช่วงชิงความเป็นใหญ่เหนืออาณาจักรสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งมีพื้นที่ ๑๕๓,๖๐๐ ตร.กม. มีผลผลิตฝื่นถึง ๙๕ เปอร์เซนต์ของฝิ่นโลก
หนึ่งในการรบที่เข้าขั้นเป็นสงคราม และเป็นข่าวเอิกเกริกไปทั่วโลก เปิดม่านให้ชาวโลกเห็นธุรกิจการค้าฝิ่นของย่านนี้ได้กระจ่าง เกิดจากการท้าทายอำนาจกองพล ๙๓ ซึ่งครอบครองธุรกิจนี้มายาวนานถึง ๑๕ ปี โดยผู้เป็นดาวรุ่งที่เพิ่งผงาดขึ้นมาในธุรกิจค้าฝิ่นในนาม “จางซีฟู” หรือ “ขุนส่า”
สงครามครั้งนี้นับเป็นความรุนแรงที่ถล่มกันด้วยอาวุธหนักอย่างไม่ยั้ง นอกจากความเป็นเจ้าธุรกิจแม่ทองดำของย่านนี้แล้ว ยังมีเดิมพันเป็นฝิ่นดิบถึง ๑๖ ตัน ผู้คนล้มตายเป็นร้อย แต่ “ไทยมุง” ชาวอำเภอเชียงแสนของไทย พากันสนุกสนานยิ่งกว่าดูถ่ายหนังหรือนิทรรศน์การแม่น้ำแควเสียอีก เพราะเป็นของจริงเล่นกันกลางวันแสกๆ เห็นเครื่องบินนำระเบิดมาถล่ม เห็นคนลอยกระเด็น จึงเรียงรายกันดูตลอดริมฝั่งโขงฝั่งไทย
ไม่เพียงแต่ชาวเชียงแสนเท่านั้นที่ตื่นเต้นกับการรบครั้งนี้ หนังสือพิมพ์ในยุโรปอเมริกาต่างก็พากันประโคมข่าวอย่างเอิกเกริก แต่ทุกฉบับพากันหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงสาเหตุ เน้นแต่ความตื่นเต้น และใช้สำนวนบรรยายอย่างสวิงสวายยังกับเขียนข่าวกีฬา
ในขณะที่คนอ่านเข้าใจกันว่า การสู้รบครั้งนี้เกิดจากความขัดแย้งกันเล็กๆน้อยๆของขุนศึกในแดนเถื่อน ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีกองกำลังติดอาวุธของตน แต่ความจริงแล้ว สงครามครั้งนี้เป็นการช่วงชิงอำนาจครั้งสำคัญ ผู้ชนะจะผงาดขึ้นมาเป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรสามเหลี่ยมทองคำ และมีอำนาจในการควบคุมการค้าฝิ่นพม่า ซึ่งมีปริมาณสูงถึง ๕๐๐ ตันต่อปี
เมื่อเดิมพันสูงถึงขั้นนี้ ทุกฝ่ายจึงต้องทุ่มจนหมดหน้าตักให้กับสงครามที่ถูกบันทึกไว้ในชื่อ “สงครามฝิ่น ๑๙๖๗”
เป็นที่รู้กันว่า ยุคนั้นการค้าฝิ่นพม่าอยู่ในกำมือของกองพล ๙๓ ถึง ๙๐ เปอร์เซนต์ แม้ว่า ๒ นายพลผู้ยิ่งใหญ่ของกองพลนี้จะหมางใจกันจนเป็นเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกัไม่ได้ แต่ก็ไม่เผชิญหน้ากัน ต่างคนต่างอยู่ และแบ่งเขตอิทธิพลกันอย่างชัดเจน
นายพลหลี่ เหวิน ฮ้วน นำกองทัพที่ ๓ มีกำลังพลราว ๑,๔๐๐ คนไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่หมู่บ้านถ้ำง็อบ ตำบลปงตำ อำเภอฝาง ขณะนี้เป็น ตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่
นายพลต้วน ซี เหวิน นำกองทัพที่ ๕ มีกำลังพลราว ๑,๘๐๐ คน ไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่ดอยแม่สลอง ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน ขณะนี้เป็นอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
นายพลทั้งสองใช้แม่น้ำสาละวินเป็นเส้นแบ่งเขตอิทธิพลกัน ฝั่งตะงันตกเป็นของนายพลหลี่ ฝั่งตะวันออกเป็นของนายพลต้วน ตั้งแต่เหนือสุดประเทศไทยขึ้นไปจนจรดดินแดนจีน จากนั้นก็ตั้งสถานีวิทยุเรียงรายไปตลอดรัฐฉานของพม่า นายพลหลี่มี ๗ สถานี นายพลต้วนมี ๙ สถานี แต่ละสถานีมีทหารประจำอยู่ราว ๑๐๐ คน มีหน้าที่สอดส่องดูการเคลื่อนไหวของจีนในมณฑลยูนานรายงานให้ ซีไอเอ. ตามแผนต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่หน้าที่สำคัญอีกอย่างก็คือรวบรวมฝิ่นในพื้นที่หลังฤดูเก็บเกี่ยว แล้วรายงานจำนวนไปยังกองบัญชาการ เพื่อจะได้จัดกองคาราวานไปรับฝิ่นในช่วงพ้นฤดูฝน
ในฤดูลำเลียงฝิ่น ในขณะที่กองคาราวานของนายพลหลี่หรือนายพลต้วนมุ่งเข้าลาวหรือไทย จะมีกองคาราวานเล็กๆของพวกรัฐฉานอาศัยการคุ้มครองมาด้วย โดยมีอัตราต้องจ่ายค่าคุ้มครอง ๑๘๐ บาทต่อฝิ่น ๑ กก. หากกองคาราวานต่างๆขนฝิ่นมาเอง ทหารก๊กมินตั๋งจะเรียกเก็บภาษีฝิ่นที่เข้าลาวหรือไทย กก.ละ ๙๐ บาท
กฎกติกานี้ทหารก๊กมินตั๋งกลุ่มนี้กำหนดขึ้นเอง แต่ก็ไม่มีใครขัดขืนได้
ด้วยเหตุนี้ในฤดูลำเลียงฝิ่น หน่วยลาดตระเวนของก๊กมินตั๋งจะกระจายกันเกลื่อนตามยอดดอย เฝ้าดูกองคาราวานฝิ่น แล้วรายงานส่งข่าวกันทางวิทยุ จึงไม่มีกองคาราวานใดเล็ดรอดจากการเก็บภาษีเถื่อนนี้ไปได้
ในปี ๒๕๐๖ หนุ่มลูกครึ่งไทยใหญ่กับจีนฮ่อ เกิดที่ตำบลลาเชียว ในเมืองตังยาง ทางภาคเหนือของรัฐฉาน มีนามว่า จางซีฟู หรือรู้จักกันทั่วไปในชื่อ ขุนส่า ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลพม่าให้จัดตั้งกองกำลังป้องกันตนเองประจำถิ่นขึ้น เพื่อต่อต้านกลุ่มกบฎรัฐฉาน แต่การจัดตั้งกองกำลังขึ้นนี้ รัฐบาลพม่าไม่ได้ให้เงินอุดหนุนหรืออาวุธแม้แต่เครื่องแบบ ให้แต่อภิสิทธิ์ที่จะใช้ถนนหลวงขนฝิ่นได้อย่างเปิดเผย ไม่ต้องหลบซ่อนเดินทางป่า
ในปีแรกของการก่อตั้ง ขุนส่าได้รวมกำลังคนได้ ๘๐๐ คน มีอาวุธครบครัน เริ่มทำธุรกิจกองคาราวานฝิ่นเข้าไทย โดยยังต้องจ่ายภาษีผ่านแดนให้ก๊กมินตั๋ง
ในปี ๒๕๐๗ ขุนส่าเกิดขัดใจกับรัฐบาลพม่า ละทิ้งกองบัญชาการที่เมืองลาเชียวบ้านเกิด แหล่งอุดมสมบูรณ์ด้วยไร่ฝิ่น และตั้งโรงกลั่นฝิ่นขึ้นที่นั่นด้วย หันไปจับมือกับกลุ่มกบฎรัฐฉาน ประกาศตัวเป็นกองกำลังกู้ชาติด้วย
ในปี ๒๕๐๙ ขุนส่ากลับมาคืนดีกับรัฐบาลพม่า เปลี่ยนเครื่องแบบจากกองกำลังกู้ชาติมาเป็นกองกำลังป้องกันตนเองของรัฐบาลอย่างเก่า และขยายกำลังพลได้ถึง ๒,๐๐๐ คน ซึ่งแข็งแกร่งกว่ากองกำลังกู้ชาติต่างๆที่มีกำลังพลไม่เกิน ๕๐๐ คน ทั้งยังมีมากกว่าทหารของนายพลหลี่หรือนายพลต้วนด้วย
ในเดือนมิถุนายน ๒๕๑๐ หลังฤดูเก็บเกี่ยว เมื่อกว้านซื้อฝิ่นได้ถึง ๑๖ ตัน ขุนส่าก็จัดกองคาราวานเดินออกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน มุ่งสู่บ้านห้วยทรายในลาว ซึ่งห่างออกไปราว ๓๐๐ กม. โดยใช้ม้าต่าง ๓๐๐ กว่าตัว ตัวหนึ่งบรรทุกฝิ่น ๕๐ กก. มีกองกำลังติดอาวุธ ๕๐๐ คนคุ้มกัน เดินเป็นแถวยาวเกือบ ๒ กม.
ด้วยกองกำลังที่มากเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ ขุนส่าคิดว่ายิ่งใหญ่พอที่จะไม่ต้องก้มหัวให้ทหารก๊กมินตั๋ง จึงไม่ยอมจ่ายภาษีค่าผ่านทาง ฉะนั้นเมื่อกองคาราวานของขุนส่าออกเดินทาง สถานีวิทยุของก๊กมินตั๋งทั้งสองฝั่งแม่น้ำสาละวินก็รายงานเข้ากองบัญชาการที่ดอยแม่สลองและถ้ำง็อบ นายพลหลี่และนายพลต้วนรู้จึงรู้ว่าอิทธิพลของตัวที่ครอบครองย่านนี้มาถึง ๑๕ ปีได้ถูกท้าทายขึ้นแล้ว ความกินแหนงแคลงใจกันมานานปี จึงได้รับการประสานให้ผนึกกำลังกันเพื่อป้องกันผลประโยชน์
สองนายพลส่งทหาร ๑,๐๐๐ คนเข้าสะกัดกองคาราวานขุนส่าที่ริมฝั่งโขงด้านตะวันออกของเชียงตุง กะจะบดขยี้ผู้บังอาจลูบเกร็ดมังกรที่ตรงนี้ แต่ขุนส่าก็หลบหลีกข้ามไปฝั่งลาว หวังจะพึ่งบารมีนายพลอ้วน ราทิกุล ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของลาว จุดหมายปลายทางของกองคาราวานนี้ และคิดว่าทหารก๊กมินตั๋งไม่กล้าล่วงล้ำเขตแดนลาว...แต่ทว่าขุนส่าคิดผิด
กองกำลังก๊กมินตั๋งข้ามโขงติดตามกองคาราวานขุนส่าอย่างไม่ลดละ ฝ่ายขุนส่าเร่งเดินจนใกล้บ้านห้วยทราย ห่างอีกเพียง ๓๐ กม. พบโรงเลื่อยแห่งหนึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งโขง ตรงข้ามกับอำเภอเชียงแสนของไทยพอดี มีชัยภูมิเหมาะกับการตั้งรับกองกำลังก๊กมินตั๋งที่ใกล้เข้ามา ด้านหลังเป็นตลิ่งสูง ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถโอบล้อมได้ ด้านหน้ามีกองไม้เป็นบังเกอร์อย่างดี ทั้งยังมีลานซึ่งกลายเป็นทะเลโคลนไปแล้วเพราะฤดูฝน คั่นกับแนวป่า ยากที่ฝ่ายตรงข้ามจะลุยโคลนเข้ามาได้ ทั้งยังบอกให้ชาวบ้านรู้ว่าทหารก๊กมินตั๋งกำลังตามมา ให้อพยพหลบไป
ข่าวนี้แพร่ไปถึงกองทหารที่อยู่ใกล้ จากนั้นก็ถูกรายงานไปยังบ้านห้วยทราย และต่อไปยังเวียงจันทน์
ในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๑๐ ทหารก๊กมินตั๋งตามมาถึง มีการปะทะกันประปรายกับหน่วยลาดตระเวนของขุนส่า ในวันเดียวกัน นายพลอ้วนในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดของลาว ประกาศให้ผู้บุกรุกอธิปไตยทั้งสองฝ่ายออกไปจากเขตแดนของพระราชอาณาจักรลาวโดยด่วน ฝ่ายก๊กมินตั๋งยื่นข้อเสนอว่าจะยอมออกไปก็ต่อเมื่อได้รับเงิน ๕ ล้านบาท ส่วนฝ่ายขุนส่าก็ไม่ยอมออกจากที่มั่นเช่นกัน
ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม เมื่อกองกำลังสนับสนุนจากดอยแม่สลองยกมาถึง ทหารก๊กมินตั๋งก็เข้าโจมตีที่มั่นของฝ่ายขุนส่าทันที ทั้งสองฝ่ายต่างใช้อาวุธร้ายแรงเข้าถล่มกัน จนเสียงดังกึกก้องมาถึงฝั่งไทย ทำให้ไทยมุงไปออกันแน่นที่ริมฝั่งโขง
เที่ยงของวันรุ่งขึ้น เสียงปืนของทั้งสองฝ่ายก็สงบลง เมื่อเครื่องบิน ที-๒๘ ของลาวโฉบลงเหนือสมรภูมิ แล้วหย่อนระเบิดเข้าใส่ทั้งสองฝ่ายอย่างเสมอภาค ไม่สองมาตราฐาน เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของบรรดาไทยมุงที่เรียงรายกันสลอนริมโขง
ทั้งฝ่ายขุนส่าและก๊กมินตั๋งต้องวิ่งหลบระเบิดกันหัวซุกหัวซุน คาดไม่ถึงว่านายพลอ้วนจะเล่นแรงด้วยลูกแตกแบบนี้ ฝ่ายขุนส่าตั้งมั่นอยู่ริมฝั่งโขงจึงถอยลงเรือได้สะดวก กว้านเช่าเรือให้ข้ามไปส่งฝั่งพม่า ทิ้งศพพวกไว้ ๘๐ คน และฝิ่นเกือบทั้งหมด
ฝ่ายก๊กมินตั๋งสูญเสียกำลังพลราว ๗๐ คน ที่เหลือต่างแบกอาวุธหนักกันมาเพียบ ซ้ำยังหาเรือข้ามฟากไม่ได้ จึงต้องถอยร่นไปตามริมน้ำโขง แต่พอไปได้ราว ๑๐ กม.ก็ถูกทหารลาว ๒ กองร้อยล้อมไว้ หลังการเจรจากันยาวถึง ๒ สัปดาห์ แทนที่ฝ่านก๊กมินตั๋งจะได้เงิน ๕ ล้านบาทตามที่เรียกร้องแต่แรก กลับต้องจ่าย ๑๕๐,๐๐๐ บาท แลกกับอิสรภาพกลับมาฝั่งไทย
ส่วนสมรภูมิที่โรงเลื่อยซึ่งเกลื่อนไปด้วยศพของทั้งสองฝ่าย ทหารราบของลาวทำหน้าที่เป็น “ตาอยู่” เข้าเคลียพื้นที่ ขนเอาฝิ่นของกลางทั้งหมดส่งไปที่บ้านห้วยทราย โดยไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ
ในวันที่ไถ่ตัวจากทหารลาวมาได้ ทหารก๊กมินตั๋งได้เหมาเรือจนหมดเชียงแสน ให้ไปรับทหาร ๗๐๐ คนที่เหลือ พร้อมอาวุธประจำตัวข้ามมาฝั่งไทย แต่พอขึ้นฝั่งก็ถูกนายอำเภอเชียงแสนนำกำลังเข้าล้อมขอปลดอาวุธก่อนจึงยอมให้เข้าไทย ฝ่ายก๊กมินตั๋งซึ่งถือว่ามีความสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญของไทยหลายคน และรับหน่าที่เป็นยามเฝ้าชายแดนด้านเหนือให้ โดยไม่มีฝ่ายคอมมิวนิสค์สามารถเคลื่อนไหวได้ในเขตอิทธิพลของกองพล ๙๓ จึงไม่ยอมให้ปลดอาวุธ ฝ่ายนายอำเภอก็ไม่ยอม พร้อมรายงานเรื่องนี้มายังสภาความมั่นคงแห่งชาติ จากนั้นไม่นานเกินรอ บุรุษหนึ่งร่างสันทัด มีตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งต่อมามีบทบาทสำคัญทางความมั่นคงและทางการเมืองของไทย เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิกานายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๕๐ เป็นนักเขียนและผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ “แนวหน้า” ได้รับมากฉายา เช่น “ซีไอเอเมืองไทย” ตอนเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ “นายกฯน้อย” ตอนเป็นเลขาธิการนายกฯเปรม และเมื่อวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอย่างหนัก ก็ได้รับฉายาจาก นายกฯทักษิณว่า “ปีศาจคาบไปป์” ก็บินไปถึงริมโขง (ลืมถามไปว่าตอนนั้นคาบไปป์หรือยัง) เขาพูดเพียงไม่กี่คำ ทหารก๊กมินตั๋งทั้ง ๗๐๐ ก็ยอมวางอาวุธแต่โดยดี จากนั้นก็มีรถ ๑๘ คันมาขนก๊กมินตั๋งมือเปล่าไปส่งถึงดอยแม่สลองและถ้ำง็อบ ส่วนคาร์ไบน์ ๑๐๐ กระบอก ปืนกล ๗๐ กระลอก และปืนไรเฟิลอีก ๒ กระบอก ก็ตามไปเองถึงเชิงดอยในเช้าวันรุ่งขึ้น
ผลของสงครามครั้งนี้ แม้ฝ่ายก๊กมินตั๋งจะพ่ายแพ้แตกกระเจิง แต่ก็ไม่ทำให้บทบาทการค้าฝิ่นในย่านนี้ลดลงไปมากนัก ยังเป็นผู้ลำเลียงฝิ่นพม่ารายใหญ่ต่อไป และกองคาราวานของพวกรัฐฉานก็ยังต้องจ่ายภาษีให้ในการนำฝื่นเข้าเขตไทย แต่สิทธิ์ในการเก็บภาษีฝิ่นเข้าลาว ตกเป็นของทหารลาวเข้าเก็บแทน
ส่วนขุนส่านั้นนับว่าเป็นผู้แพ้ที่ยับเยินที่สุด นอกจากจะเสียฝื่นเกือบ ๑๖ ตันพร้อมกำลังคนและอาวุธไปแล้ว เกียรติภูมิและชื่อเสียงของเขายังจมโคลนอยู่ที่นั่น กองกำลังของเขาเริ่มตีจาก เหลือไม่ถึงพันคน ซ้ำอาวุธยังขาดแคลน ต่อมาก็ถูกรัฐบาลพม่าจับไปคุมขังไว้ที่ร่างกุ้ง เมื่อหน่วยสืบราชการลับสืบรู้ว่าเขามีการติดต่อกับหัวหน้ากองกำลังรัฐฉาน มีท่าทีว่าจะกลับไปร่วมขบวนกู้ชาติอีก โทษของเขาครั้งนี้อาจถึงขั้นถูกประหารชีวิต แต่จอมคนอย่างขุนส่าหรือจะปิดฉากชีวิตลงง่ายๆอย่างนี้ คนของเขากลุ่มหนึ่งบุกเข้าจับกงสุลรัสเซียประจำรัฐฉาน ยื่นข้อเสนอให้แลกตัวกับขุนส่า รัฐบาลพม่าไม่กล้าเอากงสุลรัสเซียซึ่งเป็นลูกพี่ของพม่ายามนั้นไปเสี่ยง จึงยอมปล่อยตัวขุนส่าแต่โดยดี พอได้อิสรภาพ ขุนส่าก็เข้ามาไทย ส้องสุมผู้คนตั้งฐานใหม่อยู่ที่หมู่บ้านหินแตก อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย จนถูกทางการไทยส่งตำรวจพลร่มเข้าถล่มจนแตกพ่ายเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๒๖ กลับเข้าพม่าไปตั้งฐานใหม่ที่เมืองหมอกใหม่ก่อนจะเสียชีวิต
ส่วนผู้ชนะในสงครามฝิ่น ๑๙๖๗ อย่างเด็ดขาด เสียลูกแตกไปไม่กี่ลูก แต่ได้ฝิ่นที่ไม่ต้องซื้อมาเกือบ ๑๖ ตัน จึงมีกำไรมหาศาล อีกทั้งนายพลอ้วนก็ได้ชื่อว่าเป็นคนใจกว้างยังกับแม่น้ำโขง เหล่านายทัพนายกองจึงได้รับรางวัลกันทั่วหน้า บางคนซื้อบ้านหลังใหม่ในนครเวียงจันทน์ได้เลย
สำหรับนายพลต้วน จอมคนแห่งดอยแม่สลอง แม้จะบอบช้ำในเรื่องนี้ไปไม่น้อย แต่ก็ไม่ลืมบุญคุณของบุรุษผู้มาช่วยหาทางออกให้ที่ชายฝั่งโขง ทำให้กองกำลังของกองทัพที่ ๕ กลับดอยแม่สลองได้อย่างเรียบร้อย ด้วยเหตุนี้ นาวาตรีประสงค์ สุ่นศิริ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ จึงได้รับการเชิญให้ไปเยี่ยมดอยแม่สลอง ซึ่งยามนั้นเป็นเหมือนดินแดนที่มีม่านดำบังไว้ ไม่มีใครกล้ากล้ำกราย และในพิธีต้อนรับอย่างให้เกียรติยิ่ง บนเวทีต่อหน้ากองกำลังทั้งหมดของดอยแม่สลอง นายพลต้วนได้ยื่นคทาประจำตัวให้แขกพิเศษ พร้อมกับกล่าวว่า
“ตราบที่ท่านอยู่ที่นี่ ท่านคือผู้บัญชาการสูงสุดของเรา”
พร้อมกับมีผู้นำเครื่องแบบสีน้ำตาลใส่พานมาให้เปลี่ยน
สิ่งที่รองเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ ยังข้องใจไม่หายเมื่อลงจากดอยแม่สลองมา ก็คือเครื่องแบบที่ตัดมาให้นั้น เข้ารูปร่างได้ทุกสัดส่วน เหมือนคนตัดได้วัดตัวมาอย่างละเอียดละออ ใครหนอจะล้วงความลับของสภาความมั่นคงได้ถึงเพียงนี้
แต่ก็ไม่ยากสำหรับระดับ “ซีไอเอเมืองไทย” ไม่นานก็รู้ว่า ผู้ที่ตัดเคริ่องแบบชุดนี้ ก็คือร้านที่ตัดเสื้อผ้าประจำของ น.ต.ประสงค์นั่นเอง
นี่ก็เป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ ในยุคที่โลกถูกแบ่งออกเป็น ๒ ค่าย ๒ ลัทธิ ทุกคนถูกกำหนดบทบาทให้แสดงแตกต่างกันไป ซึ่งต่างก็ต้องดิ้นรนไปไปตามหน้าที่ ตามสถานการณ์ บางครั้งแม้จะร่วมค่ายเดียวกัน ก็ต้องช่วงชิงอำนาจกัน เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง ก่อนที่สถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นจนถึงวันนี้ ทิ้งความเลวความดีไว้ในหน้าประวัติศาสตร์