เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๗๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ เครื่องบินทิ้งระเบิดของไทย ๓ เครื่องได้ออกบินจากสนามบินดอนเมือง มุ่งสู่กรุงนิวเดลี ตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย ที่ต้องการจะให้เครื่องบินที่ไทยสร้างขึ้นเองได้เป็นชาติแรกของเอเซีย บินไปเชื่อมความสัมพันธไมตรี และในปีต่อมายังบินไปอวดฝรั่งเศสที่เวียดนามอีก โดยนำพวงมาลาไปวางยังอนุสาวรีย์ทหารฝรั่งเศสที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ ๑ หลังจากนั้นก็ได้บินไปอินเดียอีกเป็นครั้งที่ ๒
ไทยเราเริ่มสร้างเครื่องบินรบใช้เองมาตั้งแต่ปี ๒๔๕๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ แล้ว และสร้างจนเป็นชาติที่มีเครื่องบินรบมากที่สุดในเอเชีย โดยจุดประกายมาจาก นายแวน เดอบอร์น ชาวเบลเยี่ยม ได้นำเครื่องบินปีก ๒ ชั้นแบบเออร์วิลไรท์ มาบินโชว์ที่สนามม้าปทุมวัน เมื่อปี ๒๔๕๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ซึ่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และ สมเด็จเจ้าฟ้าจักพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ทรงสนพระทัย ทดลองขึ้นบินทั้งสองพระองค์ ทรงเล็งเห็น ว่าเครื่องบินจะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งในด้านกิจการทหารและพลเรือน จึงได้ส่งนายทหาร ๓ คนไปเรียนที่ฝรั่งเศส เมื่อนักบินทั้ง ๓ กลับมา ไทยได้สั่งซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ ปีก ๒ ชั้น ซึ่งเป็นเครื่องที่ศิษย์การบินไทยใช้ฝึกบินที่ฝรั่งเศสมา ๓ เครื่องในปี ๒๔๕๖ ต่อมาเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้ซื้อให้อีก ๑ เครื่อง รวมเป็น ๔ เครื่อง
เมื่อซื้อเครื่องบินมาศึกษาได้ ๒ ปี ไทยก็แสดงฝีมือทันที โดยในปี ๒๔๕๘ สมัยรัชกาลที่ ๖ กองโรงงาน กองบินทหารบก ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีทหารอากาศ ก็สร้างเครื่องบินแบบเบรเกต์นี้ขึ้นเองเป็นเครื่องแรก โดยสั่งเครื่องยนต์มา แล้วสร้างปีกกับลำตัวเอง ใบพัดนั้นทำด้วยไม้โมกมัน ให้ชื่อว่า “ขัติยะนารี ๑”
ต่อมาในปี ๒๔๗๐ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ นายพันโท หลวงเวชยันตร์รังสฤษฎ์ (มุนี มหาสันทนะ) ซึ่งเป็นผู้บังคับฝูงของโรงงาน กรมอากาศยาน กองทัพบก นายทหารช่างอากาศชาวไทยที่ถูกส่งให้ไปเรียนวิชาวิศวกรรมอากาศยานที่แผนกวิศวกรรม กองการบินทหารบกสหรัฐอเมริกา ได้ออกแบบเครื่องบินเองแบบหนึ่ง แล้วสร้างขึ้น ใช้เครื่องจูปิเตอร์ ๔๕๐ แรงม้า ความเร็ว ๑๕๗ ไมล์ต่อชั่วโมง ได้รับพระราชทานนามจากรัชกาลที่ ๗ ว่า “บริพัตร” ตามพระนาม สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ซึ่งนับเป็นเครื่องบินลำแรกที่ออกแบบโดยคนไทย ซึ่งก็คือลำที่บินไปโชว์ที่อินเดียและเวียดนามนี้
“บริพัตร” เป็นเครื่องบินประเภททิ้งระเบิด ๒ ที่นั่ง ปีก ๒ ชั้น โครงสร้างทำมาจากท่อดูราลแมงและไม้ บุด้วยผ้า ใช้เครื่องยนตร์จูปิเตอร์ ๔๕๐ แรงม้า ของอังกฤษ ความยาวของปีก ๔๔ ฟุต ลำตัวยาว ๒๘ ฟุต ๙ นิ้ว สูง ๑๐ ฟุต ๕ นิ้ว มีน้ำหนักรวม ๒๙๐.๗ กิโลกรัม อัตราความเร็วขั้นสูง ๑๕๗ ไมล์ (๒๙๐.๗ กม.) ต่อชั่วโมง เครื่องแรกได้ทดลองการบินเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๐ เข้าประจำการระหว่างปี ๒๔๗๐-๒๔๘๓
ในปี ๒๔๗๒ ไทยได้ออกแบบสร้างเครื่องบินขับไล่ออกมาอีกแบบ ได้รับพระราชทานนามว่า “ประชาธิปก”
ในปี ๒๔๗๗ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไทยได้สั่งซื้อเครื่องบินแบบคอร์แซร์ ซึ่งเป็นเครื่องบินแบบตรวจการณ์และทิ้งระเบิดของอเมริกามา ๑๒ เครื่อง ต่อมาในปี ๒๔๗๙ ก็ขอซื้อลิขสิทธิ์มาสร้างเอง และสร้างเครื่องบินแบบนี้ขึ้นมาถึง ๑๕๐ เครื่อง
ในปี ๒๔๗๘ ก็สั่งซื้อเครื่องบินขับไล่แบบฮอล์ค ๓ จากอเมริกามาอีก ๑๒ เครื่อง พอปีต่อมาก็ขอซื้อลิขสิทธิ์มาสร้างเองอีก และสร้างฮอล์ค ๓ ขึ้นมา ๕๐ เครื่อง
ในยุคนั้นกองทัพไทยจึงมีเครื่องบินรบประจำการมากที่สุดในเอเชียอาคเนย์
สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้การสร้างเครื่องบินของไทยหยุดชะงักไป แม้จะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในปี ๒๕๐๐ แต่ก็ตามใครไม่ทันแล้ว ปัจจุบันยังสร้างแต่เครื่องบินที่ใช้ฝึกบิน ส่วนเครื่องเครื่องบินรบต้องซื้อเขาลูกเดียว ส่วนอินเดียที่เชิญไทยไปโชว์สร้างยานไปอวกาศและดาวเทียมกันแล้ว
ปัจจุบัน เดรื่องบินที่เป็นตำนานการบินของไทยเหล่านี้ ทั้ง ขัติยนารี บริพัตร ประชาธิปก คอร์แซร์ และฮอล์ต ๓ ยังมีของจริงให้ชมเป็นบุญตา ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศดอนเมือง ไม่ต้องชมกันแต่ภาพถ่าย โดยเฉพาะคอร์แซร์กับฮอล์ค ๓ ในโลกยังเหลืออีกเพียงรุ่นละเครื่องอยู่ที่นี่เท่านั้น แม้สถาบันสมิธแอนด์โซเนียลของสหรัฐ ซึ่งรวบรวมเครื่องบินไว้ทุกรุ่น แต่ยังขาดคอร์แซร์กับฮอล์ค พยายามขอซื้อ แต่กฎหมายก็ไม่ยอมให้ขายของหลวง สนใจก็ไปดูกันได้