เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับที่เรียกกันว่า “ฉบับถาวร” ให้ประชาชนชาวไทย หลังจากที่พระราชทานฉบับแรกเมื่อวันที่ ๒๗มิถุนายนปีเดียวกัน ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรเป็นผู้ร่าง แม้ไม่พอพระราชหฤทัยในหลักการบางอย่าง แต่เพื่อให้เหตุการณ์ฉุกเฉินในขณะนั้นผ่านพ้นไปด้วยดี จึงทรงลงพระปรมาภิไธยให้ใช้ไปก่อน แต่ทรงเพิ่มคำว่า “ชั่วคราว” ไว้ด้วย เพื่อให้มีการแก้ไขใหม่
หลังจากได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร คณะราษฎรได้จัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อให้ประชาชนตื่นตัวกับการปกครองรูปแบบใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ งานฉลองรัฐธรรมนูญจึงเป็นวันหยุดราชการถึง ๓ วัน มีรายการบันเทิงมากมาย ทั้งลิเก โขน ละคร งิ้ว และการออกร้าน จัดเป็นงานใหญ่ที่สุดของปี ยิ่งกว่างานปีใหม่หรือสงกรานต์
ในงานฉลองรัฐธรรมนูญในปี ๒๔๗๗ ซึ่งจัดขึ้นที่วังสราญรมย์ ยังเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้แก่งานฉลองรัฐธรรมนูญ โดยจัดให้มีการประกวดนางสาวไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งตอนนั้นยังใช้ชื่อว่า “นางสาวสยาม” เพราะประเทศยังใช้ชื่อสยาม
การประกวดนางสาวสยามถือว่าเป็นงานระดับชาติ เพราะผู้ผลักดันให้จัดขึ้นก็คือคณะราษฎร ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ระบอบประชาธิปไตย ผู้คัดเลือกสาวงามเข้าประกวดจึงไม่ใช่ร้านเสริมสวยอย่างการประกวดในปีหลัง ๆ แต่เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ส่วนผู้เข้าประกวดก็ถือว่าเป็นการทำเพื่อชาติที่มีเกียรติยิ่ง
สำหรับในปีแรกนี้ กระทรวงมหาดไทยได้คัดเลือกสาวงามส่งเข้าประกวด ๕๐ คน ผลของการตัดสิน นางสาวสยามคนแรกได้แก่ กันยา เทียนสว่าง สาวน้อยวัย ๒๐ ปี ตัวแทนจากจังหวัดพระนคร ซึ่งก็คือกรุงเทพฯนี่เอง ซึ่งเธอมีตำแหน่งนางสาวพระนครมาก่อน รางวัลที่เธอได้รับจากตำแหน่งนางสาวสยามคนแรกก็คือ มงกุฎเงินหุ้มกำมะหยี่ ประดับด้วยดิ้นเงินและเพชร พร้อมขันเงิน สลักชื่อนางสาวสยาม ๒๔๗๗ พร้อมด้วยล็อกเก็ตห้อยคอทองคำ เข็มกลัดทองคำลงยาสลัก รัฐธรรมนูญ ๗๗ และเงินสด ๑,๐๐๐ บาท
มงกุฎของเธอราคาคงไม่ถึง ๑ ใน ๑,๐๐๐ ของมงกุฎนางงามจักรวาลประจำปีนี้ ที่ทำจากฝีมือคนไทยเหมือนกัน แต่ราคาสนั่นโลกถึง ๑๕๐ ล้านบาท
กันยา เทียนสว่าง มาจากครอบครัวชาวอำเภอปากเกล็ด จังหวัดนนทบุรี มารดามีเชื้อสายมอญ เนื่องจากมีหน้าตาคมคาย จมูกโด่งคล้ายฝรั่ง พ่อแม่จึงตั้งชื่อเล่นว่า ลูซิล ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนวัดสังเวช บางลำพู โรงเรียนราชินี และโรงเรียนสตรีวิทยา ขณะที่เข้าประกวดเธอเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนประชาบาลทารกานุเคราะห์ หลังจากรับตำแหน่งจึงมาทำงานที่หอสมุดแห่งชาติ และได้พบรักกับ ดร.สุจิต หิรัญพฤกษ์ ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นโฆษกฝ่ายไทยประจำสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ และมีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ คน หลานย่าของเธอคนหนึ่งซึ่งเกิดจากบุตรชายคนโต ก็คือ ภูริ หิรัญพฤกษ์ นักแสดงและพิธีกรชื่อดัง และผู้ดูแลฟาร์มไข่มุกที่เกาะนาคาน้อย จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว
นางสาวสยามคนแรกเสียชีวิตเมื่อปี ๒๕๐๓ ด้วยโรคมะเร็ง ขณะมีอายุได้ ๔๖ ปี